โลกไม่ค่อยเป็นธรรมกับคนรักประชาธิปไตย ‘สมชาย’ วิเคราะห์โลก-มองไทยเลือกตั้งยังไงก็ต้องมี แต่ฝ่ายที่หนุนต้องอดทน

“ผมเป็นคนหนึ่งที่ชอบระบอบประชาธิปไตย อยู่แล้วมีความสุข แต่ขณะเดียวกันผมเป็นนักวิชาการที่มองโลกในวันนี้ว่าโลกไม่ค่อยจะเป็นมิตรกับพวกเราเท่าไหร่ เริ่มมีการตั้งข้อกังขาว่าระบอบประชาธิปไตยดีนักหรือ? ไปดูอเมริกาได้คนแบบ “โดนัลด์ ทรัมป์” มา แล้วหันไปมองไปดูอำนาจนิยม รัสเซียได้คนอย่าง “ปูติน” แต่คนชอบ อยู่ได้เกือบ 20 ปีแล้ว จีนก็เช่นกัน ถ้าวันหนึ่งเกิดมีการเลือกตั้ง “สี จิ้น ผิง” ก็คงได้คะแนนถล่มทลาย ทำให้ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยกำลังถูกมอง-ถูกตั้งคำถาม และน่าสงสารประชาธิปไตยเพราะมีคนกำลังมาต่อสู้ทางความคิดให้ดูอย่างประเทศอำนาจนิยมว่าแต่ละประเทศมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง มีเสถียรภาพ เพราะฉะนั้น คนที่กำลังเรียกหาประชาธิปไตยเป็นคนที่จะต้องมีความอดทนสูง!”

นั่นคือมุมมองของ รศ.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และการเมืองระหว่างประเทศ ที่มองว่าหากใครที่หวังอยากจะไปสู่ประชาธิปไตยเต็มที่ เราต้องรออีกสักพักใหญ่ๆ

เพราะขนาดใน EU ก็เริ่มมีบางประเทศเรียกร้องให้ประเทศตัวเองไปสู่อำนาจนิยม

ต้องยอมรับว่าโลกไม่เป็นธรรมสำหรับคนที่กำลังเรียกร้องประชาธิปไตยหรือเสรีนิยม

“ซึ่งส่วนตัวผมก็อยากจะเห็น แต่เราต้องยอมรับว่าโลกมันมีทั้งปัญหาการก่อการร้าย การลี้ภัย และเศรษฐกิจ เป็นเชื้อที่ช่วยทำให้อำนาจนิยมสามารถกลับเข้ามาได้ในระดับหนึ่ง (แต่ไม่เหมือนเก่า) เป็นอำนาจนิยมที่ผสมผสานกับเสียงข้างมาก และใช้สื่อมวลชนเป็นตัวช่วยทำให้เกิดกระแส

“สำหรับกลุ่ม EU จะใช้ค่านิยมประชาธิปไตยเป็นตัวนำการเมืองทุกประเทศในกลุ่มสมาชิก อีกส่วนหนึ่งใช้ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ เพราะเขาคิดว่าค่านิยมประชาธิปไตยเป็นค่านิยมที่ถูกต้องและเป็นค่านิยมที่เขาได้ประโยชน์ เพราะตั้งแต่ที่ชนะคอมมิวนิสต์เขาก็คิดมาตลอดว่าค่านิยมนี้เป็นตัวที่ชนะ จึงใช้ค่านิยมนี้มาตลอด”

“เช่นในโปแลนด์ที่มีการละเมิดการถ่วงดุลอำนาจ ถูกทักท้วงว่าฝ่ายบริหารกำลังเข้าไปแทรกแซงฝ่ายตุลาการ เขาก็เล่นงานในกลุ่มประเทศสมาชิกเขาเองด้วย”

