กมธ.อว.เชิญสมาคมพลเมืองนครนายก ถกปมตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ มติเห็นควรย้ายที่ตั้งใช้เขตทหาร แทนพื้นที่ชุมชนองครักษ์ เนื่องจากสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลง

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567 มีรายงานว่า เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุม N 409 อาคารรัฐสภา นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ สส.บัญชีรายชื่อพรรคไทยสร้างไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร ( กมธ.อว. ) เป็นประธานประชุม กมธ.อว.โดยได้พิจารณาเรื่องร้องเรียนของสมาคมพลเมืองนครนายก ที่ขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีโครงการจัดตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยเครื่องใหม่ เพื่อการแพทย์ เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม การสร้างโรงเก็บ และรักษากากกัมมันตภาพรังสี และการดำเนินงานของสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ( องค์การมหาชน ) หรือ สทน. ซึ่งได้เชิญตัวแทน 6 องค์กรเข้าชี้แจง ประกอบด้วย สมาคมพลเมืองนครนายก, จังหวัดนครนายก, สำนักงานปรมณูเพื่อสันติ, สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ( องค์การมหาชน ) และ บริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด

นพ.สุธีร์ รัตนะมงคลกุล นายกสมาคมพลเมืองนครนายก กล่าวว่า สมาคมฯ และประชาชนในพื้นที่ ที่ร่วมลงชื่อคัดค้านการตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยเครื่องใหม่เพื่อการแพทย์ เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม ในพื้นที่ตำบลทรายมูล อ.องครักษ์ จว.นครนายก การสร้างโรงเก็บและรักษากากกัมมันตภาพรังสี ในพื้นที่ จว.นครนายก กว่า 8,000 คน มีข้อสังเกตที่เป็นคำถามถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3 ประเด็น คือ ประเด็นแรกเรื่องโครงการจัดตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฯ คุ้มค่าหรือไม่ การเลือกที่ตั้งโครงการฯ และกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ประเด็นที่ 2 การสร้างโรงเก็บกากกัมมันตรังสี ซึ่งตั้งอยู่ใน อ.คลองห้า จว.ปทุมธานี และ พื้นที่ อ.องครักษ์ จว.นครนายก ถูกต้อง ปลอดภัยหรือไม่ และประเด็นที่ 3 การดำเนินกิจการของสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติฯ

ทั้งนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ชี้แจง และกมธ.อว.ได้ซักถามอภิปรายอย่างกว้างขวาง ก่อน กมธ.มีมติร่วมกัน

ด้านนายฐากรฯ กล่าวว่า จากการรับฟังข้อมูลจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่มาชี้แจงวันนี้ กมธ.อว. มีมติ โดยตั้งข้อสังเกตเห็นพ้องกันว่าโครงการจัดตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฯ มีความจำเป็น แต่ด้วยสภาพพื้นที่ในปัจจุบันที่พื้นที่ตั้งโครงการฯ เป็นเขตชุมชน มีการขยายตัวของเมือง จนนำมาสู่การคัดค้านและความกังวลใจของประชาชนในพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบ จึงเห็นควรเปลี่ยนสถานที่ตั้งโครงการให้เหมาะสม โดยเห็นควรประสานไปยังกระทรวงกลาโหมเพื่อขอใช้พื้นที่ของทหารที่เป็นพื้นที่โล่ง มีรั้วรอบขอบชิด ห่างไกลชุมชน ที่ปลอดภัยและเหมาะกว่าแทน ขณะเดียวกันเห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาย้ายโรงเก็บกากกัมมันตรังสี ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.คลองห้า อ.องครักษ์ ด้วย และควรตรวจสอบผลกระทบของสารปนเปื้อนกากกัมมันตรังสีต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่โรงเก็บกาดกัมมันตรังสี โดยสร้างการรับรู้ ทำความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชนในพื้นที่

อย่างไรก็ตามโครงการ จัดตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฯ เริ่มตั้งแต่ปี 2533 ผ่าน กระบวนการรับฟังความคิดเห็นมาหลายครั้ง แต่ยังไม่ได้ข้อยุติ ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถดำเนินการได้