จัตวา กลิ่นสุนทร : คิดถึง ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช (12)

ถึงเวลาจะผ่านเลยมานานสักเพียงไหน ก็ยังจำภาพและเรื่องราวต่างๆ ได้ค่อนข้างแม่นยำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่บ้านเมืองประสบปัญหามีความขัดแย้งยิ่งคิดถึงอาจารย์คึกฤทธิ์มากขึ้น

เพราะระหว่างที่ท่านยังมีชีวิตอยู่มักจะมีหนทางแก้ปัญหา หรือหาทางออกในยามวิกฤตได้เสมอๆ ชนิดที่คิดกันไม่ถึงเลยทีเดียว

ไม่แปลกใจสงสัยอะไรกับคำว่า “เสาหลักประชาธิปไตย” ที่สังคมส่วนใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สื่อมวลชน” ลงมติมอบให้กับท่าน เมื่อหันไปศึกษาทบทวนบทบาททางการเมืองที่ผ่านมา นอกเหนือจากความรอบรู้ในทุกๆ ด้านจนสามารถเรียกได้ว่าเป็น “ปราชญ์” กระทั่งถึง “บุคคลสำคัญของโลก”

เชื่อว่าคงไม่มีนักการเมืองท่านไหน (อดีต) นายกรัฐมนตรีของประเทศนี้ท่านใด ที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็น “ศิลปินแห่งชาติ” อย่างอาจารย์คึกฤทธิ์

 

วงสนทนาต่างนั่งมองผ่านแปลงดอกไม้เมืองหนาวสีสวยหลากพันธุ์รวมทั้งดอกฝิ่นแปลงน้อยๆ อันงดงาม ดอกไม้จีนสีส้มสวยสดใส เลยไกลออกไปเป็นทิวสนสามใบต้นสูงตรง ท่ามกลางเทือกเขาสลับซับซ้อนเบื้องหลัง ถึงจะเป็นยามบ่ายแต่อากาศก็ยังเย็นชนิดต้องใส่เสื้อกันหนาว เนื่องจากบนยอดดอยมีอากาศหนาวเย็นเกือบตลอดทั้งปี

บนเทือกเขาเขตติดต่อระหว่างอำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง กับอำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน ที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า “ดอยขุนตาน” บนยอดเขายอดที่ 2 ซึ่งเรียกกันว่า ย.2 เป็นบ้านพักผ่อนของอาจารย์คึกฤทธิ์ ซึ่งท่านเคยไปทำงานเป็นผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์อยู่ที่จังหวัดลำปาง ได้ซื้อกรรมสิทธิ์ต่อมาจากฝรั่งที่กำลังจะกลับบ้านเนื่องจากเลิกสัมปทานป่าไม้ ซึ่งคงไม่จำเป็นย้อนไปบอกเรื่องเวลา เอาเป็นว่าตั้งแต่ท่านยังหนุ่มๆ อยู่

เมื่อมีเวลาว่างพอจะเดินทางขึ้นไปพักผ่อนบน “ดอยขุนตาน” ท่านจะชักชวนลูกศิษย์สนิทสนมติดตามไปด้วยเสมอ ระหว่างที่อยู่บนดอยก็จะได้สนทนา อันที่จริงได้รับฟังเรื่องราวต่างๆ มากมายจากท่านเท่าที่จะสามารถจดจำหยิบยกมาเล่าขานเสียมากกว่า ด้วยเหตุว่าตลอดทั้งวันแทบจะไม่ได้ออกไปที่ไหนกัน เพราะมันมีแต่ป่าเขา

หลังมื้อเช้าท่ามกลางอากาศหนาวเหน็บเราก็กลับเข้าห้องพัก ห้องใครห้องมัน อาจารย์คึกฤทธิ์มักจะใช้เวลาส่วนใหญ่ทั้งหมดอยู่กับการอ่านหนังสือ ไม่มีโทรทัศน์ หรือการสื่อสารใดๆ ได้อย่างเช่นปัจจุบัน นอกจากหนังสือพิมพ์ที่จะมากับรถไฟ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และต้องมีคนวิ่งลงไปยังสถานีปากถ้ำขุนตานเอาขึ้นมาทุกเช้า

หลังอาหารกลางวันก็พักผ่อนตามอัธยาศัยเช่นเคย ก่อนจะออกมาพบกันยังศาลาหน้าบ้านซึ่งใช้เป็นที่ตั้งโต๊ะรับประทานอาหาร่วมกันด้วย บริเวณรอบๆ ติดต่อกับสนามหญ้าจะมีเก้าอี้สำหรับนั่งพักผ่อน

และเราใช้บริเวณนี้แหละเป็นที่สนทนาพร้อมกับดื่มเบาๆ ด้วยเหล้าชนิดสำหรับเรียกน้ำย่อยก่อนถึงเวลาอาหารเย็น

 

