ปกรณ์เกียรติ ดีโรจนวานิช : รัฐนาฏกรรมกับเรือพระราชพิธี

เมื่อครั้งที่ ซิมง เดอ ลาลูแบร์ เดินทางเข้ามาอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ พร้อมกับคณะทูตฝรั่งเศสของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เขาได้พบกับขบวนเรือพระราชพิธีอันโอ่อ่ายิ่งใหญ่ จนดูราวกับว่าสิ่งที่เขาเห็นเป็นฉากบน “เวทีละคร”

“ข้าพเจ้าสารภาพว่า เมื่อเอกอัครราชทูตพิเศษแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (กรุงฝรั่งเศส) เคลื่อนเข้าสู่ล้ำแม่น้ำ (เจ้าพระยา) นั้น ความสง่างามของริ้วขบวนแห่แหนทำให้ข้าพเจ้าได้รับความประหลาดใจอย่างไม่นึกฝันเป็นอันมาก … เป็นเวทีละครอันงามยิ่งของโลกสำหรับประกอบงานเฉลิมฉลองได้อย่างโก้และภูมิฐานนัก” ลาลูแบร์เล่า

พอลาลูแบร์บอกพวกเราว่า สิ่งที่เขาเห็นดูราวกับ “เวทีละคร” ทำให้ผมนึกไปถึงคำว่า “รัฐนาฏกรรม”

“รัฐนาฏกรรม” เข้าใจว่าเป็นคำแปลมาจาก “The Theater of State” ในงานของ Clifford Geertz ที่อธิบายถึงการแสดงอำนาจของชนชั้นปกครองในบาหลีช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ผ่านพิธีกรรมที่มีตัวละคร มีฉากดำเนินเรื่อง มีการสนองตอบของผู้ชม

อันเป็นเครื่องมือที่ใช้ยืนยันอำนาจการปกครองของกษัตริย์ผู้มีสถานะเป็นดั่งเทพเจ้า

เมื่อย้อนกลับมาดูของไทยแล้ว พบว่าจริงๆ แล้วไทยเราเองก็มีพิธีกรรมที่พอจะอธิบายเรื่องรัฐนาฏรรมได้อยู่บ้าง จึงอยากใช้พื้นที่ตรงนี้อธิบายความเปลี่ยนแปลงของรัฐนาฏกรรมกับเรือพระราชพิธี ให้ผู้อ่านได้เห็นภาพแบบพอสังเขป

 

รัฐนาฏกรรมอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์
และการปกครองของเทพเจ้า

อํานาจอันสูงสุดของกษัตริย์ยุคโบราณนั้นยึดโยงอยู่กับความเชื่อทางศาสนาที่สถาปนาให้กษัตริย์ทรงอิทธิฤทธิ์ดุจดั่งเทพเจ้าหรือทรงธรรมดั่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ถ้าหากขาดซึ่งความเชื่อทางศาสนาแล้ว กษัตริย์ก็ไม่สามารถใช้อำนาจในการปกครองได้ ดังที่เราจะเห็นได้ว่าเมื่อกษัตริย์พระองค์ใดไม่ยึดโยงตนเองเข้ากับความเชื่อทางศาสนาที่สถาปนาอำนาจให้กับตัวเองได้แล้ว ความชอบธรรมในการปกครองก็เป็นอันหมดสิ้นลงไปด้วย

จึงไม่แปลกแต่อย่างใดที่กษัตริย์ในยุคโบราณจะถือว่าพระองค์ไม่ใช่บุคคลธรรมดาสามัญแต่เป็นสมมุติเทพที่ลงมาปกครองมนุษย์ ฉะนั้น กษัตริย์จึงต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อแสดงถึงพระราชอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์เพื่อยืนยันว่าพระองค์คือร่างอวตารของเทพเจ้าจริงๆ

ดังนั้น พิธีกรรมจึงกลายเป็นสิ่งสำคัญในการยืนยันอำนาจของกษัตริย์ เช่น พระราชพิธี 12 เดือน และ พิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ถือเป็นสิ่งยืนยันว่า “รัฐนาฏกรรม” เป็นสิ่งสำคัญในการใช้อำนาจกษัตริย์

