โควิดกับการแพร่เชื้อที่โรงพยาบาลและร้านตัดผม

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2563 สำนักข่าวไทยรายงานว่ามีผู้ป่วยคนไทย อายุ 72 ปีป่วยเป็นมะเร็งและเบาหวาน ในช่วงระยะฟักตัวของโรคไปโรงพยาบาลหลายรอบ และไปตัดผมที่ร้านตัดผม โดยสวมหน้ากากอนามัยเป็นประจำ

คำถามคือเขาไปติดเชื้อมาจากโรงพยาบาล หรือ ร้านตัดผม หรือ ที่อื่น

เรื่องนี้เป็นข้อจำกัดของการสอบสวนโรค เพราะว่าในราวครึ่งนึงของผู้ป่วยโควิดไม่สามารถชี้ชัดว่าไปติดโรคมาจากไหน ต้นตอที่แพร่เชื้อคงลอยนวลต่อไป

การสอบสวนโรคเริ่มต้นด้วยเรามีความรู้เรื่องการแพร่เชื้อ เช่น ถ้าผู้ป่วยโรคโควิดก่อนจะป่วยได้ต้องมีเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย โดยเฉพาะต้องสัมผัสกับผู้ป่วยหรือผู้แพร่เชื้อ ดังนั้น ถ้าคนที่มีเชื้อมาอยู่กับคนที่ไม่มีเชื้อ(โดยเฉพาะอย่างยิ่งชายอายุ 72 ปีรายนี้มีโรคประจำตัวหลายอย่างภูมิคุ้มกันอ่อนรับเชื้อง่าย) คนที่ไม่มีเชื้อก็จะรับเชื้อไป ถ้าทุกคนใช้แอ๊ปไทยชนะเวลาไปโรงพยาบาลหรือร้านตัดผม การสอบสวนโรคหาผู้แพร่เชื้อและผู้รับเชื้อก็จะง่ายขึ้น แต่เสียดายผู้ป่วยรายนี้รับเชื้อก่อนที่แอ๊ปไทยชนะจะได้ใช้งานอย่างกว้างขวาง

ถึงแม้จะมีแอ๊ป หลายครั้งก็อาจจะสรุปหาต้นตอไม่ได้ เช่น แอ๊ปอาจจะไม่ทราบว่าคนที่ไปโรงพยาบาลคนไหนมีเชื้อ คนไหนปลอดเชื้อ หรืออาจจะเป็นไปได้ที่ผู้ป่วยรายนี้ไปรับเชื้อมาจากที่อื่นซึ่งมีผู้แพร่เชื้อไม่มีอาการในพื้นที่ซึ่งไม่ได้ใช้แอ๊พ ถึงแม้ในที่สุดพบว่าบางคนที่ผู้ป่วยรายนี้ไปใกล้ชิดมาเป็นผู้ติดเชื้อ แต่ก็ไม่แน่เสมอไปว่าผู้ป่วยของเราต้องรับเชื้อมาจากผู้ใกล้ชิดคนนั้น การจับผู้ร้ายได้ บางทีก็เป็นการจับแพะ ผู้ร้ายจริงยังคงลอยนวลแพร่โรคต่อไป

 

เมื่อมีข้อจำกัดอย่างนี้ จุดสำคัญของการสอบสวนจึงไม่ได้อยู่จะต้องหาว่าใครเป็นผู้แพร่ใครเป็นผู้รับเชื้อ หากอยู่ที่จะต้องค้นหาคนที่แพร่เชื้อหรือติดเชื้อมาแยกตัว (isolate) อย่างเข้มงวด และกักตัว (quarantine) ผู้สัมผัสโรคที่ยังไม่มีอาการไม่ให้ไปสัมผัสกับคนอื่น ๆ จนกว่าจะพ้นระยะที่อาจจะแพร่เชื้อได้

การค้นคว้าหาที่มาที่ไปให้ตัวคนแพร่เชื้อเป็นวิธีคิดที่เรียกว่า deterministic คือกำหนดแน่ชัดเชิงเหตุและผล จับให้มั่นคั้นให้ตาย คล้ายสอบสวนผู้ต้องสงสัยเพื่อหาหลักฐานว่าใครเป็นผู้ร้ายแน่ ถ้าไม่มีหลักฐานมัดตัวก็ปล่อยตัวไป

วิธีนี้มีข้อจำกัดเพราะในหลาย ๆ กรณีเราไม่มีหลักฐานพอและหาตัวคนร้ายไม่ได้ ต้องปล่อยให้เป็นปริศนา ไม่รู้จะทำยังไงต่อดี

มีปรัชญาวิธีคิดอีกวิธีนึงที่นักสถิติใช้เรียกว่าคิดแบบ probabilistic หรือ คำนวณหาความน่าจะเป็น วิธีนี้ต้องเก็บข้อมูลจากคนจำนวนมากนำมาประมวล ในหลายกรณีต้องมีกลุ่มเปรียบเทียบ

 

