ฐากูร บุนปาน : กระจก ส่องภาพสะท้อน

ไม่บ่อยนักที่จู่ๆ จะมีข้าราชการระดับสูง-ไม่ใช่คนเดียว แต่เป็นสองคนพร้อมๆ กัน ลุกขึ้นมาต่อว่าต่อขานบุคคลระดับนายกรัฐมนตรีต่อสาธารณะ

ยิ่งไม่ใช่นายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งที่วิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่เป็นนายกรัฐมนตรีจากการรัฐประหาร ที่ปกติจะอยู่นอกเหนือการวิจารณ์ (ซึ่งหน้า)

ถึงท่านหนึ่งจะเป็นข้าราชการที่เกษียณอายุหมาดๆ อีกท่านหนึ่งเป็นข้าราชการที่มีองค์กรอิสระดูแลการแต่งตั้งโยกย้าย ไม่ได้อยู่ใต้อำนาจของรัฐบาลโดยตรง

ก็ยังต้องถือว่าไม่ธรรมดา

ท่านหนึ่งคือ คุณปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองอธิบดีอัยการ สำนักคดีอาญา

ที่ออกมาปกป้อง คุณเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ และ คุณศรีสุบรรณ จรรยา ซึ่งนายกรัฐมนตรีตั้งข้อสงสัยว่าประกอบอาชีพอะไร ถึงได้มีเวลาและประเด็นที่ร้องหรือฟ้องรัฐบาลได้ตลอด รวมทั้งหลุดปากด้วยว่าจะ “ตรวจสอบ” ทั้งสองท่านนี้บ้าง

สรุปคำจำกัดความของท่านรองอธิบดีอัยการปรเมศวร์ ก็คือ

ทั้งสองท่านนั้นกำลังทำหน้าที่ “พลเมืองดี”

ส่วนอีกท่านหนึ่งที่ดูเหมือนจะเป็นข่าวโด่งดังมากกว่าคือ คุณสมศักดิ์ ปริสุทโธ เหมทานนท์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ที่ถูกย้ายเข้าประจำด้วยคำสั่งตาม ม.44 จนเกษียณอายุ

ท่านอดีตผู้ว่าฯ ระบุว่า ย้ายท่านเข้ามาแล้วก็ไม่ได้สอบสวน ไม่ได้ระบุความผิดอะไร

แต่เอาไปดองไว้เฉยๆ จนเกษียณ

ซึ่งทำให้เกิดความเสื่อมเสียทั้งกับตัวท่านและครอบครัว

ความคับแค้นใจนี้คงอัดอั้นจนเก็บไม่อยู่ ถึงขนาดขอยืมโคลงโบราณมาบอกว่า

“เราบ่ผิดท่านมล้าง ดาบนั้นคืนสนอง”

ตัดเอาอารมณ์หรือถ้อยคำบาดใจออกไป

ในอีกแง่หนึ่ง การออกมาแสดงความเห็นอย่างเปิดเผยของข้าราชการผู้ใหญ่ทั้งสองท่านนั้น “เป็นคุณ” กับท่านผู้มีอำนาจทั้งหลาย

ถ้าใช้เป็น

ถ้าตระหนักได้ว่านี่คือ “กระจก” ที่ส่องให้เห็นภาพสะท้อนของตัวเองอย่างตรงไปตรงมา

ไม่มีคำหวาน ไม่มีการประจบประแจงแต่งหน้า

ฟังดีๆ แล้วก็จะเข้าใจได้ว่า ทำไมผู้นำรัฐบาลท่านถึงเกิดอาการเวียนหัวอยู่บ่อยๆ เมื่อนโยบายที่สั่งการลงไปได้รับการตอบสนองอย่างไม่ค่อยถึงอกถึงใจเท่าไหร่นัก

จริงอยู่ที่ว่า ข้าราชการจำนวนไม่น้อยชอบใจที่ได้รัฐบาลซึ่งมีที่มาจากข้าราชการด้วยกัน

แต่ที่ไม่ควรลืมก็คือ ในขณะที่ท่านประกาศภายหลังยึดอำนาจการปกครองใหม่ๆ

ว่าจะเข้ามากอบกู้และทำให้เกิดความเป็นธรรมในระบบราชการ

ท่านก็ประเดิมงานด้วยการย้ายข้าราชการระดับปลัดกระทรวงหรือเท่าเทียมไปเกือบครึ่งหนึ่งของทั้งหมด

ยังไม่นับว่าในช่วงปีที่ผ่านมา มีการใช้อำนาจเด็ดขาดตาม ม.44 ย้ายข้าราชการทั้งที่ระบุข้อหาและไม่ระบุข้อหาอีกหลายร้อยคน

ในจำนวนนี้ ที่ผิดจริง ที่ทุจริต ที่จะต้องจัดการก็คงมี

คำถามคือ แล้วที่ไม่ผิดแต่ติดหลังแหมา

ท่านจะให้ความเป็นธรรมกับเขาอย่างไร

หลายคนที่ถูกย้ายมานั้น มีชะตากรรมเดียวกันหรือคล้ายกับท่านอดีตผู้ว่าฯ สมศักดิ์

คือไม่ถูกสอบ หรือมีการสอบสวนเสร็จสิ้นเรียบร้อยผลออกมาว่าไม่พบความผิด

แต่คำสั่งย้ายก็ยังเป็นชนักติดหลัง ไม่ได้รับการแก้ไข

ในจำนวนนี้ที่เกษียณไปโดยไม่ได้รับการเยียวยาแบบท่านอดีตผู้ว่าฯ ก็มี ที่ยังนั่งทำตาปริบๆ กินเงินเดือนหลวงแต่ไม่มีงานทำก็มี

ทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น

ทำไมเมื่อย้ายเขาเข้ามาเป็นเรื่องเป็นราวเป็นข่าวใหญ่โต

เมื่อสอบสวนเสร็จแล้วไม่คืนความเป็นธรรมให้เขา

จะเรียกว่าเป็นการแสดงความใจกว้างใจนักเลงก็ได้ แสดงความเป็นลูกผู้ชายยอมรับว่าพลาดแล้วแก้ไขให้ถูกต้องก็ได้

หรือจะถือว่าเป็นการปฏิบัติตามระเบียบให้ถูกต้องก็ได้

ไม่ได้ “ใจ” เขา จะหวังให้เขาทำงานถวายหัว

จะให้ไปผลักไปดันสารพัดนโยบายได้อย่างไร

ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

ท่านรองอธิบดีอัยการหรือท่านอดีตผู้ว่าฯ อาจจะไม่ใช่สองรายสุดท้าย

ตัวอย่างว่าด้วยเรื่องของอำนาจในอดีตทั้งใกล้และไกลสอนว่า

ยิ่งนานไปหมูยิ่งไม่กลัวน้ำร้อน