วรศักดิ์ มหัทธโนบล : เรื่องรัก-ชัง ของหลี่ซื่อหมินกับพี่น้อง

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

สุย-ถังกับนานาวิสาสะสมัย (14)
กำเนิดถัง (ต่อ)
ภราดรฆาตที่เสีว์ยนอู่เหมิน

จําเดิมก่อนจะตั้งตนเป็นใหญ่นั้น หลี่ยวนมีบุตรสี่คนและธิดาหนึ่งคน บุตรสี่คนมีโดยลำดับคือ หลี่เจี้ยนเฉิง (ค.ศ.589-626) หลี่ซื่อหมิน (ค.ศ.598-649) หลี่หยวนป้า (ค.ศ.599-614) และหลี่หยวนจี๋ (ค.ศ.603-626) โดยบุตรคนที่สามได้เสียชีวิตตั้งแต่ยังเยาว์วัย ทิ้งไว้แต่เรื่องเล่าที่สร้างสีสันให้แก่ราชวงศ์ถังเท่านั้น1

ครั้นเมื่อหลี่ยวนตั้งตนเป็นใหญ่แล้ว บุตรทั้งสี่ต่างก็มีส่วนร่วมในการโค่นล้มสุยและทำศึกกับกบฏอื่น แต่การมีส่วนร่วมของแต่ละคนมีบทบาทที่แตกต่างกันไป และผู้ที่มีบทบาทโดดเด่นที่สุดคือหลี่ซื่อหมิน

ครั้นเมื่อหลี่ยวนตั้งราชวงศ์ถังขึ้นแล้วก็ตั้งให้หลี่เจี้ยนเฉิงเป็นรัชทายาทตามธรรมเนียมปฏิบัติในฐานะโอรสองค์โต

อย่างไรก็ตาม การที่หลี่ซื่อหมินมีบทบาทที่โดดเด่นนั้น ทำให้เขาได้รับตำแหน่งที่สำคัญมากขึ้น จนยังความหวาดระแวงมาให้แก่พี่น้องอีกสองคน ว่าหลี่ซื่อหมินอาจแย่งชิงอำนาจจากถังเกาจู่ได้ในวันหนึ่ง

ความหวาดระแวงนี้จึงนำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่างพี่น้องกันเอง

จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญในเวลาต่อมา

 

โดยทั่วไปแล้วบันทึกประวัติศาสตร์ตามมาตรฐาน (Standard History) จะบอกเล่าเรื่องราวช่วงนี้ของหลี่เจี้ยนเฉิงและหลี่หยวนจี๋ในแง่ลบ ว่าหลี่เจี้ยนเฉิงซึ่งเป็นรัชทายาทนั้นมีนิสัยป่าเถื่อน เกเร และสุราบาน

ส่วนหลี่หยวนจี๋มักหมกมุ่นอยู่กับการล่าสัตว์ เป็นคนเจ้าเล่ห์เวลามีศึก ตัณหาจัด อีกทั้งยังมีความรื่นรมย์ในการใช้ความรุนแรง (sadistic)

การให้ภาพที่ตรงไปตรงมาเช่นนี้ ถือเป็นผลจากความจงใจที่จะบิดเบือนด้วยการใช้ข้อมูลที่ยึดถือกันมาในช่วงนั้นใส่เข้าไปในบันทึก

ดังจะเห็นได้จาก สือลู่ หรือ บันทึกเรื่องจริง ที่บันทึกโดยนักประวัติศาสตร์คนสำคัญสมัยราชวงศ์ซ่งคือ ซือหม่ากวาง (ค.ศ.1019-1086) ที่ระบุว่า บันทึกที่ให้ภาพเชิงลบของหลี่เจี้ยนเฉิงและหลี่หยวนจี๋ดังกล่าวเป็นไปอย่างมีอคติ2

เหตุดังนั้น การศึกษาเหตุการณ์ในช่วงนี้จึงมีความน่าสนใจอยู่ตรงพัฒนาการของตัวเหตุการณ์เอง ว่าได้ดำเนินไปอย่างไรภายใต้ข้อมูลที่เป็น “เรื่องจริง” ก่อนที่ทุกอย่างจะจบลงด้วยเหตุการณ์ภราดรฆาตที่พี่น้องฆ่ากันเอง

