ว่าด้วยการสงครามของโลก : วิกฤตศตวรรษที่21

มองโลกปี 2017 และหลังจากนั้น (20)

ว่าด้วยการสงครามของโลก

ในขณะนี้เกิดสงครามลามเลียเป็นบริเวณกว้างในมหาตะวันออกกลางและแอฟริกา ทั้งมีแนวโน้มขยายตัวออกไปที่ยุโรป เอเชีย กระทั่งในอเมริกาที่ตั้งอยู่ห่างไกล สงครามเหล่านี้เป็นสงครามสมัยใหม่ ซึ่งมีลักษณะเฉพาะ ได้แก่

ก) การใช้เทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ มีอินเตอร์เน็ต เป็นต้น

ข) ใช้การขนส่งที่ทันสมัยในปริมาณมากและถูกต้องรวดเร็วได้ทั่วโลก

ค) การพัฒนาอาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างสูงและมีความแม่นยำ อาวุธและอุปกรณ์รบประจำกายทหาร ก็ได้ทำให้สามารถรบได้เกือบในทุกพื้นที่

ง) มีผู้ทำสงครามได้หลายระดับ นอกจากระดับรัฐที่ผูกขาดการทำสงครามมา แต่เดิมแล้วยังมีระดับต่ำกว่ารัฐเป็นกลุ่มก่อการร้ายสากล

จ) มีการจัดตั้งสายบังคับบัญชาและยุทธศาสตร์ที่สร้างเอกภาพในการศึกมากขึ้น รวมทั้งมีการซ้อมรบเป็นประจำ

ฉ) มีหลากหลายสมรภูมิ ทั้งภาคพื้นดิน ทะเล อากาศ อวกาศ ไซเบอร์ ในเมืองและนอกเมือง ทั้งมีสงครามข่าวสาร สงครามเศรษฐกิจที่ไม่มีการเคลื่อนกำลัง แต่ส่งผลรุนแรงถึงตายได้

กล่าวอย่างย่อ สงครามคือการใช้กำลังอย่างมีแผน มีการจัดตั้งเพื่อควบคุมฝ่ายอื่นประเทศอื่นหรือกลุ่มประเทศอื่นในด้านต่างๆ

ในช่วงหลังมหาสงครามโลกสองครั้ง มีข้อเสนอทางทฤษฎีและการปฏิบัติไม่น้อย เพื่อผดุงสันติภาพและหลีกเลี่ยงสงคราม แต่ผลลัพธ์ก็ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ

ตัวอย่างเช่น การเสนอว่าเทคโนโลยีสามารถแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง แต่ในทางเป็นจริงกลับทำให้สงครามยิ่งรุนแรง จนอาจทำลายอารยธรรมปัจจุบันได้

หรือกล่าวว่าหากมีการผลิตของกินของใช้ที่มากพอ ผู้คนก็จะเกิดความพึงพอใจในชีวิตความเป็นอยู่และไม่ก่อสงคราม

ซึ่งการผลิตในปัจจุบันก็มีมากจนล้นเกิน แต่ก็ยังมีความอดอยากยากจน มาตรฐานการครองชีพลดต่ำ เป็นเชื้อไฟสำหรับสงครามปรากฏอยู่ทั่วไป

หรือกล่าวว่า ถ้าเป็นประชาธิปไตยจะไม่ทำสงคราม แต่ปรากฏว่าประเทศที่ว่าเป็นประชาธิปไตยกลับมีงบประมาณและกองกำลังทหารสูงกว่าใคร และพัวพันในการสงครามทั่วโลก

หรือคิดกันว่าถ้ามีการองค์กรสันติภาพระดับโลกแล้วก็จะช่วยผดุงสันติภาพได้

แต่ปรากฏว่าองค์การสหประชาชาติในปัจจุบันก็ไม่ได้รับความเชื่อถือในเรื่องการผดุงสันติภาพและสิทธิมนุษยชนอะไรนัก

มีการใช้จิตวิเคราะห์ทำความเข้าใจสงคราม กล่าวว่า มนุษย์มีสัญชาตญาณพื้นฐานสองประการที่ต่อสู้กัน คือ สัญชาตญาณแห่งชีวิตกับสัญชาตญาณแห่งความตาย

