ไซเบอร์ วอชเมน / สังคมเหลื่อมล้ำ : หนึ่ง “รวย” ไม่บันยะบันยัง หนึ่ง “จน” ชอกช้ำลาตาย

เราอาจเคยได้ยินประโยคที่ว่า “รวยกระจุก จนกระจาย” มาบ้าง เพราะเคยถูกใช้เป็นสโลแกนหาเสียงของพรรคการเมืองหนึ่งในช่วงเลือกตั้ง เพื่อวิจารณ์นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล คสช.ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยระบุว่า ไม่ได้บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างตรงเป้าจริงๆ ตรงกันข้าม กลับช่วยทุนขนาดใหญ่ที่ครอบงำเศรษฐกิจมากกว่า

มาถึงตอนนี้ คนเริ่มพูดถึงปัญหาเศรษฐกิจมากขึ้นภายใต้รัฐบาลปัจจุบันของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ว่าค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการรายย่อยก็ทำมาหากินลำบาก

จนมาถึงล่าสุดที่มีข่าวการฆ่าตัวตายของเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก-กลางหลายรายในเดือนเดียว ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปมากมายว่าเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจตอนนี้ แล้วขยายผลไปถึงขั้นที่ว่า รัฐบาลแก้ไขได้จริงหรือไม่ ในขณะเดียวกัน กลับไม่ได้ยินข่าวร้ายในลักษณะนี้กับเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่ในช่วงไล่เลี่ยกัน

ยิ่งพอมีข่าวประกาศผลประกอบการของบริษัทที่ทุนใหญ่ควบคุมว่าได้กำไร พร้อมๆ กับข่าวราคาสินค้าแพงขึ้น (ข้าวเหนียวแพงขึ้นก็ด้วย) ผู้ประกอบการรายย่อยค้าขายลำบาก ค่าครองชีพทั้งรถโดยสาร รถไฟฟ้าต่างปรับขึ้น

รวยกระจุก จนกระจาย จึงยิ่งเด่นชัดในตัวเอง

 

ไม่นานมานี้มีงานศึกษาของศาสตราจารย์เควิน เฮวิสัน (Kevin Hewison) นักวิชารัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยนอร์ธแคโรไลนา แห่งเชเปลฮิลล์ ในชื่อ Crazy Rich Thais : Thailand”s Capitalist Class, 1980-2019 โดยศึกษาพัฒนาการบรรดาตระกูลคนรวยที่ทำธุรกิจจนสร้างความมั่งคั่งแบบชนะสภาวะทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในรอบหลายทศวรรษ และอาจบ่งบอกถึงสถานะที่ทำให้คนรวยเหล่านี้เป็นตัวแทนทุนใหญ่ที่มีบทบาทและมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจไทยด้วย

จากการศึกษาของอาจารย์เฮวิสัน ซึ่งได้ข้อมูลส่วนหนึ่งจากการจัดอันดับมหาเศรษฐีของนิตยสารฟอร์บส์ด้วย ความมั่งคั่งของบรรดาคนรวยเหล่านี้จากปี 2006 มีทรัพย์สินรวมกัน 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ มาถึงปี 2018 เพิ่มขึ้นเป็น 1.62 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 7 เท่า โดยตระกูลมหาเศรษฐีอันดับ 31-40 รวยขึ้นเกือบ 9.3 เท่า ในขณะที่มหาเศรษฐีระดับท็อปเท็นก็รวยเพิ่มขึ้น 7 เท่า

ในขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ (GDP) ช่วงเดียวกัน เติบโตเพียง 2.2 เท่า ส่วนค่าแรงขั้นต่ำเติบโตเพียง 1.8 เท่านั้นทำให้เห็นความห่างกันมากของคน 1% กับคนอีก 99%

 

ไม่เพียงเท่านี้ เมื่อดูกราฟอันดับความรวยของมหาเศรษฐีตั้งแต่ปี 2006-2019 แม้เศรษฐีทั้ง 40 อันดับจะรวยขึ้นแบบเชิงเส้นตรง แต่จะมีท็อป 5 ตระกูลที่รวยแซงหน้าคนรวยกลุ่มหลังเกือบเท่าตัว

ซึ่งในปี 2019 มี 4 ตระกูลที่ยังคงอันดับร่ำรวยที่สุดนั่นคือ เจียรวนนท์, จิราธิวัฒน์, อยู่วิทยา และสิริวัฒนภักดี

เมื่อสำรวจพื้นฐานธุรกิจของ 4 ตระกูลอันดับสูงสุด แต่ละตระกูลก็เริ่มต้นไม่เหมือนกันและโดดเด่นในแบบตัวเอง เช่น เจียรวนนท์ที่ยืนพื้นกับธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตร หรือจิราธิวัฒน์ที่จับค้าปลีก

แต่ในระยะหลังตระกูลเหล่านี้ได้ลงทุนขยายไปยังธุรกิจอื่น ไม่ว่าอาหาร โลจิสติกส์ หรือโทรคมนาคม

นอกจากกิจกรรมทางธุรกิจที่เป็นแหล่งสร้างความมั่งคั่งแล้ว ตระกูลเศรษฐียังได้สะสมทุนจากการถือครองที่ดินจำนวนมาก โดยในปี 2014 ตระกูลสิริวัฒนภักดีและเจียรวนนท์ถือครองที่ดินติดอันดับสูงสุด

ศ.เฮวิสันได้เขียนสรุปไว้ว่า กลุ่มธุรกิจหรือตระกูลที่ร่ำรวยกลุ่มนี้ เพิ่มความมั่งคั่งแบบไม่สมส่วนเมื่อเทียบกับโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศ หรือแม้แต่ในบรรดาชนชั้นนายทุนระดับบนด้วยกัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการคู่ขนานของการเพิ่มความเข้มข้นและการรวมศูนย์ ทั้งนี้ ประเทศไทยเองได้เห็นความเปลี่ยนแปลงระดับบนของชนชั้นนายทุน

