สนทนาทิศทาง Start Up ไทย กับ “ธนโชติ วิสุทธิสมาน” ธุรกิจมาแรง ยังไปต่อได้หรือไม่?

เมื่อพูดถึงรูปแบบการทำธุรกิจในปัจจุบัน โดยเฉพาะในยุคของเทคโนโลยีดิจิตอลที่เข้ามาเชื่อมโยงกับทุกมิติของชีวิต “สตาร์ตอัพ” จัดเป็นโมเดลหนึ่งที่มาแรงที่สุด และเป็นตัวเลือกอันดับต้นของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ที่ต้องการมีธุรกิจเป็นของตัวเองและสามารถทำรายได้อย่างมากด้วยต้นทุนที่ไม่สูงมาก

ธุรกิจสตาร์ตอัพได้ถือกำเนิดและเติบโต โดยเฉพาะประเทศที่โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีเข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็นกูเกิล เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ล้วนเป็นบริษัทดิจิตอลแพลตฟอร์มที่มีชื่อเสียง เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ส่งผลให้เกิดความปั่นป่วนต่อธุรกิจดั้งเดิมจำนวนมาก

หลายบริษัทจึงต้องปรับตัวหันตัวเองเข้าสู่ดิจิตอลมากขึ้น แทนที่จะอยู่กับที่และรอวันตาย

สำหรับประเทศไทย สตาร์ตอัพได้เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แม้จะมีหลายบริษัทเกิดขึ้น แต่ก็มีบ้างที่โตเร็ว บางแห่งโตค่อยเป็นค่อยไป

ในขณะเดียวกันสตาร์ตอัพที่เข้มแข็งจากต่างประเทศก็เข้ามาขยับขยายในตลาดเมืองไทยพร้อมได้เงื่อนไขพิเศษจากรัฐบาลไทย

จนมีความกังวลว่าสตาร์ตอัพแบรนด์คนไทยจะมีโอกาสเติบโตและแข่งขันกับต่างชาติได้หรือไม่?

 

ธนโชติ วิสุทธิสมาน หรือเดียร์ ซีอีโอหนุ่มไฟแรงแห่ง LIKEME Agency บริษัทที่ปรึกษาด้านดิจิตอลคอนเทนต์เพื่อการตลาดยุคใหม่ มองทิศทางของสตาร์ตอัพไทยในปัจจุบันว่า ตอนนี้อยู่ในภาวะทรงตัว

ซึ่งสตาร์ตอัพในประเทศไทยเกิดขึ้นมาได้ 6-7 ปีก่อน แล้วมาบูมเมื่อ 3-4 ปีก่อน ทุกคนได้รับการลงทุนเยอะมาก แต่ปัจจุบันยังไม่มีใครกลายเป็นดาวเด่นที่ขายบริษัทให้กับต่างชาติในราคาแพงหรือเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้

เพราะฉะนั้น ทุกวันนี้พอไม่มีฮีโร่ที่ขายบริษัทได้แบบนั้น เลยไม่มีการลงทุนใหญ่ๆ รอบต่อไปหรือทำให้คึกคัก เลยทำให้ตอนนี้อยู่ในภาวะทรงตัวเพื่อรอฮีโร่

เมื่อถามว่าเกี่ยวข้องกับโครงสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศหรือไม่ ธนโชติกล่าวว่า ไม่เกี่ยวข้องกัน แต่เกี่ยวกับคนที่ประสบความสำเร็จ ถ้าใครสำเร็จและขายบริษัทได้ นักลงทุนก็จะกล้าลงทุนต่อ ทุกวันนี้กลายเป็นคำถามกับไทยว่า ทำไมประเทศเพื่อนบ้านรอบไทยกลายเป็น “ยูนิคอร์น” (ธุรกิจที่มีมูลค่าระดมทุนเกินกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) กันหมด เหลือไทยประเทศเดียวที่ยังไม่มี แม้กระทั่งตัวเล็กๆ ก็ยังไม่มี

แต่คาดว่าภายใน 2 ปี จะมีสตาร์ตอัพที่เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ได้หรือขายบริษัทได้ในราคาที่โอเค

 

