ฐากูร บุนปาน | เล่มที่ห้ามพลาด! ในงานหนังสือ

งานขายของต้องมาครับ

เข้าเทศกาลมหกรรมหนังสือแห่งชาติพอดี

ก็ต้องรับหน้าที่มาขายหนังสือ

เรียนย้ำเอาไว้ก่อนว่า ปีนี้งานมหกรรมหนังสือ 2-13 ตุลาคม เขาย้ายที่จัดจากศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ไปแชลเลนเจอร์ ฮอลล์ 2 เมืองทองธานี

อย่าเผลอไปที่เดิมด้วยความเคยชินนะครับ

แต่ไม่ว่าจะจัดที่ไหน สำนักพิมพ์มติชนเขาจัดเต็มเสมอ

ปีนี้ก็เช่นกัน

หนังสือน่าอ่าน ไม่ว่าจะในปัจจุบันทันที หรือเก็บเอาไว้อ่านยามที่มีอารมณ์และเวลา ทยอยกันเดินมาเป็นแถวๆ

บางเล่มก็เขียนถึงไปแล้ว อย่าง “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว” – อัตชีวประวัติของคุณธนินท์ เจียรวนนท์ หนังสือที่น่าจะเป็น “คู่มือ” ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกิจหรือการครองชีวิตได้อย่างดีที่สุดเล่มหนึ่ง

ส่วนคอการเมืองก็ต้องไม่พลาด “ลงเรือแป๊ะ” ของ ดร.วิษณุ เครืองาม ที่บันทึกเหตุการณ์หลังม่านการเมืองในช่วง 5 ปีของการรัฐประหารเอาไว้อย่างถึงกึ๋นถึงแก่น

และที่เรียงเคียงกันมาก็คือ “การเมืองแห่งความหวัง” ของ ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งไม่ว่าจะเป็น “ติ่งส้มหวาน” หรือไม่ ถ้าสนใจการก่อรูปและพัฒนาการของพรรคการเมืองที่น่าจับตาที่สุด

ก็พลาดไม่ได้

เช่นเดียวกับหนังสือว่าด้วยการเมืองอื่นๆ ที่เรียงรายกันอยู่เป็นตับ

ยังมีหนังสือที่ควรจะเก็บเป็นที่ระลึกในฐานะบันทึกประวัติศาสตร์อีกอย่างน้อยสองเล่ม

เล่มแรกคือ “ดวงใจในทรงจำ” ที่มีอาจารย์ธงทอง จันทรางศุ เป็นหัวเรือใหญ่ บันทึกเป็นจดหมายเหตุภาคประชาชนเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2562 เอาไว้อย่างน่าสนใจหลายแง่มุม

และ “พระเสด็จโดยแดนชล” ของ รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ ที่ให้รายละเอียดของเรือพระราชพิธีและกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคเอาไว้ครบถ้วนสมบูรณ์

ส่วนท่านที่สนใจประวัติศาสตร์บางส่วนที่หายไปจากหน้าตำราเรียน ต้องเล่มนี้ครับ “รุกตะวันออก” ของสุเจน กรรพฤทธิ์ ที่ค้นคว้าเรื่องความสัมพันธ์สยาม-เวียด ก่อนจะถึงเหตุการณ์อานามสยามยุทธในช่วงต้นรัตนโกสินทร์

ท่านที่สนใจศิลปและวัฒนธรรม ก็มี “ระหว่างบรรทัด สถาปัตย์แดนมังกร” ของคุณนิธิพันธ์ วิประวิทย์ สุดยอดแฟนพันธุ์แท้ราชวงศ์จีน ที่มาชวนให้สืบค้นความคิด ความเชื่อ และความหมายเบื้องหลังของอิฐ หิน ดิน ไม้ ที่ก่อขึ้นมาเป็นสิ่งปลูกสร้าง

ทั้งที่อลังการและวิถีชาวบ้านของจีน

แฟนประจำหนุ่มเมืองจันท์ก็ต้องไม่พลาด “แค่เริ่มต้นใหม่ ไม่ใช่พ่ายแพ้” เอาไว้อ่านให้กำลังใจตัวเอง

เช่นเดียวกับท่านผู้สังเกตการณ์สังคมทั้งหลาย ก็น่าจะสนใจ “โลกสามศูนย์” หรือ A World of Three Zeros ของโมฮัมหมัด ยูนูส ผู้ก่อตั้งกรามีนแบงก์หรือธนาคารคนจนในบังกลาเทศ ที่เป็นต้นแบบของ “เอสอี” หรือวิสาหกิจเพื่อสังคมทั้งหลายในปัจจุบัน สำนวนแปลของไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ว่าเราท่านจะช่วยกันสร้างโลกที่ความยากจน การว่างงาน และมลภาวะเป็นศูนย์อย่างไร

ย่อส่วนลงมาก็คือ Happy City ที่พินดา พิสิฐยุตร แปลจากต้นฉบับของ Charles Montgomery ว่าด้วยการแปลงโฉมชีวิตด้วยการออกแบบเมืองให้เป็นมิตรขึ้นแบบไหน

เช่นเดียวกับคอวรรณกรรมก็ไม่ควรพลาด The Golden House นวนิยายกะเทาะชีวิตและค่านิยมอเมริกันเล่มล่าสุดของ Salman Rushdie

ชื่อนี้ไม่ต้องบรรยายคุณภาพ

ตบท้ายแบบเดิมครับ

เจอกันในงาน ไม่ซื้อไม่หา มาแค่เดินผ่านก็ดีใจ

จะแวะบูธสำนักพิมพ์มติชนหรือสำนักพิมพ์ไหนๆ เราก็ชื่นใจทั้งสิ้น

ขอแค่ให้ท่านทั้งหลายยังรักการอ่าน อ่านกันให้มาก อ่านกันให้ทะลุ

อ่านกันจนวันหนึ่งเมืองไทยเป็นสังคมอุดมการอ่าน จนกระทั่งสั่งสมเป็นสังคมอุดมปัญญา ไม่ต้องพึ่งพากูเกิลอย่างเดียว (เลี้ยวไปหาเรื่องจนได้-ฮา)

เท่านั้นคนทำหนังสือก็ชื่นใจตายแล้ว

อย่าลืมนะครับ เจอกันในงานมหกรรมหนังสือ 2-13 ตุลาคมนี้