นิธิ เอียวศรีวงศ์ : Game of Thrones (2)

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ตอน 1

ได้กล่าวแล้วว่า game of thrones ในหนังเรื่อง Game of Thrones เป็นเรื่องของชนชั้นนำที่มีอำนาจหลังราชบัลลังก์ หรือมีอำนาจในราชอาณาจักรท้องถิ่นต่างๆ เท่านั้น ประชาชนคนสามัญไม่เกี่ยว

แต่เอาเข้าจริงแล้ว ประชาชนคนสามัญต่างหากที่มีอำนาจจริง เพราะมีจำนวนมากกว่ามากเหนือชนชั้นนำ ซ้ำเป็นผู้ผลิตหรือป้อนทรัพยากรและอำนาจที่ชนชั้นนำครอบครองอยู่ แม้กระนั้นประชาชนคนสามัญก็หาได้มีอำนาจอยู่ในมือไม่ สิ่งที่ขาดไปก็คือความสามารถในการจัดองค์กร ถึงมีจำนวนมาก แต่ก็เหมือนเป็นจำนวนน้อย เพราะพวกเขาไม่เคยรวมเป็นกลุ่มก้อน ตรงนี้ถูกปราบ ตรงโน้นก็เฉย เพราะไม่เกี่ยวกับกู

เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจการจัดองค์กรให้กว้างกว่าเพียงการจัดแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบระหว่างกันเท่านั้น หากต้องรวมถึงการปลูกฝังด้านอุดมการณ์ การถ่ายทอดทักษะทั้งด้านการรบหรือการค้า, การทูต, การเมือง ฯลฯ ให้กลายเป็นองค์ความรู้รวมที่สามัญชนคนอื่นสามารถเข้าถึงได้ ไม่ใช่ลูกชาวนาได้เป็นนายพลหน่อย ก็ลืมกำพืดตัวเอง คิดแต่จะรับใช้ชนชั้นนำเพื่อไต่เต้าในระบบหรือองค์กรที่ชนชั้นนำสร้างเอาไว้อย่างเดียว

ใน Game of Thrones มีฉากที่แสดงให้เห็นอำนาจของสามัญชนที่ขาดการจัดองค์กรหรือจัดตั้งนี้สองสามครั้ง เช่น เมื่อกษัตริย์จอฟฟรีคิดว่าตัวจะได้รับการต้อนรับจากประชาชนคนสามัญนอกวังได้ ออกมานอกวังกลับถูกโห่และด่าทออึงคะนึงไปจนประชาชนผู้อดอยาก พากันลุกขึ้นมาทำร้ายพระราชาและข้าราชบริพาร จนต้องแตกหนีเข้าวัง ทหารก็กันเอาไว้ไม่อยู่ บางกลุ่มบุกเข้าวัง หวังว่าจะยึดเอาทรัพย์สมบัติก็มี แต่ในที่สุดก็ถูกทหารฆ่าทิ้งและขับไล่ออกไปจนได้

ฉากทำนองนี้เกิดแก่เจ้าหญิง Daenerys เหมือนกัน เมื่อสั่งให้สังหารขุนนางซึ่งเป็นที่รักของประชาชนคนหนึ่ง จนเจ้าหญิงและข้าราชบริพารต้องรีบเสด็จกลับเข้าวัง ท่ามกลางการคุ้มกันของทหารอย่างฉุกละหุก

แต่การลุกขึ้นสู้ของประชาชนคนสามัญซึ่งขาดการจัดตั้ง มักเป็นการต่อสู้ในลักษณะ “ม็อบ” ลุกฮือขึ้นด้วยอารมณ์ไม่พอใจอย่างฉับพลัน แล้วก็ละลายหายไป หลังจากถูกฆ่าฟันด้วยหอกดาบหรือสไนเปอร์ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะแย่งอำนาจจากชนชั้นนำจำนวนน้อยมาครอบครองเองได้

 

อย่างไรก็ตาม Game of Thrones ก็มีบทบาทของประชาชนคนสามัญซึ่งถูกกดขี่บีฑาอย่างน่าสนใจและน่าคิดอยู่เหมือนกัน ผมอยากแบ่งบทบาทนี้เป็นสองประเภท

