นิธิ เอียวศรีวงศ์ : Game of Thrones (1)

เหมือนคนอื่นๆ อีกมาก ทั้งในและนอกประเทศไทย ผมติดตามภาพยนตร์ทีวีเรื่อง Game of Thrones ด้วยความสนุกสนานขั้นเมามันทีเดียว

และเช่นเดียวกับแฟนานุแฟนทั่วโลก คืออยากรู้ว่าในความเป็นจริง จอนสโนว์เป็นลูกใครแน่ ใครคือเชื้อสายของราชวงศ์ Tagaryen บ้าง ทำไม Tyrion จึงฆ่าพ่อของเขาได้

เพิ่งมาฉุกใจคิดได้ว่า ทำไมแฟนๆ จึงสนใจเรื่องสายตระกูลของตัวละครกันนัก ก็เพราะหนังเองให้ความสำคัญแก่สายตระกูลของตัวละครมาแต่ต้นเรื่องเหมือนกัน เรียกว่าสายตระกูลมีส่วนในการตัดสินชะตากรรมของตัวละครแต่ละตัวอยู่ไม่น้อย

ผมจึงมาคิดว่า เราจะอธิบายเรื่องไม่จริงหรือเรื่องแต่งนี้ในทางประวัติศาสตร์ได้อย่างไร คงไม่ใช่จับเรื่องยัดกลับไปยังยุคสมัยใดในประวัติศาสตร์ของภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง (เช่น ยัดกลับเข้าไปยังสมัยกลางของยุโรป) แต่มันมีปรากฏการณ์ที่สังคมศาสตร์แขนงต่างๆ รวมทั้งประวัติศาสตร์ เคยมีคำอธิบายที่น่าสนใจไว้ เราจะเอาคำอธิบายทางวิชาการเหล่านี้กลับมาทำความเข้าใจ Game of Thrones ได้อย่างไรบ้าง

สิ่งแรกที่เห็นได้ชัดจากชื่อเรื่องก็คือ นี่เป็นเรื่องของการแก่งแย่งอำนาจทางการเมืองกัน โดยไม่ต้องดูหนังเลย ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ก็เดาได้ว่าผู้ที่เข้ามาแก่งแย่งอำนาจจะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจากชนชั้นนำด้วยกันเอง

ชนชั้นนำเหล่านี้คือคนในสายตระกูลที่ครอบครองแว่นแคว้นต่างๆ ในดินแดนสองแห่งคือ Westeros และ Essos แว่นแคว้นเหล่านี้มีทั้งที่เล็กขนาดเป็นรัฐเจ้าครองนคร (principalities) และใหญ่ขนาดที่เป็นราชอาณาจักร (kingdoms) ซึ่งนอกจากจะครองเมืองใหญ่ของตนแล้ว ยังมีเจ้าครองนครเล็กมาสวามิภักดิ์อยู่ด้วยอีกจำนวนหนึ่ง เฉพาะในดินแดนที่เป็น Westeros มีสายตระกูลหนึ่งที่สามารถสถาปนาอำนาจของตนขึ้นเป็น “กษัตริย์ของเจ็ดราชอาณาจักร” ตั้งเมืองหลวงอยู่ที่ King”s Landing

แม้ว่า Westeros มีเมืองหลวงและมีราชาธิราชของเจ็ดราชอาณาจักร แต่จะเรียกว่าเป็นรัฐอันหนึ่งอันเดียวกันก็แทบไม่ได้ เพราะไม่มีอะไรร่วมกันเลยนอกจากยอมรับนับถือกษัตริย์แห่งคิงส์แลนดิ้งร่วมกัน มองไม่เห็นจากเรื่องราวว่าเมืองหลวงจะได้ส่วยสาอากรอะไรจากอีก 6 ราชอาณาจักร นอกจากเมื่อราชวงศ์ทำพิธีกรรมอย่างใหญ่เช่นราชาภิเษกหรือเษกสมรส แม้แต่เมื่อมีศึกมาติดพระนคร ก็ใช่ว่าทุกราชอาณาจักรจะส่งกำลังมาช่วยทั้งหมด ต้องสร้างความสัมพันธ์พิเศษระหว่างกันเท่านั้น บางราชอาณาจักรจึงให้ความช่วยเหลือ เช่นที่ตระกูล Tyrell ให้ความช่วยเหลือเพราะสัญญาว่าราชวงศ์จะยอมเษกสมรสกับเจ้าหญิงเจ้าชายของตระกูลไทเรล

