แม้แจ๊ก หม่า ยังกลัวตัวเอง จะถูก “ป่วน” โดยเด็กรุ่นใหม่ | กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

ผมเคยถามแจ๊ก หม่า อภิมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของจีน ผู้ก่อตั้งอาลีบาบาว่า มีความเป็นไปได้ไหมที่จีนจะเกิด “แจ๊ก หม่า” ยุคปัจจุบันที่จะมาคว่ำแจ๊ก หม่า ยุคเก่า

เขาตอบอย่างไม่ลังเลเลยว่า “เป็นไปได้แน่นอน…และควรจะเกิดขึ้นด้วย เพราะเราจะได้ตื่นตัวตลอดเวลา เราต้องตระหนักเสมอว่า เมื่อเรา disrupt ของเดิมได้ ก็ย่อมจะต้องมีคนมา disrupt เราสักวัน ไม่เร็วก็ช้า…”

ทุกวันนี้ความสำเร็จเดิมไม่อาจจะรับรองความสำเร็จในอนาคต และอะไรที่เคยยิ่งใหญ่ก็อาจจะถูกดับรัศมีด้วยนวัตกรรมที่ใหม่กว่าและตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ได้ดีกว่า

เรื่องราวการก่อเกิดของอาลีบาบา อาจจะเรียกได้ว่าเป็นอุบัติเหตุในหลายๆ ด้าน

ปี 1980 หรือเมื่อ 40 ปีก่อน ชาวออสเตรเลียคนหนึ่งชื่อ Ken Morley ไปเที่ยวประเทศจีนเพื่อพักผ่อนหน้าร้อนพร้อมครอบครัว ตระเวนไปหลายเมือง

นายเคนคนนี้ได้ชื่อว่าเป็นคนมีความเห็นอกเห็นใจความเป็นคอมมิวนิสต์ของจีน จึงสนใจที่จะพบปะพูดคุยกับผู้คนที่เมืองจีนในขณะนั้นไม่น้อย

วันหนึ่งเคนไปที่หางโจวซึ่งเป็นจุดท่องเที่ยวที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของจีน

มีคำเปรียบเปรยโบราณของจีนว่า หากฟากฟ้ามีสวรรค์ โลกใบนี้ก็มีหางโจวและซูโจวที่สวยงามไม่แพ้กัน

ใครไปหางโจวก็ต้องไปเยี่ยมทะเลสาบอันเลื่องลือ West Lake หรือทะเลสาบตะวันตก

ณ ที่นั้นเคนและครอบครัวได้พบกับหนุ่มจีนคนหนึ่งชื่อ “หม่าหยุน” ซึ่งตอนหลังมีชื่อว่า Jack Ma

หม่าหยุน วัย 16 มีความกระตือรือร้นที่จะเรียนภาษาอังกฤษเป็นพิเศษ จึงวนเวียนอยู่รอบๆ ทะเลสาบแห่งนี้เพื่อจะหาโอกาสได้ฝึกพูดภาษาอังกฤษกับนักท่องเที่ยวฝรั่ง

ลูกชายของเคนชื่อเดวิด อายุ 16 เหมือนกัน

แจ็ค หม่าในวัย 16 กับ “เดวิด” เพื่อนวัยเดียวกันจากออสเตรเลีย…การพบปะที่เปลี่ยนชีวิตครั้งใหญ่

หม่าหยุนกับเดวิดเจอกันครั้งแรกก็ถูกคอกันเลย…กลายเป็นมิตรภาพที่เปลี่ยนชีวิตของแจ๊ก หม่า ทีเดียว

เพราะหลังจากที่พบกันที่หางโจวแล้ว แจ๊ก หม่า ก็ติดต่อกับเดวิดผ่านจดหมาย

ภาษาฝรั่งตอนนั้นเรียกการเป็นเพื่อนกันทางไปรษณีย์ว่าเป็น pen pal

จดหมายของแจ๊ก หม่า ถึงเดวิดมีความพิเศษตรงที่จะเขียนทิ้งช่องว่างระหว่างบรรทัดเอาไว้เพื่อให้คุณพ่อของเดวิดช่วยแก้ภาษาอังกฤษที่ผิด

นั่นเป็นวิธีเรียนภาษาอังกฤษโดยไม่ต้องเสียสตางค์จากเจ้าของภาษาของแจ๊ก หม่า

คงจะเป็นเพราะทั้งสองหนุ่มมีความสนิทสนมผ่านการโต้ตอบจดหมายกันมากขึ้น เคนก็คงจะเห็นความมุ่งมั่นของหนุ่มแจ๊ก หม่า มากพอที่จะเชิญไปเที่ยวออสเตรเลียห้าปีต่อมา

ปีนั้นแจ๊ก หม่า อายุ 21

ต้องไม่ลืมว่านั่นเป็นยุคที่ประเทศจีนยังเข้มงวดเรื่องการเดินทางออกนอกประเทศของคนจีน

