ดร.โจ ชี้ ‘ฝุ่นจิ๋ว’ ตัวนำสารพิษ ปลุกคนกรุงอย่าทน ร่วมกดดัน 6 มาตรการแก้มลพิษ

เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือค่าพีเอ็ม 2.5 (PM2.5) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ระบุว่า ตรวจวัดได้ระหว่าง 52-62 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) เกินเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้เพียง 50 มคก./ลบ.ม. ทั้ง 6 สถานี คือ บริเวณริมถนนพระราม 4 ริมถนนอินทรพิทักษ์ ริมถนนลาดพร้าว ริมถนนพญาไท เขตบางนา และเขตวังทองหลาง แต่เป็นปริมาณฝุ่นละอองที่มีแนวโน้มลดลง ยกเว้นริมถนนพญาไทที่สูงขึ้นเล็กน้อยนั้น

ล่าสุด นายพิจิตต รัตตกุล เลขาธิการมูลนิธิป้องกันควันพิษและพิทักษ์สิ่งแวดล้อม และอดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ฝุ่นขนาดเล็กไม่ใช่เป็นเพียงผงฝุ่นจากดิน หิน การก่อสร้าง ควันที่เผาไหม้จากเครื่องยนต์รถ หรือเศษวัสดุเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวนำสารพิษอันตราย เช่น แคดเมียม ปรอท โลหะหนัก สารก่อมะเร็ง ฯลฯ หากผ่านเข้าไปในกระแสเลือดจะส่งผลต่อร่างกายอย่างคาดไม่ถึง

“เพราะนอกจากการสูดอากาศส่งผลให้ปอดเสื่อมประสิทธิภาพจากการปิดกั้นการแลกเปลี่ยนออกซิเจนที่ถุงปอด ทำให้ต้องหายใจสั้น หัวใจทำงานหนักขึ้นแล้ว ฝุ่นขนาดเล็ก หรือฝุ่นจิ๋ว ที่เรียกว่าพีเอ็ม 2.5 ซึ่งเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ สูงเกินค่ามาตรฐานถึง 153 มคก./ลบ.ม. เกินกว่ามาตรฐานมนุษย์จะรับได้ถึง 3 เท่า ทำให้วิ่งผ่านปอดเข้าสู่กระแสเลือดโดยตรง เชื่อมโยงกับอัตราการเกิดโรคทางสมอง หลอดเลือดหัวใจ และโรคมะเร็ง” นายพิจิตต กล่าวและว่า จากข้อมูลพบว่า เมืองที่มีฝุ่นละอองสูงสุดอันดับ 1 ได้แก่ นิวเดลี ประเทศอินเดีย การาจี ประเทศปากีสถาน และปักกิ่ง จีนสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมีค่าฝุ่นละอองสูงกว่า 100 ไมครอนขึ้นไป ดังนั้น การนิ่งเฉยอดทน เพราะความเคยชินเท่ากับการทำร้ายตัวเอง ซึ่งตัวเลขจากองค์การอนามัยโลก พบว่า ในแต่ละปี มีประชากร 8.2 ล้านคน เสียชีวิตเพราะอากาศเป็นพิษ

นายพิจิตต กล่าวต่อไปว่า ประชาชนอย่ายอมทน แต่ให้ช่วยกันกดดันให้เกิดการแก้ไขด้วยบัญญัติ 6 ข้อ ได้แก่ 1.ลาดยางหรือเทปูนปิดทับทางเดินริมถนนที่ยังเป็นดินทั้งถนนใหญ่และตรอกซอกซอยในทันที ปรับผิวดินไม่มาก ไม่มีโครงสร้างอะไรซับซ้อน เทลาดปิดให้ทั่ว เป็นงานไม่ยาก เพราะศูนย์ซ่อมฯ วัสดุ เครื่องมือ มีอยู่แล้ว 2.ให้ผู้ประกอบการก่อสร้างเอกชนดำเนินการฉีดน้ำ ล้างฝุ่นเกรอะบนถนนถี่ตลอดวัน โดยใช้รถน้ำสีเหลืองที่รดต้นไม้เป็นหลัก ส่วนฝุ่นละเอียดริมทาง ใช้รถดูดฝุ่นที่มี โดยเฉพาะพื้นที่ก่อสร้าง ต้องเพ่งเล็งให้มาก ทั้งเก็บกวาด ชำระล้าง ทุกครั้งที่งานก่อสร้างประจำวันแล้วเสร็จ มีเครื่องมือตรวจวัดระดับฝุ่น ฝ่าฝืน สั่งปิดก่อสร้างชั่วคราว ขึ้นบัญชีดำหรือยกเลิกสัญญาว่าจ้าง 3.ให้ผู้ประกอบการเอกชนที่เป็นเจ้าของรถบรรทุกดิน บรรทุกปูน รถที่ขนส่งวัสดุที่สร้างฝุ่น ต้องดำเนินการล้างล้อ คลุมผ้าใบอย่างเคร่งครัด ผิดต้องจับตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 4.รถควันดำที่ปล่อยปละละเลยต้องมีการตรวจวัด จับ ปรับ โดยความร่วมมือกรมการขนส่งทางบก ตำรวจจราจรกลาง คพ. และ กทม. 5.เบื้องต้นใช้เทศกิจที่มีร่วม 2,000 นาย ทั่วกรุงเทพฯ คุมเข้มห้ามการเผาขยะ ใบไม้ เศษวัสดุในที่โล่งอย่างเด็ดขาด และขอจิตอาสาสิ่งแวดล้อมคอยตรวจตรา ต่อไปปรับปรุงขึ้นมาเป็นตำรวจสิ่งแวดล้อมเหมือนหลายๆ ประเทศ และ 6.ภาคเอกชนดำเนินการในโครงการ ก่อสร้างที่เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่น เช่น โรงผสมปูน แท่นหัวเจาะ สถานที่ขนถ่ายวัสดุ ฯลฯ ให้มีมาตรการติดเครื่องดูดฝุ่นขนาดใหญ่ลงสู่ถุงผ้า หรือติดพัดลมน้ำ ราชการหรือประชาชนเฝ้าระวังตรวจสอบว่าไม่สร้างฝุ่นตามอำเภอใจอย่างที่เคย