รายงานพิเศษ : ฉายภาพเศรษฐกิจไทย ผ่านมุมมอง “เดชรัตน์ สุขกำเนิด” ดีขึ้นจริงหรือ?

อิสราชัย จงภัทรนิชพันธ์ / รายงาน

ตลอด 4 ปีที่ คสช.บริหารประเทศ นอกจากประเด็นการเมืองที่เป็นความท้าทายให้ต้องเจอแรงเสียดทานแบบวันต่อวันแล้ว

อีกสิ่งที่เป็นโจทย์ที่รัฐบาลนี้ต้องแก้ไขเพื่อซื้อใจประชาชนชาวไทยคือเศรษฐกิจปากท้อง ที่รัฐบาลนี้มีบรรดาผู้เชี่ยวชาญเข้ามาชูนโยบายแก้ไขปัญหาเรื้อรังที่มีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ตั้งแต่เกษตรกรทำนากลางแดดจนถึงคนทำงานออฟฟิศกินอาหารรถเข็นริมทางในเมืองใหญ่ จนประกาศว่าเศรษฐกิจไทยมีตัวเลขการเติบโตที่ดีจนกล่าวได้ว่า เศรษฐกิจไทยมีแต่ขึ้น

แต่ในเวลาที่เดินไปนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคู่ขนานทอดเป็นเงาตามเศรษฐกิจประเทศ ไม่ว่ารายได้ที่เพิ่มน้อยลงและตัวเลขหนี้สินครัวเรือน บัตรเครดิตเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ในประชาชนส่วนใหญ่ ตรงกันข้ามกับธุรกิจยักษ์ใหญ่ส่วนน้อยมีกำไรเพิ่มขึ้น

ทำให้คำถามยังคงถูกถามอีกครั้งว่า “เศรษฐกิจไทยดีขึ้นแล้วจริงหรือ?”

 

นายเดชรัตน์ สุขกำเนิด นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และหัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ฉายภาพเบื้องหลังคำพูดเศรษฐกิจไทยดีขึ้นว่า เราสามารถดูข้อเท็จจริงได้จากตัวเลขภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พบว่าครัวเรือนที่มีรายได้ 40% สุดท้ายของประเทศ มีรายได้เพิ่มขึ้นเพียงนิดเดียว

แล้วถ้าเกิดมองไปที่บางกลุ่ม เช่น เกษตรกร เราจะพบว่ารายได้กลับไม่เพิ่มขึ้นเลยในช่วง 4 ปีมานี้ ในขณะที่ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในอัตราเร็วกว่ารายได้ รวมถึงส่วนที่เป็นค่าที่เราเรียกว่า “ภาระหนี้สิน” เพิ่มขึ้นรวดเร็วกว่ารายได้เช่นกัน

นั้นทำให้ค่อนข้างเห็นได้ชัดว่า มีความแตกต่างกันระหว่างภาระที่เกิดขึ้นกับรายได้ที่เพิ่มพูนขึ้นของพี่น้องส่วนใหญ่

ถ้ากล่าวให้ชัด 40% สุดท้ายไม่ดีขึ้นเลย

“40% ของประชากร นอกจากเกษตรกรแล้ว รองลงมาคือแรงงานที่ได้ค่าแรงอัตราขั้นต่ำหรือมากกว่าเล็กน้อย นับเป็นกลุ่มที่ไม่ได้เติบโตในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ส่วนกลุ่มที่มีการเติบโตของรายได้คือคน 20% ที่รวยที่สุดของประเทศ รวมถึงอาชีพผู้บริหารหรือผู้ปฏิบัติงานวิชาชีพอย่างวิศวกร แพทย์ พยาบาล หรือข้าราชการ เป็นกลุ่มที่มีรายได้เพิ่มขึ้น”

นายเดชรัตน์กล่าว

 

นายเดชรัตน์ได้ลงลึกในกลุ่มประชาชน 40% นี้ว่า ต้องดูกันถึงโครงสร้างจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) ว่าเพิ่มขึ้นส่วนไหน

โดยช่วง 2 ปีหลังสุด การส่งออกและบริการอย่างการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น แต่ส่วนนั้นกลับไม่ได้มีการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น บวกกับการจ้างงานก็อยู่ในอัตราค่าจ้างตามกฎหมายเป็นหลัก ถ้าอัตราค่าจ้างตามกฎหมายไม่เพิ่มขึ้น ซึ่งก็คือเพิ่งมาเพิ่มเมื่อปีนี้ หลังจากไม่ได้ปรับขึ้นมาถึง 3 ปี ทำให้รายได้ในส่วนแรงงานไม่เพิ่ม

