รายงานพิเศษ : ทำไม “เศรษฐกิจแบ่งปัน” ถึงเป็นแนวโน้มใหม่ของธุรกิจทั่วโลก

อิสราชัย จงภัทรนิชพันธ์ / รายงาน

กลายเป็นศัพท์ที่ค่อยๆ เป็นที่รู้จักมากขึ้นกับคำว่า “เศรษฐกิจแบ่งปัน” (Sharing Economy) จากการพัฒนาของอินเตอร์เน็ตสู่การพาโลกไปสู่ยุคดิจิตอลและเกิดพื้นที่ทางเศรษฐกิจบนโลกออนไลน์

พร้อมกับการเกิดขึ้นของธุรกิจรูปแบบใหม่มากมายที่ส่งผลต่อชีวิตประจำวันของเรา ไม่ว่าจะเป็น “แอร์บีเอ็นบี” “อูเบอร์” “แกร็บ” “อเมซอน” “เน็ตฟลิกซ์” “สตรีม”

หรือถ้าไม่คุ้นชื่อพวกนั้น หลายคนอาจจะคุ้นกับชื่อ “เฟซบุ๊ก” “ไลน์” “ยูทูบ” “วงใน” ก็ได้

แต่ระบบเศรษฐกิจกระแสใหม่นี้มีความสำคัญยังไง และทำไมเราต้องให้ความสนใจและตามทันกับกระแสนี้

พื้นที่แห่งการแบ่งปัน
สู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจมูลค่าสูง

นายโมฮิด เมโรทรา ผู้อำนวยการบริหารของดีลอยต์ บริษัทที่ปรึกษาและตรวจสอบบัญชีชั้นนำระดับโลกของอังกฤษ กล่าวในงานสัมมนาในนิทรรศการ Digital Thailand Big Bang 2017 ว่า เศรษฐกิจแบ่งปันได้กลายเป็นโฉมหน้าใหม่ที่เกิดขึ้นบนโลก

แต่ว่าเศรษฐกิจแบ่งปันมันคืออะไร?

ระบบนี้สะท้อนอะไรต่อเทรนด์ของโลก?

และอะไรคือแนวคิดที่กำหนดทิศทางที่ทำให้เกิดเศรษฐกิจแบ่งปัน?

คุณโมฮิดอธิบายว่า เศรษฐกิจแบ่งปันคือการเปลี่ยนรูป จากสิ่งที่เราเดินทาง ใช้ชีวิต ทำงานและกินใช้ เราต้องพยายามเข้าใจให้ง่ายว่า เศรษฐกิจแบ่งปันได้นิยามว่าเป็น 1) ระบบของสังคมและเศรษฐกิจ ที่เปลี่ยนแปลงจาก 2) พลังของการเกิดระบบดิจิตอล 3) มันเป็นเศรษฐกิจที่ไม่ใช่แค่การแบ่งปันกันระหว่างบุคคลต่อบุคคล แต่ธุรกิจและรัฐบาลก็ร่วมด้วย ซึ่งช่วยให้ได้รับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและส่งเสริมการเข้าถึงให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงสินทรัพย์เชิงกายภาพ สินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ โดยทั้งหมดเป็นการจัดสรรใหม่ที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ ทุกคนอาจมีคำถามในใจแล้วว่า ระบบเศรษฐกิจนี้มันมีขนาดใหญ่มากแค่ไหน?

 

คุณโมฮิดแสดงให้เห็นว่ามันมีแต่โตกับโต โดยคาดการณ์ว่า ตลาดทั่วโลกที่เป็นเศรษฐกิจแบ่งปันจะใหญ่ขึ้น 30% ในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งสรุปแล้วว่า ในปี 2025 มูลค่าทางเศรษฐกิจจากการแบ่งปันจะสูงถึง 3.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนในปี 2016 หรือปัจจุบันอยู่ที่ 2 แสน 7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

หลายคนคิดว่ามูลค่ามากขนาดนั้น อาจมาจากตลาดขนาดใหญ่อย่างสหรัฐ จีนหรือยุโรป แต่ที่จริงแล้วมาจากตลาดเกิดใหม่ ซึ่ง 1 ในนั้นคือ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งดูได้จาก 2 สิ่ง อย่างแรก ตลาดใหม่ที่ว่านี้มันใหญ่ยังไง และการจ้างงานซึ่งเป็นประเด็นใหญ่

