นงนุช สิงหเดชะ : “ประชาธิปัตย์” เอากะเขาบ้าง ในบทบาท “องครักษ์” พิทักษ์หัวหน้า

น่าเป็นห่วงไม่น้อยสำหรับพรรคประชาธิปัตย์ ที่ระยะหลังนี้อดีต ส.ส. หลายคนออกมาทำหน้าที่องครักษ์พิทักษ์หัวหน้าพรรค ไม่ต่างจากพรรคการเมืองฝั่งตรงข้าม

น่าเป็นห่วงว่าบางทีการพิทักษ์นั้น อาจส่งผลเสียต่อหัวหน้าพรรคที่ตัวเองอยากปกป้อง มากกว่าจะส่งผลดี อย่างที่เคยเกิดขึ้นกับหัวหน้าพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามมาแล้ว

ก่อนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 7 สิงหาคม อดีต ส.ส.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาไล่ส่งสมาชิกประชาธิปัตย์ที่อยู่ในกลุ่ม กปปส. ของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ (อดีตเลขาธิการพรรค) ออกไปจากพรรคฐานแสดงความเห็นสวนทางกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ที่ออกมาแถลงว่าไม่ขอรับร่างรัฐธรรมนูญ

ผลที่ออกมาคือ ฐานเสียงประชาธิปัตย์ คือภาคใต้เกือบทั้งหมด รวมทั้งกรุงเทพฯ ลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญแบบท่วมท้น เฉพาะเขตวัฒนา กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเขตของนายอภิสิทธิ์ ประชาชนลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญสูงลิ่ว 76 เปอร์เซ็นต์

 

ถัดมา เมื่อไม่กี่วันมานี้ นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช และอดีตโฆษกส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์ ออกมาตอบโต้ ดร.เขียน ธีรวิทย์ กรณีที่ ดร.เขียน นำเสนอบทความเรื่องนายกรัฐมนตรีคนนอกที่นักการเมืองรุมคัดค้าน

เนื้อหาสำคัญในบทความของ ดร.เขียน ระบุในทำนองตั้งคำถามว่า ที่คัดค้านนายกฯ คนนอกนั้น คนนอกไม่ใช่คนไทยหรอกหรือ พร้อมกับสาธยายว่า ตอนเรียนจบปริญญาตรี-เอกด้านรัฐศาสตร์ใหม่ๆ ตนเชื่อว่าประชาธิปไตยเป็นระบอบที่ดีเลิศ โดยไม่สนใจจะเรียนรู้พฤติกรรมการเลือกตั้งของไทยว่าจะเลือกผู้แทนฯ กันมาอย่างไร และยืนหยัดมาโดยตลอดว่าการรัฐประหารเป็นสิ่งเลวร้าย

บทความของ ดร.เขียน ระบุต่อไปว่า แต่เมื่อเห็นการเลือกตั้งในยุคของคุณทักษิณ ซึ่งทำให้มีประชาธิปไตยจอมปลอม ตนจึงเปลี่ยนทัศนคติเรื่องการรัฐประหาร พร้อมกับชี้ให้เห็นว่านายกรัฐมนตรี “คนนอก” มีส่วนทำให้บ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองได้เช่นกัน อาทิ ตอนที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี รวมทั้งตอนนี้ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้นำ สามารถกอบกู้ประเทศคืนมาได้

ใจความหลักของ ดร.เขียน คือ ทหารมีสิทธิ์ตามธรรมชาติที่จะรัฐประหาร หากประเทศมีประชาธิปไตยจอมปลอม ผู้ปกครองไม่ยึดหลักกฎหมายในการปกครองประเทศ

ในที่นี้ยังไม่มีตรงไหนที่ ดร.เขียน พูดอย่างชัดเจนว่าชอบระบอบเผด็จการมากกว่าประชาธิปไตย พูดแต่เพียงว่าไม่ชอบประชาธิปไตยจอมปลอม

อย่างไรก็ตาม นายเทพไท ได้ออกมาตอบโต้ ดร.เขียน ในทำนองเหน็บแนมว่าถ้าในบั้นปลายชีวิตของ ดร.เขียน อยากเชียร์เผด็จการทหารสักครั้ง ตนก็เคารพในความเห็น แต่แสนเสียดายเกียรติภูมิความเป็นศาสตราจารย์แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ รู้สึกแปลกใจมากที่คนมีความรู้ด้านรัฐศาสตร์ระดับศาสตราจารย์ออกมาชื่นชมรัฐบาลทหารให้ปกครองประเทศ

เข้าใจว่าจุดที่ทำให้องครักษ์จากพรรคประชาธิปัตย์ต้องออกมาปกป้องหัวหน้าพรรค มาจากการที่ ดร.เขียน แตะนายอภิสิทธิ์ตอนหนึ่งว่า “ปัจจุบันมีการรณรงค์อย่างแพร่หลายไม่เอานายกรัฐมนตรีคนนอก อภิสิทธิ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นแชมป์ล่าสุดที่ออกมาสอนคนให้เชื่อเช่นนั้น ตอนผมยังหนุ่มและฟุ้งซ่านประชาธิปไตยในแผ่นกระดาษนั้น ผมตกหลุมตำราวิชาการฝรั่งไม่ลึกเท่าอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์”

