บทวิเคราะห์ : โลกกับ “บุหรี่ไฟฟ้า” ทางเลือกหรือทางร้าย

“บุหรี่ไฟฟ้า” หรือในปัจจุบันจะเรียกโดยรวมว่าเป็น “อุปกรณ์บุหรี่ไฟฟ้า (e-cigarette) หรือบุหรี่ที่มีควันจากความร้อนไม่ใช่การเผาไหม้ (heat-not-burn cigarette)” เป็นอุปกรณ์ที่มีเป้าหมายเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ติดบุหรี่หลีกเลี่ยงจากอันตรายของควันที่มาจากการเผาไหม้ แต่อุปกรณ์ทางเลือกดังกล่าวยังคงเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างร้อนแรงทั่วโลก ว่าจะเป็นอุปกรณ์ที่สามารถใช้ได้อย่างถูกกฎหมายหรือไม่

ล่าสุด “ฮ่องกง” เป็นที่ล่าสุดซึ่งมีการผลักดันกฎหมายเพื่อแบนบุหรี่ไฟฟ้าอย่างครอบคลุม

ซึ่งรวมไปถึงการห้ามซื้อ-ขายอุปกรณ์บุหรี่ไฟฟ้าที่มีละอองควันจากความร้อนทุกชนิด

ภายใต้ร่างกฎหมายดังกล่าวทั้งผู้นำเข้า ผู้ผลิต ผู้ขาย รวมถึงผู้โฆษณาเผยแพร่จะต้องเผชิญโทษจำคุก 6 เดือน หรือปรับไม่ต่ำกว่า 50,000 ดอลลาร์ฮ่องกง หรือราว 200,000 บาท

เช่นเดียวกับประเทศไทยที่อุปกรณ์บุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งหมายรวมถึง บารากู่ บารากู่ไฟฟ้า บุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงสารสกัดหรือสิ่งอื่นใดที่ใช้เป็นแหล่งกำเนิดควันหรือละอองไอน้ำ นั้นเป็นสิ่งผิดกฎหมายภายใต้กฎหมายถึง 3 ฉบับ มีโทษจำคุกสูงถึง 10 ปี หรืออาจถูกปรับได้สูงถึง 500,000 บาท

นั่นก่อให้เกิดข้อถกเถียงกันระหว่าง “ฝ่ายสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้า” ที่มองว่าเป็นการปิดกั้นทางเลือกที่จะมีสุขภาพที่ดีขึ้นให้กับผู้ติดบุหรี่ กับฝ่ายคัดค้านที่มองว่า “บุหรี่ไฟฟ้า” เป็นเพียงของเล่นที่ทำให้เด็กและเยาวชนสูบบุหรี่มากยิ่งขึ้น และยังไม่มีงานวิจัยที่สรุปผลกระทบระยะยาวจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้าที่ชัดเจน

 

จุดเริ่มต้นของบุหรี่ไฟฟ้าเกิดขึ้นในปี 2003 เมื่อ “หัน ลี่” เภสัชกรชาวจีนยื่นขอจดสิทธิบัตร “บุหรี่ละอองควันไฟฟ้าไร้เปลวไฟ” หรือบุหรี่ไฟฟ้า ผลิตที่แรกที่เมืองเสิ่นเจิ้น ประเทศจีน เมืองซึ่งมีเขตแดนติดกับฮ่องกง

หลังจากนั้น 1 ปี บุหรี่ไฟฟ้ามวนแรกก็ได้เปิดตัวเข้าสู่ตลาดจีน ก่อนที่จะถูกส่งไปขายทั่วโลกในเวลาเพียง 12 เดือนหลังจากนั้น

แน่นอนว่าบุหรี่ไฟฟ้าถูกมองว่าเป็นอุปกรณ์สำหรับสูบที่สนุกและปลอดภัยมากกว่า และเป็นสินค้าทางเลือกสำคัญสำหรับประเทศจีนที่มีประชากรสูบบุหรี่คิดเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ของผู้บรรลุนิติภาวะชายทั้งประเทศ ขณะที่มะเร็งปอดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ

การทำงานของบุหรี่ไฟฟ้าใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ลิเธียมขนาดเล็ก ที่ให้ความร้อนของเหลวผสมนิโคตินผลิตเป็นไอน้ำที่มีสถานะคล้ายควันบุหรี่ และเมื่อสูบควันดังกล่าวเข้าไปจะให้ความรู้สึกเหมือนสูบบุหรี่

โดยผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้าระบุว่าสินค้านั้นปลอดภัยกว่าการสูบบุหรี่ที่มีการเผาไหม้จริงถึง 95 เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลก (ฮู) ยังคงออกมาเตือนผู้ใช้งานบุหรี่ไฟฟ้าทั่วโลกว่าเวลานี้ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้าในระยะยาว ขณะที่นิโคตินที่ผสมอยู่นั้นก็เป็นสารเสพติดด้วยเช่นกัน

 