อย่างพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ก็เป็นพิธีกรรมเสริมสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้กับกษัตริย์อยุธยา โดยขุนนางข้าราชบริพารทั้งหลายจะต้องเข้าทำพิธีเพื่อทำการสาบานตนว่าจะจงรักภักดีต่อกษัตริย์ หากขุนนางคนใดไม่เข้าพิธีมีโทษถึงชีวิต

การประกอบพิธีกรรมนั้นจะมีพราหมณ์เป็นผู้ทำพิธีโดยการนำศาสตราวุธของกษัตริย์จุ่มลงในน้ำ แล้วนำน้ำนั้นให้ขุนนางข้าราชบริพารทั้งหลายกิน และเพื่อเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ยำเกรงให้แก่น้ำจุ่มเหล็กนี้

พราหมณ์ได้อ่านโคลงเพื่อทำการแช่งน้ำให้เต็มไปด้วยคำสาปแช่งเอาชีวิตแก่ผู้ที่คิดขบถต่อกษัตริย์ หรืออวยพรให้แก่ขุนนางผู้จงรักภักดี

และการจะทำให้ขุนนางผู้เข้าทำพิธีเกิดความเกรงขามและกลัวต่อพิธีกรรมจริงๆ ในโองการแช่งน้ำนั้น ได้มีการอัญเชิญเทพตรีมูรติลงมาแสดงอิทธิฤทธิ์ต่างๆ เชิญพระพุทธเจ้าและพญามาร ผีสางเทวดา หมาหมีเสือ มาเป็นสักขีพยานในการสาบานตนของขุนนางต่อกษัตริย์

จะเห็นได้ว่าพิธีกรรมใน “รัฐนาฏกรรม” ไม่ใช่เป็นเพียงการปกครองทางกายภาพเท่านั้น แต่ลงลึกเข้าไปถึงความคิดของผู้คนในพิธีผ่านความเชื่อทางศาสนาที่มีร่วมกัน

และพิธีกรรมที่เกิดขึ้นได้ตอกย้ำให้ผู้ร่วมพิธีเห็นสถานะความต่างระหว่างกษัตริย์กับผู้อยู่ใต้ปกครองและได้กำหนดตำแหน่งแห่งที่ความสัมพันธ์ว่าใครคือเทพเจ้า ใครคือผู้อยู่ใต้ปกครอง โดยใช้พิธีกรรมแสดงอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ของกษัตริย์ออกมาให้ผู้ร่วมพิธีได้รับรู้ด้วย

 

ขบวนเรือพระราชพิธี
ในฐานะฉากหนึ่งของ “รัฐนาฏกรรม”

ในหนังสือ พระเสด็จโดยแดนชล ของ รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ ช่วงหนึ่งได้อธิบายถึงความสำคัญของโขลนเรือพระราชพิธีไว้อย่างน่าสนใจ

กล่าวคือ โขลนเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ อนันตนาคราช และนารายณ์ทรงสุบรรณนั้น เป็นโขลนเรือสัตว์พาหนะของเทพเจ้า เช่น หงส์เป็นสัตว์พาหนะของพระพรหม ครุฑและนาคเป็นสัตว์พาหนะของพระนารายณ์

รวมไปถึงโขลนเรือต่างๆ ในเรือพระราชพิธีที่เป็นรูปสัตว์ป่าหิมพานต์ หรือที่เป็นโขลนเรือรูปบริวารของพระนารายณ์

องค์ประกอบเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าขบวนเรือพระราชพิธีที่กษัตริย์ประทับอยู่บนเรือพระที่นั่งที่มีโขลนเรือเป็นสัตว์พาหนะของเทพเจ้า แสดงนัยว่าพระองค์เป็นเทพเจ้ามิใช่มนุษย์ และขบวนเรือพระราชพิธีจึงมิใช่ขบวนเรือของมนุษย์ แต่เป็นขบวนเสด็จของเทพเจ้า

ดังนั้น สิ่งที่ตามมาก็คือ อำนาจบารมีอันศักดิ์สิทธิ์ที่ละเมิดมิได้ ผู้ที่เข้าร่วมพิธีกรรมในฉากนี้จึงต้องรับบทบาทอันสอดคล้องไปด้วย