สัญชาตญาณแห่งชีวิตเป็นพลังสร้างสรรค์

ส่วนของความตายนั้น เป็นพลังของการทำลายล้าง

ถ้าเรารักษาพลังแห่งชีวิตไว้ได้เหนือกว่าพลังความตาย ก็จะป้องกันสงครามได้

แต่ว่าความขัดแย้งในหมู่มนุษย์เกิดขึ้นเสมอ จนเป็นไปได้ยากที่มนุษย์จะป้องกันสงครามได้ตลอดเวลา (ดูหนังสือชื่อ Why War? โดย Sigmund Freud เผยแพร่ปี 1932 ใน faculty.washington.edu)

สงครามที่ทำกันอยู่ในโลกล้วนเกี่ยวข้องกับสหรัฐและพันธมิตรในทางหนึ่งทางใด จึงควรศึกษากรณีสงครามของสหรัฐสักเล็กน้อย

กรณีสงครามของสหรัฐ

สหรัฐมีเหตุผลข้ออ้างในการก่อสงครามไม่รู้จบที่ประกาศเปิดเผยต่อสาธารณชนอยู่สองชุดด้วยกัน ได้แก่

ก) การสร้างเสรีประชาธิปไตย ต่อต้านคอมมิวนิสต์ (ในช่วงสงครามเย็น) หลังสงครามเย็น อ้างเหตุผลทางมนุษยธรรมขึ้น แทนการต่อต้านคอมมิวนิสต์

ข) การจัดระเบียบโลกให้ปราศจาก “รัฐที่ชั่วร้าย” หรือ “รัฐเกเร” ใช้ช่วงหลังสงครามเย็น ต่อมาขยายเป็นสงครามต่อต้านการก่อการร้ายที่ไม่รู้จบ

ข้อหลังนี้ใช้ผสมไปกับข้อแรก ภูมิภาคที่เข้าไปพัวพันหลัก ได้แก่ มหาตะวันออกกลาง เหตุผลข้ออ้างนี้ทำให้เห็นเป้าหมายทางการเมืองของการก่อสงครามได้ง่ายขึ้น

แต่เหตุผลข้ออ้างนี้ ก็ใช้ไม่ได้ นักประวัติศาสตร์การทหารสหรัฐ อย่างเช่น แอนดรูว์ เบซีวิช เห็นว่าถ้าถือตามแนวคิดของเคลาเซวิตซ์ นักยุทธศาสตร์คนสำคัญด้านการสงครามของตะวันตก ที่ว่า สงครามเป็นการต่อเนื่องของการเมืองในอีกรูปแบบหนึ่ง สงครามจำต้องบรรลุเป้าหมายทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ในทางปฏิบัติมองไม่เห็นว่าสหรัฐสามารถบรรลุจุดประสงค์การเมืองที่สำคัญอะไรในสงครามมหาตะวันออกกลาง

เบซีวิชเห็นว่า สหรัฐได้เข้าสู่สงครามอ่าวถึงสี่ครั้ง

ครั้งแรกสนับสนุนซัดดัม เพื่อการทำสงครามกับอิหร่าน

ครั้งที่สองขับไล่ทหารซัดดัมออกจากคูเวต

ครั้งที่สามโค่นล้มระบบซัดดัม และถอนกำลังออกจากอิรักในปี 2011

ครั้งที่สี่ย้อนกลับเข้าไปอีก กล่าวว่าจะปราบกลุ่มรัฐอิสลามหรือไอเอส

แต่บทเรียนยาวนานในสงครามมหาตะวันออกกลางได้บอกว่า

“แสนยานุภาพของสหรัฐไม่สามารถแก้ปัญหาได้ รังแต่จะทำให้ปัญหาเลวร้ายขึ้น ดังนั้น ความรับผิดชอบในการปราบกลุ่มรัฐอิสลาม จึงควรตกอยู่บนบ่าของของผู้ที่ถูกกลุ่มนี้คุกคาม”

รวมความว่าสหรัฐไม่ควรเข้าไปก่อสงครามในมหาตะวันออกกลางอีกต่อไป (ดูบทสัมภาษณ์ แอนดรูว์ เบซีวิช ชื่อ Andrew Bacevich : America”s War for the Greater Middle East Cannot Be Won ใน democracynow.org 08.04.2016)

