“ถั่ว” มีหลายสี สรรพคุณดีมีหลายอย่าง

โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง
มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org

 

มีคำกล่าวล้อเล่นในหมู่เพื่อนๆ ว่า “ถั่วทุกเม็ด มีสิทธิออกเสียง” อันหมายถึงเสียงดังปู้ดป๊าดเล็ดลอดออกมาจากปลายลำไส้ใหญ่ ไม่ใช่สิทธิออกเสียงเลือกตั้งแต่อย่างใด

เหตุที่กินถั่วแล้วมีโอกาสผายลมเพิ่มขึ้นเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากถั่วที่กินมีส่วนเพิ่มปริมาณแก๊สในสำไส้ จึงอัดอั้นไม่อยู่ต้องระบายหรือใช้สิทธิออกเสียงสักครั้งสองครั้งนั่นเอง

แต่อย่ากลัวเสียงนี้จนมองข้ามประโยชน์การกินถั่ว ซึ่งถั่วมีหลายสีมีดีด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งไม่ใช่ถั่วพิสดารพันธุ์แปลกอะไร ถั่วธรรมดา เช่น ถั่วเหลือง ถั่วแดง ถั่วเขียว ที่เห็นกันเต็มตลาดต่างเป็นสมุนไพร ซึ่งหมายถึงอาหารดีและยาดีทั้งนั้น

soybeans-182294_960_720

เริ่มที่คนทั่วโลกนิยมชมชอบ ถั่วเหลือง ฝรั่งเรียกกันว่า Soya Bean (โซย่าบีน) หรือ Soy Bean (ซอยบีน) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Giycine max (L.) Merr. จัดอยู่ในวงศ์ Fabaceae

ถั่วเหลืองเป็นถั่วตัวแทนของการค้าโลก เพราะมีการปลูก การขาย การกิน และการศึกษาวิจัยมากที่สุดในบรรดาถั่วทั้งหลาย รวมถึงถั่ว GMO หรือถั่วดัดแปลงพันธุกรรมที่รบกวนผู้ที่ต้องการอาหารจากธรรมชาติด้วย ถั่วเหลืองจึงเป็นตัวแทนถั่วขึ้นมายืนแถวหน้า มีผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองมากมาย เพราะ ถั่วเหลืองอุดมด้วยสารอาหาร คือ คาร์โบไฮเดรต แคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินเอ, บี 1, บี 2, บี 6, บี 12 ไนอาซิน วิตามินอี และที่โดดเด่นตรงที่ผู้กินเจหรือมังสวิรัติ กินถั่วเหลืองเพื่อเป็นแหล่งไขมันและโปรตีนที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย

ในถั่วเหลืองยังมีสารไอโซฟลาโวนอยด์ (isoflavonoids) หรือบางทีอาจเรียกว่า เอสโตรเจนที่มาจากพืช

ซึ่งมีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เป็นฮอร์โมนของเพศหญิงทั่วไป แต่เอสโตรเจนที่มาจากพืชมีฤทธิ์อ่อนกว่า ดังนั้น มีการศึกษาพบว่าสารไอโซฟลาโวนอยด์นี้ มีผลต่อการลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็งเต้านม โรคหัวใจและหลอดเลือด และลดการเป็นโรคกระดูกพรุน ลดอาการของหญิงวัยหมดประจำเดือน เพราะเหมือนได้มีการเสริมฮอร์โมนเพศหญิงเข้าไปอย่างน้อยๆ นั่นเอง

นอกจากนี้ ส่วนผิวเปลือกหุ้มเมล็ดของถั่วเหลืองมีสารเลซิทิน(lecithin) ในปริมาณสูง การศึกษาพบว่าสารเลซิทิน มีส่วนช่วยควบคุมการเปลี่ยนแปลงของคอเลสเตอรอล และช่วยลดคอเลสเตอรอล ทำให้ปริมาณไขมันในเลือดลดลง และช่วยป้องกันการอุดตันของไขมันในหลอดเลือดได้ และสารเลซิทินเป็นสารบำรุงสมองเพิ่มความทรงจำด้วย ในถั่วเหลืองยังมีสารไฟเตต ซึ่งมีส่วนช่วยป้องกันมะเร็งลำไส้เล็ก และในถั่วเหลืองยังมีเส้นใยที่ช่วยการขับถ่าย และช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งลำไส้เช่นกัน

