จดหมาย มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22 ก.ค. 59

ดวง (1)

ผมอยากเล่าประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิต

สมัยเป็นนักบินเฮลิคอปเตอร์ของกองบินตำรวจ เกี่ยวกับสัมผัสที่ 6 ที่ทำให้รอดตายมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ

เหตุเกิดเมื่อปี 2517 สมัยนั้นยังเป็นนักบินผู้ช่วย มียศสิบตำรวจเอก

ได้รับคำสั่งให้ไปประจำการที่หน่วยบินตำรวจจังหวัดพิษณุโลก

สมัยนั้นพวกคอมมิวนิสต์ชุกชุมมาก เครื่องบินถูกยิงไม่เว้นแต่ละวัน

ภารกิจส่วนใหญ่ คือส่งเสบียงอาหารให้กับตำรวจตระเวนชายแดน และรับตำรวจป่วยในแนวหน้าส่งโรงพยาบาลในแนวหลัง

การบินมีอันตรายรอบด้าน

ไหนจะต้องหลบหลีกพวกคอมมิวนิสต์

และไหนจะต้องต่อสู้กับสภาพอากาศ

เราจะต้องพร้อมบินทุกเมื่อถ้ามีการร้องขอจากแนวหน้า

ไม่ว่าสภาพอากาศจะเป็นอย่างไร

ในเดือนตุลาคม 2517 เกิดลางสังหรณ์

โดยฝันว่า ถูกยมทูตจับไปลงนรก

ผมวิ่งหนีอย่างไม่คิดชีวิต

ด้วยความกลัวอย่างสุดขีด

สะดุ้งตื่น ก็ดีใจมันเป็นเพียงความฝัน

แล้วก็คิดว่ามันจะต้องมีเหตุอาเพศแน่นอน

2-3 วันต่อมา ผมวิทยุขอกลับส่วนกลางในกรุงเทพฯ

และได้รับการอนุมัติ

ผมเดินทางกลับในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2517

วันที่ 17 พฤศจิกายน เครื่องบินที่ผมเคยบินอยู่นั้น ก็เกิดอุบัติเหตุ

เนื่องจากสภาพอากาศปิด

นักบินเกิดหลงฟ้า (Vertigo) เครื่องบินโหม่งโลก

นักบินและช่างเครื่องตายหมด

คิดขึ้นมาทีไร ทำให้ขนลุกทุกครั้งไป

ผมรอดตายมาได้ทุกวันนี้ เพราะสัมผัสที่ 6 นี้เอง

สัมผัสทั้ง 5 คือ สัมผัสด้วย ตา หู จมูก ลิ้น และกาย

ส่วนสัมผัสที่ 6 สัมผัสด้วยใจ

ร.ต.ท.นฐพล พิทักษ์

เห็นเจ้าวิหารสุขิโต “วารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ” ออกมาบอกใบ้ ทำนองว่า อาจจะมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นในบ้านเมือง
จนทำให้การเลือกตั้งมีการคลาดเคลื่อน หรือเลื่อนออกไป แต่ก็ย้ำว่า “อาจจะ” เท่านั้น ยังไงก็ต้องมีการเลือกตั้งแน่นอน ออกลูกกั๊กๆ แบบนี้ มีนัยทางการเมืองอะไรหรือเปล่าไม่รู้และไม่รู้ เหมือน “สัมผัสที่ 6” ของ ร.ต.ท.นฐพล พิทักษ์
ที่บอกลางสังหรณ์ อะไรบ้างหรือเปล่า
มีอะไร จะได้เตรียมตัวทัน-แฮ่ม

ดวง (2)

เรียน คุณ ศ.ดุสิต คอลัมน์ รู้ชีวิตด้วยดวงดาว

กรุณาสอนเทคนิคการดูดวงแบบเลข 7 ตัว 9 ฐาน เคยศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว

แต่ยังดูแบบลึกๆ ว่า เวลาใครถาม จะได้งานทำเมื่อไหร่?

ปีนี้จะดีหรือไม่ดี?

เดือนนี้ หรือเดือนไหนดี?

ขอท่าน ศ.ดุสิต ช่วยสอนให้ละเอียดด้วยครับ

จะเป็นพระคุณอย่างยิ่งครับ

ส.เชียงใหม่

เรื่องดูดวงแบบเลข 7 ตัว ดูเหมือน ศ.ดุสิต จะสอนละเอียดไปพอสมควรแล้ว
กระนั้น หากมีอะไรเพิ่มเติม ศ.ดุสิต คงสอนเพิ่มเติมให้อย่างเต็มที่
ไม่มี “กั๊ก”

ปรองดอง?

หลังจากเรื่องดอยผ้าห่มปก อยู่ในอุทยานฟ้าห่มปก

เดือนมิถุนายน ผมก็ได้มีโอกาสไปเที่ยวสถานีรถไฟขุนตาน

ซึ่งเดินทางผ่านด่านอุทยานแห่งชาติขุนตาล

ก็เลยได้เห็นป้าย ตาน(น) กับ ตาล(ล)

อยู่เคียงกัน

เรื่องนี้เคยเห็นถกเถียงกันเมื่อหลายปีก่อน นึกว่าจะยุติที่ใดที่หนึ่ง

พอมาเห็นอีกก็เหมือนเดิม

เมืองไทยนี้แปลก

ของอย่างเดียวกัน ที่เดียวกัน แต่เขียนชื่อต่างกัน

พอผมขอถามเจ้าหน้าที่เฝ้าประตูอุทยานดอยขุนตาล ท่านก็ยิ้ม ไม่ตอบอะไร

ก็เลยเขียนมาให้ มติชนสุดสัปดาห์ ทราบอีกครั้ง

ตะวันรอน อ.ลอง จ.แพร่

จะเปิดให้ ลงประชามติ ขุนตาน ใช้ น หรือ ล ก็จะเอิกเกริกเกินไป เอาแบบง่ายๆ ลวกๆ อย่างที่ตะวันรอนว่าก็ดี คือสรุปตรงที่ “เมืองไทยนี้แปลก”–จบ
จบ เพราะเกิดอารมณ์ไม่อยากต่อล้อต่อเถียง
อ่าน “ปรองดอง” ของ “บุญทิศ” ดีกว่า