ในประเทศ : จับตาทิศทางการเมือง ปลดล็อก-กฎหมายลูก จาก พ.ย.60 ถึง พ.ย.61

ผ่านพ้นพระราชพิธีสำคัญเดือนตุลาคม 2560

การเมืองมีหลากหลายประเด็นให้ต้องเฝ้าติดตามว่าจะเดินหน้าต่อไปในทิศทางใด

เริ่มจากเสียงเรียกร้องให้มีการ “ปลดล็อก” ยกเลิกคำสั่ง คสช. 57/2557 ที่ห้ามพรรคการเมืองประชุมและเคลื่อนไหวทำกิจกรรมทางการเมืองมานานกว่า 3 ปี

ภายหลังพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ให้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา

เสียงเรียกร้องให้ “ปลดล็อก” ดังกล่าวมีมาตั้งแต่วันแรกๆ ที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ แต่แกนนำ คสช. ยืนกรานให้รอจนกว่างานพระราชพิธีสำคัญเสร็จสิ้น แล้วจะพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งพรรคการเมืองก็ยอมรับที่จะทำตาม

ทั้งนี้ หากถือเอาคำมั่นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณtรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามที่ให้ไว้ล่าสุด ก็คือการเลือกตั้งจะมีขึ้น.oเดือนพฤศจิกายน 2561 หรืออีก 1 ปีนับจากนี้

สำหรับพรรคการเมือง หากในสถานการณ์ปกติ ห้วงระยะ 1 ปี อาจถือว่าเป็นเวลาไม่น้อยสำหรับการเตรียมความพร้อมก่อนลงสนามทำศึกเลือกตั้งครั้งใหม่

แต่ครั้งนี้สถานการณ์ต่างออกไป

เพราะเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 และ พ.ร.ป. หรือกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งฉบับใหม่ ซึ่งมีการกำหนดรูปแบบพรรคการเมืองและกติกาเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น อาทิ การใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวเลือก ส.ส.ทั้งแบบเขตและบัญชีรายชื่อ การคิดคะแนน การกำหนดให้ผู้สมัคร ส.ส. ต้องผ่านการเลือกตั้งขั้นต้น หรือ “ไพรมารี่โหวต”

ในส่วนพรรคการเมืองจะมีเรื่องของเงินทุนประเดิมพรรค การจัดหาสมาชิกพรรค จัดตั้งสาขาพรรค การเตรียมผู้สมัคร การจัดทีมผู้บริหารพรรคชุดใหม่ ฯลฯ เป็นต้น

เหล่านี้ล้วนต้องใช้เวลาดำเนินการทั้งสิ้น

สำหรับพรรคการเมืองยังมีเวลาที่จะปฏิบัติตามขั้นตอนต่างๆ ให้ได้ครบถ้วน หาก คสช. ยอมปลดล็อกให้ดำเนินการทันทีภายในต้นเดือนพฤศจิกายนนี้

แต่หากล่าช้าออกไป เวลาจะยิ่งน้อยลง ปัญหาของพรรคการเมืองก็จะเพิ่มมากขึ้น

 

ประเด็นต้องเฝ้าจับตาต่อมา

คือกระบวนการพิจารณากฎหมายลูกในหมวดเลือกตั้ง ที่ยังเหลืออีก 2 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. กับ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.

ต่อจาก พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2 ฉบับในหมวดเดียวกันซึ่งมีผลบังคับใช้ไปแล้วก่อนหน้านี้

ในทางการเมืองกล่าวกันว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นจริงในเดือนพฤศจิกายน 2561 ตาม “ปฏิญญา ทำเนียบรัฐบาล” ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศไว้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับกระบวนการพิจารณากฎหมายลูกอีก 2 ฉบับดังกล่าว

หากจะให้การเลือกตั้งเป็นจริงตามนั้น หมายความว่ากฎหมายลูกทุกฉบับต้องเสร็จสิ้นสมบูรณ์มีผลบังคับใช้ได้ไม่เกินเดือนมิถุoายน 2561 จากนั้นนับต่อไปอีก 150 วัน ก็จะไปตกเดือนพฤศจิกายนพอดี

แต่จะเป็นตามนั้นหรือไม่ ยังน่าสงสัย

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ในฐานะ “พี่ใหญ่ คสช.” ระบุถึงการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561 ว่าทุกอย่างให้ยึดถือโรดแม็ปตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศไว้เป็นหลัก