จากข้อมูลของ “ยูโรมอนิเตอร์” สหรัฐอเมริกานั้นเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในโลกของทั้ง e-cigarette และบุหรี่แบบ heat-not-burn โดยมีมูลค่าตลาดสูงถึง 5,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา ตามมาด้วย ญี่ปุ่น อังกฤษ สวีเดน และอิตาลี ตามลำดับ

“บุหรี่ไฟฟ้า” แน่นอนว่าได้รับการยอมรับส่วนหนึ่งว่าเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้คนเลิกสูบบุหรี่แบบปกติ โดยมีผลวิจัยตีพิมพ์เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาในวารสาร “New England Journal Medicine” ที่พบว่าบุหรี่ไฟฟ้า หรือ e-cigarette นั้นช่วยให้คนเลิกบุหรี่ได้ดีกว่าการบำบัดด้วยการทดแทนนิโคตินมากถึง 2 เท่า

อย่างไรก็ตาม ในอีกทางหนึ่ง ผลสำรวจก็พบเช่นกันว่า ในจำนวนผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้า 3 ล้านคนในอังกฤษนั้น มีเพียง 50 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เป็นคนสูบบุหรี่แบบเดิมมาก่อน

ขณะที่ในสหรัฐอเมริกา บุหรี่ไฟฟ้าแบรนด์ JUUL แบรนด์ซึ่งได้รับความนิยมสูงสุด คิดเป็นมูลค่าตลาดถึง 75 เปอร์เซ็นต์นั้น ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเมื่อมีการเพิ่มรสชาติขนมหวานลงไปใน “e-liquids” ที่จะดึงดูดคนอายุน้อยให้หันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น

ขณะที่องค์การอาหารและยาสหรัฐ หรือเอฟดีเอ ก็ได้ระบุถึงปรากฏการณ์ความนิยมของบุหรี่ไฟฟ้าในบรรดาเด็กมัธยมปลายในสหรัฐว่าอยู่ในระดับที่เรียกได้ว่าเป็นการ “แพร่ระบาด”

 

ซึ่งนั่นก็กลายเป็นคำถามสำคัญว่า บุหรี่ไฟฟ้านั้น แท้จริงแล้วเป็นเส้นทางไปสู่ “การเลิกบุหรี่” หรือเป็น “ประตูสู่นิโคติน” อีกทางหนึ่งกันแน่

ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีพื้นที่ขอบเขตอำนาจกฎหมาย 39 แห่งทั่วโลก ที่ออกกฎหมายให้อุปกรณ์บุหรี่ไฟฟ้านั้นเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ในจำนวนนี้รวมถึงบราซิล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ไทย เป็นต้น ขณะที่แคนาดา ออสเตรเลีย เปิดทางให้บุหรี่ไฟฟ้าซึ่งไม่มีนิโคตินเท่านั้นที่สามารถซื้อ-ขายได้อย่างถูกกฎหมาย

ในอังกฤษและสหรัฐ มีการออกกฎหมายให้บุหรี่ไฟฟ้าสามารถขายให้ได้กับผู้บรรลุนิติภาวะแล้วเท่านั้น ขณะที่ในฟิลิปปินส์ ยังคงมีการถกเถียงในเรื่องนี้กันอย่างดุเดือด

ปัจจุบันบุหรี่ไฟฟ้าพัฒนาไปสู่สินค้าชนิดใหม่ภายใต้แบรนด์ “Iqos” ของบริษัทบุหรี่จากสหรัฐอย่าง “Philip Morris” ที่จัดอยู่ในประเภท heat-not-burn cigarette ซึ่งกฎหมายในบางประเทศอาจไม่สามารถตามได้ทัน

 

อย่างไรก็ตาม ในญี่ปุ่น ประเทศซึ่งมีประชากรมากถึง 34 เปอร์เซ็นต์ยังคงสูบบุหรี่อยู่ในเวลานี้ แม้จะมีการห้ามซื้อ-ขายนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าชนิด e-cigarettes แต่ก็เปิดทางให้ Iqos นั้นเป็นบุหรี่ทางเลือกที่ถูกกฎหมาย และประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่งเมื่อมีผู้สูบบุหรี่มากถึง 1 ใน 5 ที่เปลี่ยนจากการสูบบุหรี่แบบเดิมมาเป็น Iqos จนส่งผลให้มีผู้ใช้ Iqos จำนวนมากถึง 3 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนถึง 15 เปอร์เซ็นต์ของตลาดบุหรี่ในญี่ปุ่น

เป็นที่น่าสนใจว่า “บุหรี่ไฟฟ้า” จะสามารถนำตัวเองไปสู่ตลาดโลกได้มากกว่าที่เป็นอยู่หรือไม่ในอนาคต

เมื่อนวัตกรรมนี้เป็นเหมือนกับเหรียญสองด้านที่มีทั้ง “ข้อดี” และ “ข้อเสีย” ในเวลาเดียวกัน