ประเภทหนึ่งคือบทบาทที่เข้าไปร่วมอยู่ใน game of thrones ของชนชั้นนำ อย่างรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม

เมื่อพระราชินี Cersei มีศัตรูหรือคนมีอำนาจเทียบเทียมกับตัวในราชสำนักเพิ่มขึ้น จะขจัดโดยตรงก็ทำไม่ได้ จึงไปเชิญปกาศกของศาสนาใหม่ที่ทำงานอยู่ในหมู่ประชาชนคนสามัญเข้ามาอยู่ในคิงส์แลนดิ้ง นายคนนี้จะชื่ออะไรหนังก็ไม่ได้บอกไว้ บอกแต่ว่าเป็น “ชีใหญ่” ผมจึงขอตั้งชื่อให้ว่า “กิตติวุฑโฒ” ศาสนาใหม่นี้เน้นเรื่องศีลธรรมและความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่คนยากจน จึงมองคนที่ละเมิดศีลธรรมว่าเลวร้ายขนาดฆ่าได้ไม่บาป

กิตติวุฑโฒนำสาวกและองค์กรของตน และกระทิงแดง (Faith Militants) เข้ามาตั้งอยู่ในหมู่ราษฎรสามัญผู้ยากไร้ของคิงส์แลนดิ้ง เผยแผ่คำสอนของศาสนาใหม่จนเป็นที่เลื่อมใสทั่วไป ไม่จำกัดแต่เฉพาะในหมู่สามัญชนเท่านั้น แม้แต่พวกผู้ดีในวังบางส่วนก็สมัครเข้าเป็นสาวกด้วย

หลังจากนั้นก็นำกำลังบุกเข้าวัง เพื่อขจัดคนละเมิดศีลธรรมต่างๆ เช่น เจ้ากรมธรรมการที่ชอบเที่ยวโสเภณี หรือแม้แต่ทลายซ่องโสเภณีของขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ที่สำคัญคือจับกุมเจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งราชอาณาจักร Thorn ซึ่งเป็นศัตรูของพระราชินี Cersei ไปคุมขังไว้ในข้อหาละเมิดศีลธรรมเช่นกัน

กิตติวุฑโฒทำให้มวลชนคนสามัญกลายเป็นพลังทางการเมืองที่ใหญ่โตขึ้นมาด้วยการจัดองค์กร และวางรากฐานทางอุดมการณ์ให้ อันได้แก่ ศาสนาใหม่ (หรือศาสนาเก่าที่ถูกลืมไปแล้ว) ซึ่งมีสัญลักษณ์รูปดาวเจ็ดแฉก

โดยไม่รู้ตัว กิตติวุฑโฒนำเอาพลังมวลชนของตนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเกมการเมืองของชนชั้นนำ ทำให้อำนาจของ Cersei ในราชสำนักซึ่งกำลังสั่นคลอนหลังมรณกรรมของบิดาตนเอง กลับมาเข้มแข็งใหม่อีกครั้งหนึ่ง (แต่ในภายหลังกิตติวุฑโฒก็ใช้พลังมวลชนของตนย้อนกลับมาทำร้าย Cersei จนได้)

 

บุคคลอีกคนหนึ่งที่รู้ดีว่า พลังของประชาชนคนสามัญนั้นยิ่งใหญ่อย่างจะหาพลังอื่นมาเทียบได้ยาก ไม่ว่าจะถูกจัดองค์กรหรือไม่ก็ตาม นั่นคือศัตรูคนหนึ่งของราชินี Cersei ได้แก่ Margaery Tyrell เจ้าหญิงแห่ง Thorn เธอเป็นคนทะเยอทะยานไม่แพ้ Cersei ได้ผ่านการแต่งงานกับผู้ชายที่มีโอกาสจะเป็นราชาธิราชของ Westeros มาแล้วถึง 2 คน แต่การสมรสทั้งสองครั้งไม่นำไปสู่ “จุดสำเร็จ” ของการสมรส (consummate) สามีคนแรกเป็นเกย์ และสามีคนที่สองถูกวางยาพิษตายเสียก่อนในพิธีแต่งงาน เพิ่งมา “สำเร็จ” เอากับสามีคนที่สาม ซึ่งขึ้นเป็นราชาธิราชต่อจากเชษฐาที่เสียชีวิตลง