 

ดังได้กล่าวไปแล้วว่า บทบาทของหลี่ซื่อหมินมีความโดดเด่นจนทำให้พี่และน้องของเขาเกิดความระแวงนั้น เรื่องราวนี้จึงย่อมมีหลี่ซื่อหมินเป็นศูนย์กลางของการบอกเล่า

โดยเล่าว่า เมื่อเขาได้ปราบกบฏขบวนการต่างๆ มาจนถึงเมื่อปราบกบฏในบริเวณภาคกลางและภาคใต้ของมณฑลเหอเป่ยกับเหอหนันได้ใน ค.ศ.621 แล้วนั้น ผลงานครั้งนี้ได้สร้างความยอมรับนับถือให้แก่หลี่ซื่อหมินมากขึ้น

แต่ก็เป็นช่วงเดียวกับที่หลี่เจี้ยนเฉิงกำลังทำศึกกับเติร์กที่ชายแดนทางเหนือ ซึ่งยังไม่ได้ชัยชนะพอที่จะสร้างเกียรติภูมิให้แก่ตนเองได้

จากเหตุนี้ ในปีเดียวกันนั้นถังเกาจู่ก็ได้ปูนบำเหน็จให้แก่หลี่ซื่อหมิน ด้วยการตั้งให้เขาเป็นผู้บัญชาการใหญ่แห่งภาคตะวันออก ที่ดูแลกิจการทั้งทางด้านการทหารและพลเรือน

ตำแหน่งนี้ทำให้หลี่ซื่อหมินทรงอิทธิพลขึ้นจนเป็นที่น่าเกรงขาม

และเป็นที่ท้าทายอำนาจของรัชทายาทอย่างหลี่เจี้ยนเฉิงไปโดยปริยาย

 

อิทธิพลของหลี่ซื่อหมินได้สะท้อนให้เห็นถึงนัยสำคัญในสองเรื่องด้วยกัน เรื่องหนึ่งคือ เขามีผู้ติดตาม 50 คนที่มีบทบาททางการทหารและพลเรือน ซึ่งล้วนเป็นบุคคลที่เขารับเข้ามาใหม่

อีกเรื่องหนึ่งคือ เขาได้ตั้งสำนักขึ้นมาสำนักหนึ่งชื่อสำนักอักษรศาสตร์ (เหวินเสี๋ว์ยกว่าน) ใน ค.ศ.621 สำนักนี้มีบัณฑิต 18 คนประจำอยู่ บัณฑิตเหล่านี้มีหน้าที่ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับกิจการของรัฐแก่หลี่ซื่อหมิน และมีส่วนสำคัญยิ่งในการแนะนำให้เขาก้าวขึ้นมาเป็นรัชทายาทในเวลาต่อมา

ทั้งสองเรื่องนี้หลี่ซื่อหมินทำโดยเปิดเผย แต่อีกในด้านหนึ่งก็ไม่ต่างกับการคุกคามฐานะองค์รัชทายาทของหลี่เจี้ยนเฉิงไปด้วย ขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นถึงความทะเยอทะยานทางการเมืองของหลี่ซื่อหมินเช่นกัน

การบ่อนเซาะฐานะของหลี่เจี้ยนเฉิงได้เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะเมื่อหลี่ซื่อหมินได้จัดตั้งกองกำลังของตนเองขึ้นมาเพื่อควบคุมฉังอัน กองกำลังนี้ประกอบไปด้วยชายหนุ่มที่รับเข้ามาใหม่ 2,000 คน แล้วให้ประจำการใกล้กับประตูฉังหลิน (ฉังหลินเหมิน) อันเป็นประตูทางเข้าที่ตำหนักของหลี่เจี้ยนเฉิง

กองกำลังนี้จึงมีชื่อเรียกว่ากองกำลังฉังหลิน (ฉังหลินปิง)

 

