ขี่มอเตอร์ไซค์ ข้ามแดนไป “สิงคโปร์” สู่พิธีการข้ามแดนทำยังไง? ไปชม!

สิ่งที่ผมไม่รู้มาก่อน เกี่ยวกับการขี่มอเตอร์ไซค์ จากเชียงใหม่ไปสิงคโปร์คนเดียว (17)

ลงจากเรือฟลอร่า เดอ ลา มาร์ มาก็มีส่วนที่อธิบายถึงประวัติศาสตร์ของมะละกา ซึ่งหากเรามองประวัติศาสตร์ของเรากับพม่า ก็ให้ความรู้สึกว่า พม่านี้มารุกรานเรา…

ก็นั่นแหละ…เราก็ดูไม่ค่อยดีเท่าไหร่จากที่พิพิธภัณฑ์กล่าวพาดพิงว่าเราชาวสยามก็ไปรุกรานเขา…ประวัติศาสตร์เกิดขึ้นแล้ว และก็ผ่านไปแล้ว การศึกษาเพื่อฟื้นฝอยหาตะเข็บไม่ทำให้เกิดประโยชน์อะไร

ศึกษาเพียงเพื่อทำความเข้าใจ ให้พบกับความเป็นมา ให้พบกับความรื่นรมย์ น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี…

แต่ก็อีกนั่นแหละ เมื่อไหร่ก็ตามที่ศึกษาประวัติศาสตร์อินเดียในช่วงอาณานิคมอังกฤษ…ก็ยังคง “ของขึ้น” อยู่เป็นประจำ

แต่ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นคนอินเดีย คนอังกฤษ คนไทย-อินเดีย คนมาเลเซีย-จีน คนไทย คนพม่า คนจีน หรือคนโปรตุเกส คนฮอลแลนด์…ใครๆ ก็ไปสตาร์บัคส์…

ไม่มีประเทศ ไม่มีศาสนา ไม่มีอะไรให้รักษาหรือปกป้อง ไม่มีอะไรให้ตายเพื่อ…

ทุกคนอยู่ร่วมกัน ดื่มกาแฟร่วมกันอย่างสงบสุข อย่างมีความสุข

และถึงแม้จะอยากไปดูพิพิธภัณฑ์อีกแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์เรือดำน้ำ ก็เป็นอันว่านึกถึงวิสัยทัศน์ของจอห์น เลนนอน…อยากจะดื่มกาแฟสักหน่อย

อาหารค่ำที่วางแผนไว้คือ สปาเกตตี…ซึ่งเมื่อค้นพบว่า ร้านอาหารอิตาเลียนที่ยอดเยี่ยม อยู่ในโรงแรมเราเอง เมื่อเสร็จจากกาแฟ จึงเข้าโรงแรม อาบน้ำ และดื่มด่ำกับสปาเกตตี

วันนี้เป็นวันที่เจ็ดของการเดินทาง ขี่มอเตอร์ไซค์วันนี้ได้ระยะทาง 355.3 ก.ม. รวมระยะทางจากเชียงใหม่ 2,570.9 ก.ม.

หนุ่มไทยเชื้อสายอินเดีย มาเที่ยวเมืองมะละกา กินอาหารเช้าครัวซ็องของฝรั่งเศส ตามด้วยกาแฟอเมริกัน ชื่นชมโบสถ์ของฮอลแลนด์

อาหารเที่ยงเป็นอาหารอินเดีย ดูพิพิธภัณฑ์จีน-มาเลเซีย ชื่นชมเรือฟลอร่า เดอ ลา มาร์ ของโปรตุเกส

กินสปาเกตตีของอิตาลีเป็นอาหารเย็น เดินทางด้วยมอเตอร์ไซค์ไทรอัมป์ของอังกฤษ มีชื่อว่า “ฟลอร่า เดอ อาปาซิโอนาโด เอ็น เอล เวียนโต” เป็นภาษาสเปน แต่ผลิตที่ชลบุรี

จอห์น เลนนอน คงรู้สึกดี

ก่อนนอนวางแผนการเดินทางพรุ่งนี้เพียงสองร้อยยี่สิบห้ากิโลเมตร ก็ถึงเมืองหน้าด่านยะโฮร์บาห์รู จะเข้าสิงคโปร์เลยก็น่าจะเป็นไปได้ ควรจะเป็นไปได้…ต้องเป็นไปได้

ค้นดูการข้ามแดนไปสิงคโปร์ทางอินเตอร์เน็ตก็พบว่าตัวหนังสือภาษาอังกฤษเยอะมาก และประสบการณ์จากการข้ามแดนเข้ามาในมาเลเซียใช้เวลาเพียงน้อยนิด มีคนทำเอกสารที่หน้าด่าน ก็เลยไม่อ่านตัวหนังสือเยอะๆ แล้วก็คิดเอาเองว่ามันคงจะคล้ายๆ กัน ทำเอกสารหน้าด่าน แล้วก็ข้ามแดนเข้าสู่สิงคโปร์แบบชิล ชิล

