จักรกฤษณ์ สิริริน : Bibliosmia “กลิ่นกระดาษ” ปัจจัยชี้ขาด “หนังสือเล่ม” ไม่มีวันตาย!

ตัวชี้วัดหนึ่ง ซึ่งเสมือนการตอบคำถาม ที่คาใจใครหลายคนมาเนิ่นนานว่า “หนังสือเล่ม” หรือ Pocket Book นั้น

จะยังสามารถยืนระยะต่อกรกับ “หนังสือออนไลน์” ไปได้อีกนานแค่ไหน?

ก็คือผลสำรวจของนิตยสาร Scientific American ระบุว่า Generation Y จำนวน 80% ชอบอ่าน “หนังสือเล่ม” มากกว่า “หนังสือออนไลน์”

นอกจาก “หนังสือเล่ม” จะถนอมสายตาจาก “แสงจ้าหน้าจอ” มากกว่าการอ่าน “หนังสือออนไลน์” แล้ว

ยังมีปัจจัยหลายประการที่ทำให้ “หนังสือเล่ม” ชนะ “หนังสือออนไลน์”

อาทิ การที่เราใช้มือจับ และใช้นิ้วคลี่หนังสือ ค่อยๆ อ่านผ่านไปทีละหน้านั้น เป็นพฤติกรรมที่มีความสอดคล้องกับการทำงานของสมอง มากกว่าการอ่านหนังสือจากหน้าจอ

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังระบุว่า สมาธิที่เกิดจากการอ่าน “หนังสือเล่ม” นั้นมีมากกว่าการอ่าน “หนังสือออนไลน์” ซึ่งจะส่งผลให้สมองจดจำเรื่องราว รวมถึงสามารถเข้าใจเนื้อหาในหนังสือเล่มได้ดีกว่าหนังสือออนไลน์

 

อย่างไรก็ดี ในฐานะที่ผมเองก็เป็นหนอนหนังสือตัวยงคนหนึ่ง ผมคิดว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ “หนังสือเล่ม” ชนะ “หนังสือออนไลน์” ก็คือ “กลิ่นหนังสือ” ครับ

ไม่ว่าจะเป็น “กลิ่นกระดาษ” และ “กลิ่นหมึก” หรือ “กลิ่นกาว” ได้ทั้งนั้น!

วารสาร Heritage Science เปิดรายงานวิจัยของ University College London หรือ UCL เกี่ยวกับ “กลิ่นหนังสือ” จากการสุ่มตัวอย่าง “หนอนพันธุ์แท้” จำนวน 80 คน

ผลการศึกษาชี้ว่า ผู้ที่หลงใหลใน “กลิ่นหนังสือ” ก็เหมือนกับคนที่หลงรัก “กลิ่นช็อกโกแลต” หรือ “กลิ่นกาแฟ”

Heritage Science อ้างอิงข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับ VOCs หรือ Volatile Organic Compounds (สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย)

ว่า ใน “ช็อกโกแลต” และ “กาแฟ” นั้น มีองค์ประกอบ VOCs ที่คล้ายกับ “หนังสือ”

UCL ได้ทำการทดลอง โดยสกัดสาร VOCs จากหนังสือเก่าที่ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ.1928 ขึ้นมา จากนั้นนำไปให้อาสาสมัคร “ดม” ร่วมกับกลิ่นอื่นๆ อาทิ “กลิ่นช็อกโกแลต” “กลิ่นกาแฟ” “กลิ่นตลาดปลา” หรือ “กลิ่นผ้าลินินเก่า”

อาสาสมัครบอกว่า การ “ดม” สารสกัดจากหนังสือเก่า ทำให้พวกเขานึกถึง “กลิ่นช็อกโกแลต” หรือ “กลิ่นกาแฟ”

Cecilia Bembibre หัวหน้าทีมวิจัยของ UCL เผยว่า ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ VOCs ของ “ช็อกโกแลต” และ “กาแฟ” มีสารประกอบทางเคมี (ที่ผ่านการหมักหรือคั่ว) อยู่สองตัว

ได้แก่ Lignin และ Cellulose

ซึ่งสารทั้งสองอย่างนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญที่มีอยู่ใน “กระดาษหนังสือเก่า” นั่นเองครับ!