นับตั้งแต่ยังเป็นคู่หมั้นของกษัตริย์ Jeoffrey เธอก็ “เล่นการเมือง” กับมวลชนคนระดับล่าง อันไม่อยู่ในประเพณีของเจ้านายในราชวงศ์ Baratheon เลย Margaery เสด็จออกเยี่ยมเยียนประชาชนในเขตสลัม พบปะกับประชาชนในบ้านเรือนที่ทรุดโทรมอย่างเป็นกันเอง แม้ในพระราชพิธีเษกสมรส Margaery ก็ประกาศว่า อาหารเหลือจากการเลี้ยงรับรองที่เหลือเฟือในงานนั้น จะนำไปแจกจ่ายแก่ประชาชนผู้ยากไร้

ฉะนั้น Margaery จึงเป็นขวัญใจของประชาชนคนสามัญ ในการเสด็จออกให้ประชาชนเฝ้าพร้อมกับกษัตริย์ ฝูงชนพากันร้องเรียกนามของ Margaery อึงคะนึง โดยไม่มีใครเรียกนามของกษัตริย์เลย

ทั้งหมดนี้ มาจากการที่ Magaery รู้ดีว่า ตัวต้องมาเป็นพระราชินีอย่างโดดเดี่ยว ในราชอาณาจักรซึ่งไม่มีฐานอำนาจอะไรของตัวเลย ซ้ำยังมีพระราชินีเดิมซึ่งกำลังจะกลายเป็นซูสีไทเฮาเหนือพระราชสวามีซึ่งไม่ค่อยฉลาดของตัวด้วย พลังความนิยมของประชาชนคนสามัญเท่านั้น ที่จะรักษาตัวให้อยู่รอดปลอดภัย และยังอาจชิงอำนาจมาเป็นของตนตามตำแหน่งได้ในอนาคต

ดังนั้น บทบาทของมวลชนในกรณีนี้จึงไม่มีอะไรมากไปกว่าหนุนหลังพระราชินีองค์ใหม่ เพื่อชิงอำนาจกันในวังหลวงระหว่างชนชั้นนำด้วยกันเองเท่านั้น แต่ยังไม่ทันที่มวลชนจะได้แสดงบทบาทตามที่ Margaery กำหนดไว้ ก็เกิดเหตุที่กิตติวุฑโฒและลูกเสือชาวบ้านร่วมมือกันจับกุม Margaery ไปเสียก่อน ตามแผนของซูสีไทเฮา

นี่คือบทบาทของมวลชนที่ถูกชนชั้นนำใช้เป็นประโยชน์ในเกมการเมืองของตนเอง โดยมวลชนไม่รู้ตัว

บทบาทมวลชนประเภทที่สอง คือบทบาทเพื่อรักษาประโยชน์ของตนเอง แม้เป็นเครื่องมือของชนชั้นนำไปพร้อมกัน แต่มีประโยชน์ของตนเองเป็นเป้าหมายหลักมากกว่าการเมืองของชนชั้นนำ

เมื่อ Stannis Baratheon ยกทัพมาชิงบัลลังก์ ล้อมและโจมตีพระมหานครคิงส์แลนดิ้งอยู่นั้น กษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์พากันหลบอยู่ในวัง แทนที่จะบัญชาการรบบนกำแพงเมืองให้ตลอดรอดฝั่ง เหลือแต่ Tyrion Lannister คนแคระซึ่งบิดาตั้งให้รักษาการในตำแหน่งมหามุขอำมาตย์ (Hand of King) แต่ผู้เดียว เขาคิดว่าทางรอดทางเดียวคือ ยกกำลังออกต่อสู้กับทัพข้าศึก ณ ลานประตูเมืองด้านที่อ่อนแอที่สุด เพราะหากไม่ทำเช่นนั้นในที่สุดข้าศึกก็จะทำลายประตูเมือง ยกพลเข้ามาจนได้