แม้ว่าประเทศจะเผชิญกับความวุ่นวายทางการเมืองและประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจเอเชีย แต่ชนชั้นนายทุนได้แสดงให้เห็นถึงความทนทานเป็นอย่างมาก

อีกทั้งยังสันนิษฐานถึงการอายุยืนนี้ว่า สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ขณะที่บางตระกูลอย่างชินวัตรหรือมาลีนนท์ต้องพ่ายแพ้

แต่บรรดาเศรษฐีของไทยเหล่านี้ยังคงมีสายสัมพันธ์กับชนชั้นนำจารีตและต่อต้านความเป็นเสรีทางการเมืองและเศรษฐกิจอย่างแข็งขัน

 

งานศึกษาดังกล่าว ส่วนหนึ่งทำให้เห็นภาพรวมคนรวยต่อเศรษฐกิจไทยในแง่ความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้น จากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ ซึ่งก็ไปย้ำกับงานศึกษาก่อนหน้านี้เมื่อปีที่แล้ว โดย Credit Suisse สถาบันทางการเงินของสวิตเซอร์แลนด์ได้ออกดัชนีความมั่งคั่งโลกขึ้น

พร้อมเผยว่า ไทยกลายเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลกไปแล้ว แซงรัสเซียและอินเดียซึ่งเมื่อปี 2016 ไทยอยู่อันดับ 3 โดยประเทศไทยนั้น คนรวยสุด 5% ถือครองทรัพย์สินกว่า 80% ส่วนคนไทยอีก 95% ก็ไปแบ่งปันในส่วนที่เหลือ 20%

แล้วคนส่วนใหญ่ 95% อย่างเราๆ มีอะไรที่บ่งชี้ว่ามีทรัพย์สินที่สร้างรายได้ได้บ้าง ก็น่าจะไม่ ส่วนมากอาจเป็นผู้ที่ทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือน ค้าขายหรือรับจ้างแบบหาเช้ากินค่ำ ทั้งๆ ที่พวกเขาเป็นจักรสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

แต่รายได้ที่พวกเขาพึ่งพา ต่างถูกใช้กับสินค้าและบริการที่ค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้น แม้แต่สิ่งที่วัดเป็นของจับต้องไม่ได้ เช่น การศึกษา การรักษาพยาบาล สวัสดิการต่างๆ

สถานการณ์แบบนี้นับว่าน่าห่วง เกินกว่าจะหลอกตัวเองได้อีก

 

การประกาศนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะงบฯ อัดฉีด 3 แสนล้านบาท ทั้งการดึงดูดนักลงทุน เพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือแจกเงิน 1,000 บาทเพื่อใช้ท่องเที่ยวเมืองรอง รัฐบาลย้ำว่าเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน พร้อมกับฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศให้ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ก็มีเสียงทักท้วงว่า มาตรการดังกล่าว เงินจะไหลไปถึงคนรากหญ้าหรือไม่ หรือมาตรการดังกล่าวไม่ต่างอะไรกับนโยบายประชานิยมของพรรคการเมืองหนึ่งที่ถูกหยิบยกเชิงถากถาง เรียกว่าดำเนินนโยบาย “ลด-แลก-แจก-แถม” เหมือนกัน ต่างกันก็แค่ชื่อเรียก

อีกทั้งยังดำเนินนโยบายลักษณะนี้มาตลอด 5 ปี ในยุครัฐบาล คสช. (รัฐมนตรีบางคนในชุดปัจจุบันก็มาจากรัฐบาล คสช.ด้วย) แต่ทำไมจีดีพีของไทยยังอยู่รั้งท้ายของกลุ่มประเทศอาเซียน

ไม่นับความคืบหน้าล่าสุดที่สำนักงานการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติออกมาประกาศจีดีพีไตรมาส 2 ปี 2562 โตแค่ 2.3% เรียกว่าต่ำสุดในรอบ 4 ปี ถึงกับทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเตรียมปรับอีกรอบในเดือนกันยายนนี้

ส่วนประชาชนธรรมดาที่ไม่เข้าใจว่าตัวเลขจีดีพีคืออะไร สัมประสิทธิ์จีนีคืออะไร เอาแค่ว่า เวลาเราซื้อของไม่ว่าตามตลาดสด ตามห้างหรือร้านสะดวกซื้อ แล้วไม่สามารถควักเงินจ่ายได้อย่างสบายใจหรือไม่กล้าใช้จ่ายมาก หรือใช้จ่ายจนเดือนชนเดือน หนักหน่อยก็ถึงขั้นเป็นหนี้แล้วจ่ายไม่ทันตามกำหนด หรือแบกรับต้นทุนไม่ไหวพร้อมกับขาดทุนต่อเนื่องจนธุรกิจเจ๊ง แค่นี้ก็ทำให้คนตึงเครียดหนักมากแล้ว

การฆ่าตัวตายของบรรดาผู้ประกอบการ อาจเป็นอาการหนึ่งที่สะท้อนถึงสภาพเศรษฐกิจไทยที่กำลังแย่ จริงๆ อาจแย่มาหลายปี แต่คนที่รู้เรื่องนี้จริงๆ ก็ไม่กล้าพูดตรงๆ เพราะกลัวกระทบเสถียรภาพของรัฐบาล กว่าจะแก้ไขก็อาจสายไปแล้ว

คนซวยที่สุดจึงกลายเป็นประชาชนคนธรรมดา ที่ต้องอยู่อย่างอดทนกันต่อไป ส่วนคนรวยก็ได้ประโยชน์แบบยาวไปเลยจ้า