สองฟากฝั่งฟ้าแอฟริกา จากตะวันตกสู่ตะวันออก จากมหาสมุทรแอตแลนติก สู่มหาสมุทรอินเดีย

1.เอธิโอเปียน แอร์ไลนส์ (Ethiopian Airlines)

เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนต่อกับต้นเดือนธันวาคมปลายปี 2018 ผมมีโอกาสเดินทางไปทวีปแอฟริกาในฐานะที่ปรึกษาบริษัทเทคโนโลยีของเพื่อนรุ่นน้อง เพื่อเปิดตลาดโซลาร์รูฟท็อปจากประเทศไทยในทวีปแอฟริกา

เหตุผลหลักคือ ผมมีเพื่อนเป็นด๊อกเตอร์ชาวไนจีเรียน (Nigerian) ได้ติดต่อประสานงานกันไว้เพื่อพบปะประชุมเปิดตลาดในไนจีเรีย (Nigeria)

ก่อนจะได้วีซ่าธุรกิจไนจีเรีย มีขบวนการหลายอย่างพร้อมเอกสารประกอบ คือหนังสือเชิญจากไนจีเรียจะต้องมีเอกสารการจดทะเบียนบริษัทในไนจีเรียมายื่น พร้อมตั๋วเครื่องบินไป-กลับ ใบจองโรงแรม Statement แสดงฐานะการเงิน

และข้อสำคัญคือ ต้องมาให้กงสุลไนจีเรียสัมภาษณ์ก่อนออกวีซ่าให้ ค่าออกวีซ่า 1,850 บาท อายุวีซ่า 6 เดือน

 

การจะเดินทางไปหลายประเทศในแอฟริกาจะต้องมีกติกาพิเศษคือ ต้องมี “สมุดเหลือง” “International Certificate of Vaccination and Prophylaxis) หรือสมุดรับรองการฉีดวัคซีนป้องกันไข้เหลือง เป็นสมุดหน้าปกสีเหลือง

สมุดนี้เป็นเอกสารสำคัญที่ออกตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ (International Health Regulation) ขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization – WHO) เพื่อยืนยันว่าบุคคลผู้ถือสมุดเหลืองเล่มนั้นได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้เหลืองแล้ว

ขั้นตอนเมื่อเข้าประเทศแอฟริกาจะต้องผ่านด่านตรวจสุขภาพ แสดงสมุดเหลืองก่อนผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง ถ้าไม่มีสมุดเหลืองจะถูกปฏิเสธการเข้าเมืองหรือถูกจับฉีดวัคซีนป้องกันไข้เหลืองที่ด่านในสนามบิน เสียค่าใช้จ่ายสูงมาก

ข้อสำคัญ การฉีดวัคซีนป้องกันไข้เหลืองต้องทำก่อนเดินทางอย่างน้อย 10 วัน เพราะในสมุดจะระบุผลของวัคซีนหลังวันฉีด 10 วัน ถ้าฉีดวันนี้ เดินทางพรุ่งนี้ สมุดเหลืองก็ใช้งานไม่ได้ อาจเข้าเมืองไม่ได้ หรือจะเข้าได้ก็ต้อง “จ่าย” หนักหน่อย

สมุดเหลือง สมัยก่อนมีอายุ 10 ปี แต่เดี๋ยวนี้ภายใต้กฎใหม่ให้ใช้คุ้มครองได้ตลอดชีวิต

การฉีดวัคซีนป้องกันไข้เหลืองในเมืองไทยฉีดที่สถานเสาวภาและโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน และอาจมีที่อื่นๆ

 

โรคไข้เหลือง (Yellow Fever) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่มียุงเป็นพาหะ ผู้ป่วยจะมีไข้ และมีตัวเหลืองหรือดีซ่าน โรคชนิดนี้อยู่ในกลุ่มโรคติดเชื้อที่ทำให้เกิดไข้เลือดออก โรคไข้เหลืองพบมากในทวีปแอฟริกา ไม่มียาสำหรับรักษาโรคโดยเฉพาะ แต่มีวัคซีนสำหรับป้องกัน

เมื่อปี 2017 มีนักท่องเที่ยวสาวอเมริกันคนหนึ่งไปเที่ยวเคนยา แล้วกลับมาเป็น “ไข้เหลือง” เสียชีวิต เป็นข่าวฮือฮา ตกอกตกใจกันมาก

สำหรับผม ได้ไปขอฉีดวัคซีนป้องกันไข้เหลืองที่สถานเสาวภา แต่คุณหมอไม่ฉีดให้ ได้แต่ออกใบรับรองไข้เหลืองว่า “Aging” เป็นกระดาษแผ่นเดียวประทับตราสภากาชาดไทย ระบุว่า Aging อายุเกิน 60 ปีแล้วไม่ต้องฉีดวัคซีนไข้เหลือง เสียค่าใบรับรอง 150 บาท

คุณพยาบาลคนสวยแนะนำว่า ให้พก ก.ย.15 ไว้ทาหน้า ทาแขน ทาขา และทาตัวให้ทั่ว ก่อนออกจากโรงแรมและก่อนนอน เรียกว่าทากันทั้งวันทั้งคืนป้องกันยุงกัด

10 วันที่อยู่ในแอฟริกา ผมทา ก.ย.15 ทั้งตัว ตลอดวัน ตลอดคืน จนกลับมาเมืองไทย กลิ่น ก.ย.15 ยังหอมตลบอบอวลอีกหลายวัน

 

สมัย 20-30 ปีก่อน การบินจากเมืองไทยไปแอฟริกาค่อนข้างลำบาก เพราะแทบไม่มีสายการบินที่บินตรงจากเมืองไทยเข้าแอฟริกา ส่วนใหญ่จะต้องบินเข้ายุโรปแล้วเปลี่ยนเครื่องสู่แอฟริกา เช่นบินด้วยแอร์ฟร้านซ์ไปปารีส แล้วเปลี่ยนเครื่องบินย้อนกลับสู่ประเทศอดีตเมืองขึ้นฝรั่งเศสในแอฟริกา

จวบจนกระทั่งช่วง 10 กว่าปีหลัง มีสายการบินเอธิโอเปียน แอร์ไลนส์ (Ethiopian Airlines) บินตรงจากสุวรรณภูมิสู่แอดดิสอาบาบา (Addis Ababa) เมืองหลวงของเอธิโอเปีย (Ethiopia) แล้วเปลี่ยนเครื่องสู่เมืองหลวงของประเทศต่างๆ ในแอฟริกา ทำให้การบินโดย Ethiopian Airlines สู่ทุกประเทศในแอฟริกาสะดวกสบาย ใช้เวลาน้อยลง ประหยัดค่าตั๋วได้เยอะ

Ethiopian Airlines เป็นสายการบินที่ใหญ่ที่สุดในทวีปแอฟริกา

ผมทึ่งสายการบิน Ethiopian Airlines ตั้งแต่เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ที่เห็นข่าวการรับมอบเครื่อง Air Bus A-380 ลำแรกของโลกให้ Ethiopian Airlines เพราะ Air Bus A-380 เป็นเครื่องบินลำใหญ่ที่สุดในโลก จุคนโดยสาร 500 คน ลูกค้ารายแรกของโลกที่สั่งจองเครื่องบินรุ่นนี้เป็นสายการบินแอฟริกา

เหตุการณ์นี้เกิดก่อนสายการบินไทยจะรับมอบ Air Bus A-380 หลายปี

และทึ่ง Ethiopian Airlines ต่อมาเมื่อหลายปีก่อนที่ผมไปเช็กขึ้นเครื่องสายการบินจีนกลับอเมริกาที่ Gate 12 เวลาเช็กก่อนเที่ยงคืนใกล้กับเคาน์เตอร์ของ Ethiopian Airlines คืนนั้นเห็นผู้โดยสารส่วนมากของ Ethiopian Airlines เป็นกองทัพมดชาวแอฟริกัน หอบหิ้วกระเป๋าพลาสติกโหลดขึ้นเครื่อง

ผมรู้จากประสบการณ์ว่า ในกระเป๋าพลาสติกเหล่านั้นจะอัดแน่นด้วยเสื้อผ้าจากโบ๊เบ๊ขนกลับไปแอฟริกา

Ethiopian Airlines คือสายการบินที่มาช่วยกอบกู้โบ๊เบ๊หลังจากหมดยุคกองทัพมดแขกที่มาขนเสื้อผ้าจากโบ๊เบ๊เข้ากัลกัตตาหรือโคลกัตตา (Kolkata) อินเดีย โดย TG 313

ตอนนั้นเห็นแล้วก็ดีใจที่ ET 629 BKK-ADD เป็นเที่ยวบินที่มากอบกู้โบ๊เบ๊

 

ET 629 วันนั้นบินด้วย Boeing 787-8 เครื่องตัวใหม่รุ่นล่าสุดของ Boeing มีต้นทางมาจาก Hong Kong ทุกวัน มาแวะสุวรรณภูมิแล้วบินออกตอนตี 1 ครึ่ง ใช้เวลาบินราว 9 ช.ม.ครึ่ง ไปถึง Addis Ababa เวลาท้องถิ่นเช้า 6 โมงครึ่ง

เคาน์เตอร์เช็กของ Ethiopian Airlines อยู่ที่ Gate 12 ประตูสุดท้ายของสนามบิน แต่ประตูขึ้นเครื่องอยู่ที่ Gate 3 ติดกับของการบินไทย ต้องเดินย้อนจากอาคารด้านไกลสุดกลับมายังด้านต้นของสนามบิน ถือว่าไกลโข

ที่ Gate ขึ้นเครื่องวันนั้น เหมือนที่ผมคาดไว้ และคงเป็นอย่างนี้ทุกคืน คือมีกิโลเครื่องชั่งขนาดใหญ่ 60 ก.ก. ตั้งอยู่ปากประตู ไว้ชั่งน้ำหนักกระเป๋าลากและสัมภาระหอบหิ้วของกองทัพมด ถ้าน้ำหนักเกิน ก็ปรับเรียกเก็บค่าน้ำหนักเพิ่ม จ่ายกันเดี๋ยวนั้น

สมัยก่อนที่ปากประตูขึ้นเครื่องของ TG 313 ก็มีกิโลชั่งอย่างนี้

คืนนั้น มีเหยื่อคือคนแอฟริกัน 2-3 คน หิ้วถุงพลาสติกแพ็กใส่ผ้านวมผืนใหญ่โดนลากไปชั่งกิโลเก็บค่าน้ำหนัก

ในเที่ยวบินเดียวกันนี้ มีเด็กหนุ่มกองทัพแรงงานไทย 7-8 คนขึ้นเครื่องไปด้วย บินไปในทิศทางนี้ ผมคาดเดาว่าจุดหมายควรเป็น Tel Aviv เพราะเที่ยวบิน EI เมื่อเข้า ADD แล้ว นอกจากมีเที่ยวบินเชื่อมต่อไปยังเมืองหลวงของประเทศแอฟริกาแล้ว ยังมีเที่ยวบินเข้าอีกหลายประเทศในยุโรปและเมดิเตอร์เรเนียน

ผู้โดยสารอีกคนที่น่าสนใจของ EI ในค่ำคืนนั้น คือผู้ช่วยกัปตันของกองเรือจุฑานาวีที่ได้รับวันลากลับบ้าน แล้วบินกลับไปลงเรือที่เมดิเตอร์เรเนียน

กองเรือจุฑานาวีควรเป็นความภูมิใจของคนไทย เพราะได้ช่วยชีวิตผู้อพยพที่เรือล่มกลางทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมา 3 ครั้งแล้ว

บินแสนสบายกับ Ethiopian Airlines อาหารอร่อย แอร์โฮสเตสสาวแอฟริกันสวยน่ารัก

จวบจนฟ้าสางที่ Addis Ababa

ขอต้อนรับสู่แอฟริกา