 

Lignin คือ Reactant หรือ “สารตั้งต้น” คือส่วนประกอบหลักของ “ไม้”

แน่นอนว่า หนังสือซึ่งประกอบสร้างขึ้นมาจาก “เยื่อกระดาษ” ที่ทำมาจาก “ต้นไม้” ก็จะต้องมี Lignin อยู่ด้วย

ดังนั้น เราจึงสามารถพบ Lignin ในกระดาษที่ใช้ทำหนังสือ

นอกจาก Lignin ในกระดาษแล้ว “กลิ่นหมึก” และ “กลิ่นกาว” “กลิ่นด้าย” หรือ “กลิ่นปกหนัง” กระทั่ง “กลิ่นสารเคมีในอุตสาหกรรมผลิตกระดาษ” ที่เป็นองค์ประกอบของ “หนังสือ”

ที่ยิ่งนานวัน “หนังสือ” ที่ยิ่งเก่า “กลิ่น” ต่างๆ เหล่านี้ก็จะยิ่งหลอมรวมเข้าหากัน

เมื่อมาบวกรวมกับสภาพแวดล้อมที่กักขังหนังสืออยู่ ไปจนถึงคุณภาพของ “กระดาษ” “หมึก” “กาว” “ด้าย” “ปกหนัง” และ “สารเคมีในอุตสาหกรรมผลิตกระดาษ”

ส่งผลต่อให้ปฏิกิริยาเคมีจาก Cellulose ในเยื่อกระดาษ สัมผัสกับอากาศ หรือแสงแดด

นำไปสู่การเกิด Product หรือ “สารผลิตภัณฑ์” กลายเป็น “กลิ่นหนังสือ” ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวขึ้น

เมื่อเป็นเช่นนี้ แน่นอนว่า ถ้าเราไม่เอาหนังสือที่ตีพิมพ์ออกมาพร้อมกัน มากักขังเอาไว้ในสภาพแวดล้อมเดียวกัน

คือให้กระจายหนังสือดังกล่าว ออกไปเก็บไว้ในหลายสถานที่

“กลิ่นหนังสือ” ล็อตนั้นก็ย่อมจะแตกต่างกันออกไป

 

มาถึงตรงนี้ เชื่อว่าท่านผู้อ่าน “มติชนสุดสัปดาห์” ที่เคยไปใช้บริการ “ห้องสมุด” คงจะพอนึกคุ้นๆ ไปถึง “กลิ่นเฉพาะ” ของ “ห้องสมุด” สักที่หนึ่งขึ้นมา

Matija Strli? คอลัมนิสต์นิตยสาร Popular Science บอกว่า VOCs ของ “ห้องสมุด” นั้น แตกต่างจาก “กลิ่นหนังสือที่บ้าน” หรือ “กลิ่นในร้านหนังสือ”

เพราะ “ห้องสมุด” มักมี “กลิ่นไม้” หรือ “กลิ่นควันไฟ” และ “กลิ่นดิน” ที่ผสมผสานกัน และลอยออกมาจาก “ชั้นหนังสือ” ร่วมกับ “กลิ่นหนังสือเก่า” คล้ายกับ “กลิ่นในร้านเช่าหนังสือ”

อย่าลืมว่า “กลิ่นไม้” จาก “ตู้หนังสือ” ใน “ห้องสมุด” ก็มีประกอบของ Lignin เช่นเดียวกับกระดาษ

ขณะที่ “กลิ่นในร้านหนังสือ” นั้น อาจมี “กลิ่นหนังสือใหม่” มากกว่า Matija Strli? กระชุ่น

ดังนั้น คนที่ “ชอบไปห้องสมุด” นอกจากจะไปนอนหลับพักผ่อน (ฮา) หรือเลือกสรรหนังสือเล่มโปรดมานั่งอ่านและยืมกลับบ้านแล้ว

ผมคิดว่า การที่เราชอบไปห้องสมุด ก็เพราะเสพติด “กลิ่นบางอย่าง”

 

ต่อประเด็นนี้ Matija Strli? บอกว่า “กลิ่นหนังสือ” นั้นมีอิทธิพลต่อมนุษย์อย่างมาก โดยที่เราไม่รู้ตัว!

