วัดปาฏิหาริย์พาณิชย์ : เขตธรณีสงฆ์สมัยใหม่ ภายใต้ลัทธิบูชาความมั่งคั่ง (4)

ชาตรี ประกิตนนทการ

“…วัดไผ่โรงวัวแห่งนี้แปลกกว่าวัดไทยทั่วๆ ไปที่มักสงวนพื้นที่บูชาไว้สำหรับพุทธนิกายเถรวาทเพียงหนึ่งเดียว แต่วัดไผ่โรงวัวแห่งนี้กลับหันหน้าเข้าหาศาสนาอื่นๆ ด้วย เป็นวัดที่ยึดมั่นพุทธเถรวาทเป็นศูนย์กลาง แต่ก็เผื่อแผ่พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ให้กับพุทธมหายานด้วย อีกทั้งสร้างศาลเจ้า รูปปั้น ภาพบูชาแบบพราหมณ์ฮินดู และกระทั่งมีสัญลักษณ์ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามแบบอิสลามและคริสต์รวมอยู่ด้วยประปราย…ความรู้สึกของผมเมื่อแรกเห็นวัดไผ่โรงวัวคือ อัศจรรย์ใจในความใหญ่โตมโหฬารและความใหม่เอี่ยมอ่องของวัด ตามติดมาด้วยความรู้สึกพิลึกพิลั่นราวกับได้หลงเข้าไปในสวนสนุกแดนเนรมิต ยามเมียงมองสถาปัตยกรรมซึ่งลอกเลียนมาจากวัดฮินดูในอินเดีย ก็ไม่เห็นอะไรนอกเหนือจากสิ่งจำลองขนาดยักษ์ ไม่มีวิญญาณของวัดจริงๆ แทรกอยู่ ไม่ได้รายล้อมไปด้วยเหล่าสาวก รายละเอียดตกแต่งภายในก็ทำแต่เพียงหยาบๆ ชวนให้นึกถึงโครงตึกจำลองตามโรงถ่ายภาพยนตร์ประวัติศาสตร์…”

ข้อเขียนข้างต้นเป็นของ อ.เบน แอนเดอร์สัน ที่เล่าย้อนถึงความรู้สึกตนเองที่ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมวัดไผ่โรงวัวครั้งแรกในช่วงปี พ.ศ.2518 (อ้างถึงในบทความ “เปรตประหลาด : ประวัติศาสตร์นรกภูธร” ใน อ่าน. ปีที่ 2 ฉบับที่ 2 ต.ค.-ธ.ค. 2552)

หากถามคนไทยปัจจุบันคงแทบไม่รู้สึกประหลาดอะไรแบบที่ อ.เบนบรรยายไว้เลย เพราะลักษณะดังกล่าวเป็นเรื่องปกติสามัญในวัดเกือบทั่วประเทศไทย

แต่หากมองย้อนกลับไปในช่วงปลายทศวรรษ 2510 สิ่งก่อสร้างของวัดนี้ต้องถือว่าแปลกและใหม่มาก

พระกกุสันโธ วัดไผ่โรงวัว
ที่มาภาพ : เพจ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

วัดไผ่โรงวัว วัดเล็กๆ ในพื้นที่ห่างไกลของ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2469 ด้วยสภาพทั่วไปของตัววัดที่ไม่มีความเก่าแก่ ไม่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ชาติอันยิ่งใหญ่ และไม่มีโบราณวัตถุชิ้นสำคัญ

โดยปกติแล้ววัดแห่งนี้น่าจะมีสถานะเป็นได้แค่วัดราษฎร์ของชาวบ้านในชุมชนโดยรอบเพียงเท่านั้น

แต่ในความเป็นจริงกลับเป็นไปในทางตรงข้าม โดยนับตั้งแต่ “หลวงพ่อขอม” เข้ามาเป็นเจ้าอาวาสวัดเมื่อ พ.ศ.2497 ท่านได้ทำการสร้างศาสนวัตถุสมัยใหม่ขึ้นมากมายจนทำให้วัดไผ่โรงวัวกลายเป็นจุดสนใจของผู้คนและกลายเป็นหนึ่งในวัดสำคัญที่คนไทยเป็นจำนวนมากรู้จัก

ในความเห็นผม วัดไผ่โรงวัวคือจุดเปลี่ยนสำคัญในการออกแบบวัดในสังคมไทยยุคสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นวัดแห่งแรกๆ ที่ริเริ่มการพัฒนาเขตธรณีสงฆ์ไปในรูปแบบผสมผสานความคิดและความเชื่ออันหลากหลายที่ต่อมาจะพัฒนากลายมาเป็นแนวทาง “วัดปาฏิหาริย์พาณิชย์”