“ส่วนการดำเนินนโยบายต่างประเทศก็เช่นเดียวกัน เขาจะใช้ค่านิยมนี้เป็นเครื่องมือในการเล่นงานประเทศอื่น ภายใต้กรอบของผลประโยชน์แห่งชาติ แต่เอาเข้าจริงๆ แล้วก็ไม่จำเป็นเสมอไป ในบางประเทศที่เป็นอำนาจนิยม-เผด็จการ หากมีผลประโยชน์ต่อ EU มากกว่า เพราะมีเสถียรภาพและความมั่นคงสูงกว่า ก็นำไปสู่การเลือกปฏิบัติ ขึ้นอยู่กับว่าประเทศไหนมีผลประโยชน์ต่อเขามาก จะเป็นระบบอะไรก็ได้ ทั้งที่เขาอาจจะไม่เห็นด้วย แต่ถ้าเป็นประโยชน์ก็เลือกปฏิบัติ เช่น ยกตัวอย่างถ้าใช้มาตรฐานประชาธิปไตยอย่างเดียว ก็คงไม่ต้องติดต่อคบค้ากับประเทศจีนเลยใช่หรือไม่?” รศ.สมชายกล่าว

“ฉะนั้น กรณีที่มีแนวโน้มสัญญาณปรับท่าทีกับไทยของ EU จึงอธิบายได้ว่า ที่เขาผ่อนปรนลง เพราะไทยเองก็มีการประกาศจะมีเลือกตั้งปีหน้า ที่สำคัญไทยเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียน แล้วยังเชื่อมโยง ASEAN +3 และ +6 ยังเป็นสมาชิกกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอีก เขาจึงมองว่าในภูมิภาคนี้กำลังมีอัตราการเติบโตสูง กำลังเจริญ และจีนกำลังเข้ามาครอบงำ”

“ในฐานะกลุ่มประเทศมหาอำนาจ คงจะไม่ปล่อยให้ภูมิภาคเหล่านี้ตกมาเป็นผลประโยชน์ของจีน เหตุผลนี้เองจึงอธิบายได้ว่าทำไมตั้งแต่มีการยึดอำนาจเมื่อปี 2557 เขาเล่นงานเราจริง แต่ดูแล้วเล่นงานน้อยมาก เนื่องจากถ้าเล่นงานมากจะไม่เป็นประโยชน์ต่อเขา”

“ทั้งนี้ สามารถอธิบายเป็นรูปธรรมได้ว่าเขาหยุดชะงักเฉพาะเรื่องปฏิสัมพันธ์ทางการเมือง เช่นนั้นห้ามรัฐมนตรีเดินทางไปประชุม ส่วนในทางเศรษฐกิจจะเห็นได้ชัดว่ามีตัวกระทบ ที่ชะงักคือการเจรจา FTA และข้อตกลงการค้าอื่นๆ แต่ก็ยังเป็นคู่ค้าอับดับ 4 ของไทยอยู่”

“อีกด้านหนึ่งที่คนอาจจะมองว่าเราโดนเล่นงานเรื่องประมง ผมมองว่าจริงๆ แล้วประมงเป็นเรื่องที่เราจะต้องโดนเล่นงานอยู่แล้ว เนื่องจากเขามีมาตรฐานที่สูงมากและจับตามองหลายประเทศเรื่องการใช้แรงงานมนุษย์และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งมันไปสอดคล้องกับช่วงรัฐประหารพอดี นี่คือสิ่งที่เขากดดัน”

“สรุปคือส่วนใหญเขาใช้มาตรฐานตัวนี้ ในเชิงการพูดโจมตีและกดดันให้ไทยคืนอำนาจมากกว่าการปฏิบัติจริง เพราะเขารู้ว่าโลกกำลังวิ่งเร็วและมีความจำเป็นที่จะต้องมีส่วนในภูมิภาคนี้ทั้งในทางเศรษฐกิจและทางการเมืองให้มากขึ้น เลยถือโอกาสในช่วงที่เราเริ่มที่จะผ่อนคลายสถานการณ์ ตามโรดแม็ป เพื่อไม่ให้เสียเหลี่ยม เพราะเห็นสัญญาณทางสหรัฐอเมริกาก็เริ่มผ่อนคลาย จึงต้องการที่จะกลับมาปฏิสัมพันธ์กับเรามากขึ้น เมื่อกลับเข้าสู่ภาวะปกติ”