เมื่อถามถึงปัจจัยที่มีลักษณะเป็นอะนาล็อก จะสามารถเอื้อต่อสตาร์ตอัพในฐานะรูปธรรมของวัฒนธรรมดิจิตอลได้จริงแค่ไหน ธนโชติกล่าวว่า ยังไปต่อได้ แต่ต้องขอเวลาปรับโครงสร้างอีกเล็กน้อย เราอาจมองว่าประเทศไทยยังเป็นวิถีแบบอะนาล็อกอยู่ แต่ถ้าเราอ่านรายงานวิจัยต่างๆ เกี่ยวกับคนใช้มือถือต่างๆ ใช้โซเชียลหรือปรับตัวกับการใช้แอพพลิเคชั่นใหม่ๆ หรือแลกเปลี่ยนซื้อขายในอีคอมเมิร์ซ เราอยู่ในอันดับต้นๆ

การที่บอกว่าเราอยู่ในประเทศอะนาล็อก ทำให้คนไม่ปรับตัวกับเทคโนโลยี ผมว่าไม่ใช่ แต่ในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานในระบบกลไกทำงาน อาทิ การโอนเงิน การทำธุรกรรมสำคัญยังสะดุด เพราะโครงสร้างพื้นฐานยังไม่เปิด

พอไม่เปิดปุ๊บ ธุรกรรมทำไม่ได้ผ่านออนไลน์ และไม่มีการเปิดให้สตาร์ตอัพหรือให้บริษัทด้านเทคโนโลยีสามารถเข้ามาควบคุมกลไกต่างๆ ได้ เลยไม่ไปถึงระดับธุรกรรมในชีวิตประจำวัน

ต้องรอให้รัฐบาลและตัวบริษัทขนาดใหญ่เปิดด้วย

 

รัฐบาลไทยยุค คสช.จนถึงปัจจุบันประกาศส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตอล ซึ่งยังเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติเข้ามาพร้อมกับดึงเทกสตาร์ตอัพต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจในไทยด้วยสิทธิพิเศษที่เอื้อมากกว่าส่งเสริมสตาร์ตอัพภายในประเทศ

จนเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว สมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ ได้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) พิจารณาการหาทางออกในการวางนโยบายแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น สนับสนุนและส่งเสริมสตาร์ตอัพไทย

รวมถึงป้องกัน “เอกราชทางดิจิตอล” ของประเทศ พร้อมข้อเสนอ 3 ข้อเพื่อช่วยเหลือสตาร์ตอัพไทย ธนโชติมองท่าทีดังกล่าวว่า เพราะรัฐบาลไทยอยากได้เงินลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระดับสั้น แต่ลืมคิดถึงการเติบโตระยะยาวของธุรกิจในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งตอนนี้เทคโนโลยีกำลังเป็นโครงสร้างพื้นฐานใหม่ของประเทศ คล้ายกับการส่งเสริมให้กับกลุ่มธนาคารหรือโทรคมนาคมในยุคก่อน

“ถ้าเราเปิดให้บริษัทต่างชาติที่เข้ามาในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น อีคอมเมิร์ซ หรือขนส่งอย่างแกร็บ แปลว่าเราไม่สามารถมีธุรกิจของคนไทยได้อีกแล้ว เอาเข้าจริง บริษัทเทกสตาร์ตอัพในทุกประเทศก็คือกลุ่มเดียวกัน ถ้าเราเปิดให้ต่างประเทศเข้ามาทำแล้วคนไทยจะหมดโอกาสที่จะไปสู้กับเขา เพราะเป็นบริษัทต่างชาติที่ประสบความสำเร็จในประเทศบ้านเกิด ประเทศไทยเกิดทีหลังเขาหลายปี เพราะฉะนั้น เมื่อพวกเขาสำเร็จ ก็เอาเงินลงทุนทั้งหมดและวิธีการทำได้ทันที” ธนโชติกล่าว และว่า

เพราะฉะนั้น จึงไม่มีพื้นที่ให้กับสตาร์ตอัพได้เติบโต แปลว่าโครงสร้างพื้นฐานด้านนั้น บริษัทของคนไทยจะไม่ได้สร้างอีกแล้ว ยิ่งในระยะยาวด้วยแล้ว เราจะอ่อนเปลี้ยมากขึ้น

 

ปรากฏการณ์ความปั่นป่วนทางดิจิตอลและการเกิดขึ้นของสตาร์ตอัพในฐานะการเปลี่ยนแปลงทางดิจิตอล ธนโชติกล่าวว่า 2 สิ่งนี้เกิดขึ้นพร้อมกัน เทคโนโลยีได้ทำให้เกิดการดิสรัปต์ และการดิสรัปต์ก็เกิดขึ้นโดยสตาร์ตอัพ