จุดเปลี่ยนที่น่าสนใจของวัดมีหลายอย่าง ที่สำคัญประการแรกคือ การสร้างพระพุทธรูปกลางแจ้งขนาดใหญ่ โดยเริ่มสร้างจาก “พระพุทธโคดม” พระพุทธรูปโลหะสูงประมาณ 26 เมตร (รวมฐานพระโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กด้วย) ราวปี พ.ศ.2500 (แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2512) และต่อมาใน พ.ศ.2518 ได้ทำการก่อสร้าง “พระกกุสันโธ” พระพุทธรูปปางสมาธิ โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กที่มีความสูงมากถึง 58 เมตร (แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2523)

โดยองค์พระกกุสันโธ หลวงพ่อขอมต้องการสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นพระพุทธรูปที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งแนวคิดในลักษณะนี้ต่อมาได้กลายเป็นแฟชั่นที่หลายวัดทั่วไทยนิยมทำในเวลาต่อมา

วิหารร้อยยอด วัดไผ่โรงวัว สร้างขึ้นด้วยการผสมผสานรูปแบบสถาปัตยกรรมอินเดีย
ที่มาภาพ : https://pantip.com/topic/36302928

ผมไม่ได้กำลังจะเสนอว่าวัดไผ่โรงวัวคือต้นธารของแนวคิดนี้แต่อย่างใดนะครับ ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ราว พ.ศ.2518 จ.สุรินทร์ก็เริ่มโครงการก่อสร้าง “พระพุทธสุรินทรมงคล” สูง 21.5 เมตร ตั้งไว้กลางแจ้งภายในวนอุทยานพนมสวาย เช่นกัน

เพียงแต่กรณีวัดไผ่โรงวัวคือตัวแบบที่สร้างผลกระทบสาธารณะที่สุด เพราะในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จมาทำพิธีสวมพระเกตุให้แก่ “พระพุทธโคดม” ในปี พ.ศ.2512 ซึ่งทำให้วัดกลายเป็นที่รู้จักกว้างขวาง

ผมยังไม่อยากสรุปแน่ชัดว่าแนวคิดนี้เกิดขึ้นเมื่อไร แต่ถ้าจะให้คิดอย่างเร็วๆ ผมอยากเชื่อว่า น่าจะมีที่มาจากเหตุการณ์คราว “งานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ” เมื่อ พ.ศ.2500 ที่ภาครัฐมีแนวคิดในการสร้างพระพุทธรูปปางลีลากลางแจ้งขนาดใหญ่เพื่อเป็นประธาน ณ พุทธมณฑล ซึ่งภาพดังกล่าวได้ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ ไปทั่วประเทศเพราะเป็นงานใหญ่ของรัฐ ซึ่งวิธีคิดและภาพพระประธานพุทธมณฑลอาจไปกระตุ้นไอเดียของวัดต่างๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อวัดไผ่โรงวัวทำสำเร็จและกลายเป็นจุดดึงดูดให้คนเข้าวัดมากขึ้น เงินทำบุญมากขึ้น เศรษฐกิจวัดดีขึ้น ก็ยิ่งกลายเป็นแนวทางที่วัดอื่นๆ อยากทำตาม

ประติมากรรมเปรตใน “เมืองนรกภูมิ” วัดไผ่โรงวัว
ที่มาภาพ : https://api.guideglai.com/node/2511

ความพิเศษอีกประการของวัดไผ่โรงวัวคือ การสร้างรูปเคารพตลอดจนหน้าตาอาคารทางศาสนาที่ผสมผสานแนวคิดหลากหลายอย่างเข้าด้วยกันเป็นแห่งแรกๆ (อาจจะไม่ใช่ที่แรกสุด แต่เป็นที่ที่คนสนใจมากที่สุด) ทั้งอาคารรูปร่างหน้าตาแบบวัดอินเดีย การสร้างเมืองกบิลพัสดุ์จําลอง สังเวชนียสถานจำลอง พุทธวิหารมหายานศิลปะแบบจีน สร้างเจ้าแม่กวนอิม พระศรีอาริยเมตไตรย รูปปั้นเดวิดแบบศิลปะตะวันตก ฯลฯ

ซึ่งลักษณะผสมปนเปกันแบบนี้ถือเป็นเรื่องแปลกใหม่มาก ณ ขณะนั้น (ทศวรรษ 2510-2520)

ซึ่งไม่ว่าแนวคิดนี้จะเกิดขึ้นด้วยเหตุผลเช่นไรก็ตาม แต่สิ่งที่น่าสังเกตคือ ปรากฏการณ์นี้สอดคล้องอย่างพอเหมาะพอดีกับการขยายตัวของ “พุทธศาสนาประชานิยม” และ “ลัทธิบูชาความมั่งคั่ง” ในช่วงเวลาเดียวกัน