ความจริงแล้วในช่วงที่ประธานาธิบดีบุชผู้ลูกโหมกลองศึก เตรียมบุกอิรักในปี 2003 ก็ได้มีประชาชนสหรัฐจำนวนมากออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน และแม้นักคิดบางส่วนของชนชั้นนำก็ไม่เห็นด้วย

แต่ชนชั้นนำโดยรวมก็ยังฝืนทำไป

การฝืนทำไปทำนองนี้ ก่อให้เกิดกระแสการอธิบายนโยบายต่างประเทศของสหรัฐไปอีกทางหนึ่ง กล่าวว่า สหรัฐมีเหตุผลเบื้องลึกอีกชุดหนึ่งในการทำสงครามไม่รู้จบ ได้แก่

ก) การมีนโยบายแบบจักรวรรดินิยม ต้องการครองความเป็นใหญ่ และจัดระเบียบโลกให้เป็นไปตามแบบที่สหรัฐต้องการ

ข) การเมืองแบบลัทธิทหาร มีองคาพยพของการสงครามขนาดใหญ่ที่เรียกว่ากลุ่มอุตสากรรม-การทหาร-ความมั่นคง

การอธิบายแบบหลังนี้ เริ่มแรกดูคล้ายเป็นทฤษฎีสมคบคิด

แต่เมื่อเวลาผ่านไปผู้คนจำนวนมากเริ่มเห็นคล้อยตาม และมีนักวิชาการ นักหนังสือพิมพ์และนักเคลื่อนไหว พากันกล่าวถึงเป็นประจำ เรียกนโยบายที่แฝงเร้นรู้วงในว่า “การเมืองลึกเร้น”

และรัฐที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังรัฐของสาธารณชนที่มาจากการเลือกตั้งว่า “รัฐลึกเร้น” (ผู้ที่สนใจเกี่ยวกับเรื่องรัฐลึกเร้นในสหรัฐ สามารถศึกษางานเขียน และบทสัมภาษณ์ของ ศ. Peter Dale Scott (เกิด 1929) ผู้เป็นกวี นักการทูตและเชี่ยวชาญกฎหมายรัฐธรรมนูญได้ใน peterdalescott.net เป็นต้น)

ที่เรียกว่ารัฐลึกเร้นประกอบด้วยชนชั้นนำสองกลุ่มใหญ่ ได้แก่ กลุ่มบรรษัทข้ามชาติและสถาบันการเงินใหญ่ นิยมเรียกว่า “กลุ่มวอลสตรีต” และกลุ่มอุตสาหกรรม-การทหาร-ความมั่นคง

ทั้งสองกลุ่มได้ประโยชน์จากสงคราม และศักยภาพในการก่อสงครามโดยตรง

กลุ่มวอลสตรีตสามารถไปลงทุนแสวงหากำไรได้ทั่วโลก รักษาความเป็นใหญ่ของดอลลาร์สหรัฐ สามารถควบคุมโครงสร้างและการไหลเวียนของการเงินโลก

ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรม-การทหารฯ ได้รับประโยชน์จากการค้าอาวุธและสงคราม เช่น กลุ่มที่ทำสัญญากับรัฐในทางการผลิตอาวุธและทำสงครามในที่ต่างๆ

แต่นโยบายลึกเร้น การเมืองลึกเร้นดังกล่าว ไม่สามารถดำเนินไปเรื่อยได้ เพราะว่ามันมีค่าใช้จ่ายและความเสียหายมาก

เช่น ค่าใช้จ่ายในสงครามมหาตะวันออกกลางของสหรัฐ มีผู้คิดคำนวณว่าตกหลายล้านล้านดอลลาร์

ทั้งยังมีความเสียหายอย่างอื่นจากการบาดเจ็บล้มตาย

ความตึงเครียดอ่อนล้าของกองทัพที่กรำศึกอย่างไม่เห็นจุดสิ้นสุด การตกอยู่ในความหวาดกลัวเกลียดชังจากผู้คนในประเทศที่ต้องวิบัติในสงคราม และทำให้สหรัฐและพันธมิตรตะวันตก ต้องเป็นเป้าของการก่อการร้ายสากลและคลื่นผู้อพยพ

