ถอดบทเรียนวิกฤติโควิด-19 (Lession Learned from COVID-19)*

*รศ.ดร.นพ.บุญสิน  ตั้งตระกูลวนิช คณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์

วิกฤติโควิด-19 ถือเป็นโศกนาฏกรรมของมนุษย์ (human tragedy) ที่ก่อให้เกิดความสับสน หวาดกลัวและความเครียดของผู้คนทั้งโลก วิกฤติจะจบลงเมื่อไหร่ อย่างไร คงต้องอดใจรอ

วิกฤติโควิด-19 เปรียบเสมือนคลื่นสึนามิยักษ์ (Tsunami) ที่กระแทกต่อโลกใบนี้อย่างรุนแรง ทำให้เกิดความสูญเสียอย่างประเมินค่าไม่ได้

มนุษย์ควรถอดบทเรียนจากวิกฤติโควิด-19 เพื่อเรียนรู้ หาคำตอบและหาแนวทางป้องกันไม่ให้วิกฤติในลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นอีกในอนาคต

 

ผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ต่อโลก

ผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SAR-CoV-2) ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว รุนแรงทั่วโลก (pandemic) ทำให้มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกแล้วกว่า 1.9 ล้านคน เสียชีวิตกว่า 50,000 คน ส่งผลกระทบโดมิโน (domino effect) ต่อทั้งระบบสาธารณสุข เศรษฐกิจ สังคม นอกจากนี้มาตรการจำกัดการเดินทาง การติดต่อและเว้นระยะห่างทางสังคม (lock down, social and physical distancing) เพื่อจำกัดการแพร่ระบาดของเชื้อ (containment) ก็ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวันและการประกอบอาชีพ ในสหรัฐอเมริกามีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นกว่า 10 ล้านคนในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลแต่ละประเทศพยายามใช้มาตรการต่างๆเพื่อแก้ไขภาวะวิกฤตินี้  วิกฤติโควิด-19 ถือเป็นปัญหาที่ท้าทายอย่างยิ่ง (challenge) ต่อความสามารถของผู้นำ มีความซับซ้อน (complex) และตัดสินใจยาก เพราะทุกทางเลือกมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกัน จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

 

บทเรียนจากวิกฤติโควิด-19  สรุปเป็นประเด็นได้ดังนี้

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่บอบบาง (vulnerable) แม้มนุษย์จะภาคภูมิใจถึงวิวัฒนาการของตนเองเนื่องจากมีสมองที่เหนือสัตว์ทุกชนิด สามารถสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม ทำให้มนุษย์สามารถมีความเป็นอยู่ที่ดี อายุยืนและมีคุณภาพชีวิต แต่การพัฒนาของมนุษย์โดยเฉพาะช่วง 300 ปีที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้ง ดิน น้ำ ลม ไฟ อุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้น การเกิดไฟป่าในออสเตรเลีย การเกิดน้ำท่วมใหญ่ในหลายทวีป การเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงจนเกิดสึนามิทั้งในญี่ปุ่นและอินโดนีเซีย รวมทั้งวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่าจริงๆแล้วมนุษย์ไม่สามารถเอาชนะธรรมชาติได้ แม้มีความก้าวหน้าทางการแพทย์อย่างมากในปัจจุบัน แต่มนุษย์ก็ไม่สามารถควบคุม ดูแล จัดการ อะไรได้มากนักในภาวะวิกฤติ สะท้อนว่าที่แท้จริงแล้วมนุษย์เป็นสัตว์ที่อ่อนแอและมีความเสี่ยง (endangered species) จึงไม่ควรทรนงและควรปรับมุมมอง (mindset) ต่อตัวเองและโลกให้เหมาะสม

ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์-สิ่งแวดล้อม (human-environment relationship)

มนุษย์เป็นสัตว์สังคมไม่สามารถอยู่ได้โดยลำพัง การปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำรงชีวิตจากสังคมชนบท (ruralization) กลายเป็นสังคมเมือง (unbanization) มากขึ้นในปัจจุบันเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว การรวมตัวทำกิจกรรมทางสังคมเช่น กีฬา สันทนาการต่างๆ การประชุม กิจกรรมทางการเมือง การเรียนการสอน จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบหรือไม่อย่างไร การปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันผ่านหน้ากากหรือหน้าจอโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์  จะส่งผลต่อความสัมพันธ์ความเป็นมนุษย์ (humanity) หรือไม่ และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นในช่วงวิกฤติโควิด-19 จะยั่งยืนหรือไม่ คำตอบอยู่ที่การร่วมมือร่วมแรงร่วมใจเราทุกคน