ลืมไปหมดว่าไทยข้ามมามาเลเซีย จะไปเหมือนกับมาเลเซียข้ามไปสิงคโปร์ได้อย่างไร

ลืมไปหมดว่าเราก็ไม่ใช่คนมาเลเซีย แต่เป็นคนไทย คนไทยจะขี่มอเตอร์ไซค์เข้าไปสิงคโปร์จะง่ายเหมือนเข้าประเทศที่พรมแดนติดกันได้อย่างไร…

ลืมแม้กระทั่งคำเตือนจากหลายๆ คนที่เคยบอก…สิงคโปร์เข้ายาก…ลืมไปหมด

แล้วก็นอนหลับสบายจากความเหนื่อยที่เดินมาทั้งวัน กับอาหารเต็มอิ่มในพุง…ฝันไปว่าพรุ่งนี้คงจะได้เหยียบสิงคโปร์…

ถึงแม้มั่นใจว่าอาหารเช้าจะใช้ได้ แต่ก็อยากเผด็จศึกเข้าสู่สิงคโปร์ให้ได้ซะในวันนี้เลย นี่ก็เข้าสู่วันที่แปดของการเดินทาง คิดถึงบ้าน คิดถึงนุสรา คิดถึงลูกๆ วันนี้แหละ สิงคโปร์จะเป็นของเรา

ออกเดินทางด้วยความฮึกเหิม ราวกับพระเจ้าตากจะเข้าตีเมืองจันท์ ล้อหมุนหกโมงเช้า แวะเติมน้ำมัน

ไม่มีหยดแม้แต่น้อย

กลับบ้านไปหากถูกตัดออกจากกองมรดก เพราะมัวแต่เพลิดเพลินอยู่กับเจ้า “ฟลอร่า เดอ อาปาซิโอนาโด เอ็น เอล เวียนโต” “ดอกไม้ที่หลงใหลในสายลม” คิดอะไรไม่ออก มาสมัครเป็นเด็กปั๊มก็ยังได้ แล้วก็มุ่งสู่ถนนสาย E2 ตรงเข้าสู่เมืองยะโฮร์บาห์รู

ถนนจากมะละกาสู่ยะโฮร์บาห์รูห์ ราบเรียบไม่ค่อยจะมีภูเขา ส่วนใหญ่เป็นขึ้นเนิน ลงเนิน มีโค้งซ้ายบ้าง ขวาบ้าง ไม่ให้ง่วงนอน และแน่นอน ต้นปาล์มจำนวนมาก

ด้วยความรื่นรมย์ไปกับเจ้าดอกไม้ที่หลงใหลในสายลม ฟลอร่า เดอ อาปาซิโอนาโด เอ็น เอล เวียนโต เผลอแป๊บเดียวก็เข้าสู่เมืองยะโฮร์บาห์รู

ด่านที่จะเข้าสู่สิงคโปร์จากเมืองยะโฮร์บาห์รู มีสองด่าน ด่านแรกชื่อด่านวู้ดแลนด์ เป็นด่านเก่า ส่วนด่านที่สอง เป็นด่านใหม่ชื่อด่านทูอัส ด่านที่สองนี้เป็นด่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด ไม่มีการใช้กระดาษ ข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตว่าอย่างนั้น เราจึงตัดสินใจมุ่งหน้าสู่ด่านแรก วู้ดแลนด์ และเมื่อใกล้จะถึงด่านมากขึ้นเรื่อยๆ ก็มองหาร้านทำเอกสารข้ามแดน ร้านแลกเงิน ร้านไวน์ชั้นเลิศสำหรับเจ้าสองสูบ

และร้านอาหารเช้าสำหรับเจ้านายมัน

…ซึ่งไม่เจอสักอย่าง

ในที่สุดก็เลี้ยวเข้าจอดในที่พักริมทางอันสุดท้ายก่อนจะข้ามด่าน ที่รู้ว่าอันสุดท้ายเพราะมันใกล้จะถึงด่านเป็นอย่างยิ่งทีเดียว

ทั้งร้านทำเอกสารข้ามแดน ร้านแลกเงิน ร้านไวน์ชั้นเลิศสำหรับเจ้าสองสูบ และร้านอาหารเช้า ก็ยังคงไม่มีสักอย่างที่นี่