นอกจากนั้น ยังวิพากษ์วิจารณ์ประสิทธิภาพการทำงานของ “นายกฯ คนใน” อย่างนายอภิสิทธิ์ ช่วงเป็นนายกรัฐมนตรีที่ปล่อยให้ม็อบเสื้อแดงไปล้มการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่พัทยา ทำให้ชาติเสียหายใหญ่หลวง แสดงว่างานข่าวกรองไร้ประสิทธิภาพและไม่ยอมเอาทหารไปช่วยทั้งที่รู้ว่าตำรวจไว้ใจไม่ได้ (เพราะกลัวว่าการใช้ทหารจะถูกมองว่าไม่เป็นประชาธิปไตย) หรือการปล่อยให้ม็อบไปล้อมกรอบไล่ทุบตัวเองถึงกระทรวงมหาดไทย แสดงว่าตัดสินใจแก้ปัญหาไม่เป็น

ในฟากของนายเทพไท ที่ออกมาตอบโต้ ว่าไม่เคยมีรัฐบาลเผด็จการหรือรัฐบาลทหารที่ไหนในโลกทำให้ประเทศเจริญรุ่งเรือง การพูดเช่นนี้อาจทำให้ฐานเสียงของประชาธิปัตย์มีเคือง โดยเฉพาะฐานเสียงประชาธิปัตย์ที่ตอนนี้อยู่ในกลุ่มนกหวีด เพราะนั่นเท่ากับว่าพาดพิงไปถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่กำลังปกครองประเทศในขณะนี้

หากดูจากโพลที่ออกมาทุกครั้ง จะเห็นว่าได้รับความนิยมจากประชาชนค่อนข้างสูงกว่ารัฐบาลเลือกตั้งในหลายด้าน โดยเฉพาะความเด็ดขาดกล้าตัดสินใจ ทำงานเร็ว

การออกมาตอบโต้นักวิชาการที่ชื่นชมทหาร แล้วดันไปพูดว่าทหารไม่เคยทำให้ชาติเจริญนั้น เท่ากับว่าประชาธิปัตย์ด่าคนที่เคยอยู่ข้างเดียวกับตัวเองหรือเคยช่วยเหลือตัวเองมาก่อน ซึ่งตามประเพณีไทยรับไม่ได้เกี่ยวกับการไม่รู้บุญคุณคน

ตอนเดือนพฤษภาคม 2553 ประชาธิปัตย์ต้องอาศัยใครในการควบคุมม็อบแดงแยกราชประสงค์ และทำให้ทหารหลายคนต้องถูกดำเนินคดีในข้อหาฆ่าคนอยู่ในขณะนี้

ให้ย้อนไปดูคำสั่งของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในปี 2553 ที่ให้จัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ตอนที่ม็อบแดงยึดราชประสงค์ จะเห็นว่ามีชื่อของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในขณะนั้น ถูกแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินตั้งแต่กลางเดือนเมษายน 2553 ไปจนถึงเดือนกันยายน 2553 ก่อนที่จะเกษียณ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. แทนและรับตำแหน่งหัวหน้าแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินต่อจาก พล.อ.อนุพงษ์

ตอนนี้ทั้ง พล.อ.อนุพงษ์ และ พล.อ.ประยุทธ์ รวมทั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งเป็นคนที่ประชาธิปัตย์เคยขอความช่วยเหลือ ได้กลายมาเป็นรัฐบาลทหารปกครองประเทศในขณะนี้

 

การที่นายเทพไท ออกมาตอบโต้นักวิชาการที่วิจารณ์นายอภิสิทธิ์แล้วแฉลบไปด่าทหารในทางลบ ก็น่าห่วงว่าคนที่เป็นแฟนคลับประชาธิปัตย์จะรับได้หรือไม่

การด่าทหารที่มาปกครองดูแลประเทศ ก็เท่ากับด่าตัวเองด้วย เพราะพรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่หรือที่ถูกมองว่าเป็นเนื้อเดียวกับกลุ่ม กปปส. ที่ถูกฝ่ายตรงข้ามกล่าวหาว่าออกมาชุมนุมเพื่อล่อให้ทหารออกมารัฐประหารรัฐบาลยิ่งลักษณ์

คนประชาธิปัตย์ รวมทั้งนายเทพไทด้วยไม่ใช่หรือ ที่เคยไปขึ้นเวทีของกลุ่ม กปปส. รวมทั้งจัดรายการทีวีสนับสนุนทางช่องบลูสกายในขณะนั้น

แม้ภายหลังคนจากประชาธิปัตย์บางคนจะอ้างว่าการออกมาชุมนุมไม่ได้ต้องการเชิญชวนทหารให้ออกมารัฐประหาร แต่ก็อย่าลืมว่าหากไม่รัฐประหาร พวกนักการเมืองทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายม็อบจะแก้ปัญหาให้กับบ้านเมืองอย่างไรในตอนนั้นซึ่งวิกฤตจนเกือบเป็นรัฐล้มเหลวไปแล้ว เพราะไม่มีใครยอมใคร

การที่คนประชาธิปัตย์ อย่างนายเทพไทออกมาพูดกันตัวเองออกจากทหาร ในทำนองเกลียดตัวกินไข่ จึงไม่สง่างาม และเชื่อว่ามีคนไม่ปลื้มอีกเยอะ

ดูยากว่าอนาคตประชาธิปัตย์จะเป็นอย่างไร