ข้ามเส้นปันมุนจอม! “ช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์” | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข
  • ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ข่าวใหญ่ของโลกในวันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายนนี้ คือ การพบกันระหว่างประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์และประธานาธิบดีคิมจองอึน ที่หมู่บ้านปันมุนจอม ซึ่งเป็นเขตปลอดทหาร (DMZ) ระหว่างเกาหลีเหนือและใต้ อันเป็นผลจากสงครามเกาหลีที่เกิดขึ้นในปี 2493 (ค.ศ. 1950)… การพบกันครั้งนี้เกิดขึ้นอย่างคาดไม่ถึง และถือเป็นการประชุมของผู้นำสูงสุดครั้งที่สาม
  • แน่นอนว่า ไม่มีใครคาดคิดว่าหลังจากการประชุมจี-20 แล้ว ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาจะเดินทางไปเยือนปันมุนจอม และขณะเดียวกันก็ไม่มีใครคิดว่า ผู้นำเกาหลีเหนือจะตอบรับที่จะมาพบกันที่เส้นแบ่งประเทศทั้งสอง จนภาพที่ปรากฎขึ้นในวันอาทิตย์นี้ กลายเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สำคัญของการเมืองเอเชียและการเมืองโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเราคงต้องตระหนักว่า ในทางการเมืองระหว่างประเทศนั้น สงครามเกาหลียังไม่ได้ยุติอย่างเป็นทางการ มีแต่เพียงการเจรจาการหยุดยิงที่หมู่บ้านปันมุนจอมในปี 2496 (ค.ศ. 1953) แต่สถานะของสงครามไม่ได้สิ้นสุดลงแต่อย่างใด
  • แม้ก่อนหน้านี้จะมีข่าวว่าทรัมป์ได้แจ้งแก่ผู้นำเกาหลีใต้ว่า เขาอยากจะเดินทางเยือนเขตปลอดทหาร แต่เขาเพิ่งแจ้งถึงแผนการพบกับผู้นำเกาหลีเหนือก่อนหน้าเพียงวันเดียว และทรัมป์ได้ตัดสินใจขอพบกับคิมจองอึนที่หมู่บ้านปันมุนจอมหลังจากเดินทางเยือนเขตปลอดทหารแล้ว โดยได้ส่งคำขอพบผ่านทวีตเตอร์ หรือที่เรียกกันว่า “การทูตทวีตเตอร์” (Tweeter Diplomacy) ของทรัมป์ เพราะเขาเป็นผู้นำที่ชอบการใช้ทวีตเตอร์เป็นเครื่องมือการสื่อสารทั้งกับการเมืองภายในและกับการเมืองโลก ทรัมป์ได้กล่าวในทวีตเตอร์ในวันเสาร์ที่ 29 จากโอซากา ประเทศญี่ปุ่นว่า เขาอยากพบกับผู้นำเกาหลีเหนือที่เขตปลอดทหาร เพื่อ “จับมือและกล่าวทักทาย”


แล้วเหตุการณ์สำคัญก็เกิดขึ้นในเวลาบ่าย 15:45 น. ตามเวลาของเกาหลี

  • ผู้นำของสหรัฐและเกาหลีเหนือเดินมาพบกันในพื้นที่ที่ครั้งหนึ่งเป็นพื้นที่ของความขัดแย้งที่ปันมุนจอม จนภาพการพบของผู้นำทั้งสองกลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ในตัวเอง เพราะหลังจากการพบของผู้นำทั้งสองที่สิงคโปร์ และตามมาด้วยฮานอยแล้ว ก็มีคำถามต่อมาว่า จะมีซัมมิทครั้งที่สามที่ไหนและเมื่อใด ซึ่งแทบไม่น่าเชื่อว่าการพบครั้งที่สามจะเกิดที่เกาหลี ไม่ใช่นอกเกาหลี
