แก้แบบโหล-โหล | สถานีคิดเลขที่ 12 โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

โล่งอก ไปอีกเปาะหนึ่ง สำหรับ คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.)

เมื่อศาลปกครองยกฟ้อง ในคดีที่ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม. สกลนคร และสุโขทัย ยื่นฟ้อง กกต. ประกาศแบ่งเขตเลือกตั้ง กทม.-สุโขทัย-สกลนคร ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นตามรัฐธรรมนูญ

ทำให้การเลือกตั้งเดินหน้าต่อไป

ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องดี ทั้งต่อประชาชน และกกต.

เพราะหากศาลปกครองชี้ว่า การแบ่งเขตมีปัญหา ก็ยังไม่รู้ว่าจะส่งผลสะเทือนอย่างไร และกกต.จะแก้ไขแบบไหนซึ่งคงไม่ง่าย

และแถมอาจเกิด”จิตนาการ”ถึงขบวนการ ที่ไม่อยากให้การเลือกตั้งเกิดขึ้น ฟุ่นซ่านขึ้นมาอีก

คำพิพากษาศาลปกครอง ให้ยกฟ้อง จึงดูเป็นทางออกที่ดีที่สุด

แต่ก็ใช่ว่า หลังจากนี้ กกต.จะลอยตัว สบายๆ

ด้วยยังมีสิ่งที่ต้องทำและมีปัญหาต้องให้แก้อีกมากมาย

ขณะที่ แนวร่วมกกต. มีน้อยเต็มที

เพราะ กกต.ทั้ง 6 คน ดูจะเหนียวแน่นกับแนวทาง ทำงานโดยไม่เน้นการสื่อสารกับชาวบ้าน ไม่เปิดกว้างรับฟังหรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเท่าที่ควร

ทำให้โดดเดี่ยว เดียวดาย ไร้ซึ่งผนังทองแดงกำแพงเหล็กค้ำยันให้

รอวันให้ปัญหาปะทุออกมา แบบฝีแตก ซึ่งก็น่าห่วงจริงๆ

อย่างตอนนี้ หลายคนอาจลืมๆ หรือไม่ตื่นตัว รับรู้ว่า กกต.กำลังเปิดลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตและนอกราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2566 จนจะหมดเขตในวันที่ 9 เมษายน 2566

ซึ่ง เรื่องนี้ ถือว่ามีความสำคัญ เพราะจะเกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิ กกต.ควรจะประชาสัมพันธ์เรื่องนี้หนักๆ เพื่อที่จะให้ชาวบ้านตื่นตัว

และช่วยกันจับตา สิ่งปกติที่เกิดขึ้น

อย่าง ข่าวการซื้อบัตรประชาชนไปลงทะเบียนล่วงหน้า หรือ มีการกล่าวหาทหารบางหน่วยสั่งกำลังพลให้ไปลงทะเบียนเลือกตั้งอย่างน่าผิดสังเกตุ ชวนให้มีคำถามและข้อสงสัย

แต่เมื่อเรื่องการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า ถูกทำให้เป็นเรื่องรูทีน หรือเป็นเรื่องต้องทำอยู่แล้ว

ความตื่นตัว หรือการจะช่วยกันจับตามองก็พลอยแผ่วไปด้วย

นี่ขนาดกับแบบไปเรื่อยๆ ตัวเลขถึงวันที่ 4 เมษายน มีคนลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าไปแล้ว 736,006 ราย ถึงวันที่ 9 เมษายน น่าจะทะลุล้านราย

หากตีปี๊บดังๆความตื่นตัวน่าจะมากกว่านี้

แต่ล้านราย ก็ถือว่าไม่น้อย จำเป็นที่ กกต.จะต้องออกแบบและวางแผน การใช้สิทธิ วันเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต คือ วันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม 2566 ให้ดี

โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกให้กับชาวบ้าน การป้องกันการทุจริต จะต้องทำให้ดีที่สุด เพราะหากใช้สิทธิไม่ได้ หรือมีเหตุขัดข้องเกิดขึ้น ก็ไม่อาจจะไปเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม ได้อีก

กกต.ควรจะต้องรีบสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ และรับฟังข้อเสนอดีๆที่อาจนำปฏิบัติได้ อย่างเปิดกว้าง

ทั้งที่เสียงบ่น อย่างปัญหาการเลือกตั้งล่วงหน้านอกราชอาณาจักร ที่กกต.จะต้องร่วมมือกับกระทรวงการต่างประเทศ ก็ดังขึ้นเรื่อยๆ

แต่ก็อีกตามเคย ทุกอย่างเงียบกริบ

เช่นเดียวกับปัญหาบัตรเลือกตั้ง ที่หลังจากเปิดรับสมัครส.ส.เขตและปาร์ตี้ลิสต์ แล้วปัญหาเรื่องความสับสน ของหมายเลขรับสมัครที่แต่ละพรรคได้รับ ส่อเค้าทะมึนถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้น

ด้วยเบอร์ที่แต่ละพรรคได้รับ ส่วนใหญ่จำยากถึงจำยากมาก

ขณะที่ประชาชนก็มีแนวโน้มจะสับสนสูงมาก ที่จะกาผิดหรือทำบัตรเสีย

แต่ก็นั่นแหละ ปัญหาบัตรโหล นั้น

ดูเหมือนกกต.จะรู้สึกแบบโหลๆ ยืนยันแค่ทำตามกฏหมาย

ไม่พยายามหาทางบรรเทาปัญหาอย่างทุ่มเท

ปล่อยพรรคการเมืองและชาวบ้าน ออกสมรภูมิ”สงครามเบอร์”แบบมึนๆงงๆไปตามประสา