สำรวจการพัฒนาเทคโนโลยีที่ “ไต้หวัน” จาก “วิถีชีวิตประจำวัน” ถึงการขับเคลื่อน “เศรษฐกิจ” ในภาพรวม

หากพูดถึงประเทศแถบเอเชียที่มีความโดดเด่นเรื่องเทคโนโลยีและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในการดำเนินชีวิตประจำวัน

หลายคนคงจะนึกถึงประเทศญี่ปุ่นและประเทศสิงคโปร์เป็นอันดับแรกๆ เพราะทั้งสองประเทศมีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ว่าขึ้นชื่อในเรื่องเทคโนโลยีอย่างมาก

ผ่านการส่งเสริมของรัฐบาลที่กำหนดแผนการพัฒนาประเทศที่มีคุณภาพ สามารถทำได้จริง ตลอดจนได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนและประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ

ตัวอย่างของความสำเร็จในการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันจากทั้งสองประเทศคือ การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรอย่างเห็นได้ชัด

ทั้งประเทศญี่ปุ่นและสิงคโปร์ต่างมีระบบขนส่งสาธารณะที่ครอบคลุม เชื่อมโยงถึงกัน ไม่ว่าผู้โดยสารจะอยากเดินทางไปสถานที่ใด ก็จะมีระบบขนส่งมวลชนคอยให้บริการอยู่เสมอ

ที่สำคัญคือความตรงต่อเวลา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพแท้จริง ของระบบคมนาคมสาธารณะเหล่านั้น

ปัจจุบันหลายประเทศต่างแข่งขันกันพัฒนาเทคโนโลยีด้านต่างๆ เพื่อนำมาใช้ตอบโจทย์ในการใช้ชีวิตประจำวัน อีกทั้งยังมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและระบบคมนาคม

เพราะทุกวันนี้เทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเพิ่มโอกาสความสำเร็จในด้านธุรกิจ มากกว่าในอดีตที่ผ่านมา

“ไต้หวัน” คืออีกหนึ่งประเทศในเอเชียที่กำลังเร่งพัฒนาเทคโนโลยี ระบบสื่อสารภายในประเทศ และส่งเสริมโครงการนวัตกรรมต่างๆ เพื่อผลักดันตัวเองเข้าสู่ตลาดการแข่งขันด้านเทคโนโลยีอย่างเต็มรูปแบบ

ล่าสุด ไต้หวันได้เป็นเจ้าภาพจัดการสัมมนาระดับโลก “World Congress on Information Technology” หรือ “WCIT 2017” ที่รวมเอานักวิชาการ ตัวแทนจากรัฐบาล ผู้ประกอบการ และนักธุรกิจรุ่นใหม่ เข้ามาแบ่งปันความรู้ทางด้านเทคโนโลยี ที่สามารถนำไปใช้ต่อยอดได้หลายรูปแบบ

ภายในงานยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการหลายรายนำผลงานด้านเทคโนโลยีรุ่นใหม่ๆ มาอวดโฉมกันอย่างคึกคัก

อาทิ รถยนต์พลังงานไฟฟ้าเวอร์ชั่นล่าสุดของค่าย BMW

นวัตกรรมบ้านอัจฉริยะที่ติดตั้งเซ็นเซอร์ไว้ทั่วทั้งหลัง เพื่อคอยตรวจจับความเคลื่อนไหวของคนในบ้าน ตลอดจนควบคุมการเปิด-ปิดเครื่องปรับอากาศและไฟฟ้าได้ผ่านทางสมาร์ตโฟน

หรือร้านค้าต้นแบบที่สามารถจดจำใบหน้าของลูกค้าได้ทุกคน เพื่อนำไปวิเคราะห์พฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้บริโภค ก่อนจะต่อยอดไปสู่การโฆษณาสินค้าให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า

“ไช่ อิง เหวิน” ประธานาธิบดีของไต้หวันตั้งเป้าไว้ว่า จะพัฒนาไต้หวันให้กลายเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีและไอซีที เพื่อดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในประเทศมากยิ่งขึ้น

รวมทั้งจะส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีผ่านหน่วยงานของภาครัฐ ที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาประเทศ

จากที่ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมการสัมมนาดังกล่าวและใช้ชีวิตอยู่ในไต้หวันระยะหนึ่งพบว่า เริ่มมีการนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมบางอย่างเข้ามาใช้ในชีวิตประจำวันของชาวไต้หวันมากขึ้นเรื่อยๆ