 

นี่คือสภาพยุคต้นของสมัยกลางในยุโรป เมื่อระบอบศักดินาฝรั่งเริ่มก่อตัวขึ้น ราชธานีย่อมย้ายไปตามราชวงศ์ที่สถาปนาอำนาจนำของตนได้สำเร็จ เพราะเป็นฐานอำนาจของตนเอง อย่างชาลมาญ หรือชาลมหาราช ตั้งราชธานีที่ Aachen หรือ Aix-la-Chapelle ในภาษาฝรั่งเศสและอังกฤษ แต่ลูกหลานก็ไม่ได้สืบทอดอำนาจที่เมืองนี้ นอกจากกษัตริย์เยอรมันซึ่งเป็นเจ้าของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ที่ใช้เป็นที่ทำราชาภิเษกและขึ้นนั่งบัลลังก์ของชาลมาญในพิธี แต่ราชธานีย่อมอยู่ในแว่นแคว้นหรือรัฐที่เป็นฐานกำลังของตนเอง

อันที่จริงประเพณีของกษัตริย์เยอรมันก่อนชาลมาญ ย่อมย้ายราชธานีไปเรื่อยๆ ตามแต่ภารกิจในรัชกาลหรือตามแต่ว่าได้สร้างฐานกำลังของตนไว้ที่ใด ชาลมาญเสียอีกที่สร้าง Aachen ขึ้นเป็นที่ประทับถาวรเมื่อชราแล้วเป็นครั้งแรก

ในเมืองไทยเรารู้เรื่องของพระเจ้าลิไท ซึ่งไม่ได้มีฐานอำนาจที่สุโขทัย แต่ครองเมืองลูกหลวงคือศรีสัชชนาลัยอยู่ก่อน เมื่อขึ้นครองราชย์ยังถูกศัตรูยึดเอาสุโขทัยไปเสียก่อน ต้องยกกำลังไปชิงเอามา และตลอดรัชกาลก็ประทับอยู่ที่ศรีสัชฯ หรือพิษณุโลก อันเป็นฐานกำลังของพระองค์

ในประวัติศาสตร์ล้านนาช่วงหนึ่ง เชียงใหม่กับเชียงแสน/เชียงรายเคยแย่งความเป็นศูนย์กลางของราชอาณาจักรกัน เพราะเจ้าชายที่ขึ้นครองราชย์ได้สำเร็จ มักประทับในเมืองที่เป็นฐานกำลังของตนมากกว่า

 

ประเพณีมีราชธานีถาวรย่อมเกิดขึ้นในราชอาณาจักรที่กษัตริย์มีกำลัง (ทางการเมือง, ระบบราชการ, หรือเศรษฐกิจและวัฒนธรรม) ที่จะควบคุมทั้งจักรวรรดิหรือทั้งดินแดนของราชาธิราชได้ในระดับหนึ่งแล้วเท่านั้น จึงสร้างความศักดิ์สิทธิ์ของราชธานีด้วยพิธีกรรมทางศาสนา จนกระทั่งราชวงศ์ใดที่แย่งอำนาจมาได้ ก็มักต้องย้ายมาประทับในเมืองศักดิ์สิทธิ์นั้น

แต่ดังที่กล่าวแล้วว่าราชาธิราชของ Westeros ยังทำอย่างนั้นไม่ได้ จึงไม่น่าเป็นไปได้ที่จะมีราชธานีถาวรเช่นคิงส์แลนดิ้ง โดยเฉพาะเมื่อ Robert Baratheon ชิงอำนาจจากราชวงศ์ Targaryen ได้ เขาก็น่าจะตั้งราชธานีที่รัฐหรือแคว้นของเขามากกว่าย้ายมาอยู่ในเมืองซึ่งแทบไม่มีฐานอำนาจอะไรของตนเองเลย และตกอยู่ภายใต้การกำกับควบคุมของตระกูล Lannister ตลอดชีวิต