ในขณะที่รายได้ของเกษตรกรที่ขึ้นอยู่กับราคาสินค้าเกษตร ปรากฏว่า 4 ปีที่ผ่านมา โดยเฉลี่ยราคาสินค้าได้ลดลงประมาณ 10% เมื่อเปรียบเทียบก่อนหน้า

เท่ากับรายได้เกษตรกรหายไป 10%

แม้การส่งออกไทยในครึ่งปีจะมีการเติบโตถึง 4.8% นายเดชรัตน์กล่าวว่า การส่งออกนั้นขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจโลก การส่งออกไทยในช่วง 2 ปีแรกของรัฐบาล คสช.และปีที่แล้วกับปีนี้ค่อยดีขึ้นนั้นขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจโลก ถ้าเศรษฐกิจโลกยังคงเป็นภาวะนี้อยู่ มีความเป็นไปได้ที่อัตราการส่งออกจะเป็นบวกใกล้ 5% หรือมากกว่านั้น

อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงก็มีในเศรษฐกิจภาพรวมอย่างสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ ซึ่งไทยต้องจับตามอง แต่ ณ ขณะนี้ การส่งออกเป็นเรื่องที่ดี รวมถึงการท่องเที่ยวดูมีแนวโน้มค่อนข้างดี

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มที่ดีกลับไม่ได้กระจายผลประโยชน์ถึงประชาชนใน 40% ที่มีรายได้น้อย นั่นเลยทำให้เศรษฐกิจที่ดูเหมือนจะเติบโตดีในภาพบน แต่ฐานรากจริงๆ ยังไม่ดีจนกว่าทำให้ค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นและราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น

 

ในส่วนหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นนั้น นายเดชรัตน์กล่าวว่า ตัวเลขที่แสดงนั้นเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็ง แต่ลึกลงไปคือพวกเขาไม่สามารถวางแผนหรือคาดการณ์อนาคตของการทำมาหากินได้ พวกเขาไม่สามารถรู้ได้ว่า ถ้าวางแผนแบบนี้แล้วรายได้เพิ่มขึ้น ราคาสินค้าที่จะขายในอนาคตจะเป็นยังไง แม้กระทั่งผู้ค้ารายย่อยที่ยังไม่แน่ใจว่าจะขายสินค้านั้นได้ในอัตราเดิมหรือไม่

เมื่อความไม่มั่นใจในอนาคตของตนเอง หรือมั่นใจน้อยลง แต่ในขณะเดียวกันภาระเกิดไปก่อนแล้ว เลยทำให้เกิดเป็นสถานการณ์ที่ในช่วง 2 ปีหลัง ตัวเลขหนี้เพิ่มขึ้นเร็วกว่ารายได้ ภาระหนี้ต่อรายได้จึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

นายเดชรัตน์ยังกล่าวอีกว่า ในเรื่องอำนาจต่อรองราคาก็มีส่วนกับตัวเลขหนี้สินเพราะพวกเขาไม่มีอำนาจกำหนดราคาและจะเกิดการแข่งขันที่มากขึ้นจากรายใหญ่หรือต่างประเทศที่ขยายเข้ามาจากสินค้าหรือผู้ประกอบการ นั่นทำให้อนาคตของพวกเขามีความคลอนแคลงมากขึ้น แล้วจะพบว่าตัวเลขหนี้เสียที่เกิดขึ้นจะเป็นของผู้ประกอบการรายย่อยเดิมมากขึ้น เพราะว่าการปรับฐานการผลิตเพื่อรับมือการแข่งขันยังทำได้จำกัด ภายใต้สถานการณ์ที่รุนแรง

ดังนั้น การที่มีภาระคงเดิมแต่วางแผนอนาคตได้น้อยลง คือสิ่งที่อยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็งที่แท้จริง

 

ภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นภายใต้รัฐบาล คสช.ทำให้เริ่มมีการรอคอยถึงรัฐบาลใหม่จากการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้น นายเดชรัตน์กล่าวว่า สิ่งที่เป็นเรื่องหลักคือการแข่งขันและการพลิกโฉม (Disruption) ในทางธุรกิจ นับเป็นปัจจัยที่เราควบคุมได้ยากยิ่งกว่ายุทธศาสตร์ชาติซึ่งเขียนมาแล้ว สามารถดูได้ว่าเขียนยังไงแล้วทำยังไง