ในกฎหมายตราสามดวง ได้ระบุถึงหลักปฏิบัติของผู้ร่วมพิธีกรรมฉากนี้ไว้อย่างชัดเจนว่า หากมีผู้ใดเข้าใกล้เรือพระที่นั่งของกษัตริย์ (เทพเจ้า) แม้จะเป็นเจ้านายชั้นสูง ขุนนาง หรือเป็นเพียงชาวบ้านก็ตาม ให้ขว้างด้วยอิฐ ไม้ หรือดาบได้ทันที

นอกจากนี้ ลาลูแบร์ และแชรแวส ชาวฝรั่งเศสที่เป็นผู้มีโอกาสได้เห็นฉากขบวนเรือพระราชพิธี (ขบวนเสด็จของเทพเจ้า) ก็ได้เล่าถึงบทบาทของผู้เข้าร่วมอยู่ในฉาก “รัฐนาฏกรรม” ไว้อย่างน่าสนใจว่า

“ขบวนแห่ทางชลมารคนี้งดงามมาก และเป็นระเบียบเรียบร้อยน่าพึงชม เพราะได้มีการเตรียมการล่วงหน้าไว้ตั้งสองหรือสามวันเป็นอย่างน้อย ทุกแห่งที่พระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จพระราชดำเนินผ่านไป จะได้รับคำสั่งให้กระทำดังนี้ คือ หนึ่ง ทุกคนจะต้องสร้างรั้วกั้นหน้าบ้าน ให้มีความสูงพอที่จะไม่แลลอดสอดมาเห็นพระองค์ หรือพระองค์ทอดพระเนตรเห็นในขณะที่เสด็จผ่านไปได้ สอง ให้ปิดประตูหน้าต่างเสียทันที เมื่อได้ยินเสียงปี่และกลองนำขบวนเสด็จพระราชดำเนินมา สาม ต้องสงบปากสงบเสียง จนกว่าจะได้เสด็จพระราชดำเนินผ่านไปแล้ว” แชรแวสเล่า

“ถ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จยาตราขบวนผ่านไป ขุนนางจะลงจากที่นั่งลงสู่พื้นนั้นและหมอบถวายบังคมอยู่ บรรดาคนในเรือก็จะต้องลงหมอบสิ้น จะเดินทางต่อไปได้ก็ต่อเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จผ่านจนลับตาแล้วเท่านั้น” ลาลูแบร์เล่า

ในเมื่อขบวนเรือพระราชพิธี คือขบวนเรือของเทพเจ้า ดังนั้น บทบาทที่ผู้อื่นในพิธีกรรมฉากนี้ได้รับจึงเป็นเพียงมนุษย์ธรรมดาสามัญที่เกรงกลัวต่อเทพเจ้าและนบนอบสยบยอม การที่ผู้ร่วมฉากแสดงบทบาทที่ต่างออกไปถือเป็นการท้าทายอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ของเทพเจ้า อันจะนำไปสู่ความตายเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม แม้ผู้ที่เข้าร่วมฉากจะไม่สามารถมองเห็นพิธีกรรมที่เกิดขึ้นทั้งหมดได้ กล่าวคือ ไม่สามารถจ้องมองหรือดูขบวนเรือพระราชพิธีได้หากไม่ได้รับอนุญาต แต่พวกเขายังสามารถสัมผัสพิธีกรรมนี้ได้ผ่านบรรยากาศที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัว

รวมถึงเสียงจากขบวนเรือพระราชพิธีด้วย (อย่างไรก็ดี แชรแวสระบุว่า ในพิธีแข่งเรือไล่น้ำ ราษฎรได้รับอนุญาตให้ดูพระราชพิธีที่ดำเนินไปด้วยได้ เพราะเป็นพิธีที่กษัตริย์จะได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ ให้ราษฎรได้ประจักษ์)

