ฐากูร บุนปาน : ทำไม “บึงกาฬ” ถึงกระโดดมาได้ไกลกว่าจังหวัดเกิดใหม่อื่นๆ ?

(ขณะเขียน)เพิ่งเดินทางกลับมาจากร่วมการเปิดงานวันยางพาราที่บึงกาฬครับ

งานเขามีประจำทุกปี ต่อเนื่องกันมาปีนี้เป็นปีที่ 7

จัดแล้วก็ใหญ่ขึ้นทุกปี

ตามขนาดเศรษฐกิจและความร่วมมือของพี่น้องในจังหวัด

เมื่อแยกออกมาจากหนองคายเป็นจังหวัดเมื่อปี 2554 นั้น

รายได้ต่อหัวของบึงกาฬอยู่อันดับที่ 18 ของภาคอีสาน

เหนือกว่าแค่กาฬสินธุ์กับหนองบัวลำภู

มาถึงปี 2559 ถ้านับรายได้รวม บึงกาฬจะอยู่ที่อันดับอันดับ 71 ของประเทศ นับเฉพาะจังหวัดในภาคอีสานด้วยกันคืออันดับ 4 จากท้ายตาราง

แต่ถ้านับจากรายได้เฉลี่ยต่อหัว บึงกาฬจะกระโดดพรวดมาอยู่ที่อันดับ 51 ของประเทศ

สูงที่สุดเป็นอันดับ 8 ในอีสาน

ถูกมุกดาหารที่เป็นอันดับ 7 เฉือนไปแค่ 80 บาท/หัว/ปี

โดยจังหวัดที่รายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงสุดของภาคอีสานได้แก่

ขอนแก่น เลย นครราชสีมา อุดรธานี หนองคาย นครพนม และมุกดาหาร

เป็นลำดับที่ดีกว่า อุบลราชธานี บุรีรัมย์ มหาสารคาม สกลนคร ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ชัยภูมิ

โดย 4 จังหวัดที่อยู่ท้ายของภาคอีสานและของประเทศคือ

อำนาจเจริญ กาฬสินธุ์ ยโสธร

และหนองบัวลำภู

เทียบกับจังหวัดเกิดใหม่ด้วยกันอย่าง อำนาจเจริญ ยโสธร หนองบัวลำภู

บึงกาฬกระโดดมาได้ไกลกว่าเขาหมด

กับจังหวัดใหญ่กว่า มีชื่อเสียงกว่า เช่น อุบลราชธานี-บุรีรัมย์ ก็ขยับขึ้นมาสูงกว่าเขา

ถามว่า บึงกาฬมีดีอะไร

นี่ไม่ใช่คำถามประเภทตั้งใจหาเรื่อง

หรือไม่ได้ตั้งใจจะยกจังหวัดไหนข่มจังหวัดไหน

เพราะไม่ว่าอยู่จังหวัดไหน พื้นที่ไหน

ทุกคนก็เป็นเพื่อนเป็นพี่น้องร่วมชาติ

แต่เพราะเป็นเพื่อน เป็นพี่น้องร่วมชาติ จึงยิ่งต้องตั้งคำถามถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดความรุ่งเรืองเสื่อมโทรม

ถามว่า ทำไมยกตัวอย่างบึงกาฬ

ตอบว่า ก็เพราะมาทำงานและใกล้ชิดกับจังหวัดนี้มา 6 ปีแล้ว

เป็นพยานเห็นความเปลี่ยนแปลง-โดยเฉพาะในทางดี มาโดยตลอด

ถามว่า บึงกาฬมีดีอะไร-ยางพาราหรือ

อย่างนั้นที่ไหนๆ จังหวัดไหนๆ ในประเทศนี้ที่ปลูกยางได้เขาก็ปลูกกัน ทำไมไม่กระโดดขึ้นมาได้แบบเดียวกัน

ยางอย่างเดียวสร้างปาฏิหาริย์ได้หรือ

หรือมีอะไรนอกเหนือไปจากนั้น

ให้คิดเร็วๆ ตอบเร็วๆ แบบคนนั่งดูข้างเวทีใกล้ชิดก็ต้องบอกว่าคือการไม่งอมืองอเท้า

เช่นกัน ไม่ได้หมายถึงว่าพี่น้องที่อื่นงอมืองอเท้านะครับ

แต่การไม่งอมืองอเท้าของบึงกาฬกระดืบไปไกลมากกว่าปกติอีกนิด

มีกี่จังหวัดในประเทศนี้ ที่รวมตัวกันเป็นกลุ่ม หอบเอาสินค้าที่ผลิตได้ในท้องที่ บุกไปขายถึงแหล่งรับซื้อ

มีกี่จังหวัดที่ปลูกยาง แล้วปักธงตั้งแต่วันแรก ว่าถ้าขายวัตถุดิบอย่างเดียว ต้องตายหยังเขียด

จึงทั้งลงทุนเอง และรวมตัวไปดึงทุนจากที่อื่น-ทั้งไทยและเทศ มาลงทุนเรื่องการแปรรูป

ซึ่งช่วยพยุงราคาวัตถุดิบไม่ให้รูดลงกว่าที่ควรจะเป็น

หรืออย่างน้อยก็มีตลาดรองรับผลผลิต

ไม่ให้เสียเปล่าหรือต้องเอาไปทิ้ง

มีกี่จังหวัดที่ชาวบ้านรวมตัวกันเป็นเจ้าของโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตรขั้นสุดท้าย

ผลิตสินค้าโดยใช้ชื่อจังหวัดเป็นยี่ห้อออกไปขาย

ที่ว่ามานี้ บึงกาฬทำมาหมดแล้วในรอบ 5-6 ปีที่ผ่านมา

แต่แค่ไม่งอมืองอเท้าอย่างเดียวไม่พอ

ถ้าไม่รักกัน ไม่รวมตัวกัน ไม่จับกันเป็นกลุ่มก้อน จนกระทั่งมีอำนาจต่อรองกับข้างนอก (ทั้งนอกจังหวัดและนอกประเทศ)

ไม้ซีกเกิดใหม่ไปงัดไม้ซุงไม่ได้แน่ๆ

อาจเป็นโชคดีที่เป็นจังหวัดเกิดใหม่

เกิดจากความไม่มีอะไร หรือมีน้อย

ความขัดแย้งทางผลประโยชน์เลยต่ำ

หรือมีทางที่จะคลี่คลาย-บรรเทากันได้แต่ต้นมือ

ถึงประคับประคองจนเจริญเติบโตขึ้นมาด้วยกันได้

คำถามมีอยู่ว่า ตามธรรมชาติของสังคมมนุษย์

ตอนลำบากทุกข์ยากก็เห็นรักกันดีเสมอ

พอชามข้าวใบใหญ่ขึ้น แทนที่จะกินกันได้มากคำขึ้น

กลายเป็นแย่งกันกิน

เพราะโลภเสียแล้ว เห็นโอกาส (ที่จะเอาเปรียบคนอื่น) เสียแล้ว

บึงกาฬเรียนรู้บทเรียนนี้จากที่อื่นอย่างไร

ที่อื่นเรียนรู้บทเรียนจากบึงกาฬอย่างไร

จึงจะทำให้รุ่งเรืองได้มากกว่าเสื่อมโทรม