ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 17 - 23 พฤศจิกายน 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | ของดีมีอยู่ |
เผยแพร่ |
ในงานเสวนาสรุปผลโพล “มติชน x เดลินิวส์ : รัฐบาลเศรษฐาควรแก้ปัญหาอะไร?” มีโอกาสนั่งฟังบทวิเคราะห์ของ “ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์” ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ “รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ” กรรมการวิทยาลัยนานาชาติปรีดีพนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
นอกจากพูดถึงผลโพลที่ปรากฏออกมาแล้ว ในช่วงท้ายๆ ผู้ดำเนินรายการคือ “ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์” ยังชวนวิทยากรทั้งสองท่านให้ช่วยวิเคราะห์บทบาทของชนชั้นนำไทยและรัฐไทยในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมืองรอบนี้ รวมถึงในอนาคตภายภาคหน้า
อาจารย์อรรถจักร์ประเมินบทบาทของรัฐไทยและชนชั้นนำไว้อย่างน่าสนใจว่า
“สิ่งแรกที่ต้องย้ำก็คือว่ารัฐบาลนี้และรัฐไทยเป็นตัวจรรโลงค้ำยันความเหลื่อมล้ำ ย้ำกันตรงนี้ก่อน ผมใช้คำว่ารัฐไทย รัฐบาลนี้เมื่อมาอยู่ในรัฐไทย คุณก็ทำอย่างนี้
“แต่ในการจรรโลงความเหลื่อมล้ำ มันมีความตึงเครียดสูงขึ้นๆ การเลือกพรรค 14 ล้าน (เสียง) กับ 10 ล้าน (เสียง) เพื่อไทยด้วย 24 ล้าน (เสียง) มันส่ออะไรเยอะแยะเลย
“ถามว่าความตึงเครียดทางสังคมแสดงออกทางอะไรบ้าง? ผมคิดว่าในหลายกรณีโผล่ออกไปในเรื่องของอาชญากรรม เรื่องของการยิงในเมือง เรื่องของช่างกลตีกัน ทั้งหมดมันยังลงมาอยู่ในระดับที่คนจนรังแกคนจน ช่างกลก็จะฆ่ากันกับช่างกล แต่ตอนนี้ พอช่างกลลูกหลงไปเจอคุณครูเจี๊ยบ อันนี้เรื่องใหญ่ แต่ช่างกลตายกันระหว่างวัน (สังคมจะมองว่า) ช่างมันเถอะ
“ปัญหาสังคมทั้งหมดมันเกิดขึ้นจากความเหลื่อมล้ำนี้ และประวัติศาสตร์ของโลกทั้งหมดเลย (บ่งชี้ว่า) ความตึงเครียดในระดับสังคมมันจะขยับขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงจุดหนึ่ง คนที่มีความตึงเครียด เช่น ช่างกล ก็จะสามารถขยับไปสู่ (ระดับ) ฉันจะตีกับผู้มีอำนาจ เพียงแต่ว่าระยะเวลานี้มันกินเวลาเท่าไหร่ ผมไม่ทราบ เดาไม่ได้ เพราะเราก็มีอำนาจวัฒนธรรมบางอย่างที่กดทับอยู่…
“ผมแก่แล้ว ผมก็อยากจะเห็นชนชั้นนำที่ประคองรัฐไทย ค้ำยัน (ความเหลื่อมล้ำ) นี้ ฉลาดหน่อยได้ไหม? คุณร่ำรวยมานานแล้ว คุณก็ปรับให้ร่ำรวยน้อยลง แบ่งปันกันมากขึ้น เพื่อที่จะขยับการนองเลือดไปให้ไกลที่สุด ทหารก็ยกพื้นที่ต่างๆ ให้กับสาธารณะให้มากขึ้นทุกอย่าง สนามกอล์ฟก็เปลี่ยนเป็นสนามเด็กเล่น
“ผมคิดว่ามันมีโอกาสที่จะหนีการนองเลือด ขึ้นอยู่กับพวกท่าน ชนชั้นนำว่าจะคิดอย่างไร ถ้าท่านคิดไม่ได้ เวลาตรงนั้นมันคงมาถึง…
