มัลลิกา ชี้ควรให้เกียรติ ส.ส.ปชป.ที่รอดจาก Disruption ลั่นพรรคเหมือนฟิล์มโกดัก ประกาศเดินหน้าปฏิรูปส่องทะลุกระจกให้เห็นอนาคต

มัลลิกา ประกาศเดินหน้าปฏิรูปประชาธิปัตย์ เริ่มจากจุดยืน “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” พร้อมหันส่องทะลุกระจกให้เห็นอนาคต

17 พฤษภาคม 2566 ดร.มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข อดีตกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ระหว่างที่พรรคการเมืองผู้ชนะเลือกตั้งเป็นอันดับ1กำลังพยายามจัดตั้งรัฐบาล และพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้อยู่ในสมการนี้โดยส่วนตัวเห็นว่านี่เป็นบททดสอบของว่าที่นายกรัฐมนตรี ผู้จะบริหารประเทศจะต้องผ่านให้ได้นั้นคือทักษะการเจรจาและทักษะการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ซึ่งก็ขอให้กำลังใจนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์และพรรคก้าวไกล และเป็นเรื่องของผู้นำพรรคก้าวไกลที่เขาจะได้แสดงศักยภาพนั้นให้ประชาชนได้เห็น แต่ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์โดยส่วนตัวเห็นว่าควรให้เกียรติสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส.25 คนที่ประชาชนเลือกมาและรอดพ้นจากสถานการณ์ยุค Disruption ครั้งนี้

“ดิฉันนับถือคนที่รอดเข้ามาเป็นผู้แทนจากเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงหรือปรากฏการณ์ Disruption ครั้งนี้เหลือเกิน วันนี้ถ้าเขาเทียบพรรคเราเป็นเหมือนฟิล์ม Kodak ในยุคที่กล้องฟิล์มนั้นโดดเด่นและแม้จะมีจุดเด่นหรือคงจุดเด่นคือความคมชัดและละเอียดไว้ แต่ยุคสมัยคนเขาก็ใช้กล้องดิจิทัลและกลัองมือถือมากที่สุดอยู่ดี ดิฉันไม่อยากให้พรรคประชาธิปัตย์ถูกแย่งส่วนแบ่งตลาดจนล้มละลายไปเหมือนแบรนด์ Kodak ” ดร.มัลลิกา กล่าว

ดร.มัลลิกา กล่าวว่า ประชาธิปัตย์ต้อง Change หรือการเปลี่ยนแปลง มี Innovation นวัตกรรม มี Idealist หรือความคิดใหม่ และมี Freedom หรือเสรีภาพ ซึ่งผู้นำของแต่ละประเทศและผู้นำของโลกจะต้องมีคุณสมบัติ 4 ข้อเป็นหลักที่สมเด็จธงชัยเคยให้ไว้แต่ในทางปฏิบัติคนยึดหลักนี้ไม่ได้ทำแล้วคนที่ทำก็ไม่ได้ยึดหลักนี้ เพราะโลกยุคใหม่มีการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีกติกาใหม่ๆ ระเบียบใหม่ๆมากขึ้น

เพราะฉะนั้นทางเลือกสำหรับการทำงานการเมืองของดิฉันและหลายคนนับจากนี้ต่อไปคือ 1. เว้นวรรคทางการเมืองเพราะก็มีเรื่องอื่นที่จะต้องไปทำ หรือ 2. เดินหน้ากอบกู้พรรคประชาธิปัตย์โดยระดมพลปฏิรูปพรรคเคียงข้างประชาชน และถ้าจะเลือกทางเลือกที่2 ก็ต้องเริ่มใหม่หารือคนรุ่นใหม่ที่ยังสนใจทำงานการเมืองในรูปแบบที่สร้างสรรค์ใครคิดคนนั้นลงมือทำและแบ่งหมวดการทำงาน 3 ขาในรูปแบบบุคลากรไม่ต้องทับซ้อนกันคือ 1. ที่ยืนในสภาให้เสรีภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทำงานในสภานิติบัญญัติได้อย่างเต็มที่ 2.ที่ยืนในรัฐบาล(ถ้ามี)ให้อำนาจการบริหารจัดการของฝ่ายบริหารในรัฐบาลอย่างเต็มที่ 3.ที่ยืนในพรรค ให้บุคลากรมีอำนาจและเสรีภาพในการบริหารจัดการและตัดสินใจเพื่อสร้างศรัทธาความนิยมและผลักดันนโยบายอย่างเต็มที่

“เราต้องพร้อมหันส่องทะลุกระจกให้เห็นอนาคตให้ได้ และขณะนี้ในส่วนที่สำคัญที่สุดคือข้อ3 ซึ่งจะเป็นฝ่ายที่ทำงานหนักอย่างมากในสถานการณ์หลังจากนี้เพราะจะต้องสร้างความนิยมความศรัทธาให้เข้ากับยุคสมัยและไปกับคนรุ่นใหม่และคนทุกกลุ่มได้อย่างมีศิลปะทันโลกและไม่อคติไม่นำอัตตามาเป็นตัวตั้งลดความยึดมั่นถือมั่นเพื่อสร้างความร่วมมือและสามัคคีและจะต้องเป็นการทำงานเป็นทีมแบ่งงานแบ่งหน้าที่กันทำอย่างบูรณาการที่สุดและนี่จะเป็นทางเลือกและเป็นทางรอดของพรรคประชาธิปัตย์

ทั้งนี้จะดำรงไว้ซึ่งหลักการแห่งความซื่อสัตย์สุจริต ประชาชนเป็นใหญ่และดำรงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งถ้าไม่ใช่ทิศทางนี้ดิฉันก็จะไม่เอาด้วยแต่ถ้าจะเดินหน้าปฏิรูปและยอมรับสิ่งที่ประชาชนให้ฉันทามติมาก็จะต้องร่วมมือร่วมใจกันใครเห็นด้วยเราจะแลกเปลี่ยนกัน” ดร.มัลลิกา กล่าว