  • แต่สิ่งที่น่าสนใจอย่างมากของการพบกันครั้งนี้ก็คือ ทรัมป์ได้เดินพร้อมกับคิมข้ามเส้นเขตแดนทางทหาร (Military Demarcation Line) ที่แบ่งเกาหลีทั้งสอง (ในเวลา 15:46 น.) ข้ามเข้าไปในส่วนที่เป็นดินแดนของเกาหลีเหนือ เหมือนเช่นเมื่อครั้งผู้นำของสองเกาหลีจับมือกันเดินข้ามเส้นนี้ในปี 2561 และต้องบันทึกในประวัติศาสตร์ว่า ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนแรกที่เข้าไปในเกาหลีเหนือ และการพบครั้งนี้กลายเป็น “สัญลักษณ์การเมือง” ของความพยายามในการฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสหรัฐกับเกาหลีเหนือ ซึ่งหลังจากการประชุมผู้นำสูงสุดครั้งที่ 2 ที่เวียดนามในตอนต้นปี 2562 นั้น ไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่คาดหวัง
  • หลังจากผู้นำทั้งสองข้ามแดนเป็น “สัญลักษณ์ทางการเมือง” เข้าไปในเขตของเกาหลีเหนือแล้ว ทรัมป์พร้อมกับคิมได้ข้ามกลับเข้ามาในเขตของเกาหลีใต้ ซึ่งได้มีผู้นำของเกาหลีใต้รอต้อนรับอยู่ และหลังจากนั้น ผู้นำทั้งสองฝ่ายได้แถลงข่าวร่วมกันที่อาคาร Freedom House และแทบจะเป็นครั้งแรกที่เราเห็นการให้ “สัมภาษณ์สด” ของผู้นำเกาหลีเหนือ
  • แม้ก่อนหน้านี้จิมมี่ คาร์เตอร์จะเคยเดินทางเข้าเกาหลีเหนือเพื่อพบกับผู้นำของประเทศดังกล่าวในปี 1994 แต่ก็เป็นการเดินทางในฐานะอดีตประธานาธิบดี และประธานาธิบดีบิล คลินตันเคยมีแผนการเยือนเกาหลีเหนือในช่วงปลายสมัยในทำเนียบขาว แต่ก็ตัดสินใจยกเลิกในท้ายที่สุด เพราะแพ้การเลือกตั้ง และตระหนักว่า เขาไม่สามารถกำหนดทิศทางให้กับประธานาธิบดีจอร์จ บุช (ผู้ลูก) ที่จะยอมรับต่อแผนการฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตดังกล่าว แผนการเยือนเปียงยางจึงยุติลง หลังจากช่วงเวลาดังกล่าวแล้ว ความคิดที่จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองดูจะยุติลง อันเป็นผลของสถานการณ์ทาวการเมือง และการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ
    ในการพบกันครั้งนี้ ทรัมป์ได้ขอบคุณคิมอย่างมาก เพราะเป็นการแจ้งล่วงหน้าอย่างกระทันหัน ซึ่งเขาได้กล่าวในคำให้สัมภาษณ์ว่า เขาเพิ่งติดต่อกับผู้นำเกาหลีเหนือก่อนหน้าเพียงวันเดียวเท่านั้น และในการเดินเข้าไปในเขตของเกาหลีเหนือนั้น ทรัมป์ยังได้กล่าวอีกว่า “เป็นเกียรติอย่างมากที่ได้ข้ามเส้น[แบ่งเกาหลี]” และความสัมพันธ์ของประเทศทั้งสอง “มีความก้าวหน้าหลายอย่างเกิดขึ้น…”
    ในทำนองเดียวกัน ผู้นำเกาหลีเหนือได้กล่าว่า การพบกันครั้งนี้จะเป็นการแสดงให้โลกเห็นว่า การประชุมระหว่างประเทศทั้งสองเดินไปด้วยความก้าวหน้า และเน้นว่า “ด้วยการมีความสัมพันธ์ที่ดีอย่างมากนั้น ทำให้สองฝ่ายสามารถจัดการประชุมขึ้นได้ในระยะเวลาเพียงวันเดียว” และคิมย้ำว่า เขาจะใช้ “ความสัมพันธ์ที่เข้มแข็ง [ระหว่างเขากับทรัมป์] เพื่อทำให้เกิดข่าวดีอย่างที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน”