ขณะนั้น ทหารที่ป้องกันพระนครอยู่เสียขวัญ เพราะพระเจ้าแผ่นดินกลับหลบเข้าวังไปเสียแล้ว Tyrion ซึ่งชื่อของเขาน่าจะแผลงมาจาก Tyr อันเป็นชื่อของเทพเจ้าแห่งสงครามหรือดาวอังคาร แต่ผมไม่อยากเรียกเขาว่า “อังคาร” เพราะจะทำให้เขากลายเป็นกวีไปเสียฉิบ จึงขอเรียกว่า “ทักษิณ” แทน

ทักษิณกระโดดไปยืนบนที่สูง (ก็เขาเป็นคนแคระนี่ครับ) แล้วประกาศเรียกขวัญทหารก่อนจะพากันเปิดประตูเมืองออกไปรบกับข้าศึกข้างนอกว่า อย่าไปสนใจหรือเป็นห่วงกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์เลย หรือพระราชวังอันโอ่อ่างามวิจิตร หรือพระราชทรัพย์ศฤงคารอันมากล้น ถ้าข้าศึกบุกเข้ามาได้แล้วทำลายสิ่งเหล่านั้น ก็ไม่เกี่ยวอะไรกับท่านทั้งหลาย แต่ขอให้สนใจและเป็นห่วงว่า เมื่อข้าศึกยึดเมืองได้ มันจะข่มขืนเมียท่าน ลูกสาวท่าน มันจะยึดทรัพย์สินที่มีอยู่น้อยนิดของท่าน มันจะเผาบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของท่าน แล้วมันจะฆ่าทุกคนที่ท่านรักและให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่พี่น้องมิตรสหาย หรือคนจนๆ ที่ท่านรู้จักคุ้นเคย เรามาร่วมมือกันป้องกันภัยพิบัติที่กำลังจะเกิดแก่ตนเองเถิด

เท่านั้นแหละ ขวัญกำลังใจของทหารก็กลับคืนมา พากันส่งเสียงขานรับที่จะยกกันออกไปต่อสู้ข้าศึกนอกกำแพง เสียสละชีวิตของตนเองให้แก่คนที่ตนรัก ไม่ใช่แก่ใครก็ไม่รู้ ซึ่งไม่เคยสัมผัสกับตนอย่างคนที่เท่าเทียมกันเลย

จากนั้นฉากฟันกันเลือดสาดนอกกำแพงก็ตามมา

 

แม้คำปลุกใจของทักษิณจะฟังดูเหมือนเขายืนอยู่ฝั่งเดียวกับคนเล็กคนน้อยที่เป็นทหารเลว แต่ความจริงแล้วทักษิณเป็นส่วนหนึ่งที่แยกไม่ออกจากชนชั้นนำ พระราชินีซึ่งหลบอยู่ในวังและเป็นผู้สั่งให้เชิญพระเจ้าแผ่นดินเข้ามาหลบภัยในวัง ก็คือพี่สาวของเขาเอง ตระกูล Lannister ของทักษิณ คุมอำนาจอยู่เบื้องหลังราชบัลลังก์มาตั้งแต่ราชวงศ์ก่อนจนถึงราชวงศ์ปัจจุบัน

ดังนั้น หากป้องกันข้าศึกมิให้เข้าเมืองได้สำเร็จ ครอบครัวที่ยากจนของทหารก็รอดปลอดภัย ส่วนครอบครัวของเขา นอกจากรอดปลอดภัยเหมือนกันแล้ว สถานะทางการเมืองและสังคมของครอบครัวเขา รวมทั้งทรัพย์ศฤงคารมหาศาลที่ครอบครัวของเขาครอบครองอยู่ ก็ย่อมรอดปลอดภัยไปพร้อมกัน

Tyrion หรือทักษิณ แตกต่างจากชนชั้นนำคนอื่น ตรงที่รู้ว่าจะรักษาโครงสร้างอำนาจและผลประโยชน์ที่ไม่เป็นธรรมไว้ได้ ก็ด้วยการแบ่งผลประโยชน์และอำนาจให้คนเล็กคนน้อยได้มีส่วนบ้าง พวกเขาก็จะพอใจ และพร้อมจะตายเพื่อรักษาโครงสร้างอันไม่เป็นธรรมต่อพวกเขาเองนั้นไว้ตลอดไป