เว้นเสียแต่จะมี “อุปสรรค” บางอย่างเกิดขึ้น

ก็ต้อง “ยืด” ไปตามห้วงเวลา

เป็นอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นได้ทั้งกับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งอยู่ระหว่างการยกร่างของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เตรียมส่งต่อเข้าที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาวาระแรกวันที่ 21 และ 28 พฤศจิกายนนี้ ตามลำดับ

เป็นอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นทั้งจากการตั้งกรรมาธิการร่วม การส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความ ไปจนถึงขั้น “โหวตคว่ำ” ร่างกฎหมายลูกฉบับใดฉบับหนึ่ง

เหมือนที่ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ชุดปัจจุบันประเมินว่า หากมีการ “คว่ำ” ร่างกฎหมายลูกแค่ 1 ฉบับ

โรดแม็ปเลือกตั้งก็ต้อง “ขยับ” ออกไปจากเดือนพฤศจิกายน 2561

 

นอกเหนือจากนั้น ปัจจัยที่อาจเป็น “อุปสรรค” จนทำให้กระทบต่อโรดแม็ปเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561 ยังมีโอกาสเกิดขึ้นกับร่างกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับในสัดส่วนพอๆ กัน

ในส่วนของ กรธ. นั้น จากการให้สัมภาษณ์ของ นายอมร วาณิชวิวัฒน์ ดูเหมือนมีความเป็นห่วงร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. มากกว่าร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.

โดยเฉพาะเรื่องที่เกิดข้อถกเถียงกันมากก็คือการเลือกกลุ่มของ ส.ว. หรือกระบวนการได้มาซึ่ง ส.ว. ส่วนจะมีปัญหาจนทำให้โรดแม็ปเลือกตั้งต้องยืดเวลาออกไปหรือไม่

เป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือการควบคุม ซึ่งมีปัจจัยอื่นหลายเรื่องด้วยกัน เช่น การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ผ่านหรือไม่ผ่าน การพิจารณาของ สนช. ก็บอกไม่ได้ว่าผลจะเป็นอย่างไร

“ต้องบอกแบบไม่ฟันธงว่าขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ถ้ากฎหมายลูกผ่านก็เดินไปตามโรดแม็ป ถ้าไม่ผ่านก็กลับไปร่างใหม่โดย กรธ. คิดว่าไม่น่ายื้อเวลาไปนานมาก เป็นไปตามครรลองที่ควรจะเป็น เพราะการแก้ คงไม่น่าจะยกร่างใหม่ แก้แค่ในส่วนที่ถูกท้วงติงหรือไม่เห็นด้วยเท่านั้น” นายอมรระบุ

ขณะที่ในฝั่งสมาชิก สนช. นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ กลับมองว่า ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ไม่น่ามีปัญหาเรื่องกระบวนการการคัดเลือก

แต่กลับเป็นห่วงร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มากกว่า เพราะคาดว่าจะถูกนักการเมืองจับตาและรุมท้วงติงอย่างหนัก ถ้ารับกันไม่ได้ เกรงว่าจะยุ่ง

อย่างไรก็ตาม สนช. ยืนยันจะ “ไม่คว่ำ” ร่างกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวเพื่อยื้อการเลือกตั้งออกไปแน่นอน โดยสิ่งที่ห่วงน่าจะเป็น “ตัวแปร” ในการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความมากกว่า

โดยเฉพาะร่างกฎหมายการเลือกตั้ง ส.ส. หากมีการยื่นตีความจริงและศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีเนื้อหาส่วนใดขัดต่อรัฐธรรมนูญ กรธ. ก็ต้องกลับไปแก้ไขในส่วนที่เป็นปัญหา

ไม่ถึงขั้นต้องแก้ไขทั้งฉบับ แต่ถ้าหากไปถึงจุดนั้น ก็อาจทำให้ไม่สามารถเลือกตั้งได้ทันเดือนพฤศจิกายน 2561 ตามที่นายกรัฐมนตรีระบุ การเลือกตั้งอาจเลื่อนไปบ้างเล็กน้อย 1-2 เดือน

อย่างช้าน่าจะเลือกตั้งได้ไม่เกินกุมภาพันธ์ 2562

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) ที่กำลังเป็นข้อโต้แย้งกันระหว่าง กรธ. และ ป.ป.ช. รวมถึงกระบวนการสรรหา 7 กกต.ชุดใหม่ ซึ่งจะมาทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งภายใต้กติกาที่ทั้งยุ่งยากและสลับซับซ้อน

ทั้งหมดเป็นประเด็นทิศทางการเมืองต้องจับตา นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2560

ไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2561 เป็นอย่างน้อย