เผยแพร่ |
---|
จากกรณีที่ นักกิจกรรมและประชาชนนำโดย กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยและ สตาร์ท อัพ พีเพิล นัดชุมนุมเรียกร้องค้านการสืบทอดอำนาจของ คสช.และหยุดเลื่อนการเลือกตั้งตามที่สัญญาไว้ว่าจะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2561 จนนำไปสู่การออกหมายเรียกผู้ร่วมกิจกรรมจากที่เรียก 7 นักกิจกรรมในข้อหาขัดคำสั่ง คสช.ที่ 3/58 เรื่องการรวมตัวชุมนุมทางการเมืองเกิิน 5 คนและความผิดฐานยุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา และเมื่อวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา สน.ปทุมวันได้ออกหมายเรียกผู้ร่วมกิจกรรมอีก 39 คนรับทราบข้อหาในความผิด ร่วมกันชุมนุมในที่สาธารณะในรัศมี150เมตรจากเขตพระราชฐาน อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 7 วรรคแรก
ล่าสุดเมื่อวานนี้ สโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ทั้งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยบูรพา ได้เผยแพร่แถลงการณ์บนเฟซบุ๊กแฟนเพจของสโมสร แสดงจุดยืนต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเริ่มจากสโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่ระบุว่า
สืบเนื่องจาก พันเอกบุรินทร์ ทองประไพ ฝ่ายกฎหมายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ณ สถานีตำรวจปทุมวัน เพื่อดำเนินคดีกับบุคคลทั้ง ๗ คน อันได้แก่ ๑.นายรังสิมันต์ โรม ๒. นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ๓. นางสาวณัฎฐา มหัทธนา ๔. นายอานนท์ นำภา ๕. นายเอกชัย หงส์กังวาน ๖. นายสุกฤษฎ์ เพียรสุวรรณ ๗. นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ซึ่งนายเนติวิทย์เป็นนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องจากทางกลุ่มออกมาเคลื่อนไหวระหว่างวันที่ ๒๕ มกราคม เวลา ๒๑.๐๐ น. และวันที่ ๒๗ มกราคม เวลา ๑๙.๐๐ น. โดยบุคคลทั้ง ๗ ถูกตั้งข้อหาอย่างน้อย ๒ ข้อหา คือ ๑. ฝ่าฝืนคำสั่งคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ ๓/๒๕๕๘ และ ๒. กระทำการยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๖ สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีความเห็นดังต่อไปนี้
๑. คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ ๓/๒๕๕๘ ซึ่งอาศัยอำนาจมาตรา ๔๔ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. ๒๕๕๗ นั้นได้เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจระบุขอบเขตของการชุมนุม หรือมั่วสุมทางการเมือง ได้อย่างกว้างขว้าง โดยปราศจากความรับผิด ซึ่งกลายเป็นเครื่องมือสำคัญทางกฎหมายที่จำกัดและละเมิดสิทธิเกินความจำเป็นและขัดต่อความได้สัดส่วน สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเห็นว่า คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ ๓/๒๕๕๘ ขัดต่อมาตรา ๓๔ และมาตรา ๔๔ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ซึ่งได้รับรองเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมไว้ และขัดต่อหลักนิติรัฐซึ่งเรียกร้องให้ตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างชัดแจ้ง
๒. ประเทศไทยในฐานะรัฐภาคีของพันธกรณีระหว่างประเทศหลายฉบับ มีพันธกิจที่ต้องปฏิบัติตาม โดยรัฐไทยต้องให้การรับรอง เคารพ คุ้มครอง และส่งเสริมให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิเสรีภาพนั้นได้อย่างไม่เลือกปฏิบัติ ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ ๑๙ ซึ่งให้การรับรองว่า บุคคลมีสิทธิที่จะแสดงความเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง ซึ่งกติกาดังกล่าวนั้นประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคี โดยการภาคยานุวัติเมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ และมีผลบังคับใช้กับไทยเมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๐
๓. การใช้เสรีภาพในการแสดงออกนั้นถือเป็นหัวใจสำคัญของการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ประชาชนย่อมมีสิทธิในการแสดงออกและวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในฐานะผู้บริหารภาษีของประชาชน สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นว่าควรมีการสนับสนุนและเปิดกว้างต่อความคิดเห็นที่หลากหลาย รัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐควรให้การเคารพสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน
ด้วยเหตุนี้ ทางสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความเป็นกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อกรณีดังกล่าว และหวังว่าเจ้าหน้าที่รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเคารพเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมของประชาชน เพื่อแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริงของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่จะนำพาประเทศไปสู่ประชาธิปไตย ตามที่ได้สัญญาไว้กับประชาชนในตลอดระยะเวลา ๓ ปี
สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑
หลังจากนั้นเฟซบุ๊กแฟนเพจของสโมสรนิสิตคณะรัฐสาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ได้ออกแถลงการณ์ โดยระบุว่า สืบเนื่องจาก พันเอกบุรินทร์ ทองประไพ นายทหารปฏิบัติการประจำกองบัญชาการกองทัพบก ปฎิบัติหน้าที่ หัวหน้าส่วนปฏิบัติการคณะทำงานด้านกฎหมายส่วนงานการรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้รับมอบอำนาจจาก คสช. ให้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดีกับนักศึกษาและนักกิจกรรม ๗ คน ซึ่งได้แก่ ๑. นายรังสิมันต์ โรม ๒. นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ๓. น.ส.ณัฎฐา มหัทธนา ๔. นายอานนท์ นำภา ๕. นายเอกชัย หงส์กังวาน ๖. นายสุกฤษฎ์ เพียรสุวรรณ ๗. นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ในกิจกรรม “นัดรวมพลประชาชนอยากเลือกตั้ง แสดงพลังต้านสืบทอดอำนาจ คสช.” เมื่อวันที่ ๒๗ ม.ค. เวลา ๑๗.๓๐-๑๙.๐๐ น. ณ บริเวณสกายวอล์ค แยกปทุมวัน ซึ่งบุคคลทั้ง ๗ คน ถูกตั้งข้อหาอย่างน้อย ๒ ข้อหาคือ ๑. ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๓/๒๕๕๘ ห้ามชุมนุมหรือมั่วสุมการเมืองเกินกว่า ๕ คนขึ้นไป และ ๒. กระทำการยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๖
ต่อมาในวันที่ ๓๐ ม.ค. นวพร กลิ่นบัวแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานเขตปทุมวัน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้ยืนยันว่าจุดที่จัดให้มีการชุมนุมเป็นพื้นที่สาธารณะ พ.ต.ท.สมัคร ปัญญาวงค์ รองผกก.(สอบสวน) หัวหน้างานสอบสวน สน.ปทุมวัน ได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุมเพิ่มเติม มีรายชื่อพร้อมระบุตัวตนบุคคลดังต่อไปนี้ ๑. รังสิมันต์ โรม ๒. สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ๓. ณัฏฐา มหัทนา ๔. อานนท์ นำภา ๕. เอกชัย หงส์กังวาน ๖. สุกฤษฎ์ เพียรสุวรรณ ๗. เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ๘. วีระ สมความคิด ๙. สมบัติ บุญงามอนงค์ แกนนำการชุมนุม ๑๐. โชคชัย ไพบูลย์รัชตะ ๑๑. มัทนา อัจจิมา แนวร่วมคนเสื้อแดง ๑๒. พัฒน์นรี ชาญกิจ มารดาของ สิรวิชญ์ ๑๓. เอกศักดิ์ สุพรรณขันธ์ ๑๔. รักษิณี แก้ววัชระสังสี ๑๕. จุฑามาศ ทรงเสี่ยงไชย ๑๖. พรนิภา งามบาง แนวร่วมคนเสื้อแดง ๑๗. กิตติธัช สุมาลย์นพ แนวร่วมกลุ่มนักศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๑๘. สุดสงวน สุธีสร นักวิชาการกลุ่มคนเสื้อแดง ๑๙. กันต์ แสงทอง นักวิชาการ ๒๐. นพพร นามเชียงใต้ แนวร่วมกลุ่มวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ ๒๑. สุวัฒน์ ลิ้มสุวรรณ นักวิชาการอิสระ ๒๒. กมลวรรณ หาสาลี คนเสื้อแดงพระราม๙ ๒๓. นัตยา ภานุทัต แนวร่วมคนเสื้อแดง ๒๔. อนุรักษ์ เจนตวนิชย์ ฉายา ฟอร์ด เส้นทางสีแดง ๒๕. ประนอม พูลทวี คนเสื้อแดง จ.สมุทรปราการ ๒๖. สงวน คุ้มรุ่งโรจน์ ๒๗. สุรศักดิ์ อัศวะเสนา ๒๘. พรวลัย ทวีธนวาณิชย์ ๒๙. สุวรรณา ตาลเหล็ก ๓๐. นภัสสร บุญรีย์ แนวร่วมคนเสื้อแดง ๓๑. อรัญญิกา จังหวะ นักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ๓๒. พรชัย ประทีปเทียนทอง ๓๓. วรัญชัย โชคชนะ แนวร่วมคนเสื้อแดง ๓๔. นพเกล้า คงสุวรรณ แนวร่วมกลุ่มประชาธิปไตยศึกษา ๓๕. คุณภัทร คะชะนา ๓๖. สามารถ เตชะธีรรัตน์ ๓๗. อ้อมทิพย์ เกิดผลานนท์ ๓๘. วราวุธ ฐานังกรณ์ แนวร่วมกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย และ ๓๙. เดชรัตน์ สุขกำเนิด นักวิชาการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในความผิดฐาน ร่วมกันชุมนุมในที่สาธารณะในรัศมี ๑๕๐ เมตรจากเขตพระราชฐาน อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.๒๕๕๘ มาตรา ๗ วรรคแรก พนักงานสอบสวนได้รับคำร้องทุกข์ไว้แล้ว จะได้ดำเนินการสืบสวน สอบสวน รวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามกฎหมาย โดยออกหมายเรียกทั้ง ๓๙ คน ให้มาพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าหวาในวันที่ ๒ ก.พ.นี้ ทั้งนี้ยังมีผู้ร่วมกระทำความผิดที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบอีก ๖๖ คน
ด้วยเหตุนี้ สโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพาจึงขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐยกเลิกการดำเนินคดีกับนักศึกษาและนักกิจกรรมทั้ง ๓๙ คน รวมถึงยกเลิกการตรวจสอบผู้ร่วมกิจกรรมอีก ๖๖ คนด้วย เนื่องจากคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ ๓/๒๕๕๘ ซึ่งอาศัยอำนาจมาตรา ๔๔ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. ๒๕๕๗ นั้นขัดต่อมาตรา ๓๔ และมาตรา ๔๔ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ซึ่งได้รับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการชุมนุมไว้ รวมถึงขอให้รัฐบาลเคารพในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ดังข้อ ๑๙ ซึ่งให้การรับรองว่า บุคคลมีสิทธิที่จะแสดงความเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง ซึ่งกติกาดังกล่าวนี้เป็นกติกาที่ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคี โดยการภาคยานุวัติเมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ และมีผลบังคับใช้กับไทยเมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๐
“อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน”
สโมสรคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