ที่สำคัญคือ การดิสรัปต์นั้นน่ากลัว เพราะว่าวิธีการทำธุรกิจเปลี่ยนไป เราเคยซื้อมาขายไป คนที่อยู่ใกล้เคียงกับร้านที่เปิด แต่ตอนนี้เราสามารถขายของให้กับคนที่อยู่ห่างไกลได้ หน้าร้านจะน้อยลง สามารถหาลูกค้าใหม่ได้มากขึ้น คนเก่งมีรายได้เยอะขึ้น ส่วนคนที่ตามไม่ทันก็ล้มหายจากไป

“ความน่ากลัวคือ คนที่ตามไม่ทันนั้นมีมากกว่าคนที่เก่ง เพราะฉะนั้น เวลาเกิดดิสรัปต์ขึ้นมา แปลว่างานเก่าๆ ที่หายไปมีปริมาณมาก แต่งานใหม่ที่เข้ามาทดแทนยังไม่เพียงพอ”

ธนโชติกล่าว

 

เมื่อถามว่าไทยพร้อมแค่ไหนในการรับมือกับภาวะดิสรัปชั่นทางดิจิตอล ธนโชติมองว่า ยังไม่พร้อม เพราะทักษะด้านเทคโนโลยี ความเข้าใจในการใช้ และการใช้เทคโนโลยีหาเงินในต่างประเทศ ปัญหาคือ การใช้เทคโนโลยีอย่างชาญฉลาด แล้วก็เม็ดเงินที่ใช้กับเทคโนโลยีก็ไม่ได้ทำให้กล้าขายของ อีคอมเมิร์ซไม่ได้ทำเงินเยอะมาก เมื่อเทียบกับตัวแพลตฟอร์มที่ทำเงินจากให้คนมาขายของ

อีกสิ่งที่สำคัญคือ องค์ความรู้ คนเตรียมตัวไม่ทัน เราคนไทยถูกสอนให้เป็นคนค้าขาย เราคุ้นชินกับวิธีการเดิมๆ มานานแล้วคิดว่าสามารถใช้ในชีวิตของเรา ไม่ได้เตรียมใจสำหรับการเรียนรู้สิ่งใหม่ เรามักถูกสอนทำธุรกิจเพื่อส่งมอบให้กับลูกหลาน แต่ยุคนี้ไม่สามารถทำอย่างนั้นได้ แค่ให้ไม่ตายก่อนเราตายก็ยากแล้ว

และเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับผู้เชี่ยวชาญหรือแรงงานที่ไม่ใช่มนุษย์

 

ทั้งนี้ สิ่งที่จะทำให้สตาร์ตอัพสัญชาติไทยเติบโตนั้นคือ การมีนโยบายที่ส่งเสริมของไทยและกีดกันธุรกิจจากต่างชาติ สมมุติว่า ถ้าตลาดโฆษณามีมูลค่าแสนล้านหมุนเวียนอยู่กับไทย แต่วันนี้แสนล้านอาจขายในไทยแต่กลับอยู่ในมือคนไทยแค่หมื่นล้าน

นี่คือเงินที่หายไป นี่แหละที่ว่าทำไมเศรษฐกิจถึงไม่ดี สิ่งที่ทำให้เศรษฐกิจไม่ดีคือการเปลี่ยนแปลงและทำให้เงินหายไปจากระบบของเรา

เมื่อมองถึงหน่วยงานรัฐที่มีบทบาทต่อธุรกิจประเภทนี้ ธนโชติมองว่า หน่วยงานเหล่านี้ส่งเสริมในช่วงเริ่มต้นได้ แต่ไม่สามารถส่งเสริมให้ใหญ่โตได้ ในที่นี้คือช่วยในระดับที่สามารถหาลูกค้าเองได้ แต่สั้นเกินกว่าจะทำในสิ่งที่ยิ่งใหญ่และทำเงินได้มากๆ จนเป็นบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่

อินโดนีเซียและสิงคโปร์คือตัวอย่างที่รัฐส่งเสริมสตาร์ตอัพตั้งแต่ตั้งไข่จนถึงเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ได้

อีกเรื่องคือภาษาอังกฤษ ซึ่งสำคัญ เพราะเมื่อเราทำแพลตฟอร์มก็สามารถกระจายไปต่างประเทศได้เร็ว คนที่มีพื้นฐานทางภาษาดีก็สามารถบุกต่างประเทศได้ทันที