(S)election : คุยหา(เอา)เรื่อง กับ “สมบัติ บุญงามอนงค์” กับไอเดีย “เกรียนๆ” เปลี่ยนการเมืองไทย

อิสราชัย จงภัทรนิชพันธ์ / รายงาน

“นักกิจกรรม-ผู้ต่อต้าน-คนเกรียน-นักการเมือง”

การเลือกตั้งปี 2562 ที่กำลังจะมาถึง นอกจากนักการเมืองที่คืนสู่สนามการเลือกตั้งอย่างคึกคักหลายพรรค ก็ยังมีบุคคลหลายแวดวงไม่ว่านักธุรกิจ อดีตข้าราชการ ปัญญาชน รวมถึงนักเคลื่อนไหว และนักกิจกรรมทางสังคมหน้าใหม่มากมาย ตัดสินใจลงการเมืองในฐานะทางเลือกที่แตกต่างให้กับประเทศ

“หนูหริ่ง” หรือ สมบัติ บุญงามอนงค์ เจ้าของฉายา “บ.ก.ลายจุด” ถือเป็นหนึ่งในนักเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีส่วนในประวัติศาสตร์การเมืองไทยตลอดหลายปี เจอความท้าทาย อคติและการคุกคามรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะห้วงการเมืองเหลือง-แดง จนถึงยุค คสช.

จากประสบการณ์ทำงานด้านสังคมจากมูลนิธิกระจกเงา สู่แกนนำกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง ล่าสุด นายสมบัติตัดสินใจใช้ความสามารถที่สั่งสมและต้องการเปิดภูมิทัศน์การเมืองไทยในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน สร้างพรรคการเมืองของตัวเอง ด้วยชื่อสุดแหวกแนว แต่ไม่อาจฝ่าข้อจำกัดทางความคิดของสังคมแบบไทยๆ ไปได้

ท้ายที่สุด พรรคการเมืองนี้ก็กลายเป็น พรรคเกียน ที่มีนายสมบัติเป็นหัวหน้าพรรค พร้อมประกาศแนวทางซึ่งคนอาจมองเป็นเรื่องตลกว่า “ไม่หาเสียง แต่หาเรื่อง”

แต่ชายหนุ่มผมยาววัย 50 นี้ ชูไอเดียหาเรื่องของตัวเองที่ฟังแล้วอาจดู “เอาเรื่อง” เช่นกัน

 

“พรรคโจรสลัด (Pirate Party) – ต้นแบบพรรคเกียน”

นายสมบัติกล่าวเริ่มต้นถึงความคิดในการตั้งพรรคเกียน (ชื่อเดิมคือ พรรคเกรียน) ได้ติดตามความเคลื่อนไหวของพรรคโจรสลัด (Pirate Party – พรรคการเมืองทางเลือกที่ชูประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนและความโปร่งใส โดยพรรคโจรสลัดแห่งแรกถือกำเนิดขึ้นที่ประเทศสวีเดนในปี 2006) โดยเราตามตั้ง 4-5 ปี แล้วเห็นปรากฏการณ์พรรคการเมืองแบบใหม่ที่ใช้ออนไลน์เข้ามาช่วย เทคโนโลยีได้เปิดพื้นที่ให้มีการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งคล้ายกับสตาร์ตอัพ เพียงแต่ไม่ใช่เพื่อธุรกิจ แต่เป็นเรื่องของพรรคการเมือง

ดังนั้น ในการทำพรรคการเมืองแบบนี้ จะเป็นไปได้ต่อเมื่อโลกของการสื่อสารเปิดกว้างมากขึ้น

แต่พอตามโมเดลของพรรคโจรสลัดก็พบว่า มีความมันส์ สอดคล้องกับยุคสมัยและก็สนุก ทั้งบ้าทั้งเนิร์ด

ผมรู้สึกว่า จะทำพรรคการเมืองอะไร ถ้าทำพรรคในรูปแบบที่เป็นอยู่ในตอนนี้ ผมทำไม่ได้ ดูน่าเบื่อ ดังนั้น โมเดลพรรคโจรสลัดจึงกลายเป็นบันดาลใจสู่พรรคเกียน