ถั่วเหลืองมีคุณค่ามาก จึงมีผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองมากมาย เช่น เต้าหู้ โดยเฉพาะนมถั่วเหลือง เครื่องดื่มของทุกเพศทุกวัยดื่มได้ทุกวัน อาจเป็นเครื่องดื่มอาหารเสริมวันละ 1-2 แก้ว ช่วยส่งเสริมสุขภาพ เช่น ช่วยป้องกันโรคหัวใจล้มเหลว ท้องผูก ลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งในลำไส้ ริดสีดวง ลดระดับคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด อย่างไรก็ตาม ถั่วเหลืองมีแคลเซียมต่ำ จำเป็นต้องกินอาหารที่มีแคลเซียมเพิ่มด้วย

csiro_scienceimage_3229_tofu_and_soup

หากย้อนดูประวัติศาสตร์การใช้ถั่วเหลืองพบว่ามีการใช้ในประเทศจีนมานานกว่า 4,000 ปีแล้ว จึงต้องยกให้ชาวจีนมีประสบการณ์ใช้ถั่วเหลืองมากกว่าใคร โดยในมุมมองของแพทย์จีนจัดให้ถั่วเหลืองเป็นยาเย็น รสหวาน นำมาใช้บำรุงกำลังและบำรุงเลือด ชาวจีนว่าใช้ทะลวงเส้นด้วย และแก้อาการเจ็บหน้าอก แน่นท้อง เป็นตะคริว

มีเมนูอาหารที่ชาวจีนใช้ถั่วเหลืองปรุงเป็นอาหารสุขภาพมาฝาก เมนูนี้ให้คั้นน้ำถั่วเหลืองสดประมาณครึ่งลิตร เก็บไว้ นำข้าวสารมาต้มแบบข้าวต้มให้เดือดก่อน แล้วเติมน้ำคั้นถั่วเหลืองลงไปต้มต่อด้วยกัน เติมน้ำตาลทรายเล็กน้อย จะได้เป็นข้าวต้มเหลวผสมน้ำถั่วเหลือง ให้กินเช้า-เย็น ตำรับยาจีนกล่าวว่ามีสรรพคุณบำรุงพลัง บำรุงเลือด ผู้สูงอายุที่อ่อนแอควรต้มกินเป็นประจำ ช่วยบำรุงกำลัง และช่วยลดความดันโลหิต โรคหลอดเลือดหัวใจแข็งตัว

หมอยาชาวจีนยังถือว่า เต้าหู้มีฤทธิ์เย็น รสหวาน มีสรรพคุณบำรุงหยิน แก้ภาวะแห้ง บำรุงพลัง และเสริมกระเพาะอาหาร และใช้บำรุงน้ำนมของสตรีหลังคลอดได้ ยังมีเทคนิคบำรุงน้ำนม ให้ใช้เต้าหู้สัก 2-3 ก้อน ใช้น้ำตาลทรายแดง 50 กรัม ใส่เหล้าหมักเล็กน้อย นำไปต้มน้ำเดือด 10 นาที ถือเป็นยาบำรุงหยิน ช่วยให้มีน้ำนม

ยังมีตำรับอาหารแก้ตกขาว ลองใช้น้ำเต้าหู้ 1 ถ้วย แปะก๊วย 10 ลูก ต้มรวมกัน กินวันละครั้ง ถ้าแก้โรคเหน็บชา ใช้ถั่วเหลืองต้มกับรำข้าว ดื่มกินต่างน้ำ ชาวจีนยังนำเอากากถั่วเหลืองที่เหลือจากทำน้ำเต้าหู้ นำมากินแก้ท้องผูก และกระตุ้นการย่อยอาหารด้วย

ฉบับนี้แนะนำให้ใช้ประโยชน์ได้เฉพาะ”ถั่วสีเหลือง” ทั้งๆ ที่ในทางการแพทย์จีน ให้คุณค่ากับถั่วอีกหลายสีซึ่งมีประโยชน์ที่หลากหลายต่างกัน โปรดติดตาม ถั่วแดง ถั่วเขียว และถั่วขาวที่กำลังฮิตในหมู่สาวๆ ในตอนต่อไป อย่าลืม “ถั่ว” มีหลายสี สรรพคุณดีมีหลายอย่าง นะ.