ความสามัคคีของมนุษยชาติ (human unity ) มนุษย์มักสามัคคีกันโดยเฉพาะยามมีวิกฤติ กรณีวิกฤติโควิด-19ก็เช่นกัน จะเห็นได้ว่าทุกภาคส่วนของสังคมตั้งแต่ระดับปัจเจกบุคคล (individual) รวมทั้งองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนต่างร่วมมือช่วยเหลือเกื้อกูล รวมทั้งให้กำลังใจแก่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นนักรบด่านหน้า (first line) เพื่อทำงานต่อสู้กับโรคร้ายนี้ จึงเป็นโอกาสดีที่มนุษย์จะใช้โอกาสนี้แก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างองค์กรหรือประเทศทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมหรือการเมือง โดยไม่แบ่งแยก   เชื้อชาติ ศาสนา ภาษาหรือเผ่าพันธุ์ โดยเฉพาะปัญหาสิ่งแวดล้อมซึ่งถือเป็นอีกวิกฤติที่โลกกำลังเผชิญขณะนี้

“รวมกันตายหมู่ แยกกันอยู่ช่วยชาติ” (social, personal distancing) การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเช่น การเว้นระยะห่างทางสังคมหรือการสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ จะกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ของสังคมได้ ประชาชนในประเทศต้องมีจิตสำนึกสาธารณะและการรับผิดชอบต่อสังคม (social responsibility) และเนื่องจากมนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ต้องติดต่อสื่อสารมีปฏิสัมพันธ์ จะทำอย่างไรให้การติดต่อสื่อสาร ปฏิสัมพันธ์ยังคงดำรงความเป็นมนุษย์ได้ ขณะต้องมีการเว้นระยะห่างทางสังคม (socially distance but spiritually connect) เป็นโจทย์ที่ท้าทายที่ต้องช่วยกันหาคำตอบ

การจัดระเบียบสังคมโลกใหม่ (new world order) วิกฤติโควิด-19 ถือเป็นบททดสอบ (stress test) ที่สำคัญต่อศักยภาพความสามารถในการปรับตัวเผชิญวิกฤติของแต่ละประเทศ ประเทศที่สามารถบริหารจัดการวิกฤติได้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพและยังสามารถให้ความช่วยเหลือประเทศอื่น จะได้รับการยอมรับในเวทีสังคมโลกมากขึ้นเช่นประเทศจีน ในอนาคตความสามารถในการจัดการภาวะวิกฤติและการพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainable development) จะเป็นปัจจัยความสำเร็จของประเทศแทนที่ความสามารถทางเศรษฐกิจ

ระบบทุนนิยม โลกาภิวัฒน์และสังคมเมืองถูกท้าท้าย (globalization,capitalism urbanization) วิกฤติโควิด-19ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงโดยตรงต่อระบบทุนนิยมโลก โดยเฉพาะประเทศโลกตะวันตก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าในปี 2563 เศรษฐกิจโลกจะหดตัวกว่าร้อยละ50 จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลงและผลต่อกระทบต่อระบบห่วงโซ่อุปทาน             (supply chain) นอกจากนี้โลกาภิวัฒน์และสังคมเมืองเป็นอีกปัจจัยเสริมสำคัญที่ทำให้การระบาดของ             โรคโควิด-19 ยากต่อการควบคุม มนุษย์คงต้องหาโมเดลทางสังคมใหม่ที่สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติโดยไม่เสื่ยงต่อการเกิดวิกฤติลักษณะนี้อีกในอนาคต การแบ่งมีส่วน (compartmentalization) ของแต่ละประเทศและเศรษฐกิจพอเพียง (sufficient economy) จะสามารถแทนที่ระบบเดิมได้หรือไม่เป็นสิ่งที่     ท้าทายความสามารถของมนุษย์

การตัดสินใจแบบซับซ้อน (complex decision making) การตัดสินใจที่รวดเร็ว ถูกต้องและทันเวลาของผู้นำประเทศเป็นสิ่งสำคัญและท้าทายความสามารถในการบริหารภาวะวิกฤติ เนื่องจากข้อจำกัด (constrain) ทั้งข้อมูล เวลา และทรัพยากร การตัดสินใจที่ผิดพลาดจะส่งผลเสียต่อทั้งประเทศและตัวผู้นำเองเช่น กรณีประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาตัดสินใจล่าช้าในการเตรียมความพร้อมเพื่อรับวิกฤติโควิด-19 แม้ได้รับคำเตือนจากฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องมาระยะหนึ่งก่อนหน้านี้ เนื่องจากความกังวลถึงผลกระทบจากมาตรการที่จะต้องใช้ ต่อระบบเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศ ส่งผลให้เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ลุกลามอย่างรวดเร็วและรุนแรงทั่วประเทศ เกิดความเสียหายที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ในปัจจุบัน ในอนาคตการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (artiticial intelligence) สร้างโมเดลช่วยตัดสินใจ วิเคราะห์ทางเลือก ทางออก ความเสี่ยง ความเป็นไปได้  (sensitivity analysis) เพื่อลดอคติในการตัดสินใจ อาจเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการตัดสินใจแบบซับซ้อนในภาวะวิกฤติ