รศ.สมชายมองว่า จากนี้ไป ถึงพฤศจิกายนปีหน้า เขาคงจับตาดูว่ารัฐบาลจะดำเนินการตามโรดแม็ปได้มากน้อยขนาดไหน / มีการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมโปร่งใสหรือไม่ หรือเราให้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกถึงความแตกต่างมากน้อยเพียงใด ศาลจะมีการเปลี่ยนแปลงทหารมาป็นพลเรือนหรือเปล่า? ประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องที่ประกอบการพิจารณาของเขา

“ผมคิดว่าข้อดีที่เขากดดันเราช่วงที่ผ่านมา มันส่งผลต่อสังคมไทยไม่น้อย ที่ทำให้รัฐบาลเร่งดำเนินตามโรดแม็ป คิดว่าแรงกดดันจากนานาชาติ เป็นการส่งต่อให้กับผู้คนในสังคมไทยมีความรู้สึกว่ามีคนเข้ามาช่วยกดดัน ทำให้รัฐบาลต้องตระหนักถึงสิ่งที่ประกาศออกไปว่ามีคนจับตามองอยู่ จึงต้องเร่งดำเนินการตามโรดแม็ป ภายใต้กรอบเงื่อนไขเวลา และในเรื่องของสาระ ว่าจากจุดนี้ไปรัฐบาลจะมีการผ่อนปรนปลดล็อกพรรคการเมืองให้มีการเคลื่อนไหวได้หรือไม่ มีการเปิดพื้นที่ให้กับคนคิดต่างแสดงความเห็น เป็นดุลพินิจของเขาแล้ว ว่าถ้าเรายังไม่ได้เปิดประตูของประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ก็มีสิทธิในการพิจารณาความสัมพันธ์ในภายภาคหน้า โดยดูรายละเอียดทั้งเรื่องการถ่วงดุล และสภาวะที่ทำให้เกิดประชาธิปไตยอย่างแท้จริง จุดนี้เป็นประเด็นที่สำคัญกว่า” รศ.สมชายกล่าว

ฉะนั้น คนที่ห่วงว่าจะไม่มีเลือกตั้งหรือต้องถูกเลื่อนออกไปอีก ผมคิดว่ารัฐบาลคงจะตระหนักว่าในสภาวะแบบนี้ “เลือกตั้งต้องมีแล้ว” สถานการณ์ต่างๆ รัฐบาลคงจะได้บรรลุอะไรหลายๆ อย่าง

และอย่าลืมว่ามีศัพท์ทางการเมืองคำหนึ่งเรียกว่า “ความเมื่อยล้าทางการเมือง” อะไรที่คนเคยคิดว่าดีในระยะแรก เหมือนกับดูหนังตอนแรกสนุก พออยู่ไป ตอน 2 ตอน 3 ชักเบื่อแล้ว ซึ่งมองว่าโอกาสในการเลื่อนโรดแม็ปคงมีแต่คงน้อย

สําหรับท่าทีของหลายๆ ฝ่าย หลังการส่งสัญญาณครั้งนี้ของ EU รศ.สมชายบอกว่า ต้องแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ กลุ่มคนดีใจคือรัฐบาลที่จะถูกมองว่าภาพลักษณ์ดีขึ้น

อีกส่วนพ่อค้านักธุรกิจ ที่อาจจะตีความว่าถ้าเป็นแบบนี้ คงจะมีการค้าการลงทุนเพิ่มมากขึ้น

แต่ในแง่ของประชาชนบางคนคงบอกว่าดีใจได้ แต่เรายังไม่รู้ว่า กว่าที่เราจะไปสู่จุดหมายปลายทางประชาธิปไตย มันจะเดินได้ตามนั้นจริงหรือไม่

