อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : BRICS-บริกส์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

BRICS เป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่รวมตัวโดย Brazil, Russia, India, China and South Africa กลุ่มเศรษฐกิจนี้มีขนาดใหญ่ของเศรษฐกิจโลกคิดเป็น 23% ของระบบเศรษฐกิจโลก และ 43% ของประชากรโลก

กลุ่มบริกส์จะจัดประชุมสุดยอด (Summit) ครั้งที่ 9 ช่วงต้นเดือนกันยายนนี้ โดยผู้นำของประเทศเหล่านี้จะเดินทางไปประชุมที่เมืองชายฝั่งทะเลของสาธารณรัฐประชาชนจีน คือเมืองเซียะเหมิน (Xiamen)

ด้วยเหตุว่า เกิดความขัดแย้งชายแดนจีน-อินเดียบริเวณที่ราบสูงดอกลัม (Doklam) เมื่อประมาณ 3 เดือนก่อน คือประมาณมิถุนายนที่ผ่านมา

แต่ในที่สุดทั้งจีนและอินเดียตัดสินใจถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ความขัดแย้ง

ประธานาธิบดี นาเรนทรา โมดี (Narendra Modi) จึงตัดสินใจไปประชุมบริกส์ครั้งนี้ โดยคาดหวังกันว่าผู้นำทั้งสองฝ่ายจะได้มีโอกาสพบปะเจรจากันซึ่งหน้า และอาจเกิดข้อตกลงเพื่อป้องกันปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ในอนาคตได้

เนื่องจากบริกส์มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่มาก เป็นการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่มีอย่างน้อย 2 อภิมหาอำนาจที่อยู่ขนาบข้างไทย ฝั่งตะวันออกคือสาธารณรัฐประชาชนจีน และฝั่งตะวันตกคืออินเดีย

อีกทั้งเศรษฐกิจและบทบาทระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียนของรัสเซียกำลังมีความสำคัญมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

เราจึงควรศึกษาดูว่า มีประเด็นอะไรที่น่าสนใจสำหรับการประชุมสุดยอดของบริกส์คราวนี้

 

การเติบโตของเศรษฐกิจประเทศสมาชิก

ในช่วงเวลานี้ สมาชิกของบริกส์กำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างถ้วนหน้า บราซิลกำลังเจอปัญหาการถดถอยทางเศรษฐกิจและความแตกแยกทางการเมือง ที่ผสมผสานกับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น

แอฟริกาใต้เผชิญกับเศรษฐกิจถดถอยและการลาออกของนายกรัฐมนตรี

รัสเซียได้รับผลกระทบอย่างมากจากมาตรการแซงก์ชั่นของชาติตะวันตก โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกา และราคาน้ำมันของโลกลดลงเรื่อยๆ

ในขณะที่จีนกำลังบริหารเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและกำลังเตรียมการโยกย้ายครั้งใหญ่ของผู้นำระดับสูง

ความจริงแล้ว เป้าหมายหลักของการรวมกลุ่มของบริกส์มีมากกว่าการบรูณาการเศรษฐกิจของชาติสมาชิก แต่ทางกลุ่มต้องการก่อตั้งสถาบันต่างๆ ที่ทำหน้าที่ดูแลระบบการค้าและเศรษฐกิจโลกอีกด้วย

การประชุมสุดยอดของบริกส์ครั้งนี้ อาจเป็นกรณีตัวอย่างให้เห็นข้อตกลงด้านความร่วมมือทางการเงินและโครงการการลงทุนทางเศรษฐกิจต่างๆ อาจรวมถึงข้อเสนอต่างๆ เพื่อคานกับอิทธิพลของสถาบันระหว่างประเทศที่ครอบงำโดยตะวันตก เช่น ธนาคารโลก (World Bank-WB)

มีการวิเคราะห์กันว่า จีนและบริกส์อาจได้โอกาสในการแสวงหาบทบาทที่มากขึ้นในฐานะผู้นำโลก