“การรับรู้กลิ่นนั้น อยู่ใกล้กับความทรงจำในสมองของมนุษย์มาก ดังนั้น กลิ่นจึงมีพลังที่รุนแรง ซึ่งทำให้เราสามารถเชื่อมโยงความทรงจำกับกลิ่นบางอย่างได้”

งานวิจัยจำนวนมากชี้ว่า อำนาจของ “กลิ่น” จะไปรื้อฟื้นความทรงจำเก่าๆ ที่เราไม่สามารถกระตุ้นโดยวิธีอื่นได้ Matija Strli? กล่าว และว่า

“นี่เป็นสาเหตุหนึ่ง ซึ่งทำให้ “กลิ่นหนังสือ” มีบทบาทสำคัญในการส่งต่อมรดกทางวัฒนธรรม” Matija Strli? ระบุ

 

สําหรับ “หนอนหนังสือ” ที่หลงใหลใน “กลิ่นกระดาษ” มีศัพท์ภาษาอังกฤษคำหนึ่ง ซึ่งใช้เรียกเอกลักษณ์ของ “กลิ่นของหนังสือ” นั่นคือ Bibliosmia

ต่อมา Bibliosmia ค่อยๆ กลายความหมายเป็นกิริยาอาการของคนที่ชอบ “ดมกลิ่นหนังสือด้วยความสุข”

จนกระทั่งทุกวันนี้ Bibliosmia กลายเป็นคำอธิบายที่ใช้เรียกแทนกลุ่มคนผู้ชื่นชอบการ “ดมกลิ่นหนังสือ”

และบางรายอาจถึงขั้น “เสพติด” เลยทีเดียว!

แน่นอนว่า “กลิ่นหนังสือ” ของชาว Bibliosmia เราไม่สามารถหาได้จากการอ่าน “หนังสือออนไลน์”

ดังนั้น นอกจากการมี “หนังสือเล่ม” ไว้ “ประดับบารมี” ใน “ตู้หนังสือ” แล้ว

ผมเชื่อว่า พฤติกรรมของ Bibliosmia หรือความหลงใหลใน “กลิ่นกระดาษ” และ “กลิ่นหนังสือ” อาจกลายเป็นปัจจัยชี้ขาดสำคัญ

ที่ทำให้ “หนังสือเล่ม” สามารถยืนระยะต่อกรกับ “หนังสือออนไลน์” ไปได้อีกนานแสนนาน!

นำไปสู่คำกล่าวที่ว่า “หนังสือเล่ม” ไม่มีวันตาย!

 

เพราะไม่ว่าจะด้วยเหตุผลของการอ่าน “หนังสือเล่ม” ที่ถนอมสายตาจาก “แสงจ้าหน้าจอ” มากกว่าการอ่าน “หนังสือออนไลน์” ก็ดี

หรือการที่เราใช้มือจับ และใช้นิ้วคลี่หนังสือ ค่อยๆ อ่านผ่านไปทีละหน้า ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่มีความสอดคล้องกับการทำงานของสมองมากกว่าการอ่านหนังสือจากหน้าจอก็ดี

กระทั่งสมาธิที่เกิดจากการอ่าน “หนังสือเล่ม” นั้น มีมากกว่าการอ่าน “หนังสือออนไลน์” ซึ่งจะส่งผลให้สมองจดจำเรื่องราว รวมถึงสามารถเข้าใจเนื้อหาในหนังสือเล่มได้ดีกว่าหนังสือออนไลน์ก็ดี

แต่ผมคิดว่า ปัจจัย Bibliosmia สำคัญที่สุดครับ!

Cecilia Bembibre กลับมาสรุปให้เราฟังว่า งานวิจัยชิ้นต่อไปของ UCL คือการพยายามเลียนแบบ “กลิ่นหนังสือ” ในห้องปฏิบัติการ เพื่อต่อยอดไปสู่การค้นหาพฤติกรรมการอ่านหนังสือที่แท้จริง

“เราหวังว่า การทดลองครั้งต่อไปเกี่ยวกับ “กลิ่นหนังสือ” จะมีประโยชน์ต่อวงการวรรณกรรม ในแง่ของการหาเหตุผลสนับสนุนการมีอยู่ของ “หนังสือเล่ม” กันต่อไป” Cecilia Bembibre ทิ้งท้าย