แม้กระนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มวลชนคนระดับล่างที่เข้ามาเป็นทหาร ตัดสินใจออกไปสู้รบอย่างกล้าหาญ เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง แม้ว่าชนชั้นนำจะได้ประโยชน์ไปมากกว่าก็ตาม รักษาเงินสลึงก้นถุงของตนไว้ แม้ว่าคนอื่นจะได้โอกาสเก็บแท่งทองคำของตนไว้ได้ด้วย ก็ไม่เป็นไร

 

บทบาทของมวลชนในการรักษาประโยชน์ของตนเองอีกกรณีหนึ่ง คือกรณีของทาสและสามัญชนที่พากันสนับสนุน Daenerys Targaryen ซึ่งประกาศเลิกทาสทั้งหมด ชักชวนให้ติดตามเธอออกทำสงครามเยี่ยงเสรีชน นอกจากนี้การปกครองของเธอยังเน้นความสำคัญของความยุติธรรม และนิติรัฐ

และก็เช่นเดียวกับทักษิณ เป้าหมายของ Daenerys คือรวบรวมผู้คนและกำลังอาวุธเพื่อข้ามมาชิงบัลลังก์ของราชวงศ์เดิมของตนคืน ก็การเมืองของชนชั้นนำนั่นแหละครับ

แต่เธอเล่นการเมืองของชนชั้นนำที่ไม่แยกประชาชนคนสามัญออกไป ใช้หลักรัฐประศาสนศาสตร์ที่ให้ความสำคัญแก่คนเล็กคนน้อย เพื่อให้ได้กำลังของพวกเขาในการบรรลุจุดประสงค์ทางการเมืองของชนชั้นนำ

เรื่องสุดท้ายที่ผมอยากพูดถึงคือทำเลของท้องเรื่อง ซึ่งกำหนดให้เกิดในดินแดนที่มีสองทวีปหรือเกาะตั้งเคียงกัน แยกกันด้วยช่องแคบที่เรียกในหนังว่าทะเลแคบ (The Narrow Sea) ทวีปทางฝั่งตะวันตกคือ Westeros ทางฝั่งตะวันออกคือ Essos

ดังนั้น สองทวีปที่ตั้งเคียงกันนี้จึงไม่ได้แยกจากกันเด็ดขาด มีความสัมพันธ์กันบ้าง ในหนังพูดถึงการค้าของบางนครรัฐใน Essos ที่ส่งสินค้ามาขายบางราชอาณาจักรใน Westeros แม้กระนั้น Game of Thrones ก็แสดงความแตกต่างระหว่างสองทวีปนี้อย่างมาก

Westeros ประกอบด้วยราชอาณาจักร 7 แห่ง และแว่นแคว้นอีกจำนวนหนึ่ง โดยมีราชาธิราชซึ่งครองอยู่ที่คิงส์แลนดิ้งเป็นประธาน แต่ใน Essos ไม่มีราชอาณาจักรเลย (อาจเคยมีในอดีตเช่น Valaria ซึ่งถูกทิ้งร้างไปนานแล้ว) ไม่ต้องพูดถึงว่าไม่มีราชาธิราช นครรัฐต่างๆ มักปกครองโดยมีผู้นำร่วมหลายคน และมักเป็นพ่อค้าผู้มั่งคั่ง นครรัฐเหล่านี้มักมีทาส และมีประเพณีที่ดูจะล้าหลังป่าเถื่อน เช่น มีสนามประลองยุทธ์โดยเอาทาสมาฆ่ากันให้ดู

โดยสรุป Essos คือดินแดนที่ไร้อารยธรรม ไร้ระเบียบทางการเมืองและสังคมซึ่งอารยชนรู้จัก (เช่น ไม่มีกษัตริย์) ถ้าดูจากหน้าตาคน ก็น่าจะประกอบด้วยผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ ผิดจาก Westeros ซึ่งเป็นที่อยู่ของคนผิวขาวเผ่าอารยัน นอกจากนี้ Essos ยังเต็มไปด้วยเวทมนตร์คาถา ที่ผู้คนอาจนำมาใช้ทำร้ายกันได้ด้วย

 

