จดหมาย

จดหมาย | ฉบับประจำวันที่ 23-29 กุมภาพันธ์ 2567

 

• ฮาร์ดเพาเวอร์มะกัน

กองทัพเรือไทยและกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา

จะร่วมกันดำเนินภารกิจกู้เรือหลวงสุโขทัยแบบจำกัด

หลังจากเรือ Ocean Valor ของสหรัฐเดินทางถึงประเทศไทยในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567

เจ้าหน้าที่กองทัพเรือสหรัฐ 17 นาย จากหน่วยประดาน้ำและกู้ซ่อมเคลื่อนที่ (Mobile Dive and Salvage Unit) ซึ่งประจำอยู่ที่ฐานทัพเรือในรัฐฮาวาย จะเข้าร่วมภารกิจในครั้งนี้

โดยเรือ Ocean Valor ออกเดินทางในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ไปยังเรือหลวงสุโขทัยซึ่งอับปางลงในอ่าวไทยเมื่อเดือนธันวาคม 2565 และเริ่มปฏิบัติการประดาน้ำในภารกิจขั้นต้นในวันที่ 22 กุมภาพันธ์นี้

เจ้าหน้าที่กองทัพเรือสหรัฐดังกล่าวมีกำหนดเข้าร่วมการฝึกคอบร้าโกลด์ประจำปีนี้ในประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 43 โดยภารกิจจะประกอบไปด้วยกิจกรรมการฝึกต่างๆ รวมถึงการกู้เรือหลวงสุโขทัยแบบจำกัด

ทั้งนี้ กองทัพเรือไทยจะกำหนดพื้นที่ห้ามเดินเรือรอบๆ บริเวณที่ปฏิบัติภารกิจ เพื่อรักษาสวัสดิภาพและความปลอดภัยให้แก่เจ้าหน้าที่

ภารกิจนี้เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงและเกิดขึ้นได้เพราะมิตรภาพอันยาวนานระหว่างกองทัพเรือสหรัฐ และกองทัพเรือไทย ตลอดจนการฝึกซ้อมร่วมและความสัมพันธ์ระหว่างภาคประชาชนตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา

กองทัพเรือของทั้งสองประเทศมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติภารกิจร่วมกันอย่างปลอดภัยและละเอียดถี่ถ้วน

เพื่อเชิดชูเกียรติเหล่าทหารเรือที่สูญหายและนำมาซึ่งข้อสรุปให้แก่ครอบครัวและเพื่อนๆ ของพวกเขา ตลอดจนกำลังพลกองทัพเรือไทย

ฝ่ายสื่อมวลชนและวัฒนธรรม

สถานเอกอัคคราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย

 

อย่าเพิ่งเบื่อ ที่คอลัมน์จดหมาย นำเสมอเรื่องมะกันถี่

แถมเล่มนี้ ยกพื้นที่ให้ทั้งคอลัมน์

มิได้มีเบื้องหลัง หรือความโน้มเอียงใดๆ

แต่อยากชี้ชวนให้มองถึงวิธีการสื่อสารของชาติมหาอำนาจโลก

ว่าทำไมเขาถึงแผ่อิทธิพลทั้ง “แข็งและอ่อน” ได้อย่างน่าศึกษา

ไม่เอ้เต้อยู่บนหอคอยงาช้าง

อย่างองค์กรอิสระหลายๆ แห่งในบางประเทศ

ที่ควรยึดโยงและสื่อสารกับประชาชนบ้าง

ได้นำเสนอการกู้เรือหลวงสุโขทัย

ที่กองทัพเรือสหรัฐเสนอช่วยเหลือ

แบบที่ (กองทัพเรือไทย) “ไม่อาจปฏิเสธ”

มาตามลำดับ

ตอนนี้เริ่มปฏิบัติแล้ว

“ฮาร์ดเพาเวอร์” จากกองทัพเรือมะกัน

จะไขปริศนาการจมของเรือหลวงสุโขทัยได้ขนาดไหน

โปรดติดตาม

 