อาทิ ห้องสมุดอัจฉริยะ “New Taipei City Library” ที่เพียงแค่ผู้ใช้บริการพิมพ์กรอกชื่อหนังสือที่ต้องการลงไป ระบบคอมพิวเตอร์ก็จะเริ่มทำงาน จากนั้นแขนกลจะไปหยิบหนังสือจากชั้นวางมาให้ โดยใช้เวลารวมไม่ถึง 1 นาที พร้อมกับมีหน้าจอแสดงสถานะการค้นหาให้เรารับทราบด้วย

นอกจากนี้ ยังมีเครื่องทำความสะอาดอบฆ่าเชื้อโรคที่อาจปนเปื้อนมากับหนังสือ เพราะผู้ยืมบางคนอาจไอจามใส่หนังสือทำให้มีเชื้อโรคติดมา

เครื่องดังกล่าวมีลักษณะการทำงานคล้ายตู้อบไมโครเวฟ แค่เรานำหนังสือเข้าไปวางด้านในและกดปุ่มเริ่มทำงาน กระบวนการทำความสะอาดก็จะดำเนินไป โดยใช้เวลาเพียง 30 วินาทีเท่านั้น

ภายในห้องสมุดอัจฉริยะแห่งนี้ อาคารแต่ละชั้นจะแบ่งตามประเภทของหมวดหมู่หนังสือ ทั้งหนังสือสำหรับผู้สูงอายุ หนังสือสำหรับเด็ก หนังสือสำหรับวัยรุ่น และห้องชมภาพยนตร์

นอกจากนี้ ยังมีการจัดโซนอ่านหนังสือที่ตกแต่งในสไตล์ต่างๆ ให้ผู้ใช้บริการทุกคนได้รู้สึกผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น

อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นความสำเร็จของการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันที่พบเห็นได้บนเกาะไต้หวันคือ การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่เชื่อมต่อกันทั้งหมด มีรถไฟความเร็วสูงที่วิ่งจากกรุงไทเปไปยังเมืองเกาสงที่อยู่ทางตอนใต้โดยใช้เวลาเพียง 1.30 ช.ม. เท่านั้น

ขณะที่ชาวไต้หวันส่วนมากยังนิยมปั่นจักรยานไปทำธุระในแต่ละวัน ทำให้ธุรกิจไบก์แชริ่งอย่าง “U-Bike” กำลังมาแรง และยังเป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยวต่างประเทศอีกด้วย

ปัจจุบัน บริษัทต่างชาติที่ทำธุรกิจด้านเทคโนโลยี เริ่มเข้าไปสร้างโรงงานหรือมีสำนักงานใหญ่อยู่ในไต้หวันมากขึ้น ด้วยความที่แรงงานไต้หวันมีความรู้ความสามารถและทักษะด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษขั้นพื้นฐานที่สูงกว่าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านข้างเคียง

ด้วยความร่วมมือจากภาคเอกชนและการสนับสนุนของภาครัฐ ทำให้ไต้หวันมีบทบาทสำคัญในเวทีเศรษฐกิจระดับโลก ที่ในตอนนี้ต่างขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ทั้งยังเป็นประเทศที่น่าจับตาอย่างมากสำหรับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

คำถามที่น่าสนใจคือ ประเทศไทยมีโอกาสที่จะพัฒนาให้เทียบเท่าหรือเหนือกว่าไต้หวันได้หรือไม่? และอย่างไร?

เพราะหากมองย้อนกลับมามองดูที่บ้านเราแล้ว จะพบว่ายังคงมีปัญหาหลายอย่างที่ต้องเร่งแก้ไขเพื่อให้ไปถึงจุดนั้น เช่น เรื่องบริการขนส่งสาธารณะที่ยังไม่ครอบคลุม และที่มีอยู่ก็ยังไม่มีคุณภาพมากเท่าที่ควร

เหล่านี้คือปัญหาที่รัฐบาลและภาคเอกชนต้องร่วมมือกันแก้ไขโดยด่วน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคม และเป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้แก่บริษัทห้างร้านหลายแห่งในการทำธุรกิจกับต่างชาติ

รวมทั้งเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศครั้งใหญ่ให้เข้าสู่ยุคดิจิตอลอย่างสมบูรณ์แบบ