ถ้าหากเรามองในรายละเอียดในตลาดเกิดใหม่ หากรัฐบาลทุ่มเทกับการตอบสนองโครงสร้างพื้นฐานต่อเศรษฐกิจแบ่งปันและสนับสนุน ไม่ใช่แค่ ข. ไป ค. แต่ยังไปถึง ข. ไป ข. ที่จะแบ่งปัน

นี่แหละคือศักยภาพที่จะขับเคลื่อนการเติบโตให้สูงขึ้นอีก 5 เท่าในอีก 4 ปีข้างหน้า

อย่างที่สอง เมื่อเราดูที่อัตราการจ้างงาน หากเราเดินตามระบบเศรษฐกิจแบ่งปันจะเพิ่มการจ้างงานถึง 1.6% แต่นั่นขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาล ที่กำหนดร่วมกันพัฒนาโครงสร้างนี้

นั่นจึงไม่ใช่แค่โลกที่มีเพียง บี ไป ซี แต่ยัง บี ไป บี อีกด้วย

อีกเหตุผลหนึ่งที่ต้องดูคือ ความกระตือรือร้นที่อยากแบ่งปัน หรือมีส่วนร่วม ซึ่งจากการสำรวจเห็นว่า ระดับโลกนั้นมี 68% ที่พร้อมแบ่งปันให้ใช้สินทรัพย์ ส่วน 66% พร้อมใช้สินทรัพย์ที่ถูกแบ่งปัน

แต่ของไทยนั้น จากสำรวจเห็นว่า มีถึง 80% ที่พร้อมแบ่งปันให้ใช้สินทรัพย์ และ 84% ที่พร้อมจะใช้สินทรัพย์ที่ถูกแบ่งปัน แสดงให้เห็นว่าความพร้อมของไทยสูงกว่าระดับโลกมาก ซึ่งชัดเจนในเรื่องความยินยอมที่จะบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการแบ่งปันและแบ่งปันสินทรัพย์

และไทยได้อันดับ 5 ของประเทศที่ยินดีจะแบ่งปันสินทรัพย์ นั่นหมายถึงความพร้อมในการพัฒนาที่จะรองรับเพื่อให้มั่นใจว่าการแบ่งปันจะขยายตัวได้เร็วขึ้น และนั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้

คุณโมฮิดยังกล่าวว่า เศรษฐกิจแบ่งปันยังสร้างคุณประโยชน์ต่อเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาล เช่น การเพิ่มความรู้เท่าทันด้านดิจิตอล ด้วยการเพิ่มทักษะให้กับคนขับถึง 3 หมื่นคนในอินเดีย

อย่างที่สอง คือรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการแบ่งปัน ในเนเธอร์แลนด์ ผู้แบ่งปันทำรายได้ต่อปีอยู่ที่ 2,500 ยูโร

หรือหากพูดถึงการมีงานทำ รัฐบาลวางโครงสร้างยังไง มีการสร้างงานมากแค่ไหน เช่นอังกฤษ มีชาวอังกฤษ 5 ล้านคนที่ทำงานในระบบเศรษฐกิจแบ่งปัน

และอย่างสุดท้าย คือการเกิดสังคมที่ดี อย่างจีนที่ใช้การโดยสารร่วมเดินทางทำให้สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 13.5 ล้านตันต่อวัน

หากดูที่ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างจีน สหรัฐและแคนาดา มันยังช่วยในเรื่องพัฒนาผลผลิตอีกด้วย เช่น จีนเพิ่มศักยภาพในภาคการขนส่งมากถึง 15% อย่างที่สอง หากดูในภาคสาธารณสุขมันช่วยประหยัดมากขนาดไหน เช่น ในสหรัฐ อุปกรณ์ทางการแพทย์จะกลายเป็นของที่ไม่ได้ถูกใช้ถึง 60% หากใช้ระบบแบ่งปันแบบเต็มประสิทธิภาพ

แต่แน่นอน มันจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ จะต้องมีนโยบายที่ชัดเจนและวิธีการจัดการเพื่อรับมือ ได้แก่ การรักษาความเป็นส่วนตัวของข้อมูลที่ถูกแบ่งปัน สอง ทำให้มั่นใจว่าสินทรัพย์ที่ถูกแบ่งปันนั้นวางใจได้ และที่สำคัญ สร้างความเชื่อมั่นในสิทธิและความปลอดภัยของผู้ทำงานอิสระในระบบเศรษฐกิจใหม่