หากมองสภาวะเช่นนี้จากสายตาของศาสตราจารย์ Jeffrey A. Winters ผู้แต่งหนังสือชื่อ Oligarchy นี่คือสภาพของสังคมที่กลุ่มคณาธิปัตย์ถูกเขาจัดว่าเป็น ประชาธิปัตย์ขุนศึก (warring oligarchs) คณาธิปัตย์เหล่านี้รักษาทรัพย์สมบัติของตนด้วยการรบราฆ่าฟันกัน ทั้งเพื่อเพิ่มพูนทรัพย์สมบัติและปกป้องทรัพย์สมบัติไว้มิให้ใครมาแย่งไปได้ ภัยคุกคามทรัพย์สมบัติของคณาธิปัตย์ขุนศึกมาได้จากสามทาง คือจากข้างล่าง เมื่อข้าไพร่ในแว่นแคว้นของตน รวมตัวกันก่อกบฏก็ได้ มาจากทิศทางรอบตัว คือคณาธิปัตย์อื่นมาแย่งหรือขยายเขตผลประโยชน์มาซ้อนทับพื้นที่ของตนก็ได้

มาจากข้างบน คือคนที่ยกให้เป็นเจ้านายทวงคืนสิทธิที่เคยมอบให้ไว้ หรือถึงกับยกทัพมาแย่งทรัพย์สมบัติของตนเลยก็ได้

นี่คือสภาพระยะต้นของสมัยกลางในยุโรป ซึ่งคณาธิปัตย์ขุนศึกต้องจัดการให้เกิดความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินของตน รวมหัวกันเอาดาบจี้ให้พระเจ้าแผ่นดินซึ่งทำท่าจะคุกคามทรัพย์สินของตนยอมลงนามสัญญาว่าจะเคารพสิทธิของตน จนกลายเป็น แม็กนา คาร์ตาร์ ในอังกฤษก็เคยทำมาแล้ว

แต่ไม่จำเป็นว่าคณาธิปไตยขุนศึกจะต้องเกิดในยุคต้นของสมัยกลางเท่านั้น กลุ่มมาเฟียในสหรัฐในปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 ก็เป็นคณาธิปัตย์ขุนศึกอีกชนิดหนึ่ง และเพื่อลดความขัดแย้งระหว่างกัน ซึ่งในระยะยาวแล้วมีค่าใช้จ่ายสูง พวกมาเฟียในสหรัฐจึงตกลงกันตั้งคณะกรรมการกลางของมาเฟียขึ้น มีหัวหน้ามาเฟียหลายกลุ่มเข้ามาเป็นกรรมการ ทำหน้าที่รับรองเขตผลประโยชน์ของแต่ละมาเฟีย ระงับข้อพิพาท และวางกฎเกณฑ์บางอย่างที่ป้องกันมิให้รัฐเข้ามาปราบปราม เช่น ห้ามฆ่าเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้พิพากษาที่สังคมยกย่อง

แต่การละเมิดข้อตกลงเกิดขึ้นบ่อย อีกทั้งความมั่นคงของคณะกรรมการกลางเองก็ไม่สู้จะมากนัก เดี๋ยวก็เปิดฉากรบกันเองจนคณะกรรมการกลางต้องหยุดทำงานไป

การบริหารงานของราชาธิราชของ Westeros ที่คิงส์แลนดิ้งก็มีลักษณะเหมือนคณะกรรมการกลางของมาเฟียอย่างนี้ ที่ศูนย์กลางของการบริหารคือ The Small Council หรือสภาที่ปรึกษาเล็ก ประกอบด้วยคนไม่กี่คน ส่วนใหญ่คือขาใหญ่ที่มีอำนาจหลังราชบัลลังก์ในคิงส์แลนดิ้งอยู่แล้ว แทบไม่มีตัวแทนจากราชอาณาจักรทั้งหกที่เหลือเลย ยกเว้นแต่เมื่อตระกูล Lannister ต้องสร้างสายสัมพันธ์กับตระกูล Tyrell ในตอนหลัง จึงได้มีคนจากตระกูล Tyrell ร่วมอยู่ด้วยในฐานะเจ้ากรมกษาปณ์

เมื่อราชาธิราชปราศจากเครื่องมือในการควบคุมจักรวรรดิหรือราชอาณาจักรในทางเศรษฐกิจหรือการเมืองเลย ราชวงศ์ที่จะสามารถรักษาสถานะราชาธิราชสืบไปเป็นเวลานานได้ เช่นราชวงศ์ Targaryen ต้องอาศัยอะไรเป็นเครื่องมือ