• ซอฟต์เพาเวอร์มะกัน

สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ของไทย

เปิดตัวโครงการ International Academic Partnership Program (IAPP) ประเทศไทย ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567

โดยมีเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย, ผู้ตรวจราชการกระทรวง อว., ตัวแทนจากกระทรวงศึกษาธิการ และตัวแทนจาก Institute of International Education (IIE), อธิการบดีสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ, ภาคีภาคเอกชน ตลอดจนสมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกา (AUA) เข้าร่วมพิธีเปิด

โครงการ IAPP มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศที่ยั่งยืนระหว่างสถาบันอุดมศึกษา

โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและคณาจารย์ การค้นคว้าวิจัยร่วมกัน

ตลอดจนความร่วมมือด้านวิชาการระหว่างสหรัฐกับไทย

โครงการ IAPP เป็นโครงการแรกที่จะให้คำแนะนำและสนับสนุนสถาบันต่างๆ ที่เข้าร่วม ในการกำหนดแผนเชิงกลยุทธ์ด้านการศึกษาระหว่างประเทศ

ศึกษาโอกาสในการร่วมมือกันระหว่างสถาบันที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน

และสร้างกรอบงานเพื่อสร้างความยั่งยืนและขับเคลื่อนความร่วมมือเหล่านั้น

“สหรัฐมุ่งมั่นต่อความร่วมมืออันยาวนานกับประเทศไทย การเสริมสร้างความร่วมมือด้านการศึกษาและการแลกเปลี่ยนทางวิชาการเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการสร้างอนาคตที่ดีกว่าและมั่งคั่งขึ้นสำหรับทั้งชาวไทยและชาวอเมริกัน” เอกอัครราชทูตสหรัฐ โรเบิร์ต เอฟ. โกเดค กล่าว

“การศึกษาระหว่างประเทศยังช่วยสร้างความเข้าใจและการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม ตลอดจนกระชับมิตรภาพระหว่างเราให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น”

ดร.จันทร์เพ็ญ เมฆาอภิรักษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง อว. กล่าวว่า “กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่สถานทูตสหรัฐดำเนินงานมากมายในด้านการศึกษาในประเทศไทย เราอยากร่วมงานกับโครงการ IAPP ประเทศไทย และส่งเสริมให้สถาบันอุดมศึกษาไทยใช้เวลาและกำลังของตนในโครงการนี้”

เจ้าหน้าที่บริหารโครงการ IAPP เลือกสถาบันอุดมศึกษาสหรัฐ 19 แห่ง และสถาบันอุดมศึกษาไทย 29 แห่ง ให้เข้าร่วมโครงการ

โดยคัดเลือกสถาบันจากทั่วภูมิภาคเพื่อให้กลุ่มมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการมีลักษณะเฉพาะและมีความหลากหลาย

อีกทั้งยังใช้เกณฑ์พิจารณาลักษณะต่างๆ เช่น ขนาด ประเภทของสถาบัน การดำเนินงานในระดับภูมิภาค ชื่อเสียง และสาขาวิชา ตลอดจนการเน้นในเรื่องสะเต็มศึกษา

ฝ่ายสื่อมวลชนและวัฒนธรรม

สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย

 

นอกจากฮาร์ดเพาเวอร์ ผ่านการทหาร

ทั้งการกู้เรือหลวงสุโขทัย และการฝึกคอบร้าโกลด์แล้ว

สหรัฐยังมีบทบาทในเรื่องซอฟต์เพาเวอร์ อย่างแข็งแกร่ง

หนึ่งในนั้นคือ “การศึกษา”

ซึ่งหยั่งรากฝังลึกในสังคมมายาวนาน

และดูเป็นเรื่องสร้างสรรค์

ที่ผู้ให้ และผู้รับ ต่างเต็มใจ

ดังนั้น ถึงแม้เราจะรู้สึกว่าในระยะหลัง

ไทยมีระยะห่างจากสหรัฐ

และเอนเอียงไปยังจีน

แต่จริงๆ เป็นเช่นนั้นหรือไม่

น่าจะวิเคราะห์ได้ไม่ยาก •