“เรือพระที่นั่งนั้นใช้พวกฝีพายพวกแขนแดงซึ่งมีความชำนาญมาก และได้รับเลือกเฟ้นมาเป็นพิเศษ ทุกคนสวมหมวก เสื้อเกราะ ปลอกเข่า และปลอกแขนทำด้วยทองคำทั้งสิ้น น่าดูแท้ๆ เวลาเขาพายพร้อมๆ กันเป็นจังหวะจะโคน พายนั้นทาทองเหมือนกัน เสียงพายกระทบกันเบาๆ ประสานกับทำนองเพลงที่เขาเห่ยอพระเกียรติพระเจ้าแผ่นดิน เป็นคล้ายเสียงดนตรีที่เสนาะโสตของพวกชาวบ้านชาวเมืองเป็นอันมาก” แชรแวสเล่า

บันทึกของลาลูแบร์สามารถช่วยยืนยันได้ว่า ขบวนเรือพระราชพิธีใช้เสียงเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์

“โสตประสาทนั้นได้รับความสำราญจากเสียงกึกก้องไพเราะ ด้วยเสียงเห่ เสียงโห่และเสียงกระจับปี่สีซอ สิ่งเหล่านี้ไม่เหลือรอยให้คิดว่าโดยธรรมดาแล้วน่านน้ำนี้ก็มีแต่ความเงียบอยู่เป็นนิตย์”

และในบทกาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้ากุ้ง ก็ได้ระบุถึงเสียงดนตรีในขบวนพระราชพิธีไว้ด้วยเช่นกันว่า

“ดนตรีมี่อึงอล ก้องกาหลพลแห่โรม

โห่ฮึกครึกครื้นโครม โสมนัสชื่นรื่นเริงพล”

“รัฐนาฏกรรม” ทำงานผ่านการรับรู้ฉากในพิธีกรรมของผู้เข้าร่วม และไม่จำเป็นที่จะต้องมองเห็นพิธีกรรมทั้งหมด เพียงแต่ได้เป็นส่วนหนึ่งของพิธีได้แสดงบทบาทที่เหมาะที่ควร ก็ทำให้ผู้อยู่ร่วมฉากรัฐนาฏกรรมรับรู้สถานะตำแหน่งแห่งที่ของตนเองแล้ว

ฉะนั้น ขบวนเรือพระราชพิธีจึงไม่ใช่เป็นเพียงขบวนเสด็จทางชลมารคของกษัตริย์อย่างธรรมดาๆ เท่านั้น แต่หากมองให้ดีแล้ว เราจะเห็นว่าขบวนเรือพระราชพิธีมีหน้าที่สำคัญในการกระตุ้นให้ผู้อยู่ใต้ปกครองรับรู้เสมอว่าพวกเขาถูกปกครองโดยองค์เทพที่สามารถบันดาลให้ฝนฟ้าตกต้องดังใจ ข้าวปลาอุดมสมบูรณ์ หรือบันดาลความตายให้แก่ผู้ที่ท้าทายอำนาจเทพเจ้าด้วยก็ได

ม่านรัฐนาฏกรรมใหม่
กับขบวนเรือพระราชพิธี

ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของรัฐนาฏกรรมในไทยคือ พิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ของกษัตริย์ค่อยๆ เสื่อมความหมายลง พระราชพิธีที่ประกอบขึ้นโดยเทพเจ้าหายไป พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงความหมายของกษัตริย์

หากจะต้องให้ตั้งหมุดหมายความเปลี่ยนแปลงนี้ ผู้เขียนอยากจะปักไว้ที่ช่วงรัชกาลที่ 4

การที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ออก “ประกาศยกเลิกการยิงกระสุนแลอนุญาตให้ราษฎรเฝ้าได้ในทางเสด็จพระราชดำเนิน” ทำให้ราษฎรไม่จำเป็นต้องปิดประตูแอบหลบอยู่ในบ้านอีกต่อไป แต่ราษฎรสามารถออกมาชื่นชมพระบารมีของกษัตริย์ได้อย่างเต็มตา

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ ความหมายของเรือพระราชพิธีที่เปลี่ยนไปในสมัยของพระองค์ เป็นที่เราทราบกันดีว่า เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณนั้น แต่เดิมชื่อเรือ มงคลสุบรรณ เป็นเรือที่มีโขลนเรือเป็นครุฑเท่านั้น แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงให้สร้างรูปพระนารายณ์เสริมไปบนหลังครุฑด้วย