แต่หนุ่มแจ๊กก็ไม่ย่อท้อ ดิ้นรนจะไปเมืองนอกครั้งแรกในชีวิตให้ได้

แจ๊ก หม่า เดินทางจากหางโจวไปปักกิ่งเพื่อจะหาลู่ทางขออนุญาตทางการเดินทางไปต่างประเทศ

แจ๊ก หม่า ถูกปฏิเสธเจ็ดครั้ง

เหตุที่ถูกปฏิเสธก็เพราะขณะนั้นนโยบายทางการจีนจะอนุญาตให้เดินทางไปเมืองนอกก็เฉพาะที่มีจุดประสงค์ไปเรียนหนังสือหรือไปเป็นครอบครัว ไม่เปิดทางให้เดินทางในฐานะนักท่องเที่ยวธรรมดา

เคนร้อนรุ่ม อยากช่วยแจ๊ก หม่า ถึงขั้นส่งโทรเลขไปที่สถานทูตออสเตรเลียที่ปักกิ่งโดยหวังว่าจะออกวีซ่าให้หนุ่มจีนคนนี้ไปเยี่ยมออสเตรเลีย

แจ๊ก หม่า ปักหลักอยู่ที่ปักกิ่งหนึ่งสัปดาห์เต็มๆ …ยังคงตื๊อต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง…ทุกวันเขาจะไปยื่นขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ออกวีซ่า

เงินทองในกระเป๋าของเขาก็เริ่มร่อยหรอ เพราะแค่ค่าเดินทางจากบ้านมาเมืองหลวงก็หมดไปหลายสตางค์แล้ว

วันสุดท้าย เขาเจอเจ้าหน้าที่วีซ่าที่สถานทูตและบอกว่า

“ผมมาที่นี่หนึ่งสัปดาห์แล้ว วันนี้อาจจะเป็นโอกาสสุดท้าย ผมต้องการวีซ่าของผม และผมต้องการคุยกับคุณอย่างจริงจังนะครับ…”

เจ้าหน้าที่คนนั้นถามว่า “คุณต้องการจะคุยกับผมเรื่องอะไร”

แจ๊ก หม่า ตอบว่า “ผมมาที่สถานทูตทุกวัน และถูกปฏิเสธวีซ่าเจ็ดครั้งแล้ว ผมไม่มีเงินเหลือ ผมต้องกลับบ้านแล้ว แต่ก่อนผมกลับบ้านผมต้องการรู้เหตุผลที่ไม่ออกวีซ่าให้ผมก่อน”

เจ้าหน้าที่คนนั้นคงจะใจอ่อนที่เห็นเด็กจีนคนนี้ขึงขังมุ่งมั่น จึงยอมนั่งฟังแจ๊ก หม่า เล่าถึงความสัมพันธ์ของเขากับเพื่อนออสเตรเลียครอบครัวนั้น

ตื๊อเท่านั้นที่ครองโลก

ท้ายที่สุด แจ๊ก หม่า ก็ได้วีซ่าไปออสเตรเลียสมใจ

และนั่นคือจุดพลิกผันชีวิตของเขา

แจ๊ก หม่า บอกว่า 29 วันที่เขาอยู่ที่เมืองนิวคาสเซิล (ชานเมืองซิดนีย์) เขาทั้งช็อกทั้งประหลาดใจที่ได้เจอกับคน, วัฒนธรรมและสินค้าต่างๆ ที่เขาไม่เคยฝันว่าจะได้เห็น

“ก่อนไปออสเตรเลีย ผมได้รับการอบรมสั่งสอนว่าประเทศจีนเป็นชาติที่ดีที่สุด ที่ร่ำรวยที่สุด แต่เมื่อผมไปถึงออสเตรเลีย ผมเห็นว่าโลกข้างนอกมันแตกต่างไปจากที่ผมเคยเข้าใจมากเหลือเกิน…”

แจ๊ก หม่า กลับไปหางโจวก็สมัครเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ แต่เขาก็ฝันจะเห็นดินแดนนอกเหนือจากจีนอย่างแรงกล้า

ปี 1995 แจ๊ก หม่า เยือนสหรัฐเป็นครั้งแรก

จังหวะนั้นโลกเพิ่งมีอินเตอร์เน็ต และอเมริกาเป็นประเทศก้าวหน้าพัฒนาด้านเทคโนโลยีสูงสุดของโลก

ขณะนั้นจีนยังล้าหลัง น้อยคนจะรู้จักคำว่า “อินเตอร์เน็ต”

ปี 1994 แจ๊กได้ยินคำว่าอินเตอร์เน็ตเป็นครั้งแรก จึงตั้งบริษัทของตัวเองชื่อ Hangzhou Haibo Translation Agency รับจ้างแปลภาษาจีนเป็นอังกฤษ และอังกฤษเป็นจีน

ปีต่อมาเขาไปสหรัฐกับเพื่อนจีน วันหนึ่งเพื่อนอเมริกันคนหนึ่งบอกให้เขาลองเข้าไปเว็บไซต์ซื้อขายของ

