คำ ผกา : ความเสื่อมถอย ของปัญญาชนฝ่ายขวา

คำ ผกา

มันน่าประหลาดใจมากที่คนตื่นเต้นกับเพลง “ประเทศกูมี” เพราะเพลงเสียดสีการเมือง เพลงล้อการเมือง เพลงวิจารณ์ประเทศ วิจารณ์สังคม วิจารณ์รัฐบาล วิจารณ์ผู้มีอำนาจในรัฐบาล ก็เป็นสิ่งที่มีมาตลอด ไม่ต้องพูดถึงบริบทโลกที่อ้างได้ตั้งแต่เพลงแจ๊ซ เพลงบลูส์ ที่พูดถึงความเจ็บปวดของคนผิวสี เพลงป๊อป อย่างบีตเทิลส์ หรือจอนห์น เลนนอน อะไรที่คนไทยก็ชอบเอามาพูดถึง เอามาร้อง น้ำหูน้ำตาไหล รักโลก รักมนุษยชาติกันหนักหนาสาหัส

มาถึงเมืองไทยก็มีทั้งเพลงของฝ่ายซ้าย เพลงเพื่อชีวิต หรือแม้แต่เพลงผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม นั่นก็เพลงล้อเลียน เสียดสีการเมือง มีตั้งแต่ล้อเล่นๆ ขำๆ ล้อเอาจริงเอาจัง ล้อไปน้ำตาไหลไป เพราะมันขำจริงเจ็บจริง เพลงอย่างคาราบาว ก็มีทั้งเพลงประชาธิปไตย เพลงน้าชาติ เพลงกระบี่มือเดียว เพลงบิ๊กสุ ฯลฯ

ถ้าเปิดดูว่ามีวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับเพลงและการเมืองไทย ก็จะเจอวิทยานิพนธ์อีกหลายสิบชิ้นที่ศึกษาเรื่องนี้อีกนับไม่ถ้วนชิ้น

แล้วที่ผ่านมา นอกจากบรรดาประชาชนฝ่ายซ้าย อดีตคนเข้าป่า ค่ายอาสาพัฒนาชนบทของนักศึกษา กับเอ็นจีโอเก่าๆ แก่ๆ ฉันไม่เห็นว่าจะมีใคร “อิน” กับเพลง “การเมือง” เท่าไหร่นัก

เอางี้ – เพลงเพื่อชีวิตทั้งหลายแหล่ ที่ว่า ซึ้งๆ เจ็บๆ ยังถูกเอาไปทำเป็นมิวสิกวิดีโอ ประกอบภาพวาบหวิว นุ่งน้อยห่มน้อยกันโดยไม่แคร์เลยว่า ภาพกับเรื่องมันเข้ากันหรือไม่เข้ากัน ฉันก็ไม่เห็นมีใครเดือดเนื้อร้อนใจอะไร

ก็ยังไปคาราโอเกะ เพลง “คืนรัง” เพลง “คนกับควาย” กับภาพวาบหวิว กันได้ชิ้วชิว

ยิ่งเพลงคาราบาวนี่ไม่ต้องพูดถึง เนื้อหาจะมีการเมืองเข้มข้นแค่ไหน ก็ถูกเปิดในงานวัดงานบุญ คนออกไปเต้น ไปโยก ไปโจ๊ะพรึมๆ กันได้หมดทุกเพลง

จนกระทั่งหลังรัฐประหารปี 2549 สิ่งที่มาพร้อมกับการเมืองบนท้องถนน การปราศรัยบนเวที คือ เพลงการเมือง

หนึ่งในเพลงที่คลาสสิคที่สุดของ “ม็อบ” การเมืองในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาน่าจะเป็นเพลง “นักสู้ธุลีดิน” ถัดจากเพลงนักสู้ธุลีดิน น่าจะเป็นเพลง “บทเพลงของสามัญชน” ที่อาจนับเป็นเพลงการเมืองร่วมสมัย แต่ทั้งเพลงนักสู้ธุลีดิน และเพลงบทเพลงแห่งสามัญชน ยังเปี่ยมไปด้วยแคแร็กเตอร์ของเพลง “ฝ่ายซ้าย” นั่นคือเนืองนองไปด้วยความโรแมนติกของนักฝัน ภาษาที่สวยงามเป็นกวี เช่น

“แผ่นดินร่ำร้องระงม ผู้คนทับถมสะอื้น ผ่านวันและคืน ลบเลือนจางหาย”

หรือ

“อยากบังเอิญเจอใครที่ยังฝันอยู่ นั่งฟังเพลงอยู่ตรงนี้…อยากได้ยินเธอร่ำร้องบทเพลงของสามัญชน ปลุกผู้คน ปลุกฝันสู่วันของเรา”

หากลบเอาเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ออกไป ฟังแค่เนื้อเพลง ท่วงทำนองของบทเพลง ยิ่งเพลงนักสู้ธุลีดินที่สามารถเอาไปใส่ทำนองร้องเป็นวงแบบออร์เคสตราให้โอ่อ่าอลังการได้

หากไม่รู้ประวัติศาสตร์เลย-ก็สามารถอิ่มเอิบกับบทเพลงเหล่านี้ด้วยความงามและสุนทรียะในตัวของมันเอง คล้ายๆ กับหลายๆ เพลงของฝ่ายซ้ายที่ร้องกันในป่า สมัยเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ที่เพราะ และภาษาสวยงามเสียจนภายหลังเมื่อประวัติศาสตร์ส่วนนั้นถูกลบเลือนไปจากความทรงจำของผู้คนไปแล้ว เราก็เห็นคนที่ไม่สมาทานการเมืองใดๆ สามารถเล่นกีตาร์ร้องเพลง “ซ้ายๆ” เหล่านั้นได้โดยละม่อมและไม่ตระหนักถึงนัยทางการเมืองใดๆ ของมันเลย

แต่เพลง “ประเทศกูมี” ไม่เป็นอย่างนั้น ประเทศกูมี เป็นเพลงแร็พ ดังนั้น จึงไม่มีภาษาอย่าง “กี่ลมฝันที่พัดละอองโปรยอ่อนมาในกรงขัง คงเหน็บหนาวเงียบเหงาลำพังโปรดฟังเพลงที่เราร้องอยู่”

แต่ประเทศกูมี ซัดใส่หน้าเราตรงๆ เช่น

“ประเทศที่มีทุกสิ่งยกเว้นหนึ่งสิ่งคือสามัญสำนึก ขับเคลื่อนฟันเฟืองด้วยเงินตราเหมือนเป็นคาถาสารพัดนึก

เนิ่นนานจนตกผลึกอาจได้เป็นเพชรที่ส่องประกาย ความชั่วบูชากันเป็นฝูงลิงบนแท่งศิลาของความเห็นแก่ตัว

มัวเมาจนไร้สมองที่โง่เขาจนไร้การตอบสนอง เพิกเฉยต่อความถูกต้องปล่อยให้สัตว์ชั่วเนิ่นนานยิ่งหยิ่งผยอง

ปกครองทุกสิ่งด้วยความมืดและความกลัว ประเทศกูมี ประเทศกูมี…

ประเทศที่ดีจังแบบว่าโคตรจะจีรัง รุ่งโรจน์ไม่ยั่งยืนโดนลักเอาเปรียบมีคนที่เกลียดจนร่ำลือ

ประเทศโดนคว่ำบาตรแล้วมีคนลำบากทุกย่านเดิน…”

เหตุที่เพลงนี้มันซัดใส่หน้าเราตรงๆ ไม่ต้องตีความ ไม่ต้องอ่านระหว่างบรรทัด ซัดเราด้วยนิ้วกลาง และคำสบถแบบ “ไอ้สัส”

ในขณะที่เพลงแร็พแบบ “ไทยๆ” ที่ผ่าน มีจิตวิญญาณของความแร็พแค่การใส่คำหยาบ คำด่า คำสบถ ลงไปในเนื้อเพลงเฉยๆ แต่ในเนื้อหาไม่มีอะไรที่แรดิคัล ไม่วิพากษ์ ไม่ตั้งคำถาม และอาจเป็นเพราะตัวศิลปินเองก็ไม่ได้มีชีวิตเป็นคนชายขอบแบบกลุ่มศิลปินแร็พที่เป็นต้นกำเนิดดนตรีแร็พที่มีชีวิตคาบเกี่ยวระหว่างจะรอดเป็นศิลปินกับการเป็นแว้นแล้วไปติดคุก บวกกับลักษณะ socio economics ที่เป็นคนผิวสี ยากจน อยู่อาศัยในย่านสลัม อันเต็มไปด้วยยาเสพติดและอาชญากรรม

แร็พ-ป๊อปของไทยจึงมีความแว้นอยู่แค่ในระดับของการใช้ภาษา แต่ในทางการเมืองแล้วพวกเขาล้วนแต่สมาทานเข้ากับ Grand Narrative ของสังคมไทยอย่างหมดจด เรียกว่าเป็นแร็พมุ้งมิ้งติ๊ดชึ่งมาโดยตลอด

