‘The Next ประชาธิปัตย์’?

สถานการณ์ “แตกร้าว-ลดขนาด” ที่เกิดขึ้นภายใน “พรรคประชาธิปัตย์” กลายเป็นกรณีศึกษาสำหรับทุกพรรคการเมือง ซึ่งย้ำเตือนให้ทุกฝ่ายตระหนักถึง “อนิจลักษณะทางการเมือง” ได้เป็นอย่างดี

ว่าการตัดสินใจผิดพลาดในทางประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่ง สามารถส่งผลกระทบต่อเนื่องมาเรื่อยๆ จนนำไปสู่ภาวะ “พรรคแตก” และคล้ายจะกลับไปโตเหมือนเก่าไม่ได้อีกแล้ว

ทุกพรรคในสังคมการเมืองไทยร่วมสมัยล้วนมีความเสี่ยงที่จะเดินตามรอย “ประชาธิปัตย์ ณ วันนี้” ด้วยกันทั้งนั้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สองพรรคใหญ่ฝ่ายรัฐบาล-ฝ่ายค้าน ที่กำลังเดินอยู่บนทางแพร่งทางการเมืองยุคปัจจุบัน นั่นคือ “เพื่อไทย” และ “ก้าวไกล”

 

หลายคนเป็นห่วงว่า “พรรคเพื่อไทย” จะมีชะตากรรมไม่ต่างจากประชาธิปัตย์

ในยุคที่ “อดีต” พรรคการเมืองหลักพรรคเดียวของฝ่ายประชาธิปไตย ต้องยอมเป็นแกนนำจัดตั้ง “รัฐบาลข้ามขั้ว” ต้องยอมจับมือกับ “พรรคลุงๆ” ซึ่งเคยรับหน้าที่สืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร ต้องยอมเป็นรัฐบาลที่มุ่งมั่นทำเรื่องปากท้อง แต่ไม่ “ท้าชน” เรื่องการเมือง แบบจังๆ ไม่ว่าจะในประเด็นรัฐธรรมนูญ, นิรโทษกรรม หรือปฏิรูปกองทัพก็ตามที

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่า เพื่อไทยนั้นยังมิได้ถลำลึกถึงขั้นลดทอนตัวเองเป็น “พวกป่วนประชาธิปไตย” เพื่อปูทางไปการสู่รัฐประหาร และยังไม่ได้ออกคำสั่งสังหาร-ทำร้ายประชาชนที่ออกมาทวงสิทธิทวงเสียงของพวกตนกลางเมืองหลวง

กระนั้นก็ตาม ภาพการเริ่มประนีประนอมกับ “ขั้วอำนาจนอกระบบ” หรือภาพการจัดตั้งรัฐบาลซึ่งไม่เหมือนกับที่คนจำนวนไม่น้อยคาดหวังเอาไว้ตอนหาเสียงเลือกตั้ง อาจกลายเป็น “ก้าวแรกที่พลาดพลั้ง” อันส่งผลให้เพื่อไทยซวนเซไปเรื่อยๆ

หนทางเดียวที่จะป้องกันเพื่อไทยจากอาการเสื่อมทรุด-ถอยหลัง ก็คือ การต้องเร่งพิสูจน์ว่าตนเองกำลังเข้าไป “ต่อสู้ต่อรอง” ในโลกความเป็นจริงทางการเมือง “อยู่จริงๆ” ดังที่แกนนำพรรคพยายามอธิบายเอาไว้ตอนจะจัดตั้งรัฐบาล

บทพิสูจน์นี้ไม่ได้ยึดโยงกับนโยบาย “ดิจิทัลวอลเล็ต” หรือ “ซอฟต์เพาเวอร์” หากต้องยืนยันผ่านการกล้ายืนหยัดหลักการสำคัญๆ ในกระบวนการแก้ไข-ยกร่างรัฐธรรมนูญ หรือการแน่วแน่เรื่องนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง เป็นต้น

 