กระแสการคัดค้านสงครามในสหรัฐมีแนวโน้มมากขึ้น เนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของผู้คนทรุดต่ำลง ต้องการงบฯ ทางสงครามไปใช้ในการอื่น เช่น การรักษาสิ่งแวดล้อม การเยียวยาคนยากจนที่เพิ่มขึ้น

ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งก็ด้วยการหาเสียงว่าจะต่อสู้กับกลุ่มผู้ทรงอำนาจ (The Establishment) และรัฐลึกเร้น ว่าจะ “ระบายน้ำ ออกจากบึง” ไม่เที่ยวทำสงครามในตะวันออกกลาง และจะเจรจากับรัสเซีย เป็นต้น

แต่ก็กลายเป็นว่าเขาต้องระบายน้ำ ปลดคนสนิทจากบึงของเขาเอง และหันไปทำสงครามในตะวันออกกลางอีกครั้ง

มีนักเขียนสหรัฐบางคนกล่าว เหมือนเป็นการทำนายตั้งแต่ทรัมป์ทำพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีว่า เขาไม่มีทางที่จะเอาชนะรัฐลึกเร้นได้ ตัวทรัมป์เองก็มีจุดอ่อนมากมาย (ดูบทความของ Bill Bonner ชื่อ Trump Is No Match for the Deep State ใน caseyresearch.com 23.01.2017)

จากกรณีสงครามของสหรัฐจะเห็นว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ชนชั้นนำโลกจะก่อสงคราม แต่มีเหตุปัจจัยที่ก่อความขัดแย้งรุนแรงดำรงอยู่ จนในที่สุดผู้คนทั่วไปเองก็อาจถูกชักนำเข้าสู่สงครามได้

เหตุปัจจัยของสงครามสี่ประการ

สงครามในศตวรรษที่ 21 ถูกกระตุ้นและขับเคลื่อนโดยวิกฤติรอบด้านซึ่งทำงานร่วมกัน จำแนกได้สี่ประการ ดังนี้คือ

1) วิกฤติเศรษฐกิจ ก่อผลกระทบเศรษฐกิจทั้งสามภาคส่วน นำมาสู่ความไม่เสถียรภาพทั้งภายในและระหว่างประเทศ ดังนี้

ก) ต่อกลุ่มทุนและผู้ประกอบการทั้งหลาย วิกฤติทำให้เศรษฐกิจถดถอยและชะงักงันยาวนาน การแข่งขันสูงขึ้น เกิดสภาพ “ใหญ่กินเล็ก” การผูกขาดแน่นหนาขึ้น หนทางทำมาหากินของผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางตีบแคบลง จนต้องเข้าไปอยู่ในเครือข่ายบรรษัทใหญ่

ข) ต่อภาครัฐ วิกฤติเศรษฐกิจบีบให้ต้องเพิ่มการใช้จ่ายและความช่วยเหลือแก่ภาคธุรกิจเอกชนและภาคประชาชน เช่น การลดภาษีแก่บริษัท หรือการให้เงินสวัสดิการประชาชน ตามโครงการต่างๆ แต่การปฏิบัติดังกล่าวพบว่าไม่ได้ผลตามคาด ทุกวันนี้เศรษฐกิจโลกยังอ่อนแอและเปราะบาง อาจเกิดภาวะถดถอยขึ้นได้อีกในประเทศพัฒนาแล้ว ส่วนในประเทศตลาดเกิดใหม่อัตราการเติบโตมีแนวโน้มลดลง เมื่อรายจ่ายเพิ่มแต่รายได้ของรัฐลดลงเนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดี รัฐบาลทั้งหลายย่อมเกิดปัญหาการคลัง

ค) ต่อภาคประชาชน ที่เป็นลูกจ้างคนงานหรือเป็นเกษตรกรรายเล็ก เกิดปัญหาตกงาน เงินเดือนคงตัวหรือลดลง ราคาพืชผลตกต่ำ แต่ราคาอาหารมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วยหลายเหตุปัจจัย โดยรวมก็คือมาตรฐานการครองชีพของประชาชนลดต่ำลง สิ่งนี้เห็นชัด ในประเทศพัฒนาแล้ว เกิดสิ่งที่เรียกว่า “การล้มละลายของชนชั้นกลาง”

