การเมืองแบบ ‘ฆ่าไม่ตาย’ | ปราปต์ บุนปาน

ระหว่างติดตามสถานการณ์การเมืองไทยอันน่าสิ้นหวัง ก็พยายามคลายเครียดด้วยการหนีไปดูซีรีส์ญี่ปุ่นเรื่องหนึ่ง ซึ่งจะขออนุญาตไม่ระบุชื่อเรื่อง ไม่เล่าเรื่องย่อ เพราะนี่ไม่ใช่บทวิจารณ์หรือรีวิวสื่อบันเทิงใดๆ

ประเด็นหนึ่งที่รู้สึกว่าน่าสนใจขณะนั่งชมซีรีส์เรื่องนั้น ก็คือ อาการอึดอัดกับภาวะการเผชิญหน้ากันระหว่างตัวละครสองฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายที่ใช้อำนาจกดขี่ข่มขู่ผู้อื่น กับฝ่ายถูกกระทำที่พยายามลุกขึ้นสู้และล้างแค้น

อึดอัดเพราะท่ามกลางความขัดแย้งที่หนักหนาสาหัส ตัวละครทั้งสองฝ่ายกลับไม่ได้ลงมือใช้ความรุนแรงต่อกันถึงระดับเลือดตกยางออก (ความรุนแรงขั้นสูงสุดในซีรีส์คือการทำลายสถานที่) และไม่ฆ่าแกงกัน

ทั้งๆ ที่ในบางฉาก บางสถานการณ์ ก็คล้ายจะปูทางไปสู่ปฏิบัติการฆ่าล้างฝ่ายตรงข้าม (ถ้าเป็นละครไทยหรือซีรีส์เกาหลีในแนวเดียวกัน การเข่นฆ่าอาจเกิดขึ้นแล้วหลายกรณี) แต่สุดท้าย กลับไม่มีเหตุเช่นนั้นเกิดขึ้น

ในแง่หนึ่ง ซีรีส์เรื่องนี้จึงดูเป็นการ์ตูน ไม่ค่อยเข้มข้นเร้าใจ หน่อมแน้มอย่างไรชอบกลอยู่ (คนดูชาวไทยบางส่วนจะคอมเมนต์ในโซเชียลมีเดียทำนองว่าเนื้อเรื่องมันยืดยาดเยิ่นเย้อ)

แต่อีกด้านหนึ่ง การได้เห็นตัวละครฝ่ายหนึ่งใช้อำนาจล่อลวงครอบงำคนอื่น และตัวละครอีกฝ่ายพยายามแข็งขืนท้าทายอำนาจ บนพื้นฐานของการไม่ฆ่า ก็อาจสะท้อนถึงหลักการสำคัญบางอย่าง

นั่นคือในสังคมสมัยใหม่ ที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย มีกฎหมาย มีหลักสิทธิมนุษยชน ต่อให้ความสัมพันธ์ทางอำนาจจะเหลื่อมล้ำ-ไม่เท่าเทียมอย่างไร

คุณก็ยุติปัญหาต่างๆ ด้วย “การฆ่า” ไม่ได้

 

หันมามองความเป็นจริงในสังคมไทย

แม้ประชาธิปไตยของเราจะไม่เต็มใบ (อาจกล่าวได้ว่าเป็นระบอบการปกครองอื่น โดยสวมเสื้อคลุมประชาธิปไตยพอเป็นพิธีด้วยซ้ำ) หลักกฎหมายบิดเบี้ยวไปเยอะ หลักสิทธิมนุษยชนถูกละเมิดครั้งแล้วครั้งเล่า ส่วนความสัมพันธ์ทางอำนาจก็ไหลเอนไปทางฟากหนึ่งอย่างชัดเจน อีกทั้งยากปฏิเสธว่า เคยมีการสังหารคนด้วยจุดประสงค์ทางการเมืองเกิดขึ้น

แต่สุดท้าย เราก็แก้ไขปัญหาทางการเมืองด้วยการทำลายชีวิตคน หรือใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้เห็นต่าง ตามอำเภอใจไปเรื่อยๆ มิได้

การประลองอำนาจในสังคมการเมืองไทยร่วมสมัยจึงมีสภาพเป็นการยื้อยุดไปมา เป็นการเมืองที่ฆ่าใครไม่ได้ ฆ่าใครไม่ตาย ไม่ต่างจากซีรีส์ที่กล่าวถึงไว้ตรงช่วงต้น

ไม่ใช่แค่การฆ่าคนทางกายภาพตามอำเภอใจไม่ได้ แต่การสังหารคน-กลุ่มคนในทางการเมือง ก็ไม่ได้นำไปสู่ชัยชนะหรือการควบคุมสภาพการณ์ได้โดยเด็ดขาดแต่อย่างใด