ขณะเดียวกัน “พรรคก้าวไกล” ก็ถูกกล่าวหาเย้ยหยันว่าเป็น “สลิ่มเฟสสอง” ที่รับมรดกตกทอดทางการเมืองมาจากประชาธิปัตย์ ซึ่งครองใจบรรดา “สลิ่มเฟสแรก”

ผ่านปรากฏการณ์ที่ก้าวไกลได้คะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นกอบเป็นกำจากคนเมือง-คนชั้นกลาง ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่ๆ จากเหนือ อีสาน ไปถึงภูเก็ต รวมทั้งการกวาดที่นั่งโซนตะวันออกแบบเกือบจะยกภาค

ข้อกล่าวหานี้วางบนฐานคิดที่เห็นว่า โหวตเตอร์ก้าวไกลคือ “อดีตคนเสื้อเหลือง-คนเป่านกหวีด” ที่เปลี่ยนสีกลายมาเป็น “พวกส้ม”

ด้านหนึ่ง นี่เป็นความห่วงใยที่พอมีเหตุผลอยู่บ้าง เพราะความคิดทางการเมืองของมวลชน-ฝูงชน-ชนชั้นต่างๆ นั้นผันแปรเปลี่ยนไปได้เสมอ วันก่อน พวกเขาอาจเคยต่อต้านประชาธิปไตย วันนี้ หันมามีความหวัง-ความฝันกับประชาธิปไตย และวันข้างหน้า อุดมการณ์ของพวกเขาก็อาจพลิกผันกลายเป็นอื่น

ก้าวไกลคงต้องเร่งพิสูจน์ว่าตนเองเป็นสถาบันการเมืองที่มีหลักคิด-อุดมการณ์อันมั่นคงเด็ดเดี่ยว แม้จะดำเนินการใดๆ โดยรับฟังเสียงประชาชนเป็นหลัก แต่ก็ไม่จำเป็นต้องไหลตามกระแสมวลชนผู้สนับสนุนไปหมดทุกกรณี แม้ในวันที่มวลชนคิดผิด-วิเคราะห์พลาด

แต่อีกด้านหนึ่ง การได้ “อดีตเสื้อเหลือง-นกหวีด” ที่เปลี่ยนใจเรียบร้อยแล้วมาเป็นพวก ก็มิใช่ความผิดในตัวมันเอง ถ้าเราเชื่อว่า “การต่อสู้ทางการเมือง” คือการมุ่งเปลี่ยนแปลงความคิดของผู้คนในสังคม

หากยึดมั่นในนิยามดังกล่าว ก็ต้องถือว่าก้าวไกลประสบความสำเร็จ และสามารถก้าวข้ามขีดจำกัดของพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยในทศวรรษ 2550 มาได้

หรือถ้าลองพิจารณาข้อเท็จจริงในมุมกลับ เมื่อ “อดีตมวลชนอนุรักษนิยม” มีศักยภาพที่จะก้าวหน้าได้ ก็พึงระวังว่า “อดีตมวลชนฝ่ายประชาธิปไตย” อาจมีโอกาสล้าหลังลงได้เหมือนกัน หากประเมินสถานการณ์ทางการเมืองพลาด เพราะยึดติดตัวบุคคลหรือพรรค และผลประโยชน์ระยะสั้นเฉพาะหน้ามากเกินไป

 

ถ้ายึดเอา “ประชาธิปัตย์” เป็น “ครู” ทั้ง “เพื่อไทย” และ “ก้าวไกล” ล้วนอยู่ในสถานะสุ่มเสี่ยงที่จะ “เดินหลงทาง” ได้ไม่ต่างกัน

เพียงแต่พรรคที่อยู่ใกล้วงจรอำนาจและมีท่าทีอ่อนน้อมต่อรัฐพันลึกแบบไทยๆ มากกว่า ย่อมมีความเสี่ยงจะก้าวพลาดสูงกว่าและเผลอไผลออกนอกลู่นอกทางไปไกลสุดกู่กว่า •

 

ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน