ฉัตรสุมาลย์ : ฉลอง 2600 ปี พระแม่น้านางฯ

เฉลยก่อนว่า นับ 2600 ปีอย่างไร เมื่อปีที่ภิกษุณีเกิดนั้น พระพุทธเจ้าทรงพระชนมายุ ปีที่ 40 ค่ะ เอา 40 บวกเข้าไปกับปีปัจจุบัน 2560 ก็จะเป็น 2600 ค่ะ

มูลนิธิสุธาสินี น้อยอินทร์ฯ ร่วมกับมูลนิธิพุทธสาวิกา จัดงานฉลองพระแม่น้านางมหาปชาบดีโคตมีเถรีที่ทีเคปาร์ค ชั้น 8 เซ็นทรัลเวิลด์

ลงทุนไปจัดที่กลางเมืองเพื่อความสะดวกแก่ผู้ที่จะมาร่วมงาน (ท่านธัมมนันทาเพิ่งเคยมาเป็นครั้งแรก ฮิฮิ)

งานจริงๆ วันที่ 15 เลือกเป็นวันเสาร์เพื่อท่านที่สนใจจะได้มาร่วมด้วย แต่คณะที่จัดงานเตรียมงานกันตั้งแต่วันที่ 14

ภิกษุณีสุทธาสินี (เราเรียกท่านว่าท่านติ๋ว) ยกทีมมาจากบ้านโฮมฮักที่ยโสธร ใช้พาหนะรถ 6 ล้อ ขนสมาชิกจากบ้านโฮมฮักมา 25 ชีวิต พร้อมโรงละครหุ่นที่จะนำมาแสดงในงานมาแวะรับสัมภาระที่วัตรทรงธรรมกัลยาณี ขนต้นไม้ไปหลายกระถางพร้อมรูปปั้น พระแม่น้านางมหาปชาบดีด้วย

ทีมภิกษุณีเข้าไปจัดงานกันตั้งแต่วันที่ 14 กลับถึงวัตรเกือบสามทุ่ม

 

วันงานจริง วันที่ 15 จุดที่จัดงานนั้นเป็นพื้นที่โล่งต่างระดับ อยู่ด้านหน้าของห้องสมุดทีเคปาร์คนั่นเอง

ก่อนที่งานจะเริ่ม เราสามารถเดินชมบริเวณจัดงานได้ ที่มีคนไปถ่ายรูปกันมากหน่อยจะเป็นชุดพระอรหันต์เถรี 13 องค์ที่เป็นฝีมือปั้นของท่านธัมมนันทาเอง ท่านว่าจะยกชุดให้ถ้าใครถวาย 1 แสน ตอนนี้ท่านกำลังสร้างอาคารให้เป็นศูนย์การเรียนรู้การจัดการขยะ เพื่อทำให้วัดเป็นพื้นที่ที่จะช่วยสร้างองค์ความรู้ให้ผู้เข้าชมกลับไปจัดการกับขยะที่บ้านของตัวเองได้

ท่านธัมมนันทาท่านเป็นนักเขียน เป็นอาจารย์ ก็เลยมีหนังสือมาวางขายหน้างานด้วย หลากหลายหัวข้อตามความสนใจของท่าน

มีอาสาสมัครที่เข้ามาช่วยงาน ก็มีงานฝีมือมาวางขาย ทางบ้านโฮมฮักเองก็มีกระเป๋าผ้ามัดย้อมฝีมือน้องๆ บ้านโฮมฮัก มีผ้าขาวม้าพื้นบ้านที่พวกเราไปช่วยสนับสนุนกันหลายคนอยู่

มีเด็กๆ ที่คุณพ่อคุณแม่พามานั่งรายล้อมระบายสีตุ๊กตาที่ทางบ้านโฮมฮักจัดมาบริการ

 

เปิดงานด้วยการนิมนต์พระภิกษุณีจุดเทียนที่อยู่เบื้องหน้ารูปปั้นของพระแม่น้านางฯ ตามด้วยละครหุ่นจากบ้านโฮมฮัก สนุกมากค่ะ แม่ๆ จากบ้านโฮมฮักชักหุ่นกันเอง

เปิดฉากด้วยมารที่ทูลอัญเชิญพระพุทธเจ้าให้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน แต่พระพุทธองค์ไม่ทรงรับ ขอให้พระองค์ประดิษฐานพุทธบริษัทสี่ให้สำเร็จเสียก่อน จนในท้ายที่สุดพระภิกษุณีอุบัติขึ้น เป็นการเล่าเรื่องการเกิดขึ้นของภิกษุณีได้อย่างสมบูรณ์