ผมคิดว่าในหนัง Game of Thrones เขาบอกเป็นนัยะว่า ราชวงศ์ Targaryen ใช้อำนาจทางวัฒนธรรม และรูปธรรมของอำนาจทางวัฒนธรรมนั้นคือมังกร นั่นคือการยอมรับนับถือของตระกูลใหญ่ๆ ทั้งหลายซึ่งครอบครองราชอาณาจักรต่างๆ ใน Westeros แม้เมื่อมังกรตายสูญพันธุ์ไปตั้ง 200 ปีก่อนการล่มสลายของราชวงศ์ Targaryen อำนาจทางวัฒนธรรมก็ยังอยู่ ดังที่ตัวละครตัวหนึ่งซึ่งเคยรับราชการสมัยนั้น บอกแก่กษัตริย์ Jeoffrey Baratheon ว่า ในท้องพระโรงสมัยราชวงศ์ Targaryen นั้น มีกะโหลกของมังกร ทั้งเล็กและใหญ่ ตั้งเรียงรายกันเป็นแถวเต็มไปหมด

เจ้าหญิง Daenerys อันเป็นเจ้านายองค์สุดท้ายของราชวงศ์ Targaryen ที่เหลืออยู่ และกำลังรวบรวมกำลังผู้คนเพื่อกลับมากู้บัลลังก์คืนนั้น ตระหนักดีถึงอำนาจทางวัฒนธรรมของราชวงศ์ นอกจากเธอครอบครองมังกร (เป็นๆ) ถึงสามตัวแล้ว การกระทำทั้งหมดของเธอ ยังเน้นความชอบธรรมทางวัฒนธรรมตลอดเวลาด้วย เช่น ความเป็นมิตรที่ให้แก่ข้าทูลละอองฯ ทุกระดับ ไปจนถึงการ “เลิกทาส” ในแว่นแคว้นที่ยึดมาได้ จนชื่อเสียงเกียรติยศของเธอในฐานะผู้ปกครองที่ทรงธรรมแผ่ไพศาลไปทั่ว รวมทั้งข้ามไปยัง Westeros ด้วย

ผมนึกถึงจุดเริ่มต้นของการสร้างอำนาจทางวัฒนธรรมของ Daenerys เป็นครั้งแรก คือเรียนรู้ที่จะเสพสังวาสกับพระราชาเยี่ยงพระราชินี จะต้องแตกต่างจากเยี่ยงนางบำเรออย่างไร จากเด็กสาวน่ารักซึ่งพี่ชายนำเอามาแลกบริการของชนเผ่า เธอกลายเป็น Kharisee ที่แท้จริงของชนเผ่าอย่างปฏิเสธไม่ได้ มีอำนาจที่จะกำกับความเคลื่อนไหวทางการเมืองของชนเผ่าได้อย่างแท้จริง จนเมื่อเสียพระสวามีไป

อำนาจทางวัฒนธรรมนั้นเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ มันไม่ได้มาเองกับการเป็นสมาชิกของราชวงศ์โบราณ

 

Game of Thrones เปิดฉากขึ้นเมื่อราชวงศ์ Targaryen ล่มสลายลง แม้เป็นราชาธิราชที่ไม่มีอำนาจอะไรอื่นเอาเสียเลย แต่อำนาจทางวัฒนธรรม ก็ทำให้เกิดความสงบเรียบร้อยได้ระดับที่ไม่ต้องเกิด game of thrones จนกระทั่งกษัตริย์องค์สุดท้ายกระทำการโหดร้ายทารุณต่างๆ จนถูกเรียกว่า The Mad King ก็คือทำลายอำนาจทางวัฒนธรรมของราชวงศ์ลงนั่นเอง จึงเปิดโอกาสให้ตระกูล Baratheon สามารถแย่งราชบัลลังก์มาได้

แต่ Robert Baratheon ก็เป็นราชาธิราชที่ไม่มีอำนาจอะไรอื่น แม้แต่อำนาจทางวัฒนธรรมก็ไม่มี บ้านเมืองจึงเกิดจลาจลที่จะกลายเป็นท้องเรื่องของหนัง Game of Thrones ได้ สองตระกูลใหญ่ที่เข้ามาแย่งชิงอำนาจในสุญญากาศของอำนาจนี้ ไม่ได้ต้องการเข้ามาสถาปนาตนเองเป็นราชาธิราชของราชวงศ์ใหม่ แต่ต้องการเข้ามากุมอำนาจเบื้องหลังราชบัลลังก์เหล็กต่างหาก หนึ่งคือตระกูล Stark ซึ่งมีฐานอำนาจอยู่ทางเหนือ และตระกูล Lannister ซึ่งมีฐานอำนาจอยู่ทางใต้

