ฐากูร บุนปาน | เวลากระชั้นเข้ามาทุกที หากสถานการณ์พลาดพลั้งก็ล่มจมกันทั้งประเทศ

ขออนุญาตยกมือสนับสนุนข้อเสนอล่าสุดของ ดร.สันติธาร เสถียรไทย

ว่าด้วย “หนึ่งกระบอกเสียง สองปรอท” ครับ

หนึ่งกระบอกเสียงของ ดร.เขาก็คือ รัฐควรจะมีผู้ออกมาสื่อสารเรื่องเศรษฐกิจกับชาวบ้านให้ถี่ขึ้น และรู้เรื่องขึ้นกว่านี้

ก็ถ้ารู้อยู่ว่าศึกเศรษฐกิจวันนี้หนักหนาไม่น้อยกว่าโรคระบาด

ท่านให้ฝ่ายหมอออกมาแถลงเรื่องไข้เศรษฐกิจได้ทุกวัน

แต่ไม่มีฝ่ายเศรษฐกิจออกมาพูดเรื่องไข้ปากท้องบ้าง

มันเหมือนจะคนพิการที่ยืนเอียงไปข้างเดียว ทรงตัวอยู่ไม่ได้

ส่วนสองปรอทที่ท่านเสนอไว้นั้น

ก็คือให้มีปรอทวัดไข้เศรษฐกิจที่ถี่ขึ้น ให้คนได้รับรู้ข้อเท็จจริงได้ทันท่วงทีขึ้น

และให้เป็นปรอทคู่ คือวัดทั้งโรคระบาดและโรคเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กัน

ทั้งหมดนี้สรุปง่ายๆ คือให้บริหารบ้านเมืองด้วยข้อมูลข้อเท็จจริงนั่นแล

รัฐบาลจะทำหรือรับฟังข้อเสนอที่ว่านี้หรือเปล่าไม่รู้

รู้แต่ว่า ถ้ามีข้อมูลที่ทันสมัย มีการสื่อสารที่ทำความเข้าใจกับคนทั่วไปได้ดีแล้ว

คงจะไม่มีข้อเสนอด้วยความหวังดีแบบนี้ออกมา

และเมื่อมีคนอุตส่าห์เสนอตัวหยิบยื่นความปรารถนาเช่นนี้มาให้

ไม่ยื่นมือรับก็แปลกอยู่

หรือรัฐบาลนี้ท่านเห็นความแปลกประหลาดเป็นเรื่องปกติ

นั่นก็ต้องว่ากันอีกเรื่อง

ก่อนจะไปถึงเรื่องสองปรอท ขอแตะที่ประเด็นหนึ่งกระบอกเสียงก่อน

ในภาวะวิกฤตอย่างนี้ การสื่อสารที่ถูกต้องและทันท่วงที เป็นหนึ่งในภาระที่จำเป็นอย่างยิ่ง

และดูเหมือนจะไม่มีใครในรัฐบาลอยากจะออกมารับหน้า หรือมีความสามารถในการสื่อสารแบบที่ว่านี้นัก

ตั้งแต่ “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” ที่ควบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั่นเลย

เพิ่งจะพอเห็นวี่แววก็จากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการพลังงานคนใหม่ “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” ที่เพิ่งให้สัมภาษณ์ถึงภาพรวมของปัญหาและการแก้ไขปัญหากับ “มติชนรายวัน” ไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

คือนอกจากจะมีเชาว์ตามนามสกุลของท่านเองแล้ว

ยังมีสติและปัญญาที่สามารถเรียบเรียงให้เห็นภาพกว้างของปัญหา

รวมไปถึงขอบเขตและแนวทางมาตรการที่ดำเนินการไปแล้ว และกำลังจะลงมือทำ

ให้ภาพเหมือนการต่อจิ๊กซอว์ ไล่จากกรอบเข้าไปถึงภาพข้างใน

ทำได้ ทำไม่ได้ หรือจะทำได้แค่ไหนเป็นอีกเรื่อง

แต่แค่สื่อสารให้คนเข้าใจได้ง่าย เข้าใจตรงกัน

แค่นี้ก็เป็นคุณูปการแล้ว

สำหรับรัฐบาลที่สื่อสารอะไรกับชาวบ้านไม่ค่อยรู้เรื่อง

และในจำนวนเรื่องที่สื่อออกมาว่า รัฐบาลจะดำเนินการอะไรบ้าง

นอกจากประเด็นหลักอย่างการประคับประคองการจ้างงาน และการกระตุ้นให้เกิดการบริโภคแล้ว

ที่รองนายกรัฐมนตรีออกปากว่าเป็นกังวลที่สุดก็คือ การปรับโครงสร้างหนี้ของภาคเอกชน

ซึ่งถ้าตัวเลขของ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ก็จะอยู่ที่ประมาณ 12 ล้านล้านบาท

แต่ถ้าเป็นตัวเลขล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทยก็อยู่ที่ 7.2 ล้านล้านบาท

แต่จะกี่ล้านก็ตามที นี่คือกองหนี้ก้อนใหญ่ที่สุดที่ระบบสถาบันการเงินไทยเคยเผชิญหน้า

และจะต้องหาทางจัดการคลี่คลายให้ได้ภายในต้นไตรมาสที่ 4 ของปีนี้

ก่อนกองหนี้ธรรมดา จะกลายเป็นหนี้เสีย

ธุรกิจก็ไปไม่ได้

ลูกจ้างนับล้านก็ตกงาน

และธนาคารจะมีเอ็นพีแอลหรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จำนวนมหาศาล

ถึงขนาดล้มกิจการได้

เอาแค่เรื่องนี้เรื่องเดียว

จะหาใครมาสื่อสารแบบตรงๆ ง่ายๆ กับประชาชน กับคนประกอบธุรกิจ กับคนมีหนี้

ให้เข้าใจตรงกัน ให้เห็นที่มาปัญหาร่วมกัน ให้เห็นภาพกว้างในการแก้ปัญหา ให้เห็นแนวทางแก้ปัญหา

มีไหม

ในเวลาที่ไล่กระชั้นเข้ามาทุกที ในสถานการณ์ที่พลาดพลั้งก็ล่มจมกันทั้งประเทศ

มีไหมผู้กล้า มีไหมผู้รู้ มีไหมผู้ลงมือทำจริง

มีไหมในรัฐบาลนี้?