“ประเทศกูมี” น่าจะเป็นเพลงแร็พคลื่นลูกแรกของไทยที่ใช้แร็พอย่างตรงเป้าประสงค์ของมัน คือใช้เพื่อตั้งคำถามกับ Grand Narrative และป่าวประกาศความเป็น “คนนอก” ของตัวเองออกมาอย่างชัดเจน (ถ้าคุณไม่ใช่คนนอก มันก็ไม่มีพอยต์ ที่ใช้คำหยาบ หรือชูนิ้วกลาง)

คนนอก ในวัฒนธรรมแร็พที่อเมริกา มี “คนใน” เป็นคนผิวขาว ชนชั้นกลางขึ้นไป ที่มีบ้าน มีรถ มีครอบครัวอบอุ่น มีการศึกษาที่ดี ใช้ภาษาอังกฤษอย่างถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ กินอาหารที่มีประโยชน์ อยู่ในศีลในธรรม แต่งกายสุภาพเรียบร้อย

แต่แร็พไทย “ประเทศกูมี” ประกาศความเป็นคนนอกภายใต้ reference สังคมไทย นั่นคือ “คนใน เท่ากับสนับสนุนเผด็จการ” และ “คนนอก เท่ากับสนับสนุนประชาธิปไตย”

จะว่าไปแล้วมันเป็น reference ที่น่าสะพรึง-นึกออกไหม โลกทั้งใบเขามี norm เป็นประชาธิปไตย และต่อต้านเผด็จการ แต่สำหรับประเทศไทย Norm ของเรานับตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 เป็นต้นมา คือการต้านเผด็จการรัฐสภาและสนับสนุนการรัฐประหารโดยกองทัพ

สิ่งนี้เป็น norm ไม่ใช่ด้วยการบีบคอจากอำนาจรัฐ แต่เป็นไปด้วยความสมัครใจของคนไทยจำนวนมาก-มากขนาดไหน ก็ลองเอาจำนวนคนที่สนับสนุนสนธิ ลิ้มทองกุล สมัยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมารวมกับมวลชน กปปส. ของสุเทพ เทือกสุบรรณ

ไม่ใช่จำนวนมวลชน อำนาจนำของคนกลุ่มนี้มาจากปัญญาชนชั้นนำของไทย นักวิชาการชั้นนำของไทย เอ็นจีโอชั้นนำของไทย นักหนังสือพิมพ์ชั้นนำของไทย ศิลปินชั้นนำของไทย นักเขียนชั้นนำของไทย ฯลฯ เรียกว่า ทุก “ชั้นนำ” ของทุกสาขาอาชีพของไทย ล้วนแต่เป็นผู้ “ต่อต้านเผด็จการรัฐสภา” และ “สนับสนุนรัฐประหารจากกองทัพ” ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น

ลองคิดดูว่า ศิลปินแห่งชาติ นักเขียนซีไรต์กี่คนๆ นักรัฐศาสตร์ระดับศาสตราจารย์ นักรัฐศาสตร์ระดับปูชนียบุคคล แบบชัยอนันต์ สมุทวณิช ก็ต้านเผด็จการรัฐสภา

เรียกว่า “คนดีๆ” ของสังคมไทยทั้งหมดไปทางนั้นหมด

การสนับสนุนรัฐประหารจึงกลายเป็น norm กลายเป็นบรรทัดฐาน กลายเป็นความถูกต้อง กลายเป็นความ “มีการศึกษาและรู้เท่าทันการเมือง” จึงไม่เป็นเหยื่อของประชาธิปไตยที่มีแค่ “การเลือกตั้ง”

และคงมีแต่ประเทศไทยนี้กระมัง ที่ยังมีปัญญาชนจำนวนมากพยายามออกมาปกป้องระบอบเผด็จการด้วยการออกมาบอกว่า รัฐบาลทหารที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งนั้นเคารพสิทธิมนุษยชน และให้เสรีภาพแก่ประชาชนมากกว่ารัฐบาลเผด็จการรัฐสภา!!!

ดังนั้น ถ้าให้เลือกระหว่างเผด็จการทหารที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง กับเผด็จการรัฐสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ขอเลือกเผด็จการทหารที่ไม่ต้องมีเลือกตั้งดีกว่า

แต่ปัญญาชนเหล่านี้จะรู้หรือไม่ว่า “คาถา” ของพวกเขากำลังเสื่อมลงตามลำดับ

ความพยายามของพวกเขาที่จะดิสเครดิตเพลงประเทศกูมี เป็นคาถาที่คลายมนต์ขลังไปเสียแล้ว

เช่น

เสรีภาพที่ไร้ขอบเขตเป็นเสรีภาพที่อันตราย ซึ่งสามารถถามได้ต่อว่า ในรัฐสมัยใหม่ที่ไหนในโลกบ้าง