เมื่อถามว่า ความเป็นไปได้ในการใช้รูปแบบพรรคโจรสลัดกับบริบทเมืองไทย

นายสมบัติกล่าวว่า สิ่งที่เป็นเรื่องใหญ่คือ การทำนโยบายจากสมาชิก กลายเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งไม่ใช่การได้มาของนโยบายเท่านั้น แต่เป็นกระบวนการที่ทำให้คนมีส่วนร่วมได้จริง จับต้องได้จริง ใครก็ตามที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับพรรคเกียน เป็นคลังความคิด พวกเขาจะสนุกสนานและมีความเป็นเจ้าของ และจะสู้เพื่อได้มา ซึ่งเกิดขึ้นไม่เร็วนัก จะต้องใช้เวลายาวๆ

วัฒนธรรมการมีส่วนร่วมแบบนี้จะเป็นสิ่งสำคัญในการเมืองระยะยาว และยกระดับให้คนได้เติบโต

 

“พรรคการเมืองเกรียนๆ”

พรรคเกียนเปิดตัวในการประชุมเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคเมื่อพฤศจิกายนที่ผ่านมา

และปรากฏภาพข่าวด้วยสมาชิกพรรคที่แต่งตัวชุดคอสเพลย์หลายแนว

แม้แต่นายสมบัติที่สวมชุดโจรสลัด อันเป็นเอกลักษณ์ที่ผ่านการเรียนรู้จากการทำงานเคลื่อนไหวทางสังคมตลอดหลายปี ซึ่งนายสมบัติอธิบายสิ่งเหล่านี้ว่า พรรคเกียนอาจเด่นกว่าพรรคการเมืองอื่นที่เราไม่อยู่ในกรอบ เล่นได้กว้าง เราสามารถใช้วิธีการเล่นที่แตกต่างได้ เริ่มจากการตั้งชื่อที่เราใช้คำว่า “เกรียน” เข้ามาช่วยให้จดจำได้และอธิบาย ทำให้ฟุ้งกระจายจนรับรู้เป็นวงกว้าง ภาพลักษณ์ที่สังคมมองเห็น ใช้คอสตูมหรือกิจกรรมที่เราทำ ซึ่งไม่มีในธรรมเนียมทางการเมืองเดิม แต่ส่งผลสะเทือนทางการเมือง

นายสมบัติอธิบายถึงความต่างของพรรคเกียนเทียบกับพรรคการเมืองอื่นที่มีรูปแบบเชิงทางการว่า เราใช้ศิลปะในการนำเสนอเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานพรรค เราตั้งใจที่ทำพรรคที่ต่างออกไปอย่างสิ้นเชิงให้มากที่สุด

ซึ่งสร้างสรรค์และแตกต่าง แต่ก็ให้มีประสิทธิภาพ

 

“หา “เรื่อง” แบบพรรคเกียน”

อีกจุดเด่นหนึ่งที่พรรคเกียนเป็นที่รู้จักในแรกเริ่มนั้นคือ สโลแกนที่ใช้ของพรรคเกียนที่ว่า “ไม่หาเสียง แต่หาเรื่อง”

ซึ่งนายสมบัติขยายความของสโลแกนสุดกวนนี้ว่า คำว่า “เรื่อง” ที่จริงมีอยู่ 2 เรื่องคือ

1. เรื่องในความหมายที่เป็น “คลังความคิด” (Think Tank) เป็นเรื่องที่เราค้นหาความคิดเพื่อผลิตนโยบายออกไป นั้นเป็น “เรื่อง” ในความหมายที่แท้จริง

เรื่องที่ 2 เป็นรูปแบบของการเคลื่อนไหวที่มีสีสัน สนุก แต่เป็นประเด็น อันนี้คือ “เรื่อง” ในความหมายที่ 2 และคนส่วนใหญ่จะเข้าใจในความหมายที่ 2

นายสมบัติยังอธิบายว่า สิ่งที่ทำให้คนส่วนใหญ่มองเห็นแต่ความหมายที่ 2 ของ “เรื่อง” ก็เพราะว่านโยบายไม่ใช่ “เรื่อง” ของประชาชน ที่ผ่านมาการทำนโยบายเป็นเรื่องของกรรมการบริหารพรรค กรรมการนโยบาย เป็นเรื่องของผู้ใหญ่ในพรรค หรือบรรดาเทคโนแครตของพรรค ไม่ใช่เรื่องของประชาชน แต่พรรคเกียนจะทำให้เป็นเรื่องของประชาชน ให้คนธรรมดาเข้าร่วมคิด

