สุภา ปัทมานันท์ : โควิด เคนตะ คนไร้บ้าน

มีรายงานข่าวจากญี่ปุ่นว่า ประชากรในโตเกียวลดลงอย่างต่อเนื่องมา 5 เดือนติดต่อกันในเดือนพฤษภาคมของปีที่ผ่านมา

โตเกียวทำสถิติมีประชากรมากที่สุดคือเกิน 14 ล้านคน หลังจากนั้นตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมา ประชากรก็ลดลงติดต่อกันทุกเดือน

ณ เดือนธันวาคม 2563 โตเกียวมีประชากรประมาณ 13.96 ล้านคน

อย่าเพิ่งตกใจ สาเหตุไม่ใช่เพราะมีคนเสียชีวิตจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

นักวิชาการด้านประชากรให้เหตุผลว่า ตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 การใช้เทคโนโลยีทางการสื่อสารเข้ามาช่วย ทำให้ไม่ต้องไปทำงานที่บริษัทซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่ศูนย์กลางธุรกิจในโตเกียว

การทำงานที่บ้านได้ ช่วยให้ชาวโตเกียวเริ่มย้ายออกไปอยู่จังหวัดอื่น เพื่อไม่ต้องแบกรับค่าเช่าบ้าน ค่าครองชีพที่สูงลิบในโตเกียว

นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของแนวโน้มการย้ายออกจากเมืองใหญ่ของชาวญี่ปุ่น

และหากการแพร่ระบาดยังไม่ลดลง (ซึ่งความจริงก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง) ก็จะมีประชากรชาวโตเกียวไหลออกจากโตเกียวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ในจำนวนนี้แน่นอนว่าต้องมีคนตกงานรวมอยู่ด้วย

 

สําหรับคนที่ยังมีงานทำ จะทำอยู่ที่ไหนก็ได้ ตราบเท่าที่เทคโนโลยีสมัยใหม่ยังเชื่อมต่อเข้าถึงกันได้

แต่สำหรับชาวญี่ปุ่นอีกจำนวนไม่น้อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไม่ว่าจะอยู่ในโตเกียวต่อไปหรือย้ายไปอยู่จังหวัดอื่นก็ไม่มีบ้านจะอยู่ นั่นคือคนไร้บ้าน (Homeless)

ภาษาญี่ปุ่นใช้คำว่าคนที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ตามริมถนน ??????? ในโตเกียวกลับเพิ่มจำนวนมากขึ้น

หากประเมินด้วยสายตาในเวลากลางวัน อาจพบว่ามีจำนวนไม่มากจนเป็นปัญหา

แต่ในยามค่ำคืน ตามถนนที่เต็มไปด้วยแหล่งบันเทิง ร้านดื่มกิน ผับ-บาร์ ที่ต้องปิดกิจการไป ไม่มีแสงสีสว่างไสว ตกอยู่ในความมืด

กลายเป็นที่พักพิงของคนไร้บ้าน และอาจเป็นแหล่งอาชญากรรม

 

เคนตะ (นามสมมุติ) ชายโสดวัย 40 ปี ทำงานเป็นพนักงานจ้างในโรงแรมใหญ่ในโตเกียวมา 10 ปี ทำงานวันละ 13 ชั่วโมง 5 วันต่อสัปดาห์ (สู้งานหนักเอาการ) ดูแลด้านการจัดเลี้ยง เพราะเขาคิดว่าการทำงานแบบนี้มีอิสระ ไม่ต้องเครียดกับงานที่ต้องอยู่ในกรอบแบบพนักงานประจำในบริษัท

แน่นอนว่าในยามปกติย่อมดีกว่า

แต่ใครจะคาดคิดว่าเมื่อโรงแรมได้รับผลกระทบจากโควิด งานเลี้ยงต่างๆ ถูกยกเลิก งานของเขาลดน้อยลงเรื่อยๆ จนในที่สุดไม่มีงานเลย เงินเก็บก็ร่อยหรอลงจนน่าใจหาย

ในเดือนมิถุนายน 2563 รัฐบาลได้อนุมัติเงินช่วยเหลือคนละหนึ่งแสนเยน โดยไม่ต้องลงทะเบียน (รัฐบาลไทยให้ลงทะเบียนรับคนละ 5,000 บาท รวม 3 เดือน) ซึ่งไม่ใช่เงินจำนวนมากสำหรับการใช้ชีวิตในเมืองใหญ่อย่างโตเกียว

เขามีภาระหนักจากค่าเช่าบ้าน ค่าสาธารณูปโภค ค่าอาหาร เป็นต้น

เมื่อยังหางานทำไม่ได้ เขาก็ยื่นเอกสารขอรับเงินช่วยเหลือจากการหยุดกิจการ ??????? อันเป็นมาตรการเร่งด่วนอีกอย่างของรัฐในเดือนกรกฎาคม ที่กำหนดว่าให้สำหรับผู้ว่างงานที่ไม่ได้รับเงินชดเชยจากบริษัทที่หยุดกิจการ รัฐจะให้เงินช่วยราว 80% แต่ยกเว้นพนักงานของบริษัทใหญ่

ด้วยเหตุผลว่ากิจการขนาดใหญ่ยังพอมีเงินทุนหมุนเวียนนำมาช่วยเหลือพนักงานได้ ซึ่งในความเป็นจริง พนักงานจ้างในกิจการขนาดใหญ่ก็ไม่ได้อยู่ในข่ายได้รับเงินชดเชยจากเจ้าของกิจการเลย

นี่คือความจริงที่เขาเพิ่งตระหนัก และต้องก้มหน้ารับผลจากการเลือกที่จะไม่เป็นพนักงานประจำมากว่า 10 ปี

ในญี่ปุ่น แรงงานที่ได้ผลกระทบของโควิดอย่างมากเป็นแรงงานที่อยู่ในสถานภาพเปราะบาง เช่น แรงงานหญิง พนักงานพาร์ตไทม์ พนักงานจ้างชั่วคราว พนักงาน out source เป็นต้น เมื่อต้องปิดกิจการและไม่มีการกลับมาจ้างอีก

ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา พบว่าพนักงานที่มีสถานภาพเช่นนี้มีจำนวนลดฮวบลง ทุกคนต้องดิ้นรน

บางคนอาจต้องเปลี่ยนประเภทงาน เปลี่ยนอาชีพกันทีเดียว

 

ไม่มีงาน ไม่มีเงิน เคนตะจะกลับบ้านต่างจังหวัดไปอาศัยอยู่กับพ่อ-แม่ก็ทำได้ไม่สะดวกใจ เพราะสังคมญี่ปุ่นเป็นสังคมที่ต้องพึ่งพาตัวเอง

เขาดิ้นรน พลิกผันตัวเองจากการทำงานในโรงแรมหรูมาเป็นพนักงานพาร์ตไทม์ ทำความสะอาดบ้านพักคนชรา สัปดาห์ละ 3 วัน วันละ 3 ชั่วโมง (จากที่เคยทำงานสัปดาห์ละ 65 ชั่วโมง เหลือแค่สัปดาห์ละ 9 ชั่วโมง)

แน่นอนว่าค่าตอบแทนน้อยนิด แทบไม่พอกับรายจ่ายที่ประดังประเดกันมา ที่สำคัญคือ ค่าต่อสัญญาเช่าบ้าน

สังคมญี่ปุ่นไม่เหมือนสังคมไทย ถ้าตกงานที่กรุงเทพฯ ก็กลับบ้านที่ต่างจังหวัด ยังมีพ่อ-แม่ ญาติพี่น้องพร้อมช่วยเหลือ ปลูกผัก หาปลาเลี้ยงชีพได้ นี่คือความเอื้ออาทร อบอุ่นแบบไทยๆ

ปลายอุโมงค์อันมืดมิด เคนตะยังมองไม่เห็นแสงสว่าง เขาจะอยู่โตเกียวไปได้อีกนานแค่ไหน ถ้าไม่ออกจากโตเกียว

สุดท้ายแล้ว เขาจะต้องเป็นคนไร้บ้านใช้ชีวิตอยู่ตามริมถนนหรือไม่

 

มีข้อมูลว่าการใช้ชีวิตอยู่ตามถนนแบบคนไร้บ้านในโตเกียวไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ยิ่งเป็นคนวัยชราด้วยแล้ว เพราะว่าอุปกรณ์สาธารณะต่างๆ เริ่มออกแบบเพื่อจำกัดการใช้งานมากขึ้นอย่างแนบเนียน ซึ่งเท่ากับเป็นการกีดกันไม่ให้คนเหล่านี้เข้ามาในอาณาบริเวณโดยปริยาย

อาทิ เก้าอี้ยาว มีส่วนที่นั่งเป็นแผ่นไม้สองแผ่นเว้นห่างกัน มองดูเผินๆ ปฏิเสธไม่ได้ว่า คือใช้นั่ง แต่นั่งไม่สบาย นั่งไม่ได้นาน เพราะทำลาดเอียง ไม่เหมาะกับสรีระ

มิหนำซ้ำยังมีแผ่นเหล็ก มองดูเหมือนที่พาดแขนอยู่กลางเก้าอี้ คิดว่าใจดี ให้วางแขน แต่จุดประสงค์คือไม่ให้นอนเหยียดยาวได้

มีคนสูงวัยพยายามนอนขดตัวหลับแล้วตกลงมาจากเก้าอี้จนได้รับบาดเจ็บ

ตามสถานีรถไฟ รถไฟใต้ดิน ทางเดินด้านในมีกล้องวงจรปิดจำนวนมาก เพื่อความปลอดภัย และกีดกันการเข้ามาใช้ประโยชน์จากคนไร้บ้านไปด้วย

ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา เราได้เรียนรู้แล้วว่า ผลกระทบจากโควิดไม่ปรานีใครทั้งสิ้น แม้ผู้คนจากประเทศร่ำรวย ประเทศพัฒนาแล้วก็ไม่มีเว้น

ปี 2564 มาช่วยกันภาวนาให้เราชาวไทยเอาชนะโควิดรอบใหม่ให้ได้โดยเร็วกันเถอะ…