บ่ายวันหนึ่งอาจารย์คึกฤทธิ์ใช้ให้ออกไปตัดดอกไม้สวยงามสีส้ม บอกว่าจะเอามาผัดกับหมูเป็นอาหารเย็น กลุ่มศิษย์โง่เง่าทั้งหลายต่างตีหน้าเซ่อทำท่างงๆ ทำนองว่าท่านจะหลอกอะไรพวกเราอีก ก่อนจะเฉลยว่านั่นมันคือแปลงดอกไม้จีนซึ่งพวกเราเคยเห็นแต่เป็นสีน้ำตาลคล้ำๆ เวลามันไปอยู่ในแกงจืดแล้วเท่านั้น

สำหรับการพักผ่อนบนดอยขุนตานนั้นถ้าไม่ติดขัดอะไรแบบที่ว่ายุ่งยากจริงๆ จะต้องได้เดินทางไปเกือบทุกปี จนกระทั่งจำไม่ได้ครั้งไหนไปกับใครบ้าง เดินทางขึ้นดอยกันตั้งแต่สมัยท่านอาจารย์ยังเดินขึ้นได้ จนกระทั่งต้องนั่งเสลี่ยงจ้างให้ลูกหาบช่วยกันหามขึ้นไป สุดท้ายก็มีการ “ขี่ล่อ” ขึ้นไป

ร่วมเดินทางไปกับอาจารย์คึกฤทธิ์แทบจะทุกครั้งตั้งแต่ยังอยู่ในวัยหนุ่มเพิ่งก้าวเดินออกมาจากมหาวิทยาลัยศิลปะได้เริ่มเข้ามาศึกษาเรียนรู้การทำงานกับหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ยังเป็นนักข่าวละอ่อนจนกระทั่งก้าวถึงตำแหน่ง “บรรณาธิการ” ถึงติดขัดอะไรก็พยายามทุกวิถีทางวางมือลงเพื่อร่วมเดินทางไปให้ได้

เพราะการเดินทางขึ้นดอยขุนตานเท่ากับได้เป็นการพักผ่อนอย่างสุขสบาย เป็นการชาร์ตแบตเตอรี่ไปในคราวเดียวกัน

และได้รับรู้เรื่องราวต่างๆ จากความรู้และประสบการณ์อันมากมายของท่าน

 

มีเรื่องที่ติดค้างอยู่ในใจกว่า 25 ปีแล้วที่อยากจะบอกกล่าวเล่าซ้ำอีกสักครั้งหลังจากได้เคยเปิดเผยออกไปบ้างเล็กๆ น้อยๆ แต่ยังไม่ค่อยชัดเจนสักเท่าไร หลังจากที่เรียบเรียงเรื่องราวความ “ขัดแย้ง” ระหว่างอาจารย์คึกฤทธิ์ กับท่านพี่ (บิ๊กจิ๋ว) พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เจ้าของสมญานาม “ขงเบ้ง” แห่งกองทัพบก (อดีต) ผู้บัญชาการทหารบก หัวหน้าพรรคความหวังใหม่ และนายกรัฐมนตรี

สุดท้ายความขัดแย้ง หรือการเข้าใจผิดนั้นก็สามารถเคลียร์กันได้จากความพยายามของเหล่าทหารหนุ่มระดับผู้พันที่วางแผนเดินเข้าบ้านเพื่อพบพูดคุย ซึ่งนายทหารเหล่านั้นทุกวันนี้ก็แก่เฒ่าเกษียณอายุราชการกันไปนานมากแล้ว เนื่องจากเหตุการณ์ผ่านมาประมาณ 30 ปี และอาจารย์คึกฤทธิ์ก็ได้รับพระราชทานยศเป็น “พลตรี” จากการดำเนินการของท่าน (อดีต) ผู้บัญชาการทหารบก คู่ขัดแย้งดังที่กล่าวไปเมื่อครั้งที่แล้ว

สืบเนื่องมาจากความขัดแย้งและมีความเชื่อว่าท่านพี่ (บิ๊กจิ๋ว) มีแนวคิดก้าวหน้าไปไกลถึงขนาดต้องการจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองไปเป็นระบบอื่น

อาจารย์คึกฤทธิ์ “เสาหลักประชาธิปไตย” จะยอมให้เกิดสิ่งนั้นขึ้นไม่ได้อย่างเด็ดขาด ต้องขัดขวางทุกวิถีทาง

ใครที่คิดจะเปลี่ยนแปลงล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ เปลี่ยนแปลงการปกครองไปเป็นอย่างอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบ “คอมมิวนิสต์” ย่อมต้องเป็นศัตรูของท่าน

ในอดีตที่ผ่านมาหนังสือพิมพ์สยามรัฐ เป็นสนาม เป็นเวทีในการปลูกฝังระบอบประชาธิปไตย และต่อสู้กับระบบอื่นๆ ดังกล่าว

ท่านจะสั่งและสอนศิษย์คนทำงานในสยามรัฐ ว่าชื่อคนเหล่านี้ซึ่งระบุอย่างชัดเจนว่ามีท่านผู้ใดบ้างไม่ควรปรากฏอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” ของท่าน

ซึ่งก็รวมเอาท่านพี่ (บิ๊กจิ๋ว) เข้าไปด้วยคนหนึ่ง

 