ละครหุ่นจากบ้านโฮมฮักรับไปแสดงตามงานต่างๆ ด้วยค่ะ ติดต่อได้ ใช้เวลาครึ่งชั่วโมงเราก็รู้เรื่องการประดิษฐานภิกษุณีสงฆ์

เด็กๆ ที่มานั่งระบายสีตุ๊กตา หยุดนั่งอ้าปากหวอดูหุ่นไปชั่วคราว พอดีสีที่ระบายไว้แห้ง

ก่อนที่จะเริ่มงานเสวนาเรื่องพระแม่น้านางฯ กับขันติธรรม

 

มีการเปิดตัวหนังสือ เรื่องราวอันเนื่องพระแม่น้านางมหาปชาบดีโคตรมีเถรี ที่ ดร.กาญจนารวบรวม เพื่อฉลองวาระที่ครบ 2600 ปีพระแม่น้านางฯ หนังสือนี้มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ที่สนใจเรื่องราวของภิกษุณี และเป็นคู่มือที่ดีของภิกษุณีสงฆ์ในปัจจุบันด้วย

ภิกษุณีไทยตอนนี้ก็รวมตัวกันอย่างหลวมๆ มีไลน์ที่ติดต่อกัน และได้นับจำนวนเก็บสถิติ ทั้งสามเณรี สิกขมานาและภิกษุณีแล้ว มีมากถึง 270 รูป กระจายกันอยู่ใน 30 จังหวัด

ท่านผู้อ่านที่ติดตามคอลัมน์นี้ โทร.เข้ามาติดต่อขอรับได้ค่ะ (0-3425-8270)

ในเวทีการเสวนา อาจารย์สมฤทธิ์ ลือชัย เจ้าเก่า มาเป็นพิธีกรผู้ดำเนินรายการให้ และเป็นผู้ดำเนินเรื่องด้วย เรียกว่าท่านกำกับทั้งเวทีและเรื่องราวที่เราคุยกัน ผู้ที่ร่วมเวทีนอกจากท่านธัมมนันทา ก็มีท่านติ๋ว ภิกษุณี ดร.สุทธาสินี จากบ้านโฮมฮัก อาจารย์สันติสุข สมบัติศิริ

ประเด็นการพูดคุยอยู่ที่การปฏิบัติขันติธรรม ตั้งแต่ในสมัยของพระแม่น้านางฯ มาจนถึงในปัจจุบัน มีการพูดคุยกันถึงเรื่องภิกษุณีว่าเป็นวัฒนธรรมพุทธแต่ดั้งเดิม แต่เป็นของแปลกใหม่สำหรับสังคมไทย ผู้หญิงไทยที่ออกบวชในสมัยนี้ จึงยังถูกตั้งคำถามจากสังคมที่ไม่มีความมักคุ้นกับภิกษุณีอยู่มาก การตั้งมั่นอยู่ในขันติธรรมจึงเป็นเรื่องสำคัญ ขณะเดียวกัน ภิกษุณีต้องมั่นคงตามพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ก็จะสามารถฝ่าคลื่นฝ่าลมไปได้ แบบเดียวกับคนที่เล่นกระดานโต้คลื่น ถ้าไม่ชัดเจนในพระธรรมวินัยก็จะถูกคลื่นซัดหัวคะมำได้ง่ายๆ

ภิกษุณีไม่ได้ออกบวชโดยคาดหวังหรือกะเกณฑ์ให้ใครต้องยอมรับอย่างใดหรือไม่ แต่ต้องรู้ตนว่ากำลังทำหน้าที่ในพุทธบริษัทที่พระพุทธเจ้าประทานไว้ให้ในการที่จะรักษาพระธรรมวินัยให้ยั่งยืนสืบไป ถ้าภิกษุณีที่ออกบวชในสมัยแรกมีความชัดเจนเช่นนี้ ก็จะเป็นนักโต้คลื่นที่ชำนาญ และอดทนได้ทั้งลมและคลื่น

มีผู้ฟังที่นั่งฟังตั้งแต่ต้น มีผู้คนที่เดินผ่านเข้ามาแวะชมเป็นช่วงๆ ที่ลงทะเบียนหน้างานก็มีถึง 85 คน