หากคุณคิดว่าเศรษฐกิจแบ่งปันจะสร้างความเท่าเทียม มันยังมีความแตกต่างในวิธีคิดเชิงนโยบาย เพื่อทำให้นโยบายเกิดขึ้น หากคุณแก้ไขความสามารถในการผลิต มันย่อมดีต่อเศรษฐกิจ

และสิ่งสำคัญอีกอย่างคือ เราพยายามแก้ไขปัญหาไปเพื่ออะไร และเมื่อมองย้อนกลับไปสิ่งรอบตัวที่คุณเลือกที่จะนำไปสู่ประเด็นเศรษฐกิจแบ่งปันว่า มันจะมอบอะไรให้กับเรา

นอกจากนี้ นายโมฮิดกล่าวว่า สิ่งที่จะทำให้เศรษฐกิจแบ่งปันเติบโตไปได้นั้น 1) จะต้องขับเคลื่อนความเชื่อมั่นและผนวกรวมให้เป็นดิจิตอลทั้งในเมืองและชนบท 2) เปิดกว้างในการแบ่งปันและร่วมมือกันข้ามรูปแบบอุตสาหกรรม 3) กระตุ้นให้มีพื้นที่ดิจิตอลขึ้นในท้องถิ่นเพื่อให้สามารถเข้าถึงกันง่าย และ 4) ส่งเสริมการมีสังคมไร้เงินสด

ทั้งนี้ เมื่อเราวางทุกมุมมองลงไป จะเห็นว่ามีสิ่งที่เกิดขึ้นได้จริง 5 อย่าง ที่จะทำให้เกิดการแบ่งปันอย่างมหาศาลและเติบโตอย่างยั่งยืน

สิ่งแรกนั้นคือนโยบายและกฎระเบียบ ซึ่งต้องกำหนดทิศทางได้ว่าจะต้องการผลลัพธ์แบบไหนในระบบเศรษฐกิจแบ่งปัน

สอง การมีส่วนร่วมกับตลาดโดยตรง อะไรเป็นหลักเกณฑ์การจ้างงานและทรัพยากรในประเทศที่ใช้บริการจัดการ คำถามคือรัฐบาลอยู่ในบทบาทอะไร ที่จะขับเคลื่อนทำให้เกิดการมีส่วนร่วม ที่ทำให้เกิดการสร้างประโยชน์และเข้าถึงได้

สาม การสร้างความรู้เท่าทันและตระหนักรู้ ซึ่งโชคดีสำหรับประเทศไทย เพราะอยู่ในอันดับ 5 ของประเทศที่อยากแบ่งปัน แต่สิ่งที่ต้องรู้คือ ความรู้เท่าทันยังรวมถึงความเชื่อมั่นและความปลอดภัย ขับเคลื่อนอย่างระมัดระวัง ไม่ใช่เพื่อแค่ในกลุ่มประเทศ แต่ชุมชนทั้งหมดบนโลก

สี่ นวัตกรรมและระบบนิเวศ บ่อยครั้งเราคิดว่าการสร้างนวัตกรรมดิจิตอลมากดีพอแล้ว แต่ถ้าเราย้อนกลับไป อะไรคือกุญแจสำคัญสู่การสร้างนวัตกรรม อีกคำถามหนึ่งคือ ระบบนิเวศแบบไหนที่ก่อให้เกิดการขับเคลื่อน

และ สุดท้าย ที่สำคัญมาก โครงสร้างพื้นฐานดิจิตอล สิ่งที่เราต้องรู้คือ อย่างแรก เรามีการบูรณาการข้ามอุตสาหกรรมและการร่วมมือระหว่างรัฐบาลกับบริษัทขนาดใหญ่มากแค่ไหน และบทบาทอัตลักษณ์ดิจิตอล ใครควรเป็นผู้ขับเคลื่อน?

ทั้งหมดนี้ คุณโมฮิดได้ตั้งคำถามและประเด็นก็เพื่อไปขบคิดว่าเราจะวางทิศทางอย่างไรกับเศรษฐกิจแบ่งปัน ที่อยากจะให้เกิดขึ้นจริง ซึ่งข่าวดีคือ มีตลาด 9 แห่งตอบสนองและปรับตัวแล้ว แต่ข่าวร้ายคือ คุณจะเลือกอะไรที่สอดรับกับตลาดเหล่านั้น

อยู่ที่เราทุกคนกำหนดสิ่งเหล่านี้