ข้างฝ่ายหลี่เจี้ยนเฉิงที่ตระหนักถึงการท้าทายดังกล่าว ก็ได้ตั้งรับด้วยการร่วมมือกับหลี่หยวนจี๋ ผู้ซึ่งมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับนางสนมของถังเกาจู่ โดยให้นางสนมเหล่านี้คอยเพ็ดทูลต่อถังเกาจู่ถึงแผนร้ายของหลี่ซื่อหมิน

สถานการณ์ที่หม่นมัวเช่นนี้จึงทำให้ทั้งสองฝ่ายเผชิญหน้ากันอย่างเงียบๆ ที่โดยสรุปแล้ว ในข้างหลี่ซื่อหมินยังไม่ได้มีกองกำลังในฉังอันมากกว่าที่กล่าวมาข้างต้น ฐานที่มั่นสำคัญของเขาจึงยังคงอยู่ที่ลว่อหยัง ในขณะที่ตัวเขาเองก็ยังมีภารกิจทางการทหารอยู่นอกเมืองหลวงที่ต้องปฏิบัติ ซึ่งก็คือการปราบกบฏขบวนการอื่น

สถานการณ์ที่หม่นมัวดังกล่าวดำรงเรื่อยมาจนถึง ค.ศ.614 เมื่อขุนศึกแห่งเมืองชิ่งโจว (ในมณฑลกานซู่ปัจจุบัน) ได้ก่อกบฏขึ้น ขุนศึกผู้นี้เคยเป็นองครักษ์ของหลี่เจี้ยนเฉิงมาก่อน และการก่อกบฏครั้งนี้ก็อ้างว่ากระทำไปในนามของหลี่เจี้ยนเฉิง

แต่หลี่เจี้ยนเฉิงปฏิเสธต่อการฉวยโอกาสของขุนศึกผู้นี้ และเสนอว่าจะร้องขอให้ถังเกาจู่ทรงอภัยโทษให้แก่เขาหากเขายุติการก่อกบฏ แต่ก็มิอาจยับยั้งขุนศึกผู้นี้ได้ การกบฏยังคงเดินหน้าต่อไป

ถึงตอนนี้ถังเกาจู่จึงให้หลี่ซื่อหมินเป็นผู้ปราบกบฏ โดยให้สัญญาว่า หากสำเร็จจะตั้งให้หลี่ซื่อหมินเป็นรัชทายาทแทน และหลี่ซื่อหมินก็ทำได้สำเร็จ

 

เมื่อเหตุการณ์จบลงเช่นนี้ หลี่หยวนจี๋ นางสนมของถังเกาจู่และมหาอำมาตย์บางคนก็ได้ร่วมกันชำระล้างเหตุการณ์ทั้งหมดโดยมีผลออกมาว่า ให้เนรเทศที่ปรึกษาของหลี่เจี้ยนเฉิงกับคนในบังคับบัญชาของหลี่ซื่อหมินจำนวนหนึ่ง ส่วนหลี่เจี้ยนเฉิงรอดพ้นจากเหตุการณ์ครั้งนี้

เกี่ยวกับเรื่องนี้นักประวัติศาสตร์บางคนยังคงสงสัยว่า เอาเข้าจริงแล้วหลี่เจี้ยนเฉิงมีส่วนร่วมในกบฏครั้งนี้จริงหรือไม่ ขณะที่บางคนเชื่อว่าหลี่ซื่อหมินและสมัครพรรคพวกของเขาเป็นคนสร้างเรื่องทั้งหมดนี้ขึ้นมาเอง เพราะผลที่ออกมาว่ามีคนของเขาถูกเนรเทศในขณะที่เขาเป็นผู้ปราบกบฏนั้น ถือเป็นประเด็นที่ขัดแย้งกันเอง

ส่วนคำสัญญาของถังเกาจู่ที่จะให้หลี่ซื่อหมินเป็นรัชทายาทแทนหลี่เจี้ยนเฉิงก็มิได้เกิดขึ้นจริง

หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้นไปแล้ว ถังเกาจู่ทรงตระหนักถึงความขัดแย้งในหมู่พี่น้อง จึงพยายามหาทางที่จะแยกให้พี่น้องทั้งสามมิให้เผชิญหน้ากัน และระมัดระวังในการฟังการเพ็ดทูลให้ร้ายระหว่างพี่น้อง