แต่การแข่งขันและการพลิกโฉม เกิดขึ้นโดยที่ไม่ได้ปรากฏแน่ชัดว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่เมื่อปรากฏแล้วจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ต่อประชาชนในธุรกิจเต็มที่ ดังนั้น ในความยากของรัฐบาลที่จะเข้ามาในการบริหารประเทศต่อ อยู่ที่การรับมือกับความไม่แน่นอน

นโยบายที่มีความสำคัญคือการสร้างความมั่นคงพื้นฐานให้กับประชาชน นั่นคือ “สวัสดิการ” ทำยังไงที่ต่อให้ราคาสินค้าที่ยังไม่ค่อยแน่ชัดว่าจะดี แต่อย่างน้อยที่สุด ขอให้ลูกหลานพวกเขามั่นใจได้ว่าจะได้เรียนหนังสือจนสุดทาง ทำยังไงให้มั่นใจว่า รายได้ไม่ได้เป็นไปอย่างที่คาดหวัง แต่พอแก่ชรายังมีเบี้ยยังชีพที่เพียงพอต่อการดำรงชีพ นี่คือการปลดล็อกขั้นแรก

ชิ้นที่สองที่ตามมา หนีไม่พ้นเลยคือ ราคาสินค้าเกษตรกับรายได้แรงงาน ต้องมีทิศทางให้ชัดเจนว่าภาคเกษตรในอนาคต รัฐบาลจะดูแลสินค้าแต่ละชนิดในลักษณะไหน

แม้ไม่สามารถทำประกันราคาเพราะขัดกับกฎเกณฑ์ของ WTO แต่อย่างน้อยควรจะมีแนวทางที่ชัดเจนว่า รัฐบาลจะดูแลยังไง และคิดว่าราคาเป้าหมายที่บริหารจัดการมีราคา จะต้องถูกนำเสนอออกมา

แต่ปัจจุบันยังไม่มีใครกล้านำเสนอ เพราะเกรงจะเข้าข่ายหาเสียง ซึ่งตรงนี้ไม่ควรมองเป็นการหาเสียงเพียงอย่างเดียว เพราะถึงที่สุด จะเป็นการนำเสนอสิ่งที่ไม่สบายใจ กังวลใจ แล้วนำมาเจรจาต่อรองกันในสังคม

ยิ่งเปิดพื้นที่ให้มีการคุยมากขึ้นเท่าไหร่ ผู้ที่ได้ประโยชน์ก็คือรัฐบาลปัจจุบัน ที่อาจเอาไอเดียมาทำได้ตั้งแต่ตอนนี้ ไม่ควรไปปิดกั้นการพูดคุยโดยมองเป็นแค่เรื่องการหาเสียง

อยากให้ปลดล็อกเรื่องนโยบาย อย่านำประเด็นถกเถียงนโยบายมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองให้รัฐบาลปัจจุบันได้เปรียบกว่าพรรคการเมืองอื่น

 

เมื่อถามถึงรัฐสวัสดิการกับนายเดชรัตน์ซึ่งมีประสบการณ์อาศัยอยู่ในเดนมาร์กช่วงศึกษาต่อ นายเดชรัตน์กล่าวว่า รัฐสวัสดิการสามารถประยุกต์กับไทยได้ เพียงแต่ต้องเปลี่ยนหลักคิดอย่างสิ้นเชิง

เพราะสวัสดิการในความคิดของไทย คือการไปสงเคราะห์ไปช่วยเหลือคนจน เลยมองว่าสวัสดิการเป็น “ภาระ” ของรัฐบาล

แต่ที่เดนมาร์กกลับตรงกันข้าม สวัสดิการสำหรับเดนมาร์กคือ “หลักประกันพื้นฐาน” ให้คนทุกคนมีความพร้อม สบายใจในการต่อสู้ในทางเศรษฐกิจ คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อสามารถไปสู้ได้ จึงไม่ใช่เรื่อง “สงเคราะห์” แต่เป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อให้ทุกคนอยู่ได้และอยู่ดีขึ้น เรียกว่าตรงข้ามกับไทยมาก

ตราบใดที่เราไม่มองว่า ถ้ามีระบบสวัสดิการว่าคือการสร้างความเข้มแข็งที่เราจะเข้มแข็งไปพร้อมกัน ที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้น กลับมองว่าคนรวยต้องเสียเงินเพื่อคนจน ระบบสวัสดิการจะเกิดขึ้นไม่ได้