วันหนึ่งมีการลงโฆษณาประกาศขายเทปซึ่งรวมคำปาฐกถาของท่านพี่ (บิ๊กจิ๋ว) ในหน้าเดียวกันกับคอลัมน์ “ซอยสวนพลู” ของอาจารย์คึกฤทธิ์ เมื่อหนังสือพิมพ์ออกวางตลาดตอนเช้าตรู่ “บรรณาธิการ” จึงต้องถูกปลุกจากที่นอนทันที ทั้งๆ ที่ก็ยังไม่ทันได้เห็นโฆษณาชิ้นนั้น

ก่อนเดินทางไปพบอาจารย์คึกฤทธิ์ยังบ้านพักซอยสวนพลู ก็ได้สอบถามเรื่องราวจนกระทั่งได้ข้อมูล และได้เห็นหนังสือพิมพ์ฉบับที่ทำเอา บ.ก. ถึงกับต้องลาจาก “สยามรัฐ” หนังสือพิมพ์ที่ได้ทำงานมาถึง 20 ปี (2513-2534) ได้รับการสอนสั่งกระทั่งมีความรู้ ได้เพื่อนร่วมงานที่ดี มีสังคมกว้างขวางเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปเพิ่มมากขึ้น สนิทสนมคุ้นเคยกับแหล่งข่าวระดับสูงต่างๆ รวมทั้งท่านพี่ (บิ๊กจิ๋ว) พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งได้กลายเป็นต้นเหตุทำให้ต้องจำใจเดินออกจาก “สยามรัฐ” เมื่อถูกผลักดันให้ขึ้นแท่นที่ปรึกษา และผู้จัดการ (จะต้องรับผิดชอบเรื่องโฆษณา) ซึ่งไม่ค่อยจะลงรอยกันอยู่รีบลดเงินเดือนลงทันที

ในทางปฏิบัติจริงๆ บ.ก. คงไม่สามารถอ่านหนังสือตั้งแต่ตัวแรก บรรทัดแรก หน้าแรกจนถึงตัวสุดท้าย บรรทัดสุดท้าย หน้าสุดท้ายได้ เพราะต้องมีผู้แบ่งความรับผิดชอบกันออกไป บ.ก. คงต้องดูแลภาพรวมทั้งหมด สำหรับเนื้อที่ “โฆษณา” ขายเทปรวมคำปาฐกถาของบิ๊กจิ๋วซึ่งได้รับเชิญไปพูดให้สมาคมนักข่าวฯ แล้วรวบรวมมาใส่ตลับเพื่อขายหารายได้

ถามว่าทำไมต้องเอาไปลงตรงพื้นที่คอลัมน์ “ซอยสวนพลู” ของอาจารย์คึกฤทธิ์ ก็ต้องบอกว่ามันเป็น “จุดขาย” (Target Group)

 

ความเป็นมาของโฆษณาชิ้นนี้มาจากสมาชิกสมาคมนักข่าวฯ ซึ่งสังกัดอยู่หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ติดต่อกับหัวหน้าข่าวสยามรัฐ (เสียชีวิตแล้ว) เพื่อขอซื้อพื้นที่ลงโฆษณา เรื่องจึงผ่านไปยังฝ่ายโฆษณา ซึ่งมีคนรับผิดชอบเรียงลำดับกันหลายคน จนถึงผู้จัดการบริษัททีเดียว

แต่เมื่อเกิดเรื่องนี้ขึ้นทุกคนชิ่งหายเงียบเอาตัวรอดกันหมด ปล่อยให้เป็นความผิดตกอยู่ที่ บ.ก. คนเดียว

จริงๆ แล้ว บ.ก. ไม่มีโอกาสได้เห็นโฆษณาชิ้นนั้นจนกระทั่งหนังสือพิมพ์ออกวางจำหน่าย เนื่องจากเมื่อกำหนดขนาดพื้นที่โฆษณาแล้วพนักงานก็เอากระดาษดำแปะไว้ตอนเป็นอาร์ตเวิร์กเรียกว่าเนกาทีฟ (Negative) ก่อนจะเอาฟิล์มข้อความโฆษณาไปประกอบตามกระบวนการก่อนส่งไปอัดแม่พิมพ์ (Plate) ก็ไม่มีใครเข้าไปดูแล้ว

แต่สำหรับสังคมการทำงานทุกที่ของประเทศนี้รับรองได้ว่าต้องมีความขัดแย้ง แก่งแย่งชิงดีชิงเด่น สยามรัฐในปี พ.ศ. นั้นก็ไม่มีอะไรแตกต่าง

เรื่องมันเป็นอดีตผ่านเลยมากระทั่งทุกวันนี้นับเวลาได้กว่า 25 ปีแล้ว ยังเก็บความภูมิใจเอาไว้ว่าได้เป็นข่าวขึ้นหน้า 1 หนังสือพิมพ์ “หัวเขียว” ยักษ์ใหญ่ “ไทยรัฐ” กับเขาด้วยคนหนึ่งเหมือนกัน