แต่กระนั้น การวางตนเช่นนั้นก็มิได้ประสบความสำเร็จมากนัก เพราะถึงที่สุดแล้วก็พบว่าทัศนคติของถังเกาจู่ต่อหลี่เจี้ยนเฉิงกับหลี่ซื่อหมินมีความผันผวนตลอด ขึ้นอยู่กับความรู้สึกของพระองค์เองในแต่ละช่วง

อย่างไรก็ตาม หลังจากเหตุการณ์กบฏข้างต้นผ่านไปไม่นาน ถังเกาจู่ทรงแจ้งแก่หลี่ซื่อหมินอย่างตรงไปตรงมาว่า หลี่ซื่อหมินไม่ควรฟังคำแนะนำของที่ปรึกษาของตนให้มากนัก

หลังจากนั้นหลี่เจี้ยนเฉิงกับหลี่หยวนจี๋ก็วางแผนโยกย้ายที่ปรึกษาคนสำคัญของหลี่ซื่อหมินสองคนคือ ฝังเสีว์ยนหลิง (ค.ศ.579-648) กับตู้อี๋ว์ฮุ่ย (ค.ศ.585-630) ไปยังที่อื่น ในขณะที่ขุนศึกของเขาอีกคนหนึ่งคืออี้ว์ฉือจิ้งเต๋อ (ค.ศ.585-658) ก็ถูกลอบสังหาร แต่สามารถหนีรอดมาได้

แน่นอนว่า ในกรณีการโยกย้ายที่ปรึกษาของหลี่ซื่อหมินในครั้งนี้ย่อมกระทำไม่ได้ หากถังเกาจู่ไม่ทรงเห็นด้วย

———————————————————————-
(1) เรื่องเล่าดังกล่าวมีว่า หลี่หยวนป้ามีความสามารถในการสู้รบมาตั้งแต่เด็ก อายุเพียงแปดขวบก็ออกศึกแล้ว โดยมีลูกตุ้มเหล็กคู่เป็นอาวุธประจำกาย เข้ารบที่ใดก็ได้รับชัยชนะตลอด จนครั้งหนึ่งขณะที่สู้รบกันอยู่นั้นได้เกิดฝนตกฟ้าคะนองจนทำให้สู้รบไม่สะดวกและต้องหยุดชะงักลง หลี่หยวนป้าจึงบันดาลโทสะตะโกนด่าฟ้าไร้ความเกรงกลัว พร้อมกันนั้นก็ขว้างลูกตุ้มเหล็กข้างหนึ่งขึ้นไปบนฟ้าเพื่อท้าให้ฟ้าลงมาสู้กับตน พลันที่ท้าไปฟ้าก็ผ่าลงมาที่ลูกตุ้มอีกข้างหนึ่งที่ยังอยู่ในมือ หลี่หยวนป้าจึงเสียชีวิตเพราะถูกฟ้าผ่า เรื่องราวของหลี่หยวนป้าถูกบอกเล่าในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในปัจจุบันก็เช่นละครโทรทัศน์

(2) อนึ่ง สือลู่ หรือบันทึกเรื่องจริง (Veritable Racords) ถือเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ประเภทหนึ่งของจีน บันทึกนี้จะบอกเล่าเรื่องราวของจักรพรรดิแต่ละองค์ในแต่ละวันหรือช่วงเวลา แต่มีเนื้อหาครอบคลุมในประเด็นทางการเมือง เศรษฐกิจ การทหาร และวัฒนธรรม รวมตลอดจนเรื่องส่วนพระองค์อย่างเช่นการสมรสหรืองานศพ เป็นต้น ในไทยได้มีการแปลบางส่วนของเอกสารนี้เฉพาะที่เป็นความสัมพันธ์จีนกับสยาม ดูใน หมิงสือลู่-ชิงสือลู่ : บันทึกเรื่องจริงแห่งราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง ตอนว่าด้วยสยาม (กรุงเทพฯ : มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา, 2559).