    สำหรับทรัมป์แล้ว การพบกันอย่างกระทันหันของผู้นำสองประเทศเป็นประวัติศาสตร์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะยังไม่เคยมีผู้นำของสหรัฐคนใดที่สามารถเดินมาถึงจุดเช่นนี้ได้ ดังเช่นที่เขาได้กล่าวว่า การพบกันครั้งนี้เป็น “ช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์” (a historic moment) และตอบโต้ฝ่ายที่วิจารณ์ว่า ไม่มีความก้าวหน้าเกิดขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับเกาหลีเหนือจากการเจรจาของผู้นำสูงสุดสองครั้งที่ผ่านมา


นอกจากนี้ก็น่าติดตามอย่างมากว่าจะเกิดขึ้นจริงได้เพียงใด เมื่อทรัมป์ได้กล่าวเชิญผู้นำเกาหลีเหนือให้เดินทางเยือนวอชิงตัน และคิมก็ได้เอยชวนผู้นำสหรัฐให้เดินทางเยือนเปียงยางเช่นกันด้วย ซึ่งทั้งสองฝ่ายดูจะมีคำตอบที่คล้ายคลึงกันคือ “รอเวลาที่เหมาะสม”

  • ในอีกด้านก็มีเสียงวิจารณ์จากปีกในการเมืองอเมริกันที่ไม่เห็นด้วยว่า ทรัมป์กำลังสร้างความชอบธรรมให้แก่ “ระบอบนิวเคลียร์” ที่เปียงยาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสียงวิจารณ์ว่า การพบเช่นนี้จะทำให้การยุติโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ (denuclearization) สำเร็จจริงเพียงใด หรือเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า เหตุการณ์นี้เป็น “ละครการเมือง” มากกว่าจะมีสาระจริง
  • แม้จะยังไม่มีความชัดเจนมากกว่านี้ แต่อย่างน้อยในภาพบวกก็คือ การพบกันที่ปันมุนจอมจะนำไปสู่การเจรจาสามฝ่ายคือ สหรัฐ-เกาหลีใต้-เกาหลีเหนือ และในขณะเดียวกันก็ทำความตึงเครียดในสถานการณ์ปัจจุบันระหว่างสหรัฐกับเกาหลีเหนือลดลง และดังคำกล่าวของประธานาธิบดีเกาหลีใต้ว่า การพบกันครั้งนี้เป็น “หลักไมล์สำคัญของกระบวนการสันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลี” พร้อมกันนี้จากการประชุมจี20 ทรัมป์เองได้ทวีตเรื่องที่ทำให้หลายฝ่ายลดความกังวลใจลงคือ การเจรจากับผู้นำจีนในปัญหาสงครามการค้าว่า ผลการเจรจา “ดีกว่าที่คาด” และยอมที่จะไม่ขยายกำแพงภาษีเพิ่มเติมจากที่เป็นอยู่ ซึ่งก็พอจะเป็นสัญญาณบวกจากผู้นำรัฐมหาอำนาจปัจจุบันได้บ้าง เพราะก่อนหน้านี้สัญญาณดังกล่าวดูจะมีแต่เรื่องลบแทบทั้งสิ้น
  • แน่นอนว่าปัญหาสันติภาพเกาหลีและปัญหาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือยังคงมีรายละเอียดอีกมากที่จะต้องดำเนินการในอนาคต แต่ประธานาธิบดีมูนกล่าวสรุปด้วยความหวังว่า การพบดังกล่าวจะเป็นดัง “ดอกไม้แห่งสันติภาพที่กำลังเบ่งบานบนคาบสมุทรเกาหลี”… และโลกก็หวังเช่นนั้นด้วย!