ว่ากันว่า George R. R. Martin ผู้ประพันธ์เรื่อง A Song of Ice and Fire ซึ่งถูกปรุงมาเป็นบทหนังเรื่องนี้ ได้รับแรงบันดาลใจจากประวัติศาสตร์อังกฤษตอนสงครามดอกกุหลาบในศตวรรษที่ 15 เมื่อสองตระกูลใหญ่ ช่วงชิงอำนาจกันเพื่อเข้าควบคุมราชบัลลังก์ ถึงกับยกกำลังออกทำสงครามกันเป็นประจำ

สุญญากาศแห่งอำนาจที่ขาดแกนกลางของอำนาจทางวัฒนธรรม ซึ่งให้ความชอบธรรมแก่อำนาจทางการเมือง ย่อมก่อให้เกิดความวุ่นวายปั่นป่วนของ game of thrones เช่นนี้ในทุกสังคม โดยเฉพาะในสังคมที่ไม่ยอมรับหลักความชอบธรรมใหม่เช่นประชาธิปไตย

เพราะอำนาจทั้งหลายที่มีอยู่จริงในสังคมนั้น ไม่ว่าจะเป็นอำนาจทางทหาร, ทางเศรษฐกิจ, ทางความนิยมทางการเมือง, ฯลฯ ย่อมเข่นฆ่ากันด้วยวิธีต่างๆ เพื่อชิงกันเข้ามายืนอยู่เบื้องหลังราชบัลลังก์ แล้วก็ไม่มีฝ่ายใดที่สามารถยืนอยู่หลังราชบัลลังก์ได้ยาวนาน เพราะขาดความชอบธรรมที่ทุกฝ่ายต้องยอมรับ สงครามดอกไม้ หรือสีเสื้อจึงอาจดำเนินต่อไปโดยไม่มีวันสิ้นสุด

ว่ากันไปแล้ว ตลอดทั้งเรื่องของ Game of Thrones เต็มไปด้วยสุญญากาศทางอำนาจ Robert Baratheon สร้างสุญญากาศทางอำนาจขึ้นเมื่อล้มล้างราชวงศ์ Targaryen ลง ด้วยความเป็นนักรบและนักเดินหมากทางการเมืองเหนือชั้น แต่เขาไม่สามารถแทนที่ราชวงศ์ Targaryen ได้ เพราะไม่ได้มีอำนาจในทางอื่นมากไปกว่าอำนาจทางทหาร บ้านเมืองจึงเริ่มจะวุ่นวายเป็นจลาจล เมื่อ Eddard Stark ถูกประหารชีวิตเพราะศัตรูทางการเมือง ลูกชายคนโตของเขารวบรวมกำลังทหารยกทัพลงมาเพื่อหมายจะแก้แค้นแทนพ่อ เกิดสุญญากาศทางการเมืองในภาคเหนือ แคว้นเล็กแคว้นน้อยต่างแยกตัวเป็นอิสระบ้าง ไปเข้ากับตระกูล Lannister บ้าง หรือเข้ามายึด Winterfell เพื่อสถาปนาตนเองเป็นพระราชาแห่งภาคเหนือบ้าง

การรบราฆ่าฟัน, การวางแผนประทุษร้ายกัน, การสร้างและสลับเครือข่ายทางการเมือง, การหักหลังและความมั่นคงจงรัก อันเป็นท้องเรื่องของ Game of Thrones ล้วนเกิดขึ้นท่ามกลางสุญญากาศทางการเมืองประเภทต่างๆ ทั้งสิ้น

ในระยะยาวแล้ว Westeros หรือรัฐอะไรก็ตาม จะดำรงอยู่ท่ามกลางการต่อสู้แย่งชิงอำนาจกันอย่างนี้ไม่ได้ เพราะทุกฝ่ายจะอ่อนแอลงหมด กลายเป็นโอกาสของอำนาจจากภายนอกจะเข้ามาสถาปนาอำนาจใหม่ขึ้นแทน ดังที่เจ้าหญิง Daenerys กำลังทำอยู่ใน Essoss

หรือจีนได้ทำไปแล้วในพม่าและอาจทำในเมืองไทยต่อไปได้

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมเห็นว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังให้ความสำคัญแก่ความซับซ้อนของเงื่อนไขไว้ไม่ดีพอ นั่นคือเบื้องหลังการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองในทุกสังคมนั้น มีเงื่อนไขทางเศรษฐกิจที่มีส่วนกำหนดความเป็นไปของความขัดแย้งอยู่ด้วย