การบริหารความไม่แน่นอนในภาวะวิกฤติ (uncertainty management) ในช่วงวิกฤติประชาชนมักเกิดความกลัวและกังวล (panic) สังคมเกิดความวุ่นวาย(chaos) จากความไม่แน่นอน(uncertainty) ของสถานการณ์ จากมาตรการต่างๆของภาครัฐและจากข้อมูลข่าวสารซึ่งมีทั้งส่วนที่เป็นข้อเท็จจริงและข่าวปลอม  (fake new) รัฐบาลควรถอดบทเรียนการบริหารความไม่แน่นอนในภาวะวิกฤติ ว่าควรทำอะไร เมื่อไหร่ อย่างไรและอะไรคือปัจจัยความสำเร็จ นอกจากนี้การใช้ระบบข้อมูลข่าวสาร (information technology) เพื่อช่วยในการสื่อสารและการทำโมเดลเสมือน (simulation) อาจเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการบริหารจัดการความไม่แน่นอนได้ในอนาคต

ป้องกันสำคัญกว่าแก้ไข (prevention better than treatment) ประเทศที่ขาดการเตรียมความพร้อมเพื่อป้องกันวิกฤติโควิด-19 เช่นประเทศ อิตาลี อังกฤษ สเปนและสหรัฐอเมริกา มีอุบัติการณ์โรค  โควิด-19สูงและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เกินกว่าศักยภาพระบบสาธารณสุขของประเทศเหล่านั้น เมื่อเทียบกับประเทศที่มีมาตรการป้องกันที่ดีเช่น ประเทศสิงคโปร์ ไต้หวันและฮ่องกง ในอนาคตมนุษย์ต้องหาวิธีการหรือมาตรการอื่นๆที่มีประสิทธิภาพในการควบคุม ป้องกันการแพร่ระบาดของโรค โดยวิธีการหรือมาตรการเหล่านั้นไม่ส่งกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน

การเสริมสร้างศักยภาพระบบสาธารณสุข (strengthen health care system)

วิกฤติโควิด-19 สะท้อนถึงศักยภาพที่ไม่ดีนักในการบริหารจัดการวิกฤติโรคระบาดของระบบสาธารณสุขของเกือบทุกประเทศในโลก ด้วยข้อจำกัดของทรัพยากรทางสาธารณสุขซึ่งรวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ อุปกรณ์ ครุภัณฑ์ สถานที่และการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ จะเห็นได้ว่าประเทศที่มีระบบสาธารณสุขที่ดีจะสามารถควบคุมและจัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพและได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจน้อยกว่าประเทศที่ไม่สามารถบริหารจัดการได้ การเตรียมความพร้อมระบบสาธารณสุขเพื่อเผชิญกับวิกฤติโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคตจึงเป็นอีกหนึ่งโจทย์สำคัญที่ทุกประเทศต้องดำเนินการ นอกจากนี้การสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม ในการรักษาและป้องกันโดยเฉพาะวัคซีน ซึ่งเป็นความหวังสูงสุดของมนุษย์ในการจัดการโรคโควิด-19 (game  changer) จะสำเร็จหรือไม่ เมื่อไหร่ เพียงใร คงต้องรอผลการศึกษาวิจัยที่ชัดเจน

บทบาทขององค์การอนามัยโลก (role and responsibitity of WHO) แม้ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกจะพยายามทำงานตามหน้าที่อย่างเต็มที แต่ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า การบริหารจัดการวิกฤติ โควิด-19 ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ตั้งแต่ระบบเฝ้าระวังโรค (survailance) การประกาศโรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่อร้ายแรงและลุกลามทั่วโลก (pandemic) การส่งสัญญาณเดือน การให้ข้อมูล ความรู้ คำแนะนำและความช่วยเหลือไปยังแต่ละประเทศ ส่วนหนึ่งอาจเนื่องจากความจำกัดของทรัพยากรและเงินทุน หลังจากนี้ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก คงต้องวิเคราะห์ถึงความสัมฤทธิผลและปัญหาของการจัดการวิกฤติโควิด-19ครั้งนี้ พร้อมปรับโครงสร้างการบริหารและสร้างกลยุทธ์ใหม่เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤติโรคระบาดที่ลุกลามลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต

สรุป

วิกฤติโควิด-19 ให้ทั้งบทเรียนความทรงจำและโจทย์ต่อมนุษยชาติ บททดสอบมนุษย์ที่หฤโหดนี้สร้างทั้งวิกฤติและโอกาส ทำให้มนุษย์ได้เห็นสัจธรรมของการเปลี่ยนแปลง ความเป็นจริงและ            ความไม่แน่นอนของชีวิต สมควรอย่างยิ่งที่มนุษย์จะใช้วิกฤตินี้ให้คุ้มค่า มาแก้ไขพัฒนาทั้งต่อตนเอง ครอบครัว สังคมและโลกของเรา ให้เกิดความสมดุลและดำเนินชีวิตให้บรรสานสอดคล้อง (harmonize) กับธรรมชาติเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development) อย่างจริงจังในอนาคต

“ขอบคุณวิกฤติโควิค-19 ครับ”