ง) การดิ้นรนหนีตายทั้งสามภาคส่วน ก่อความตึงเครียดทั้งภายในและระหว่างประเทศ เมื่อการเจรจาต่อรองต่างๆ ล้มเหลว ภายในประเทศอาจปะทุเป็นการจลาจล การลุกขึ้นสู้ ไปจนถึงสงครามกลางเมือง ในระหว่างประเทศเกิดการช่วงชิงเพื่อให้ได้เปรียบทางเศรษฐกิจ ประเทศมหาอำนาจตะวันตกที่พบว่าความได้เปรียบทางเศรษฐกิจของตนลดลงอย่างยากจะแก้ไข อาจใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือแก้ไข จนเป็นผู้เสี่ยงลงมือทำสงครามก่อน

2) ความอ่อนแอของประชากร ปรากฏชัดในประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยประชากรเพิ่มในอัตราต่ำหรือลดลง ประชากรสูงอายุชราขึ้น ความสำคัญของประชากรก็คือการเป็นพละกำลังของบ้านทั้งทางการผลิตและการทหาร บ้านเมืองที่มีผู้คนหนุ่มสาวน้อยก็ไม่คึกคักนี้เป็นตั้งแต่โบราณ เมื่อรบชนะตีบ้านที่เมืองได้ก็จะกวาดต้อนผู้คนหนุ่มสาว หรือผู้มีวิชาความรู้ความสามารถมาอยู่ที่ศูนย์กลาง เมืองที่ถูกพิชิตก็จะอ่อนแอ กระทั่งล่มสลายไป

การขยายตัวของประชากรโลกเป็นไปอย่างรวดเร็วตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เมื่ออัตราการเพิ่มของประชากรลดหรือสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ย่อมทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจชะลอตัว

ในโลกตะวันตกความอ่อนแอทางประชากรเห็นชัด จำต้องรับผู้อพยพจากประเทศที่พัฒนาน้อยกว่าเข้ามา ซึ่งยิ่งนานไปก็ยิ่งเกิดปัญหา เมื่อผู้อพยพไม่ต้องการเป็นพลเมืองชั้นสองของประเทศอีกต่อไป

3) ความเสื่อมถอยทางอุดมการณ์และจริยธรรม ที่ปรากฏในทุกภาคส่วน ได้แก่

ก) ภาครัฐ เช่น การหันไปสู่ความเท็จ การปั้นแต่งข่าวสาร สร้าง “การเมืองหลังความจริง” ขึ้น และการหันไปสู่การใช้กำลังรุนแรงอย่างล่อนจ้อน เกิดการสูญเสียศรัทธาและความไว้วางใจระหว่างกัน ระหว่างภาคทั้งสาม

ข) ภาคธุรกิจเอกชน ประกอบกิจการโดยฉ้อฉลเพื่อประโยชน์กำไร ไม่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

ค) ภาคประชาชน เน้นการเอาตัวรอดลำพังกลุ่มตน ขาดความเห็นอกเห็นใจ ร่วมมือกัน ถูกชักจูงหรือชักใยได้ง่าย โดยรวมทั่วไปกล่าวตามทัศนะของฟรอยด์ได้ว่า สัญชาตญาณแห่งความตายอยู่เหนือสัญชาตญาณแห่งความรัก

4) ความเสื่อมสูญของทรัพยากรสิ่งแวดล้อม เป็นสาเหตุและสิ่งป้อนกลับที่ทำให้ปัญหาสามประการเลวร้ายมากขึ้นและมีปัญหาของตัวมันเอง ได้แก่ ต่อสุขภาพอนามัย ความรื่นรมย์ในชีวิต ความสวยงามของธรรมชาติ สงครามชิงพื้นที่และทรัพยากรสิ่งแวดล้อม (ผู้สนใจสามารถดูบทปริทัศน์หนังสือ ชื่อ Failing States, collapsing system biophysical triggers of political violence by Nafeez Ahmed ใน energyskeptic.com 31.01.2017)

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงสงครามเศรษฐกิจ สงครามลูกผสม และมหาสงคราม