ฐากูร บุนปาน | อย่าปล่อยให้เรื่องเย็นชืดเงียบหายไปเหมือนอีกหลายๆ ปัญหาในสังคมไทย

ขอแสดงความเสียใจและความอาลัยต่อผู้เสียชีวิต ผู้ได้รับบาดเจ็บ และครอบครัว จากเหตุการณ์กราดยิงที่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

โศกนาฏกรรมกลางเมืองที่สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงทั้งชีวิต ทรัพย์สิน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือทางใจ

เป็นเรื่องใหม่ เรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสังคมไทย

ฉะนั้น เมื่อความสูญเสียอันยิ่งใหญ่ผ่านไป ก็เหมือนอย่างที่ผู้รู้หรือผู้รับผิดชอบเหตุการณ์หลายท่านออกมาบอกไว้ ว่าจะต้องมีการ “สรุปบทเรียน” จากเรื่องนี้ เพื่อหาทางป้องกันมิให้ความรุนแรงในทำนองเดียวกันนี้เกิดขึ้นซ้ำอีก

หรือหากหลีกเลี่ยงไม่พ้น ก็จะต้องมีวิธีผ่อนปรนบรรเทาให้หนักเป็นเบา

แล้วใครบ้างที่จะต้องสรุปบทเรียนนี้ คำตอบง่ายๆ เบื้องต้นคือทุกฝ่ายและทุกคน

ที่คิดได้เร็วๆ ก็คือ

สำหรับประชาชน การปกป้องชีวิตของตนเองและคนที่รักเป็นเรื่องที่จะต้องมีการแสวงหาความรู้ หรือจะต้องมีหน่วยงานองค์กรช่วยเผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นโดยด่วน

ที่เห็นแล้วก็มีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดอภิปรายในเรื่องดังกล่าว-ขอโมทนา

หวังว่าจะมีสถาบันการศึกษาหรือองค์กรอื่นๆ ร่วมกันจัดกิจกรรมเช่นนี้ขึ้นมาอีกอย่างต่อเนื่อง

จนกว่าจะเป็นสำนึกร่วม เป็นองค์ความรู้พื้นฐานต่อไปในอนาคต

ต่อมาก็องค์กรสื่อ ที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ (หรือบางท่านก็ประณาม) ในระดับเฉียดๆ กับผู้ลงมือกระทำการนั้นเลย

หลายข้อความวิจารณ์ที่มีเหตุผลในนั้นควรแก่การน้อมรับ และจะต้องนำมาปรับใช้ เพื่อมิให้เกิด (หรืออาจจะเกิด) ความเสียหายในอนาคต หากมีเหตุการณ์ทำนองเดียวกันหรือคล้ายคลึงกันเกิดขึ้น

แต่หลายประเด็นในนั้น ยังเป็นเรื่องที่มีความเห็นแยกออกเป็นสองฝ่ายหรือหลายฝ่าย สมควรที่จะต้องนำมาถกและถลกกันเสียให้กระจ่าง

ว่าอะไรควรไม่ควร และเส้นแบ่งของความควรไม่ควรนั้นอยู่ตรงไหน

สมาคมวิชาชีพต้องโดดมารับเป็นเจ้าภาพโดยเร็วโดยไว

อย่าให้สังคมตั้งข้อเคลือบแคลงสงสัยมากหรือนานกว่านี้

ไม่เป็นผลดีกับใคร

แม้แต่กับผู้มีหน้าที่เผชิญเหตุการณ์โดยตรงอย่างตำรวจ ซึ่งถือว่าทำได้ดีที่สุดแล้วในกรณีที่ไม่เคยพบเคยเจอมาก่อน

ก็ต้องถอดบทเรียนให้ได้ ว่าต่อไปถ้ามีกรณีเช่นนี้อีก จะลดความสูญเสียอันมีค่าทั้งของประชาชนและเจ้าหน้าที่ผู้ระงับเหตุลงไปอีกได้อย่างไร

แล้วค่อยมาถึงโจทก์ใหญ่ของเรื่องนี้อย่างกองทัพ

ที่มีคำถามพุ่งเป้าเข้าไปใส่เหมือนศรปักอกจำนวนนับไม่ถ้วน

ตั้งแต่ต้นตอสาเหตุจริงๆ ของเรื่อง ว่าใช่ความคับแค้นส่วนตัวอันเนื่องมาจากระบบอำนาจนิยมหรือไม่

ระบบการจัดการกับบุคลากรที่ถืออาวุธ ว่าจะมิให้กลายเป็นบุคคลอันตรายในสังคมได้อีกอย่างไร

ระบบการป้องกันภัยในหน่วยงานที่หละหลวมจะถูกกวดขันแก้ไขอย่างไร

เรื่องความจำเป็นของสถานที่ตั้ง

ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างการแสดงความรับผิดชอบต่อความสูญเสีย

ไปถึงเรื่องใหญ่อย่างบทบาทของ กอ.รมน.

และการปฏิรูปกองทัพ

ฯลฯ

ทั้งหมดนี้ และรวมทั้งอื่นๆ ตามที่จะมีผู้คิดได้ ต้องรีบคิดรีบทำกันตั้งแต่เหล็กยังร้อน

อย่าปล่อยให้เรื่องเย็นชืดเงียบหายไปเหมือนอีกหลายๆ ปัญหาในสังคมไทย

และที่สำคัญคือ เมื่อใช้คำว่า “สรุปบทเรียน” แล้ว ย่อมหมายถึงทุกคนทุกฝ่ายในสังคมมีสิทธิและโอกาสที่จะได้รู้ ได้เข้าถึงข้อมูล เข้าถึงปัญหาเท่าเทียมกัน

เพื่อช่วยกันติติง ตบแต่ง ขัดเกลาให้ข้อสรุปนั้นเป็นประโยชน์อย่างกว้างขวางและเป็นจริงยิ่งขึ้น

ไม่ใช่สรุปกันแล้วก็เก็บใส่แฟ้มเป็นโครงกระดูกในตู้

อย่างนั้นไม่รู้จะสรุปกันไปทำไม

ส่วนที่เว้น “รัฐบาล” ท่านไว้อย่างจงใจนั้น

หวังว่าคนส่วนใหญ่จะเข้าใจตรงกัน ว่าอะไรที่พูดไปแล้วท้วงติงแล้วไม่เกิดมรรคเกิดผลอะไรขึ้นมา

เสียเวลา เสียสมองเปล่าๆ

ปล่อยไปเสียบ้างก็ได้

บัวเหล่าสุดท้ายนี่พระพุทธเจ้ายังส่ายหัว

ประสาอะไรกับคนธรรมดาอย่างเราๆ