ถ้าเราสงสัยว่าโรงพยาบาลเป็นจุดแพร่โรค ก็ต้องถามประวัติกลุ่มผู้ป่วยโควิดในช่วงนี้ทุกคน หรือ จำนวนมากไม่เพียงรายเดียวว่า “ก่อนหน้านั้นได้ไปโรงพยาบาลมาบ้างหรือเปล่า บ่อยแค่ไหน ไปตัดผมมาบ้างหรือเปล่า” และแต่เราก็ต้องถามกลุ่มเปรียบเทียบ (หรืออาจจะเป็น “คู่เทียบ” สำหรับผู้ป่วยแต่ละราย) ที่มีพื้นฐานใกล้เคียงกับผู้ป่วยที่เราสัมภาษณ์ เช่น อายุไล่เลี่ยกัน มีปัญหาต่าง ๆ คล้าย ๆ กัน แต่ไม่ป่วยเป็นโรคโควิดด้วยคำถามเดียวกันว่า “ก่อนหน้านั้นได้ไปโรงพยาบาลมาบ้างหรือเปล่า บ่อยแค่ไหน ไปตัดผมมาบ้างหรือเปล่า” ถ้ากลุ่มผู้ป่วยโควิดส่วนใหญ่ไปโรงพยาบาลก่อนป่วย และกลุ่มคู่เทียบส่วนใหญ่ไมได้ไปโรงพยาบาล ก็มีเหตุผลที่จะคิดว่าสงสัยโรงพยาบาลสมัยนี้น่าจะมีบทบาทในการแพร่โรคโควิดซะแล้ว แต่ถ้าสองกลุ่มนี้ไปโรงพยาบาลไม่ต่างกันทางสถิติมากนัก ความคิดที่ว่านั้นก็ไม่มีเหตุผลสนับสนุน

การวิจัยเชิงระบาดวิทยา ช่วยให้เห็นทางสถิติว่าผู้ร้ายอยู่แถวไหนบ่อย ตำรวจและชาวบ้านจะได้ระแวงระวังเป็นพิเศษ ถ้าการติดเชื้อโควิดสัมพันธ์กับการไปร้านตัดผมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ต่อไปก็ต้องค้นคว้าหาวิธีบริการที่ลดโอกาสการติดเชื้อมากขึ้น เช่น อาจจะอนุญาตให้เปิดเฉพาะร้านลมโชยเกศา หรือ รอให้ผมยาวมาก ๆ หน่อยค่อยตัดทีนึง

ส่วนโรงพยาบาลก็ต้องหาทางให้ผู้ป่วยไม่ต้องมาโดยไม่จำเป็น ศาสตราจารย์นายแพทย์ขจรศักดิ์ ศิลปโภชากุล ปิยอาจารย์ของ มอ. เล่าว่าที่โรงพยาบาล มอ. แผนกอายุรศาสตร์มีแผนจะตรวจผู้ป่วยเพียงวันละ 100 ราย แต่พอรัฐบาลคลายล็อกผู้ป่วยที่อั้นไว้ก็มาโรงพยาบาลถึงเกือบ 300 ราย ลดการมาโรงพยาบาลได้สำเร็จเพียง 10 ราย โรงพยาบาลหลวงทุกแห่งก็คงมีคนไข้แน่นด้วยกันทั้งนั้น เราจัดให้ผู้ป่วยและญาตินั่งห่างกันเกิน 1 เมตรได้โดยยกเก้าอี้ออกหรือทำเครื่องหมายว่าห้ามนั่ง แต่ผู้ป่วยและญาติต้องยืนเกือบจะชิดกัน

หมอเราบอกให้ชาวบ้านมี social distancing แต่ที่โรงพยาบาลกลับกลายเป็น social gathering ไปซะงั้น

 

โควิดน่าจะเป็นตัวนำเรื่องให้พวกเราติดตามเรื่องทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น ดังที่ผมเคยเปรยไว้ว่าวิทยาศาสตร์ต้องมาก่อนความปราถนา วิทยาศาสตร์มีกระบวนการวิธีคิดที่เป็นระบบ นอกจากจะนำความจริงและทางออกในการแก้ปัญหาครั้งนี้มาให้แล้ว ยังควรจะช่วยให้คนรุ่นใหม่ของเราได้ตื่นตัวอยากเรียนรู้ และมีศักยภาพที่จะแก้ปัญหาไหม่ ๆ ในอนาคตด้วย

นี่เป็นตัวอย่างงานวิจัยทางระบาดวิทยา ไม่ใช่งานสอบสวนโรคโดยตรง งานวิจัยจะช่วยสะท้อนปัญหาภาพรวมว่าระบบเราเป็นอย่างไร สถิติความน่าจะเป็นที่จะรับเชื้อจากโรงพยาบาลและร้านตัดผมเป็นอย่างไร ส่วนงานสอบสวนโรคบอกว่าผู้แพร่โรคสำหรับผู้ป่วยแต่ละคนอยู่ที่ไหนทำอย่างไรจึงไม่ให้เขาแพร่โรค งานทั้งสองด้านจำเป็นทั้งคู่ กระทรวงสาธารณสุขมี”หน้าที่”รับผิดชอบการสอบสวนโรคชัดเจน ข้อมูลและอำนาจตามกฎหมายอยู่ที่กระทรวงสาธารณสุข

นักวิจัยซึ่ง “น่าที่”จะทำวิจัยส่วนใหญ่อยู่ที่กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ทำอย่างไรจึงฟอร์มทีมวิจัยไทยแลนด์ร่วมกันได้