กลุ่มบริกส์อาจเข้ามาเติมเต็มช่องว่างที่เกิดจากประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกาที่กำลังผลักดันนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐแบบโดดเดี่ยว (Isolationism) การเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้นของผู้นำชาติบริกส์ อาจผลักดันให้จีนมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพราะจีนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าชาติสมาชิกอื่นๆ เช่น รัสเซียและแอฟริกาใต้

รูปธรรมของการเคลื่อนไหวที่สำคัญขณะนี้คือ กลุ่มชาติบริกส์จะผลักดันโครงการและเป้าหมายให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainability) อย่างไร

บริกส์ได้ใช้ธนาคารที่ตั้งขึ้นใหม่อนุมัติเงินมูลค่า 1.4 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อปล่อยกู้โครงการพัฒนาแก่จีน อินเดียและรัสเซียก่อนการประชุมสุดยอดที่จะเกิดขึ้นแล้ว

และยังคาดว่าธนาคารของกลุ่มบริกส์จะอนุมัติเงินกู้อีก 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) และโครงการพัฒนาอื่นๆ อีก

 

บริกส์กับไทย

ยังมีผู้นำอีก 5 ประเทศนอกเหนือจากสมาชิกของบริกส์เดิมเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ด้วยได้แก่ ทาจิกิสถาน (Tajikistan) อียิปต์ เม็กซิโก กินี (Guinea) และไทยเข้าร่วมประชุมด้วย

โดยก่อนหน้านี้ประมาณ 5 เดือน ทางการจีนได้เสนอ BRICS Plus เพื่อขยายสมาชิกของกลุ่มเพิ่ม

รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน หวัง ยี่ (Wang Yi) กล่าวว่า จีนต้องการเจรจากว้างขึ้น รวมทั้งเจรจากับกลุ่ม non BRICS เพื่อเป้าหมายร่วมกันในตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา

นั่นหมายความว่า บริกส์มีความสำคัญ ความเป็นตัวแทนของกลุ่มบริกส์ที่ทางการไทยให้ความสำคัญและคิดมานานแล้ว โดยเป้าหมายของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้ตกจากกระแสของบริกส์เลย การเดินทางเข้าร่วมประชุมบริกส์ครั้งนี้จากข่าวของสื่อมวลชนคือ นายกรัฐมนตรีของไทยจะลงนามเซ็นสัญญารถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เอาฤกษ์เอาชัยหลังจากมีการประชุมกันมาอย่างยาวนานมากกว่า 20 ครั้งแล้ว

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีไทยได้อนุมัติการก่อสร้างโครงการรถไฟสายกรุงเทพฯ-โคราช ไปเมื่อสัปดาห์สุดท้ายเดือนสิงหาคมนี่เอง

และคิดว่า นี่เป็นรูปธรรมหนึ่งที่เป็นทางการที่ทางรัฐบาลและเอกชนจีนรอคอยมานานมากแล้ว

หลังจากนั้นนายกรัฐมนตรีของไทยจะไปร่วมประชุมที่กัมพูชา

ไม่ทราบว่าการเดินทางไปประชุมบริกส์ที่เมืองเซียะเหมินหรือที่กัมพูชา อันไหนจะสำคัญกว่ากัน

แต่รัฐบาลของท่านประยุทธ์ก็ใช้นโยบายประชานิยมทุกรูปแบบอย่างที่รัฐบาลก่อนหน้านั้นใช้

ประชานิยมในประเทศไม่พอ ชาวโคราชนิยมไม่พอ โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-โคราช คือรูปธรรมที่ชี้ให้เห็น “จีนนิยม” ไปพร้อมกันด้วย บางทีเราเรียกว่ารถไฟไทย-จีน อาจจะผิด ควรเรียกว่ารถไฟจีน-ไทย เสียมากกว่า

รถไฟจีน-ไทยเริ่มวิ่งที่เมืองเซียะเหมิน