และในเวลาต่อมา (ราวทศวรรษ 2530-2540) เมื่อแนวคิดนี้ขยายตัวมากยิ่งขึ้น วัดเป็นจำนวนมากก็เริ่มปรับเปลี่ยนพื้นที่เขตธรณีสงฆ์ของตนเองเพื่อสร้างเป็นศูนย์รวมของความเชื่อทางศาสนาที่ผสมปนเปเข้าด้วยกันในแบบที่ไม่แตกต่างนักจากวัดไผ่โรงวัว หลายแห่งพัฒนาต่อยอดการผสมผสานไปไกลมากกว่านั้นด้วย

ที่พิเศษและเป็นจุดขายสำคัญที่สุดของวัดคือ “เมืองนรกภูมิ” ที่รวบรวมประติมากรรมปูนซีเมนต์รูปเปรตในลักษณะต่างๆ เป็นจำนวนมาก ทั้งขนาดเท่าคนจริงและใหญ่กว่าหลายเท่าตัว ตั้งอยู่บนเกาะกลางสระน้ำขนาดใหญ่

เอาเข้าจริงในเชิงแนวคิด การนำเสนอนรกภูมิและเปรตไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นแต่เพียงในอดีตถูกนำเสนอผ่านรูปแบบภาพจิตรกรรมบนคัมภีร์และบนฝาผนังอาคารเท่านั้น แต่วัดไผ่โรงวัวเลือกเทคนิคในการนำเสนอแบบใหม่ผ่านกลุ่มประติมากรรมขนาดใหญ่ซึ่งได้เข้ามาสร้างประสบการณ์การรับรู้ในรูปแบบใหม่

ผลลัพธ์ที่ได้จึงไม่ใช่เป็นเพียงการนำเสนอเรื่องบาปกรรมให้ผู้มาดูตระหนักถึงเพียงอย่างเดียว แต่คือความบันเทิงในเชิงสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งความรู้สึกในแง่หลังนี้สำหรับหลายคนที่มาเยือนอาจสำคัญที่สุดและเป็นเป้าหมายหลักในการมาเยือนวัดไผ่โรงวัว

เมื่อเป็นเช่นนี้ วัดอันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา และสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อความบันเทิงทางโลก จึงผนวกรวมเข้าด้วยกัน

สำหรับผม วัดไผ่โรงวัวคือตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของการออกแบบพื้นที่วัดสมัยใหม่ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางคิดคิดและความเชื่อทางพุทธศาสนาหลายอย่างในราวทศวรรษ 2510-2520 ที่เข้ามาส่งผลกระทบโดยตรงต่อการออกแบบวัด เขตธรณีสงฆ์ยกระดับความสำคัญกลายเป็นจุดขายใหม่ของวัด

ขณะที่เขตพุทธาวาสกลายเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมีแต่มิใช่เป้าหมายหลักของการสร้างวัดอีกต่อไป

 

ดังที่กล่าวไว้ในสัปดาห์ก่อน วัดหลายแห่งเลือกโมเดลในการพัฒนาเขตธรณีสงฆ์โดยให้ภาครัฐหรือนายทุนเข้ามาเช่าเพื่อพัฒนาเป็นโครงการต่างๆ เช่น โรงเรียน ตึกแถว โรงแรม เวทีมวย ฯลฯ ซึ่งหลายกรณีก่อให้เกิดภาพลักษณ์เชิงลบต่อวัด ทำให้วัดหลายแห่งไม่เลือกโมเดลการพัฒนาในแบบดังกล่าว สำคัญที่สุดคือ ตำแหน่งที่ตั้งของวัดเป็นจำนวนมากมิได้อยู่ในเขตเมืองราคาแพงที่สามารถนำพื้นที่วัดมาปล่อยเช่าทำธุรกิจที่จะทำกำไรได้มาก

ดังนั้น โมเดลแบบวัดไผ่โรงวัวที่เลือกพัฒนาเขตธรณีสงฆ์ไปในแนวทางที่ปรับแปลง ขยายความ ไปจนถึงตีความความเชื่อทางพุทธศาสนาใหม่ โดยผสมผสานเข้ากับพุทธพาณิชย์และการขยายตัวมากขึ้นของวิถีชีวิตแบบใหม่ที่การท่องเที่ยวได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของมนุษย์ จึงกลายมาเป็นทิศทางสำคัญของการออกแบบวัดในยุคสมัยใหม่

อย่างไรก็ตาม กรณีวัดไผ่โรงวัว (ที่เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญชิ้นหนึ่งของปรากฏการณ์วัดปาฏิหาริย์พาณิชย์) เราไม่อาจมองข้ามเงื่อนไขทางเทคโนโลยีประการหนึ่งที่เข้ามามีส่วนสำคัญทำให้ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นได้

นั่นก็คือการขยายตัวอย่างมากของ “คอนกรีตเสริมเหล็ก” ในสังคมไทยยุคหลัง พ.ศ.2475 ซึ่งได้เข้ามาปลดปล่อยจินตนาการในการออกแบบที่ในอดีตเคยได้แต่คิด ให้เกิดกลายมาเป็นรูปธรรมทางสถาปัตยกรรมจริงๆ ที่สามารถจับต้องได้