หากเราเข้าใจว่า ขบวนเรือพระราชพิธีเป็นขบวนเสด็จของเทพเจ้า การที่กษัตริย์ประทับอยู่บนเรือที่มีโขลนเป็นรูปสัตว์พาหนะของเทพเจ้านั้น ก็มีนัยว่าพระองค์คือเทพเจ้าองค์นั้น แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้สร้างรูปพระนารายณ์เสริมเข้าไปบนครุฑแล้ว ก็เท่ากับเป็นการประกาศว่าพระองค์นี้มิใช่เทพเจ้า และขบวนเรือมิใช่ขบวนเรือของเทพเจ้า แต่เป็นขบวนเรือของกษัตริย์ที่เป็นมนุษย์ผู้หนึ่งเท่านั้น

การปรับเปลี่ยนพิธีกรรมในขบวนเรือพระราชพิธี จึงเท่ากับเป็นการปรับเปลี่ยนความหมายของรัฐนาฏกรรม

ดังนั้น การเข้าร่วมพิธีกรรมของราษฎรในช่วงรัชกาลที่ 4 จึงปรับเปลี่ยนไปด้วย เพราะราษฎรจะได้ชื่นชมพระบรมโพธิสมภารบุญบารมีของกษัตริย์ ได้เห็นตัวผู้ปกครอง และได้รับรู้ถึงอำนาจอันยิ่งใหญ่ที่แสดงผ่านพิธีกรรมอันโอ่อ่าอลังการด้วยความชื่นชมโสมนัส

ดังที่เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ได้บันทึกไว้ในพงศาวดารสมัยรัชกาลที่ 4 ไว้ว่า

“รุ่งขึ้น ณ วันพุธ เดือนหก แรมหกค่ำ เสด็จออกเลียบพระนครทางชลมารค พวกข้าทูลละอองผู้ใหญ่ผู้น้อย ราษฎรไพร่บ้านพลเมืองไทย-จีน ที่อยู่แพอยู่เรือนริมน้ำชวนกันตั้งโต๊ะเครื่องบูชาอย่างไทย-จีน จุดประทีปธูปเทียนกระทำสักการบูชารับเสด็จรอบพระนคร มีความชื่นชมโสมนัสยินดียิ่งนัก”

 

ดังนั้น ฉากขบวนเรือพระราชพิธีอันเป็นส่วนหนึ่งของรัฐนาฏกรรมไทย

จึงไม่ได้ทำหน้าที่กระตุ้นเตือนให้ราษฎรสำนึกถึงอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ของเทพเจ้าอีกต่อไป

แต่ฉากขบวนเรือพระราชพิธีในรัฐนาฏกรรมหลังรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมาได้สร้างความหมายใหม่ของรัฐนาฏกรรมในฐานะพิธีกรรมที่ใช้เชิดชูความยิ่งใหญ่และพระเกียรติของกษัตริย์ที่มีความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่เทพเจ้าที่ราษฎรประชาชนต้องก้มหมอบด้วยความหวาดกลัว

แต่สามารถเข้าร่วมพิธีกรรมเพื่อชื่นชมพระบารมีของกษัตริย์ และมีบทบาทส่วนร่วมมากกว่าที่เคยเป็นมา

อันเป็นการตอกย้ำว่า รัฐนาฏกรรมสมัยใหม่มิได้ปกครองด้วยความหวาดกลัว แต่ปกครองด้วยพระเกียรติและพระบารมี

———————————————————————————————————————
หนังสืออ้างอิง

ลาลูแบร์. จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม. แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร. พิมพ์ครั้งที่ 2. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2549.

แชรแวส, นิโกลาส์. ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม (ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช). แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร. พิมพ์ครั้งที่ 2 นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2550.

ศานติ ภักดีคำ. พระเสด็จโดยแดนชล เรือพระราชพิธีและขบวนพยุหยาตราทางชลมารค. กรุงเทพฯ : มติชน, 2562.

จิตร ภูมิศักดิ์. โองการแช่งน้ำและข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : ฟ้าเดียวกัน, 2547.