เมื่อถามว่า โอกาสสำเร็จของการทำให้คนธรรมดามีส่วนร่วมผลิตนโยบายแบบพรรคเกียนได้แค่ไหน นายสมบัติกล่าวว่า ผมเห็นว่ารูปแบบนี้พอไปได้ เพียงแต่ต้องใช้เวลา ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนัก แต่ว่าจุดติด ผมได้ติดตามความเป็นไปบนโลกออนไลน์ในกลุ่มวัยรุ่นที่ไม่ได้สนใจการเมือง พวกเขาติดตาม รูปลักษณ์ ชื่อ ภาษา โดยรวมแล้ว ทำให้เกิดการสะดุดและสนใจ เพียงแต่ยังไม่รู้เนื้อข้างในคืออะไร แต่เป็นปกติที่ต้องเริ่มสนใจจากความแปลก แล้วค่อยเพิ่มเนื้อหาเข้าไปทีหลัง

“มันเป็นเรื่องของศาสตร์และศิลป์ ถ้าคุณทำเนื้อหาดีๆ ซึ่งผมยังไม่แน่ใจว่าจะเทียบได้กับพรรคการเมืองที่ช่ำชองกว่าหรือเปล่า แต่ว่าในเชิงรูปแบบ ผมคิดว่าต้องไปด้วยกัน ไม่งั้นเราเล็กมาก ถ้าเราไม่มีรูปแบบที่น่าสนใจ ประเด็นที่เราเสนอก็มีความเป็นรูปแบบหนึ่งในตัวมันเอง”

นายสมบัติกล่าว

 

“พื้นที่เกรียนๆในการเมืองไทย”

รูปแบบและเนื้อหาที่พรรคเกียนที่ก่อตัว ก็ได้แสดงตัวเมื่อปัญหาสุนัข/แมวจรจัดปรากฏเป็นข่าวและเกิดข้อถกเถียงในการจัดการ และพรรคเกียนก็ร่วมกระแสพร้อมเสนอนโยบายแก้ไข

ซึ่งนายสมบัติอธิบายการตอบสนองลักษณะนี้ว่า กรณีดังกล่าวเป็นข้อยกเว้น เพราะเรามีนโยบายแก้ปัญหานี้ไว้ก่อนแล้ว เราทำมาก่อนจนมีข้อเสนอ

ดังนั้น พอมีเหตุการณ์ เราตอบสนองทันที

นอกจากนี้ เมื่อถามถึง “ความเกรียน” ในนิยามของนายสมบัติ สิ่งที่ว่านี้สำคัญต่อการเมืองไทยหรือไม่ นายสมบัติกล่าวว่า ควรมีพื้นที่แบบนี้บ้าง ไม่ได้หมายความว่าทุกคนต้องเกรียนแบบผม ประสาทเสียพอดี แต่ว่าก็ควรมีแบบนี้ แซมไว้บ้าง ไม่ต้องไปปิดกั้น แล้วจะทำให้ภาพใหญ่สนุก เป็นสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนกันและกัน

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งที่จะมีขึ้น จะไม่เห็นพรรคเกียนอยู่ในบัตรลงคะแนน

โดยนายสมบัติกล่าวว่า พรรคเกียนไม่ทันในการเลือกตั้งกุมภาพันธ์ 2562 เพราะไม่ทันส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง จากคำสั่งปลดล็อกของ คสช.ที่ออกมาล่าช้าและชื่อพรรคที่ กกต.ถ่วงนานหลายเดือน แต่กระนั้นพรรคเกียนยืนยันจะมีการปราศรัยใหญ่และแถลงนโยบายช่วงก่อนวันเลือกตั้ง แต่ไม่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นความตั้งใจเดิมของพรรคที่ไม่ได้หาเสียง

แต่จะใช้พื้นที่ช่วงการเลือกตั้งสื่อสารประเด็นเชิงนโยบายสู่สังคม