…คงมีแต่เพียงมอเตอร์ไซค์เจ้าถิ่นคันเล็กๆ พร้อมเจ้าของ เลยเข้าไปถาม

เขาบอกเป็นภาษามือว่าไปเลย ไปที่ด่านเลย

เมื่อพิจารณาว่าไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่านี้ ก็ตัดสินใจมุ่งตรงไปที่ด่าน

ด่านที่มาเลเซียเรียบง่ายและรวดเร็วเหมือนเดิม มีทางแยกชัดเจนระหว่างรถยนต์กับมอเตอร์ไซค์ เราก็เลี้ยวเข้าไปช่องทางสำหรับมอเตอร์ไซค์ มาถึงตู้ของเจ้าหน้าที่ ไม่ต้องถอดหมวกกันน็อก ไม่ต้องลงจากมอเตอร์ไซค์ พิธีตรวจคนเข้าเมืองก็เป็นอันว่าเรียบร้อย ใช้เวลาอย่างรวดเร็วก็ออกจากมาเลเซียมาได้อย่างไร้กังวล ไฟเตือนน้ำมันติดขึ้น…เค้าลางแห่งหายนะกำลังมาเยือน

แต่ในใจคิดว่า ออกจากมาเลเซียมาแล้ว ถือว่าผ่านมาได้ครึ่งทาง วันนี้คงได้กินอาหารเช้าที่ถนนออร์ชาร์ด

มาถึงด่านสิงคโปร์เวลาประมาณเก้าโมงครึ่ง มีช่องทางแยกรถยนต์กับมอเตอร์ไซค์เหมือนที่มาเลเซีย ขี่ตามช่องมาเรื่อยๆ ก็มาจอดต่อหลังมอเตอร์ไซค์อีกหลายคัน…อันที่จริง หลายสิบคัน…อันที่จริง หลายร้อยคัน น่าจะตรงกับสภาพความเป็นจริงมากกว่า มอเตอร์ไซค์จำนวนมหาศาลต่อคิวกันเพื่อข้ามแดนไปสิงคโปร์

เราเป็นเพียงคันหนึ่งจากในหลายร้อยคัน คันอื่นเขาข้ามแดนไปกันได้ เราก็น่าจะข้ามแดนไปได้ นึกถึงอาหารเช้าที่ถนนออร์ชาร์ด…เมนูลอยเข้ามาในจิตใจ

ค่อยๆ เคลื่อน ค่อยๆ เข็น ค่อยๆ ผลัก ไปทีละนิด เวลาผ่านไปพักใหญ่ๆ ก็มาถึงตาเรา ไม่ต้องลงจากรถแต่ต้องถอดหมวกกันน็อก และเมื่อยื่นพาสปอร์ต เขาก็ให้เรากรอกใบสีขาว…คนอื่นๆ ไม่ต้องกรอก แต่เราต้องกรอก…ก็กรอกโดยคร่อมอยู่บนมอเตอร์ไซค์นั่นเอง

กรอกเสร็จ เจ้าหน้าที่ก็ประทับตรา เดินออกมาดูรถ “ยูขี่มาจากประเทศไทย” “ใช่ ไอขี่มาจากประเทศไทย” เขาทำหน้าตกใจหน่อยๆ แล้วก็ยิ้ม แล้วก็ปั๊มพาสปอร์ตให้ พิธีตรวจคนเข้าเมืองเป็นอันเสร็จสิ้น ใช้เวลาในการต่อคิวนานหน่อย แต่ใช้เวลาในการตรวจพาสปอร์ตไม่นาน

เป็นอันเสร็จพิธีตรวจคน

การตรวจรถนั้นง่ายขึ้นไปกว่าการตรวจคน มอเตอร์ไซค์หลายร้อยคันที่เป็นเพื่อนร่วมทาง เพียงเอาบัตรทาบที่เครื่องก็ผ่านเข้าไปได้เลย บัตรที่มีประสิทธิภาพ บัตรข้ามแดนที่ยอดเยี่ยม บัตรที่มอเตอร์ไซค์หลายร้อยคันมี…แต่เราไม่มี

แล้วเจ้าหน้าที่ก็ชี้ให้เราไปจอดในอีกส่วนหนึ่งของสำนักงาน เพื่อตรวจรถ…สัญชาตญานบอกว่า นี่คงไม่ง่ายนัก

เราเป็นเพียงคันหนึ่งจากในหลายร้อยคัน คันอื่นเขาข้ามแดนไปกันได้ เราก็น่าจะข้ามแดนไปได้ แต่เราข้ามไปยังไม่ได้ และคงไม่ง่าย อาหารเช้าที่ถนนออร์ชาร์ด…เมนูที่ลอยเข้ามาในจิตใจ…ค่อยๆ ลอยหายไป…

“เปิดกระเป๋า…”