“ผมคิดว่าชนชั้นนำไทยตอนนี้รู้จักสังคมไทยน้อย การที่เขารู้จักสังคมไทยน้อย มันทำให้เขารู้สึกว่าเขาใช้เครื่องมือที่มีอยู่ ก็ควบคุมคนไทยได้แล้ว ตรงนี้เองคือจุดอ่อน
“ถามว่าเขาฉลาดจบด๊อกเตอร์ (ไหม)? มี แต่เขาไม่เข้าใจตรงนี้ ซึ่งจะแตกต่างจากชนชั้นนำสมัยรัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 ผมคิดว่าคนพวกนี้ไม่รู้จักสังคมไทย แต่เขาออกไป สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ นี่เดินทางเยอะแยะ เพื่อไปเข้าใจ ส่วนเข้าใจแล้วมาสร้างโมเดลอะไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
“อันที่สอง คือ ความซับซ้อนของเครือข่ายที่ถักสานกันเป็นทุน มันหนัก แน่น เหนียว จนกระทั่งเราคงต้องการความฉลาดที่เป็น collective (ความฉลาดรวมหมู่) ของชนชั้นนำ (เราจะพึ่งความฉลาดของชนชั้นนำ) แต่ละคนคงไม่ได้ เพราะมันถักสานกันแน่นมาก”
ขณะที่อาจารย์อนุสรณ์ยังมองชนชั้นนำในแง่ดีผ่านประสบการณ์ในอดีตว่า
“ถามว่าอีลีตไทยที่เป็นอีลีตแบบจารีต เก่งไหม? ฉลาดไหม? ปรับตัวไหม? สยามประเทศ อีลีตปรับตัวได้ดีที่สุด ถ้าดูประวัติศาสตร์นะ ปัจจุบัน-อนาคตก็ค่อยว่ากันอีกที เหตุปัจจัยต่างไป
“แต่ว่าในอดีตที่ผ่านมา สยามหรือประเทศไทย อีลีตที่เป็นกลุ่มจารีตปรับตัวได้เก่งที่สุด แล้วหลายคนเป็น reformists (นักปฏิรูป) อาจจะไม่ใช่นักอภิวัฒน์นะ เพราะว่าโดยภูมิหลังก็เป็นนักอภิวัฒน์ยากอยู่แล้ว แต่ว่าอย่างน้อยเป็นนักปฏิรูป
“ไม่อย่างนั้น ประเทศไทยก็คงมีการเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้างที่รุนแรงกว่านี้ สยามไม่เคยเปลี่ยนแปลงการเมืองโครงสร้างแบบรุนแรง แสดงว่าอีลีตรู้ว่าต้องค่อยๆ ผ่อนอย่างไร ให้มันมีช่อง ช่องผ่อนออกมา แล้วก็อยู่ต่อไปได้”
อย่างไรก็ดี นักเศรษฐศาสตร์ผู้นี้หยิบยกผลการเลือกตั้งเมื่อไม่กี่เดือนก่อน มาเตือนผู้มีอำนาจว่า
“จริงๆ ตอนนี้ คน 10 เปอร์เซ็นต์หรือคน 1 เปอร์เซ็นต์กุมศาลกุมกองทัพ กุมสองอย่างนี้ แต่ประชาชนส่วนใหญ่กุมอะไร? ประชาชนส่วนใหญ่กุมระบบเลือกตั้ง เพราะว่าเสียงของปี 2566 มันชัดเลยว่าคนที่เลือกพรรคฝ่ายประชาธิปไตยต้องการการเปลี่ยนแปลง มัน 70 กว่าเปอร์เซ็นต์ เกือบ 80 เปอร์เซ็นต์
“คืออย่างไร พรรคที่เป็นความคิดแบบอนุรักษนิยมมากๆ ไม่มีทางชนะเลือกตั้งได้ในช่วงเวลาอันใกล้นี้ ยกเว้นว่าเขาไปสร้างผู้นำที่มีคุณภาพและพอจะสู้กันได้ แต่มันก็ต้องสู้กันอยู่บนพื้นฐานของการต่อสู้ในเชิงเนื้อหาและเหตุผล ไม่ใช่ใช้คดี ยัดข้อหา ใช้กำลัง ใช้วิธีการที่มันใต้ดิน มันต้องเลิกวิธีการแบบนั้น สังคมก็จะไปได้
“การใช้วิธีแบบสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เอาครูครอง จันดาวงศ์ ไปประหาร เอาคนโน้นคนนี้จับติดคุก ยิงเป้าคนนั้นคนนี้ มันไม่มีแล้ว ถ้ามีก็คือนองเลือด เพราะคนส่วนใหญ่จะไม่ยอม” •
ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022