ในประวัติศาสตร์ของเผ่าพันธุ์มนุษย์ทั้งโลก ดินแดนประเภท Essos นี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง แม้ว่าอารยธรรมอาจเกิดในดินแดนประเภท Westeros แต่พลังที่จะขับเคลื่อนอารยธรรมให้ขยายและพัฒนาขึ้นกลับมาจากดินแดนประเภท Essos

อารยธรรมจีนกระจุกตัวอยู่แถบลุ่มน้ำเหลืองตอนบน ขยายไปตามลำน้ำจนถึงชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกในเวลาต่อมา แต่พลังของอารยธรรมจีนถูกทำให้เข้มแข็งสลับซับซ้อนขึ้นอย่างมาก เมื่อขยายลงมาสู่ลุ่มน้ำแยงซีทางใต้ และทะเลทรายด้านเหนือ ซึ่งก็คือ Essos ของอารยธรรมจีน เพราะเป็นทางให้ได้ดูดซึมอารยธรรมท้องถิ่นและต่างแดนเข้ามาผสมปนเป จนกลายเป็นอารยธรรมจีนที่อาจขยายไปยังดินแดนกว้างไกล ที่แม้ไม่ได้อยู่ใต้อำนาจปกครองจีนก็ตาม

เช่นเดียวกับอารยธรรมอารยันของอินเดีย การขยายเข้ามาเผชิญกับอารยธรรมพื้นถิ่นในลุ่มน้ำคงคา และลงใต้สู่โคทาวรี ฯลฯ ต่างหาก ซึ่งก็คือ Essos ของอารยธรรมอารยัน ที่ทำให้อารยธรรมอารยันพัฒนาไปอย่างซับซ้อน และขยายอิทธิพลเป็นแบบอย่างให้แก่ภูมิภาคนอกอนุทวีปอินเดียในเวลาต่อมา

อารยธรรมกรีกขยายไปทั่วโลกเพราะกองทัพอันเกรียงไกรของอเล็กซานเดอร์มหาราช ซึ่งมาจากรัฐแมสซิโดเนียอันเป็น Essos ในโลกของกรีก

ที่เราเรียกอารยธรรมยุโรป แม้มีฐานจากจักรวรรดิโรมัน แต่เนื้อหาที่สำคัญส่วนมากคือ อารยธรรมของ Essos ของยุโรป ได้แก่ยุโรปเหนือและตะวันตก

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การค้าทางไกลทางทะเล บังคับให้รัฐตามชายฝั่งต้องขยายเข้าไปผนวกหรือสัมพันธ์กับส่วนในของแผ่นดิน อันเป็น Essos ของอุษาคเนย์เพิ่มขึ้น ทำให้ได้ทั้งทรัพยากรและกำลังคนมากพอที่จะสร้างรัฐแบบใหม่ที่มีอำนาจเสียยิ่งกว่ารัฐคลาสสิคที่เคยมีชื่อเสียงมาก่อน เพราะเกิดระบบปกครองที่ทำให้ขยายอำนาจไปได้ทั่วถึงยิ่งขึ้น

ฉะนั้น ในหนังเรื่อง Game of Thrones ผูกเรื่องให้ Daenerys กู้บัลลังก์ โดยเริ่มสั่งสมกำลังที่ Essos ก่อน จึงนับว่าสมเหตุสมผลทางประวัติศาสตร์อย่างยิ่ง ผมไม่ทราบว่าหนังจะจบอย่างไร แต่หาก Daenerys ได้นั่งบัลลังก์เหล็กที่คิงส์แลนดิ้งดังปรารถนา เธอก็จะสร้างระบอบปกครองและระบบสังคมแบบใหม่ที่ไม่เหมือนกับที่ราชวงศ์ Targaryen ของเธอได้ทำมา เปิดยุคสมัยใหม่แก่ Westeros ได้หลายทิศหลายทาง เช่น รับศาสนาคริสต์เข้ามา มีพระราชโองการที่ยอมรับสิทธิอันล่วงละเมิดไม่ได้ของประชาชนบางกลุ่ม เช่น กลุ่มขุนนาง เป็นต้น Westeros ก็จะไม่เหมือนที่ปรากฏในหนังอีกต่อไป