คุณอาจทำ “นิติสงคราม” ตัดสิทธิ์นักการเมือง ยุบพรรคการเมืองได้ คุณอาจทำรัฐประหารผ่านกองทัพหรือรัฐสภาด้วยเสียง ส.ว. และ ส.ส. (บางส่วน) เพื่อทำลายเจตจำนงของประชาชนจำนวนมากได้

แต่คุณก็จะต้องพบเจอปัญหาชุดใหม่ๆ มิรู้จบ

เมื่อฆ่าไทยรักไทย-พลังประชาชน ก็เจอเพื่อไทย

พอเหมือนจะ “บอนไซ” เพื่อไทยได้ ก็เกิดอนาคตใหม่ หลังฆ่าอนาคตใหม่ ก็ยังเกิดก้าวไกล และปลุกไฟของนักการเมืองหน้าใหม่ๆ จำนวนมาก

ครั้นคุณพยายามฆ่านักการเมืองหัวก้าวหน้าไม่ให้มีปากมีเสียงในระบบ คุณก็จะต้องปวดหัวกับการดื้อแพ่งของเยาวชนที่สื่อสารประเด็นต่างๆ อย่างแหลมคมยิ่งกว่านักการเมือง

“การฆ่าพิธา” ในกรณีล่าสุด และ “การฆ่าก้าวไกล” ในอนาคตอันใกล้ จะนำไปสู่ผลลัพธ์อะไร ยังไม่อาจคาดเดา

แต่ต่อให้คุณกวาดล้าง ส.ส.กว่า 150 ชีวิต จนหมดเกลี้ยง ทว่า คนชั้นกลาง-คนเมืองรุ่นใหม่ ต่างก็ตระหนักและพบช่องทางแล้วว่า ตนเองมีศักยภาพจะเป็นนักการเมืองระดับชาติหรือผู้นำทางการเมืองที่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้

นี่คือผู้คนอันมากมายหลายหลากที่จะเข้ามาทดแทนพิธา-ก้าวไกล

 

เช่นเดียวกัน บรรดาผู้ถูกกดขี่ข่มเหง ถูกกลั่นแกล้งอย่างไม่เป็นธรรมหนแล้วหนเล่า ย่อมรู้สึกโกรธ บนเงื่อนไขที่พวกเขาต้องไม่ลงมือฆ่าใคร

เวลาผู้คนเหล่านี้พิมพ์ในโซเชียลมีเดียว่าอยากจับผู้มีอำนาจไปทำนารวมหรือรมแก๊ส นั่นมิได้เป็นแค่การใช้อารมณ์อย่างเพ้อเจ้อฟูมฟาย หากแต่เป็นการสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกด้านลึกที่สุดของพวกเขา ซึ่งลงมือทำจริงๆ ไม่ได้

เวลาพวกเขาออกแคมเปญออนไลน์เพื่อแบนกิจการธุรกิจของ ส.ว. และลูกเมีย นั่นคือช่องทางที่ผู้คนเหล่านี้พอจะระบายความโกรธแค้นของตนเองออกไปได้ในโลกความจริง

โดยที่ทุกฝ่ายล้วนทราบดีว่า หากผลักความเกลียดชังไปให้สุดทาง มนุษย์เราสามารถถลำลึกไปสู่ด้านมืดกว่านั้นได้ สามารถมีพฤติกรรมชั่วร้ายยิ่งกว่านั้นได้

แต่สัญชาตญาณมืดดังกล่าวก็ถูกควบคุมไว้ด้วยหลักการ-แนวปฏิบัติต่างๆ ของสังคมสมัยใหม่

ภายใต้เงื่อนไขแบบนี้ ความขัดแย้ง-การปะทะชนทางการเมือง จึงดำเนินไปไม่ค่อยสุดทาง หากเต็มไปด้วยความน่าอึดอัด การไม่เป็นไปตามอำเภอใจ และไม่ตอบสนองความรู้สึกส่วนลึกที่สุดของคนเรา

ไม่ว่าคนผู้นั้นจะเป็นผู้ถือครองอำนาจหรือผู้เข้าไม่ถึงอำนาจก็ตาม

จุดสุ่มเสี่ยง คือ อาจมีสักคราว ที่ฝ่ายมีอำนาจเผลอใช้อำนาจของตนก่อความรุนแรงจนเกินลิมิตที่ควรจะเป็น ขณะที่ฝ่ายไร้อำนาจก็สั่งสมความโกรธ-เกลียดชังมาถึงขีดสุดพอดีเหมือนกัน

เมื่อนั้น ภาวะแตกหักจะบังเกิดขึ้น •

 

ของดีมีอยู่