จักรกฤษณ์ สิริริน : คอมพิวเตอร์ 1,000 บาท ตอบโจทย์คนจน ยุค Post-PC

หากเรามองกราฟยอดขาย PC หรือ Personal Computer ตั้งแต่ปี ค.ศ.1996 ถึงปี ค.ศ.2017 จากการรวบรวมของหนังสือพิมพ์ Washington Times ที่รายงานว่า Worldwide PC Sales นั้น ลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี ค.ศ.2012 เป็นต้นมา

สอดคล้องกับความคิดเห็นของนักวิเคราะห์ในวงการ ICT ที่เรียกเหตุการณ์ดังกล่าวว่าเป็นยุค Post-PC หรือ “ยุคหลัง PC เฟื่องฟู” ซึ่งมีที่มาจากยอดขาย PC ที่ถูกแซงหน้าโดยโทรศัพท์มือถือเป็นครั้งแรก ตามรายงานของ Sandvine บริษัทวิจัยชื่อดังเจ้าของบทวิเคราะห์ Global Internet Phenomena Report ที่น่าเชื่อถือ

PC นั้นถือเป็น “ของวิเศษ” ในยุคทศวรรษที่ 1970 ที่ก่อนหน้านี้ คำว่า “คอมพิวเตอร์” เป็นสิ่งที่ไกลเกินเอื้อมของคนทั่วไป ด้วยขนาดที่ใหญ่โตมโหฬาร

และที่สำคัญคือราคาที่แพงมาก

“คอมพิวเตอร์” จึงมีใช้แค่ในหน่วยงานรัฐบางแห่ง เช่น สำนักพยากรณ์อากาศ หรือมหาวิทยาลัยชั้นนำเท่านั้น

อย่างไรก็ดี ในช่วงต้นของการเติมคำว่า Personal นำหน้า Computer ซึ่งหมายถึง การนำ “คอมพิวเตอร์” สู่ “บ้านเรือน” ที่ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของ “คอมพิวเตอร์” ได้นั้น ยังมีราคาแพงกว่าในปัจจุบันมาก โดยมีราคาเฉลี่ยอยู่ราวๆ 2,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 60,000-70,000 บาท

ก่อนที่ต่อมา IBM จะเปิดศักราชสถาปัตยกรรม Microcomputer ที่อุปกรณ์ทุกอย่างสามารถถอดเป็นชิ้น และประกอบใหม่ได้ในเวลาอันรวดเร็ว

อันเป็นที่มาของคำว่า IBM PC Compatible ซึ่งสร้างปรากฏการณ์เด็กนักเรียนชั้นมัธยมก็สามารถประกอบ “คอมพิวเตอร์” หรือ PC ใช้เองได้

และด้วยความที่อุปกรณ์ทุกอย่างใน PC สามารถถอดเป็นชิ้น และประกอบใหม่ได้นี่เอง จึงทำให้การซ่อมแซมทำได้ง่าย โดยเฉพาะการเปลี่ยนอะไหล่ใหม่แทนชิ้นที่เสีย ต่างจาก PC ยุคแรก

โดยเฉพาะสนนราคาที่ต่อมาทยอยลดลงกว่าครึ่ง

จนมาอยู่ที่ราว 30,000 บาท ก็ยิ่งทำให้ความนิยม PC พุ่งขึ้นอย่างสูงสุดต่อเนื่องมาอีกเกือบ 40 ปี ทำกำไรให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ทั้ง Hardware, Software และ Peopleware อย่างเป็นกอบเป็นกำ

ยอดขาย PC ที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดนับจากปลายทศวรรษที่ 1970 จนถึงต้นทศวรรษที่ 2010 จะมีสะดุดอยู่บ้างช่วงเหตุการณ์ Y2K ที่เป็นรอยต่อช่วงส่งท้ายปีเก่า ค.ศ.1999 ต้อนรับปีใหม่ ค.ศ.2000 ที่ประชากรโลกเกิดความกังวลว่า PC จะปั่นป่วนจนอาจหยุดทำงาน

 

แต่หลังจากนั้นยอดขาย PC กลับมาพุ่งพรวดเหมือนเดิมจนกระทั่งถึงปี ค.ศ.2012 ดังที่กล่าวไป ทั้งๆ ที่ราคาเฉลี่ยของ PC ลดลงมาอีกกว่าครึ่งหนึ่ง คืออยู่ที่ประมาณ 10,000-15,000 บาท แต่ก็ไม่ได้ทำให้ยอดขาย PC กลับไปเหมือนยุคเฟื่องฟูได้อีก อันเป็นผลมาจากความนิยมโทรศัพท์มือถือที่สามารถ “ทำทุกอย่างได้เหมือน PC”

และแม้โทรศัพท์มือถือจะเริ่มได้รับความนิยมในวงกว้างตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1990 แต่ด้วยประสิทธิภาพเมื่อเทียบกับราคาในยุคนั้นที่โทรศัพท์มือถือยังมีราคาแพงมากและยังทำอะไรได้ไม่มากนัก เมื่อผู้บริโภคนำไปเปรียบเทียบกับ PC แบบปอนด์ต่อปอนด์แล้ว PC ยังได้รับความไว้วางใจมากกว่า

จนมาถึงต้นทศวรรษที่ 2010 นี่เอง ที่สมรรถนะโทรศัพท์มือถือได้รับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดจึงทำให้โทรศัพท์มือถือค่อยๆ ได้รับความนิยม สะสมความสำเร็จจนสามารถแซงหน้า PC ได้ในที่สุด

 