Game of Thrones พูดถึงฐานกำลังของตระกูล Lannister ว่าเป็นตระกูลที่มั่งคั่งทางโภคทรัพย์ที่สุด และนั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ Lannister สามารถมีอำนาจอยู่เบื้องหลังราชบัลลังก์ได้ยาวนาน ข้ามราชวงศ์ด้วย มีคำกล่าวที่รู้กันทั่วไปว่าตระกูลแลนนิสเตอร์ “ชดใช้หนี้ของตนเสมอ” ทั้งหนี้เงิน, หนี้แค้น, หนี้บุญคุณ

แต่มีความจริงซึ่งคนทั่วไปไม่รู้อยู่อย่างหนึ่ง ดังที่ Tywin หัวหน้าตระกูลพูดกับ Cersei บุตรสาวของตนเองว่า ที่จริงแล้วเหมืองทองของ Lannister ได้เหือดแห้งไปนานแล้ว ดังนั้นจึงจำเป็นต้องสร้างสายสัมพันธ์ผ่านการสมรสกับตระกูล Tyrell ซึ่งรวยเป็นอันดับสอง

แม้กระนั้น ใน Westeros ก็ยังมีแหล่งเงินที่ใหญ่มหึมาอยู่อีกแหล่งหนึ่ง นั่นคือ The Iron Bank หรือธนาคารเหล็ก เข้าใจว่าคุณ Martin ผู้แต่งเรื่องนำเอาบทบาทของตระกูลยิวใหญ่ๆ ของยุโรปเช่น Rothchilde มาใช้เป็นแบบอย่าง ราชธานีเป็นหนี้ก้อนใหญ่กับธนาคารแห่งนี้ จนใช้ไม่ไหว จึงต้องส่งหัวหน้าตระกูล Tyrell ซึ่งเป็นรัฐมนตรีคลัง (หรือกรมกษาปน์) ไปเจรจากับธนาคาร

เช่นเดียวกับยิวในยุโรป ธนาคารเป็นผู้ให้เงินกู้แก่การลงทุนทางการเมืองของตระกูลต่างๆ เพราะก่อนหน้าทุนนิยมคนจะลงทุนกับอะไรได้ดีไปกว่าการเมือง ธนาคารพิจารณาเงินกู้เหมือนธนาคารปัจจุบัน คือดูว่าจะมีทางใช้คืนทั้งต้นและดอกหรือไม่ ดังนั้นในสงครามบางครั้ง ธนาคารหรือตระกูลยิว ก็อาจให้เงินกู้แก่คู่สงครามทั้งสองฝ่าย ในหนังธนาคารเหล็กให้เงินกู้แก่ Stannis Baratheon เพื่อระดมทัพไปชิงราชบัลลังก์กับกษัตริย์ซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจของตระกูล Lannister และในทางตรงกันข้ามก็ให้เงินกู้แก่กษัตริย์อยู่แล้ว

นี่เป็นความซับซ้อนของเงื่อนไขทางเศรษฐกิจในการเมืองของ Westeros ที่หนังแสดงให้ดู แต่ในหนัง ธนาคารเหล็กไม่มีบทบาทอื่นอีกเลย นอกจากพิจารณาเงินกู้ ตรงกันข้ามในประวัติศาสตร์ยุโรป ตระกูลยิวใหญ่ๆ มีบทบาทมากกว่านี้อีกมาก เช่นหากราชวงศ์ไม่อาจจ่ายหนี้คืนได้ ก็อาจต้องจ่ายเป็นสัมปทานผูกขาดบางอย่างแทน แม้แต่การเก็บภาษี ทำให้ตระกูลยิวเหล่านี้ร่ำรวยมากขึ้น ไม่ใช่จากกิจการธนาคารอย่างเดียว แต่รวมถึงกิจการทางธุรกิจอื่นๆ ด้วย ยิ่งทำให้ตระกูลยิวเหล่านี้เข้าไปมีบทบาททางการเมืองมากขึ้น (อย่างลับๆ) จนอาจเป็นพลังที่ชี้ขาดทางการเมืองยิ่งกว่าองค์กรศาสนา, ราชวงศ์, หรือกองทัพของพระราชา

ผมคิดว่าบทบาทของธนาคารเหล็กในภาพยนตร์มันบางเกินไปครับ

ตอน 2