ที่ไม่กำหนดขอบเขตของเสรีภาพ??? ไม่มีที่ไหนในโลกนี้ที่รับรองเสรีภาพที่ไร้ขอบเขต-เสรีภาพ ที่เราพูดถึงกันอย่างเป็นสากล ล้วนแต่เป็นเสรีภาพของพลเมือง ที่รัฐธรรมนูญของประเทศนั้นๆ รับรอง-ก็เท่านั้นเอง

เพลงประเทศกูมี เป็นการใช้เสรีภาพนอกขอบเขตของกฎหมายหรือเปล่านั่นเป็นอีกเรื่อง แต่ล่าสุด ทางตำรวจก็ออกมาชี้แจงแล้วว่าไม่ผิด

https://www.matichon.co.th/local/crime/news_1201356

หรือกลุ่มที่บอกว่า ประเทศเรามีอะไรดีๆ ตั้งเยอะ ทำไมไม่พูดถึง-ก็สามารถแย้งในเชิงตรรกะได้อีกว่า ถ้าคนเขาพูดเรื่องบ้านหลังคารั่ว จะไปด่าเขาหรือว่า ทำไมไม่พูดถึงไม้กระดานสักทองที่ปูพื้นอันสวยงาม

จะไปพูดถึงหลังคาที่รั่วทำไม?

บนฐานตรรกะง่ายๆ ว่า เขากำลังพูดว่า ประเทศนี้มีปัญหาอะไร ไม่ได้แปลว่า เขาบอกว่าประเทศนี้ไม่มีอะไรดี!

ยิ่งไปกว่านั้น เราควรเลิกนิสัยเป็นคนขี้ denial

นั่นคือ ชอบวิ่งหนีความจริง เวลามีคนบอกว่า บ้านเธอรถติด ก็แถไปว่า แต่บ้านชั้นทะเลสวย เวลามีคนบ่นว่า บ้านเธอค่ามลพิษสูง ก็แถไปว่า แต่บ้านชั้นอาหารอร่อย ฯลฯ

เพราะนอกจากมันไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นมาแล้ว เรายังจะกลายเป็นคนหลอกตัวเองไปวันๆ และสั่งสมความขี้ขลาดต่อการเผชิญหน้ากับความเป็นจริง

ส่วนพวกที่ออกมาพูดว่า “มาอ้างเหตุการณ์นี้นั้นโน้น เกิดทันเหรอ เราน่ะ?” ก็ยิ่งถูกซัดกลับไปหน้าหงายได้ง่ายมากว่า โถๆๆ ถ้าต้องเกิดทันทุกเหตุการณ์ เราต้องหันไปถามคนเขียนนิยายบุพเพสันนิวาสที่คนติดงอมแงมกันทั้งบ้านทั้งเมืองด้วยหรือไม่ว่า “เกิดทันเหรอเราน่ะ มาเขียนเรื่องอยุธยาได้เป็นตุเป็นตะ”

หรือต้องถามนักประวัติศาสตร์ทุกคนว่า “เกิดทันเหรอเราน่ะ ถึงได้แสดงความรู้ของยุคนั้นได้เป็นตุเป็นตะ” หากเป็นดังนี้ก็ต้องยุบวิชาประวัติศาสตร์ออกไปจากโลกแล้ว

นี่คือความเสื่อมถอยของ “ปัญญาชนฝ่ายขวา” ของไทย

และทั้งมวลนี้เกิดจากความเกลียดทักษิณเท่านั้นแท้ๆ ที่ทำให้พวกเขากล้าบิดเบือนหลักการประชาธิปไตยสากลและผลิตความเท็จที่ว่า “เผด็จการรัฐสภา” มาหลอกสังคมไทยได้-แต่ก็ได้ชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น-เพราะท้ายที่สุด หลักการของประชาธิปไตยที่ไม่เกี่ยวกับทักษิณก็ต้องคลี่คลายตัวมันเองออกมาอยู่ดีว่า

“ไม่มีเลือกตั้ง เท่ากับไม่มีประชาธิปไตย”

“ไม่มีประชาธิปไตย เท่ากับไม่มีการตรวจสอบรัฐบาล” และไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “เผด็จการรัฐสภา” ตราบเท่าที่รัฐบาลนั้นมาจากการเลือกตั้งและจัดการเลือกตั้งทุกๆ 4 ปี

มันเรียบง่ายเท่านั้น และมันเรียบง่ายเท่ากับเนื้อเพลงประเทศกูมี ที่ไม่จำเป็นต้องใช้วิชาการวรรณกรรมใดๆ มาตีความนั่นแหละ