“ผมคิดว่าภาพรวมเศรษฐกิจก็ไม่เกี่ยวเท่าไหร่ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเพียงการเตรียมการและต้องรอจนกว่าขั้นตอนตามโรดแม็ปดำเนินเสร็จ หากไปดูในรัฐธรรมนูญก็ชัดอยู่ว่าในช่วง 5 ปีแรกก็ไม่ได้เปิดกว้างเท่าไหร่ มันไม่ใช่แค่เรื่องการเลือกตั้งแล้วจบ ต้องดูไปยาวๆ ยิ่งถ้าสมมติเราถอยหลังหนักไปกว่าเดิมก็มีโอกาสที่เขาปิดประตูอีก ฉะนั้น ประตูจะเปิดมากเปิดน้อยขึ้นอยู่กับครรลองของเนื้อหาที่รัฐบาลจะต้องพิสูจน์สิ่งที่ได้พูดได้ทำไว้”

นอกจากนี้ รศ.สมชายยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ถ้า EU ต้องการจะเล่นงานเราแบบจริงๆ จังๆ เขาคงต้องโจมตีตั้งแต่รัฐธรรมนูญเราแล้ว ฉะนั้น เขาก็คงเข้าใจว่าในแต่ละประเทศมีประชาธิปไตยได้เต็มที่ไม่เท่ากัน แต่เขาขอเพียงให้มีหลักการในเรื่องของการเลือกตั้งบ้าง เพราะถ้าเขามีมาตรฐานสูงจริง วันนี้เขาคงจะไม่คุยกับประเทศไทยเลย แต่เขาใช้มาตรฐานตัวต่ำ นั่นคือให้มีเลือกตั้ง เพราะเขาต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นในเรื่องสิทธิเสรีภาพการแสดงออกและความยุติธรรม

(Front L to R) Chile’s President Michelle Bachelet, China’s President Xi Jinping, Vietnam’s President Tran Dai Quang, Indonesia’s President Joko Widodo, Japan’s Prime Minister Shinzo Abe, South Korea’s President Moon Jae-in, (back L to R) Peru’s President Pedro Pablo Kuczynski, Philippine President Rodrigo Duterte, Russia’s President Vladimir Putin, US President Donald Trump, Thailand’s Prime Minister Prayut Chan-O-Cha and Singapore’s Prime Minister Lee Hsien Loong pose for the “family photo” during the Asia-Pacific Economic Cooperation (APEC) leaders’ summit in the central Vietnamese city of Danang on November 11, 2017.
World leaders and senior business figures are gathering in the Vietnamese city of Danang this week for the annual 21-member APEC summit. / AFP PHOTO / POOL / JORGE SILVA

อย่างไรก็ตาม รศ.สมชายมองว่า ความหวังของเราในขณะนี้ เราจะเห็นได้ชัดว่าวันนี้สังคมไทยยังเป็นสังคมที่ต้องการสิทธิเสรีภาพมากขึ้น ภายใต้ข้อจำกัดที่มี ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่าจากนี้จะทำอย่างไรให้สิทธิเสรีภาพนั้นไม่ถูกบิดเบือนกลายมาเป็นเรื่องของปัญหาความขัดแย้งและนำไปสู่ความเป็นอนาธิปไตย

“ผมคิดว่า ประชาธิปไตยต้องดำเนินไปอย่างมีเหตุมีผล สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยสร้างให้เกิดผลและต้องทำให้ฝ่ายที่เห็นต่างกัน สามารถประสานหรืออยู่ด้วยกันได้ วิจารณ์กันได้ แต่สิ่งที่น่าเศร้าในวันนี้มีคนว่านักการเมืองสารพัด ฉะนั้น นักการเมืองจะต้องพัฒนาและพิสูจน์ตัวเองให้เห็นว่าดีกว่ารัฐบาลที่มาจากอำนาจนิยมอย่างไร ทั้งคุณภาพและการที่สามารถวิเคราะห์วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ได้”

“นี่คือทางที่เราจะต้องเดินไปเพื่อสร้างบรรยากาศและรักษาประชาธิปไตย!”