ต้องไปมากกว่าโทษ “พระ” ปมธรรมกายส่งผลสะเทือนต่อพุทธศาสนาสูงยิ่ง

ไม่ว่าจะมองในมิติไหน การจัดการกับวัดพระธรรมกายล้วนส่งผลสะเทือนต่อพุทธศาสนาสูงยิ่ง

ในมุมของการปกครองคณะสงฆ์ ชัดเจนว่าต้องอาศัยกลไกของอาณาจักรเข้าไปจัดการกับศาสนจักรอย่างเข้มข้น สะท้อนถึงความอ่อนแอของกลไกศาสนจักรที่ไม่สามารถแก้ปัญหาของตัวเองได้

ที่น่าติดตามอย่างยิ่งคือพัฒนาการหลังจากจัดการกับ “วัดพระธรรมกาย” เรียบร้อยแล้ว ระหว่างอาณาจักรกับศาสนจักรจะอยู่ร่วมกันอย่างไร

ในมุมของความเชื่อถือศรัทธาประชาชน เดินมาถึงจุดที่ประชาชนจำนวนมากพูดถึงพระสงฆ์องค์เจ้าด้วยถ้อยคำหยาบคาย อย่างไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจ กลายเป็นการก่นด่าพระสงฆ์ กลายเป็นความเท่ ความฉลาดในความรู้สึกของคนเหล่านั้น ซึ่งจะสะเทือนถึงวัฒนธรรมที่สะสมมาอย่างยาวนานของคนไทยในเรื่องการนอบน้อมต่อพุทธสาวก

นับจากนี้ต่อไปเด็กๆ จะเติบโตมาด้วยกรอบความคิดที่ว่า “พระสงฆ์ไม่ได้มีความสำคัญในการน้อมใจเข้าเคารพเหมือนที่ผ่านมา” การนับถือศาสนาซึ่งเป็นเรื่องจิตใจจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมไม่น้อย

เป็นเรื่องที่น่ากังวลอยู่ไม่น้อย

หากน้อมเอาหลักการแก้ปัญหาโดยเอา “อริยสัจ 4” คือ “ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค” มาพิจารณา แล้วกำหนดให้ “ทุกข์” คือความเสื่อมถอยของศาสนจักร อย่างที่ว่าแล้ว น่าสนใจว่าในความรู้สึกนึกคิดของชาวบ้าน สมุทัยหรือสาเหตุของเรื่องที่เกิดขึ้นคืออะไร

 

ผลสำรวจของ “นิด้าโพล” ล่าสุด เรื่อง “การปฏิรูปพุทธศาสนา” คล้ายว่าจะเป็นคำตอบที่ชวนให้ใคร่ครวญอยู่ไม่น้อย

ในคำถาม “ท่านคิดว่าปัญหาของพุทธศาสนาในปัจจุบันเกิดจากเหตุปัจจัยใดบ้าง” (เลือกได้มากกว่า 1 ข้อ)

ร้อยละ 55.84 เห็นว่าเพราะพระสงฆ์ตัดไม่ขาดจากทางโลก หลงในวัตถุนิยม ลาภ ยศ สรรเสริญ ตำแหน่งสงฆ์ บริโภคนิยม

ร้อยละ 49.76 เพราะพระสงฆ์ไม่อยู่ในพระธรรมวินัย ทำให้มีข่าวฉาวอยู่เป็นประจำ เช่น เสพยาบ้า ดื่มสุรา ยุ่งกับสีกา พูดจาไม่สุภาพ มีพฤติกรรมก้าวร้าว

ร้อยละ 40.32 เห็นว่ามีการสร้างค่านิยมหรือความเชื่อเกี่ยวกับการทำบุญ การถวายทาน การสร้างศาสนสถาน การบริจาคสิ่งของแบบผิดๆ

ร้อยละ 36.64 เห็นว่าวัดบางแห่งมีความเป็นพุทธพาณิชย์ เน้นวัตถุนิยม

ร้อยละ 32.32 เห็นว่าองค์กรที่ดูแลพุทธศาสนาอ่อนแอ ขาดประสิทธิภาพในการทำงานและตรวจสอบป้องกัน

ร้อยละ 31.36 มองว่ามีการบิดเบือนหลักคำสอนของพุทธศาสนา

ร้อยละ 30.32 เห็นว่าการบังคับใช้พระธรรมวินัย กฎหมาย บทลงโทษ ไม่เด็ดขาดพอ

ร้อยละ 27.36 เห็นว่าการปกครองภายในวัดไม่มีประสิทธิภาพ

มีร้อยละ 2.32 ที่มองไปที่สาเหตุอื่น เช่น อยู่ที่ตัวบุคคล คนที่นับถือพุทธศาสนาบางคนไม่เข้าใจถึงแก่นแท้ หรือหลักของพุทธศาสนา ขาดการใช้วิจารณญาณในเรื่องความศรัทธา และปัจจุบันสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้เกิดปัญหา

ที่มองว่าพุทธศาสนาในปัจจุบันไม่มีปัญหาใดๆ เลยมีร้อยละ 1.36 ที่ไม่ออกความเห็น กับไม่แน่ใจมีร้อยละ 0.96

 

แน่นอนว่าในความรู้สึกแรก ทุกคำตอบดังกล่าวถูกต้องไม่มีผิดพลาด เรียกว่าเลิกคิดได้เลยว่าประชาชนไม่เข้าใจในพุทธศาสนา ไม่รู้ปัญหาที่เกิดขึ้น

เพียงแต่หากพิจารณาให้มาก ให้กว้าง และให้ลึกไปกว่านี้อาจจะเห็นว่า วิธีการมองและสรุปปัญหาตั้งแต่คนตั้งคำถามถึงคนตอบ มองในมุมเดียวคือ “โทษพระ”

บางทีหากมองให้กว้าง ให้ลึกไปกว่านี้จะพบว่า เหตุแห่งปัญหาหรือสมุทัยนั้น อาจจะเป็นเรื่องของภาพรวมที่มีมิติมากกว่า “โทษพระ”

วัฒนธรรมการสร้างความเชื่อของฆราวาสเป็นอย่างไร โครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์ก่อรูปขึ้นมาด้วยเจตนาใด การส่งเสริมวัฒนธรรมทางพุทธศาสนาเป็นหนทางนำสู่การเข้าถึงหลักธรรมคำสอนที่ถูกต้องโดยธรรมหรือไม่

ล้วนเป็นคำถามที่คำตอบต้องอาศัยการอธิบายกันยืดยาว

การชี้ถูกชี้ผิดด้วยความรู้สึกอาจจะเป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นบางอย่างในใจของผู้คน

แต่หากจะคิดแก้ไข หรือที่เรียกว่า “ปฏิรูป” จะต้องอาศัยความรู้ที่ไม่ผิวเผินในระดับความรู้สึกเท่านั้น ต้องลึกลงไปให้เห็นเหตุที่เป็นจริง

เพื่อไปสู่ “นิโรธ” และกำหนด “มรรค” เพื่อนำไปสู่การพ้นจาก “ทุกข์” ได้จริง