อีกปัจจัยหนึ่งซึ่งหนุนส่งให้ยอดขายโทรศัพท์มือถือแซงหน้า PC ได้ นอกเหนือไปจากการ “ทำทุกอย่างได้เหมือน PC” แล้ว “ขนาด” เป็นตัวชี้ขาดที่สำคัญมาก ด้วยขนาดที่เล็กสามารถพกติดตัวไปได้ทุกที่

แถมเผลอๆ ประสิทธิภาพสูงกว่า PC หลายเท่าอีกด้วย

อย่างไรก็ดี ใช่ว่าทุกคนจะต้องการให้โทรศัพท์มือถือมาแทนที่ PC

เพราะยังมีงานบางอย่าง หรือพื้นที่บางแห่ง ที่โทรศัพท์มือถือยังไม่สามารถตอบโจทย์ได้อย่างครอบคลุม

งานที่ต้องการสมรรถนะหน่วยประมวลผล หรือ Chipset เฉพาะทาง หรือการต่อพ่วงกับอุปกรณ์หลากหลายที่โทรศัพท์มือถือไม่สามารถมาแทนที่ได้ หรืองานในพื้นที่ที่สัญญาณโทรศัพท์มือถือไปไม่ถึงหรือสัญญาณอ่อนตลอดเวลา PC ยังถือเป็นสิ่งจำเป็น

โดยเฉพาะยังมีประชากรโลกอีกนับล้านที่ไม่มีปัญญาซื้อโทรศัพท์มือถือ

ยิ่งเมื่อมีการเปิดตัว PC ยี่ห้อ Raspberry Pi รุ่น 4 ที่ประกาศวางขายด้วยราคาเพียง 35 ดอลลาร์ หรือราว 1,000 บาท ก็ยิ่งเรียกเสียงฮือฮาจากคนยากไร้

 

อันที่จริง คนในวงการ IoT ต่างรู้กิตติศัพท์ของ Raspberry Pi เป็นอย่างดี จากชื่อเสียงด้านความประหยัดที่มาพร้อมประสิทธิภาพที่สูงเกินราคา

ในแวดวง IoT มีการนำชิ้นส่วน “คอมพิวเตอร์” ของ Raspberry Pi โดยเฉพาะ Mainboard และ Chipset มาใช้ในการเรียนการสอน การทดลองทางห้องปฏิบัติการต่างๆ หรือแม้แต่การผลิตอุปกรณ์ในเชิงพาณิชย์

และ Raspberry Pi ก็ประกาศนโยบายมานานแล้วว่า ต้องการส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีให้กับคนวงกว้างให้กว้างมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จากตัวอย่างการพัฒนาอุปกรณ์ IoT ราคาย่อมเยาดังที่กล่าวไป

Raspberry Pi เป็นบริษัทคอมพิวเตอร์จากหมู่เกาะบริเตนใหญ่ หรือสหราชอาณาจักร นอกจากจะทำธุรกิจขายคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ซึ่งเป็นที่นิยมแล้ว ยังตั้งมูลนิธิเพื่อให้ช่วยเหลือด้านการศึกษาในประเทศกำลังพัฒนาอีกด้วย

และการเปิดตัว PC ยี่ห้อ Raspberry Pi รุ่น 4 หรือ Raspberry Pi4 นี่เองก็เป็นผลงานของ Raspberry Pi Foundation หรือ “มูลนิธิราสเบอร์รี่พาย” ที่เป็นภาระงานด้านการกุศล

มีจุดมุ่งหมายที่จะช่วยให้ผู้คนทั่วโลกสามารถเข้าถึง ICT และมีโอกาสใช้งานคอมพิวเตอร์ได้มากขึ้นนั่นเอง

 

Raspberry Pi Foundation บอกว่า Raspberry Pi4 มีความเร็วในการประมวลผลมากกว่า IBM PC Compatible รุ่นล่าสุดมากถึง 40 เท่า มีหน่วยความจำหรือ RAM 4 Gigabytes มี Wi-Fi Card และมี USB 2 Ports และ Display Card หรือ “การ์ดจอ” ที่สามารถเชื่อมต่อกับจอภาพได้ถึงสองจอในเวลาเดียวกัน โดยมีทั้ง VGA Port และ HDMI

แต่แม้จะมี “การ์ดจอ” ที่ทรงประสิทธิภาพ แต่ด้วยราคาที่กดลงมาต่ำสุดๆ แบบนี้ แน่นอนว่า Raspberry Pi4 จะไม่มี “จอภาพ” แถมมาให้ด้วย โดยทาง Raspberry Pi Foundation ให้เหตุผลว่า ผู้ซื้อสามารถใช้เครื่องรับโทรทัศน์หรือหน้าจอคอมพิวเตอร์เก่ารุ่น CRT ที่ไม่ได้ใช้งานหรือที่มีอยู่แล้วเชื่อมต่อเข้ากับ Raspberry Pi4 ได้เพื่อเป็นการประหยัดนั่นเอง

การเปิดตัวของ Raspberry Pi4 ได้รับคำชื่นชมจากคนในวงการคอมพิวเตอร์โลกเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะบรรดาคนยากคนจน ซึ่งเป็นที่น่าสังเกต ว่าบริษัทคอมพิวเตอร์ดังๆ มักใช้ชื่อผลไม้เป็น Brand ไม่ว่าจะเป็น APPLE หรือ BlackBerry

ก็หวังว่า Raspberry จะรุ่งเรืองเหมือน APPLE ต่อไป และอย่ารุ่งริ่งเหมือน BlackBerry นะครับ