ตอนแรกเขาไม่เข้าใจ ไม่รู้ว่ามันคืออะไร

เพื่อนอเมริกันบอกให้เขาพิมพ์อะไรก็ได้ จะมีข้อมูลที่เขาต้องการ แจ๊กพิมพ์คำว่า Beer ข้อมูลปรากฏหน้าจอทันที…ยี่ห้อเบียร์ทั้งโลกโผล่มาให้เห็น

แต่แจ๊กสังเกตว่าไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับเบียร์ของประเทศจีนเลย

พอเขาพยายามจะเสิร์ชหาข้อมูลเกี่ยวกับประเทศจีนก็มีน้อยมาก

แจ๊กมองเห็นโอกาส ถ้ามีเว็บไซต์เกี่ยวกับจีน บางทีอาจจะมีคนสนใจ

เขาจึงเปิดเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประเทศจีน เปิดตัวตอนเวลา 09.40 น. ของวันหนึ่ง

ผ่านไปไม่กี่ชั่วโมง ตอน 12.30 น. ก็ได้รับข้อความจากนักลงทุนจีนบางคน ต้องการรู้ว่าเขาเป็นใคร

นั่นคือนาทีที่ผมเรียก Aha! Moment สำหรับแจ๊ก หม่า

มันคือความคิดที่ปิ๊งขึ้นมาในสมองที่บอกเขาว่า “นี่เป็นสัญญาณแห่งโอกาสแล้ว!”

สำหรับหนุ่มจีนคนนี้ อินเตอร์เน็ตอาจจะเป็นช่องทางใหม่สำหรับทำธุรกิจได้

เดือนเมษายน 1995 แจ๊กกับครูคอมพิวเตอร์ชื่อเหอยี่ผิง เปิดสำนักงานแรกสำหรับ Yellow Pages

จากนั้นเขาก็เปิดบริษัทที่สอง

วันที่ 10 พฤษภาคม 1995 แจ๊กจดทะเบียน chinapages.com ที่สหรัฐ

เพียงแค่ 3 ปีเท่านั้น บริษัทนี้ก็มีรายได้ 5 ล้านหยวน (ประมาณ 25 ล้านบาท) ซึ่งในขณะนั้นถือว่าเป็นเงินก้อนใหญ่มากสำหรับนักธุรกิจมือใหม่หัดขับอย่างแจ๊ก หม่า

จากนั้นเขาก็ช่วยบริษัทจีนทำเว็บไซต์โดยได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนที่อเมริกา

“วันแรกที่เราเชื่อมต่อเว็บได้ ผมเชิญเพื่อนๆ และคนทำทีวีมาที่บ้านผม ตอนนั้นการเชื่อมต่อช้ามากเพราะต้องใช้สายโทรศัพท์แบบเก่า กว่าจะได้แค่ครึ่งหน้าเราต้องรอถึง 3 ชั่วโมงครึ่ง…พวกเราก็เลยรอไปเรื่อยๆ…จิบเบียร์ไป จั่วไพ่ไป ดูทีวีไป…รอๆๆ แต่ผมภูมิใจมากเพราะผมสามารถพิสูจน์ให้เพื่อนๆ เชื่อในตัวผม

แจ๊กสารภาพว่าเขาไม่มีความรู้เรื่องคอมพิวเตอร์เลยแม้แต่น้อย เป็นแค่ครูสอนภาษาอังกฤษที่มีความอยากรู้อยากเห็นเท่านั้น

“ผมซื้อคอมพิวเตอร์ตัวแรกในชีวิตก็ตอนอายุ 33 แล้ว”!

และประวัติศาสตร์ก็ต้องจารึกว่า เมื่อวันที่ 4 เมษายน 1999 (เพียง 21 ปีก่อน) แจ๊ก หม่า กับเพื่อนและนักเรียนของเขา 17 คนที่ประชุม ณ อพาร์ตเมนต์เล็กๆ ของเขาก็จดทะเบียนตั้งบริษัท Alibaba ขึ้นมา

โดยที่เพื่อนทั้งหมดไม่มีใครเห็นด้วยกับเขาเลย ยกเว้นคนเดียวที่ตอบตกลงด้วยความเกรงใจ ทั้งๆ ที่ก็มองไม่เห็นอนาคตสำหรับธุรกิจขายของออนไลน์เลยแม้แต่น้อย

วันนี้ แจ๊ก หม่า คือคนรวยที่สุดของประเทศจีน และเป็นนักธุรกิจระดับโลกที่ไม่มีใครไม่รู้จัก

เพราะเขาเชื่อใน disruption เมื่อกว่า 20 ปีก่อน

และวันนี้เขาก็เชื่อว่า disruption จะเกิดขึ้นได้อีก

ต่างกันเพียงแต่ว่าตอนนั้นเขา disrupt คนอื่น

วันนี้เขายอมรับว่าอาจจะถูกคนรุ่นใหม่กว่าเขา disrupt อย่างยิ่งใหญ่ของเขาก็ได้

“นี่คือสัจธรรมแห่งโลกดิจิตอลที่ปฏิเสธไม่ได้…ใครไม่ยอมรับ คนนั้นรอวันล่มสลายได้” แจ๊ก หม่า บอกผม


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 31 พ.ค. 63 เท่านั้น!