 

ตอนท้ายของรายการนี้สนุกมากค่ะ ผู้เขียนก็ไม่เคยรู้ว่า เกมการละเล่นที่มาในงานของพระจะสนุกสนานเร้าใจได้ขนาดนั้น

เป็นเกมใบ้คำค่ะ อาจารย์สมฤทธิ์ถือป้ายคำ อาจารย์ ดร.กาญจนาเป็นคนใบ้คำ ผู้เข้าร่วม นั่งอยู่ฝ่ายตรงข้าม จะต้องตอบคำที่ใบ้ทั้งหมด 10 คำให้ได้ใน 2 นาที

คำที่นำมาใบ้นั้น คนที่ใบ้จะอธิบายอื่นๆ ได้หมดโดยไม่พูดคำนั้นออกมา คำว่า “สมอ” บังเอิญเป็นจังหวะที่อาสาสมัครถวายมะขามป้อมให้แก่พระที่มาฟังรายการ ผู้ที่ทำหน้าที่ใบ้ ก็ชี้มาที่พระ ว่า พระกำลังฉันอะไร ผู้แข่งขันตอบว่า “มะขามป้อม” ก็ใบ้ต่อว่า พระฉันผลไม้ได้ 2 อย่าง นอกจากมะขามป้อมแล้วอะไรอีก ตกลงได้คำตอบ “สมอ”

ยกตัวอย่างให้ท่านผู้อ่านได้สนุกตาม คนดูลุ้นกันมากเลยค่ะ

ของขวัญที่นำมาร่วมในรายการ ล้วนเป็นของใช้ของเซเลบที่ไปขอมา มีผ้าพันคอของ คุณทิชา ณ นคร ท่านใช้ผ้าพันคอประจำ อาจารย์สมฤทธิ์ ให้ลูกปะคำ หลวงพี่ไพศาล วิสาโล ให้พระพุทธรูปไม้แกะสลัก คุณอังคณา ให้กระเป๋าใส่ปากกาดินสอ ของท่านธัมมนันทา เป็นถ้วยกาแฟจากออสเตรเลีย ฯลฯ

ท่านรสนา อยากได้ของที่ระลึกของหลวงพี่ไพศาล ต้องลงมาแข่งขันด้วย ตอนนี้สนุกมาก ตอนที่นั่งดูคนอื่นก็ตอบถูกหมด พอมานั่งเก้าอี้ผู้ตอบเข้าจริง ตื่นเต้น ตอบผิดตอบถูกให้ได้ลุ้น จนถูกอาจารย์สมฤทธิ์แซวเอาว่า ตอนนั่งดูคนอื่นตอบได้หมด พวกเราก็ลุ้นตาม ในที่สุดท่านตอบถูกหมดภายในเวลาสองนาที ได้พระพุทธรูปไม้แกะสลักของท่านอาจารย์ไพศาลไปค่ะ

เงื่อนไขเวลาเป็นตัวกำหนดที่ทำให้ตื่นเต้นจริงๆ

ทั้งคนดูคนเล่น และคนทาย มันมาก สนุกกันทุกคน ได้หัวเราะแบบนี้ชีวิตยืนยาวไปอีกหน่อย

 

รายหนึ่งถามว่า ภิกษุณีเถรวาทรูปแรกของไทย ให้บอกชื่อ เธอตอบว่าพระแม่น้านางฯ คนดูก็เฮกันลั่น พิธีกรเองก็ใบ้ชี้มาทางท่านธัมมนันทาที่นั่งอยู่ คนตอบก็ขำตัวเองหัวเราะจนตัวงอ

เมื่อจบรายการ คุณโสภาเข้ามาบอกท่านธัมมนันทาว่า “เอาอีกๆ”

เป็นความสนุกสนานในบรรยากาศของวัดนะคะ

คำที่นำมาใบ้เป็นเรื่องราวของภิกษุณี เรื่องราวในพุทธประวัติทั้งหมด ถ้าคุณสันติสุขลงเล่นท่านก็จะตอบได้หมดทันที แต่ก็จะไม่สนุก ให้ท่านรสนาลงมาเล่น เราได้ลุ้นมากกว่า เจ้าภาพขอบคุณทุกท่านค่ะ บางครั้งการละเล่นในกรอบวัฒนธรรมของพระก็สามารถสนุกสนานได้เหมือนกัน

คราวหน้าเชิญมาสนุกด้วยกันนะคะ