ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 17 - 23 พฤษภาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | สิ่งแวดล้อม |
ผู้เขียน | ทวีศักดิ์ บุตรตัน |
เผยแพร่ |
เป็นอันว่า ฤดูร้อนปีนี้คนไทยสัมผัสประสบการณ์ภาวะโลกเดือดพร้อมๆ กับเพื่อนๆ ชาวเอเชียอีกหลาย 100 ล้านคนตั้งแต่อินเดีย จีน บังกลาเทศ พม่า ลาว เวียดนาม เขมร ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ ไปจนถึงญี่ปุ่น ด้วยอุณหภูมิตั้งแต่ 37-48.8 องศาเซลเซียส บางพื้นที่อากาศร้อนสุดขีดเริ่มมาตั้งแต่เดือนมีนาคม เมษายน ลากยาวมาถึงพฤษภาคม
การยกระดับจากภาวะโลกร้อนมาสู่ภาวะโลกเดือด ถ้ายึดตามประวัติศาสตร์ภูมิอากาศนับว่าเป็นปรากฏการณ์รุนแรง ส่งสัญญาณเตือนให้ชาวโลกเร่งปรับตัว รับมือกับภาวะโลกเดือดให้เร็วกว่านี้ มิฉะนั้นแล้วจะเสี่ยงสูงอาจถึงขั้นเสียชีวิต ในขณะเดียวกันสิ่งแวดล้อมได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหลายมิติ
เรามาไล่เรียงประเทศต่างๆ ที่เจอกับภาวะโลกเดือดครั้งนี้
เริ่มจากเมืองโกลกาตา เมืองหลวงของรัฐเบงกอลตะวันตก ประเทศอินเดีย มีอุณหภูมิทะลุถึง 46 องศาเซลเซียส สูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติ 5-10 องศาเซลเซียส
นักอุตุฯ อินเดียบอกว่า ตลอดเดือนเมษายนชาวเมืองโกลกาตาเจอคลื่นความร้อน อุณหภูมิวัดได้ 46 องศาเซลเซียส แต่ผู้คนรู้สึกร้อนเหมือนอยู่ในเตาอบร้อน 60 องศาเซลเซียส มีผู้คนทนร้อนไม่ไหวเสียชีวิตเพราะฮีตสโตรก
นักข่าวสาวของสถานีข่าว ดีดี (DD News) ออกไปรายงานข่าวในพื้นที่ของเมืองโกลกาตา เจออากาศร้อนจัดถึงขั้นเป็นลมต่อหน้ากล้องทีวี ส่วนผลผลิตการเกษตรตกต่ำลงเพราะอากาศร้อนจัด
นักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยกัลคัตตา ชี้ว่าอุณหภูมิของเมืองโกลกาตาในอนาคตจะร้อนเกิน 35 องศาเซลเซียส ยาวนานถึง 150 วัน
ที่ประเทศบังกลาเทศ โรงเรียนเปิดเทอมใหม่ เด็กๆ เข้าห้องเรียนท่ามกลางอุณหภูมิสูงถึง 43.8 องศาเซลเซียส เด็กๆ ชอบเพราะได้เจอเพื่อน แต่ผู้ปกครองห่วง กลัวเด็กเป็นไข้ไม่สบาย
บรรดาอินฟลูเอนเซอร์ในบังกลาเทศ เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาคนจนที่เผชิญกับภาวะร้อนด้วยการปลูกต้นไม้ ขุดสระน้ำ สร้างสวนสาธารณะเป็นที่ร่ม ผู้คนได้หลบแดดผ่อนคลาย
แต่ที่ฟิลิปปินส์ รัฐบาลประกาศปิดเรียนเพราะอุณหภูมิสูง 38.8 องศาเซลเซียส แต่ค่าดัชนีความร้อนอยู่ที่ 45 องศาเซลเซียส ผู้คนส่วนใหญ่พากันหลบร้อนไปอยู่ตามศูนย์การค้า และสระน้ำสาธารณะ
เช่นเดียวกับคนไทย เจอร้อนสุดขีด อุณหภูมิทำลายสถิติเดิมถึง 38 แห่งในพื้นที่หลายแห่งทั้งภาคเหนือ อีสาน ภาคกลาง และภาคใต้
บางพื้นที่ทั้งร้อนทั้งแล้งจัดฝนทิ้งช่วงยาว ชาวบ้านทนไม่ไหวต้องพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เอาตุ๊กตาโดเรมอน ตุ๊กตาแมวมาทำพิธีแห่ขอฝนและจูงลูกจูงหลานแห่ไปใช้แอร์เย็นๆ ในช้อปปิ้งมอลล์
อากาศร้อนมากอุณหภูมิวัดได้ 41 องศาเซลเซียส จนรางรถไฟแถวๆ อำเภอร่อนพิบูลย์ คดงอ เจ้าหน้าที่รถไฟต้องเอาน้ำแข็งมาประคบลดอุณหภูมิรางเหล็ก
ขณะที่คนที่อยู่บ้าน พากันเปิดแอร์พัดลมคลายร้อน จนยอดการใช้ไฟฟ้าพุ่งสูงสุดถึง 3 ครั้งในช่วงเดือนเมษายน

ที่กัมพูชา อากาศร้อนจัดสูงกว่า 39 องศาเซลเซียส สร้างความปั่นป่วนให้กับนักเรียน ขาดสมาธิ เกิดอาการปวดหัว รัฐบาลประกาศลดชั่วโมงการเรียนวันละ 2 ชั่วโมง ให้เด็กพักเรียนในช่วงเช้าหลัง 10 โมง และเข้าเรียนอีกครั้งในช่วงบ่าย 2-5 โมง
มณฑลยูนนานทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ร้อนแล้งยาว อุณหภูมิทะลุ 43.4 องศาเซลเซียส ส่วนที่ลาว สภาพอากาศแห้งแล้งทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ อุณหภูมิที่เมืองโพนโฮง แขวงเวียงจันทน์ วัดได้ 42.8 องศาเซลเซียส
ที่เวียดนามนั้น สภาพอากาศร้อนจัดแผ่ซ่านไปทั่วประเทศ ศูนย์อุตุนิยมวิทยาที่นั่นบอกว่า ในเดือนเมษายนตรวจวัดสภาพภูมิอากาศ 102 แห่ง มีหลายพื้นที่ อุณหภูมิเพิ่มสูงสุดเป็นประวัติกาาณ์ และอย่างน้อย 7 สถานี อุณหภูมิสูงกว่า 43 องศาเซลเซียส
ภาพปลาตายนับแสนตัวลอยฟ่องในอ่างเก็บน้ำที่เมืองด่งนาย ทางภาคใต้ของเวียดนามกลายเป็นภาพสะท้อนถึงความรุนแรงจากผลกระทบของสภาพภูมิอากาศในเดือนเมษายนปีนี้
ที่ญี่ปุ่น อุณหภูมิในเดือนเมษายน ทำสถิติสูงขึ้นเฉลี่ย 2.76 องศาเซลเซียส ทำให้เดือนเมษายนของญี่ปุ่นร้อนที่สุดนับตั้งแต่จดบันทึกสถิติในปี 2441 เป็นต้นมา
เมืองซับโปโร เกาะฮอกไกโด ทางตอนเหนือของญี่ปุ่น เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะเมืองสกี มีหิมะตกหนักในฤดูหนาวเป็นที่ชื่นชอบของนักเล่นสกี เคยเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาว เมื่อปี 2515 และเดือนกุมภาพันธ์ ทุกๆ ปีจะจัดเทศกาลหิมะ มีศิลปินตกแต่งน้ำแข็งจากทั่วโลกมาประชันฝีมือ
ปรากฏว่า วันที่ 15 เมษายนปีนี้ อุณหภูมิในซับโปโรทะลุ 26 องศาเซลเซียส ทำลายสถิติเก่า
สถิติเดิมระหว่างปี 2534-2563 อุณหภูมิวันที่ 15เมษายนของเมืองซับโปโรเฉลี่ยอยู่ที่ 11.5 องศาเซลเซียส
อากาศเปลี่ยนแปลงเป็นร้อนมากขึ้นเช่นนี้ จะทำให้ดอกซากูระของญี่ปุ่นบานเร็วขึ้นกว่าเดิม
ข้ามไปฝั่งเกาหลีใต้ กรมอุตุฯที่นั่นรวบรวมข้อมูลอุณหภูมิเดือนเมษายนของปีนี้ร้อนที่สุดเฉลี่ยแต่ละวันอยู่ที 14.9 องศาเซลเซียสสูงกว่าปีก่อนๆ 2.5 องศาเซลเซียส
สถิติเดิมเมื่อเดือนเมษายน ปี 2541 อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วเกาหลีใต้อยู่ที่ 14.7 องศาเซลเซียส สูงกว่าเฉลี่ยของเดือนเมษายน ระหว่างปี 2543-2563 อยู่ที่ 12.1 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นไม่ใช่มีแค่เฉพาะทวีปเอเชีย หากปรากฏการณ์โลกเดือดเดือนเมษายนแผ่ซ่านไปทั่วทุกทวีป
สำนักงานการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศแห่งยุโรป เพิ่งออกรายงานเมื่อวันที่ 8พฤษภาคมที่ผ่านมา ระบุว่า อุณหภูมิพื้นผิวโลกตลอดเดือนเมษายน เฉลี่ย15.03 องศาเซลเซียส เทียบกับปี 2534-2563 สูงกว่า 0.67 องศาเซลเซียส
หากเอาสถิติ 12 เดือน ระหว่างพฤษภาคม 2566-เมษายน 2567 พบว่าอุณหภูมิโลกมีค่าเฉลี่ยสูงขึ้น 0.73 องศาเซลเซียส ถือว่าสูงที่สุดเท่าที่มีการบันทึกมา
ค่าเฉลี่ยอุณหภูมิในทวีปยุโรป เดือนเมษายนปีนี้ อยู่ที่ 14.9 องศาเซลเซียส สูงกว่าค่าเฉลี่ยของเดือนเมษายน ปี 2534-2563
อุณหภูมิผิวน้ำทะเลทั่วโลก ในเดือนเมษายนที่ผ่านมานี้อยู่ที่ 21.04 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับสถิติเก่าๆ ก็สูงขึ้นเช่นกัน
สำนักงานบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐเตือนให้ชาวอเมริกันเตรียมรับมือกับอุณหภูมิที่ร้อนจัดในฤดูร้อนที่กำลังจะถึงในเดือนมิถุนายน-สิงหาคม
ปรากฏการณ์คลื่นความร้อนในพื้นที่ของรัฐฟลอริด้าและรัฐเท็กซัส จะทำให้ฤดูใบไม้ผลิหดสั้นลงและอุณหภูมิสูงขึ้น อากาศร้อนสุดขีด บางพื้นที่จะเกิดพายุเทอร์นาโดที่มีอิทธิฤทธิ์ทำลายล้างรุนแรง มีฝนตกหนักปริมาณน้ำฝนมากกว่าปกติ
ขอย้ำ การเตรียมรับมือกับภาวะ “โลกเดือด” หากทุกประเทศไม่ทำกันตั้งแต่วันนี้ ฤดูร้อนปีหน้าประชาชนจะเป็นทุกข์ยิ่งกว่า •
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022