อดีตรองนายกฯ ห่วงกรณี “แบม-ตะวัน” ทำสังคมบานปลาย ร้องแนวทาง 3 ข้อ สังคายนาระบบยุติธรรม

‘จาตุรนต์’ ชี้กรณี “แบม-ตะวัน” น่าสะเทือนใจ ร้อง 3 ข้อยกเครื่องระบบยุติธรรม เพื่อปกป้องเสรีภาพปชช.วอนผู้บังคับใช้ปฏิบัติเคร่งครัด-เที่ยงธรรม

วันที่ 26 มกราคม 2566 นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ออกมาแสดงความกังวลต่อกรณี การอดข้าวและน้ำประท้วงของ 2 นักศึกษา จนสภาพร่างกายเข้าขั้นอันตรายต่อชีวิต เพื่อเรียกร้องให้เพื่อนๆที่ถูกถอดถอนประกันตัวจากการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองว่า

ผมเคยร่วมกับเพื่อนๆเรียกร้องให้ฝ่ายตุลาการพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาและจำเลยในคดีความมั่นคงที่ไม่ได้รับการประกันตัวมาบ้างและเคยแสดงความเห็นต่อกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงและการบังคับใช้กฎหมายเหล่านี้มาแล้ว โดยหวังว่าจะเกิดความยุติธรรมแก่เยาวชนและไม่ทำให้สังคมอยู่ในสภาพขัดแย้งบานปลายอย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีตที่ผมและเพื่อนๆเคยเป็นผู้ถูกกระทำมาก่อน

ต่อเหตุการณ์ที่กำลังเป็นที่สะเทือนใจคือการที่น้องนักศึกษา 2 คนได้แก่น้องแบมกับตะวัน ถอนประกันตัวเองและอดอาหารประท้วงการที่ศาลถอนประกันเพื่อนอีก 2 คน และมีข้อเสนอ 3 ข้อ

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้
ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายควรรีบเข้ามาแก้ไขโดยเร็วที่สุด
เพราะหากปล่อยให้เยาวชนทั้งสองคน อยู่ในสภาพเช่นนี้อีกต่อไปแล้ว ความสูญเสียของชีวิตอาจเกิดขึ้นได้
แล้วในที่สุด จะมีคำถามต่อกระบวนการยุติธรรม ที่ไม่อาจหาคำตอบในเรื่องสิทธิ เสรีภาพและความยุติธรรมได้อีกต่อไป

ซึ่งผมมีความเห็นต่อข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ว่า

1. ผมเห็นด้วยว่าสังคมไทยมาอยู่ในจุดที่จำเป็นมากที่สุดที่จะต้องปฏิรูประบบยุติธรรมครั้งใหญ่ตลอดกระบวนการ
2. การดำเนินคดีกับประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุม และการแสดงออกทางการเมืองจะต้องเป็นไปอย่างยุติธรรมสอดคล้องกับกฎหมาย รัฐธรรมนูญและปฏิญญาสากลของสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
3.การเรียกร้องให้พรรคการเมืองเสนอนโยบายเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพ และการมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยการยกเลิก ม.112 และ ม.116 นั้นย่อมเป็นสิทธิโดยชอบที่จะเรียกร้อง แต่ผลที่ตามมาก็คงแตกต่างหลากหลายและกว่าจะมีผลก็อาจจะใช้เวลา

ส่วนตัวผมเห็นว่าสังคมไทยต้องมีการปกป้องคุมครองสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชนและการมีส่วนร่วมของประชาชน ควรสังคายนาแก้ไขปรับปรุงกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันไม่ให้มีการใช้บังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นอย่างมากมายมาตลอดหลายปีมานี้โดยเฉพาะในทุกวันนี้

สำหรับกฎหมายอาญามาตรา 116 และมาตรา 112 นั้น ผมเห็นว่ารัฐควรจะจัดให้มีการประชุมหารือผู้รับผิดชอบในกระบวนการยุติธรรมทุกขั้นตอนร่วมกับนักวิชาการและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาเนื้อหาและการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงมาตรา 116 และ มาตรา 112 ว่ามีปัญหาอย่างไรและจะแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างไรเพื่อให้สังคมไทยอยู่ใน”จุดสมดุลระหว่างการรักษาความมั่นคงของประเทศชาติกับความเป็นประชาธิปไตย”

การจะแก้ไขปัญหาต่างๆดังกล่าวทั้งหมด ย่อมต้องใช้เวลา แต่ในขณะนี้เยาวชนนักศึกษาสองคนคือแบมกับตะวันกำลังอยู่ในสภาพที่เป็นอันตรายน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งจำเป็นต้องหาทางออกโดยเร่งด่วนและผมขอเสนอทางออกสำหรับเรื่องนี้ดังนี้
1. ยกเลิกการตั้งเงื่อนไขในการประกันตัวที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญเช่นการต้องติดกำไล EM แบบเข้มงวดเสมือนเป็นบุคคลที่กระทำความผิดร้ายแรง เป็นอาชญากรร้ายแรงที่ก่อเหตุสะเทือนขวัญ อันเป็นการจำกัดและละเมิดสิทธิส่วนบุคคล รวมถึงการห้ามเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือแสดงออกทางการเมืองอันเป็นสิทธิโดยชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ
2.ยกเลิกการถอนประกันตัวนักศึกษาที่ทำไปด้วยเหตุผลข้ออ้างว่าจำเลยไปเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือแสดงความเห็นทางการเมือง การถอนประกันด้วยเหตุผลดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน
3.ปล่อยตัวผู้ต้องหาและจำเลยในคดีการชุมนุมทางการเมืองที่ไม่มีหลักฐานว่าจะหลบหนีหรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานซึ่งย่อมจะครอบคลุมถึงนักศึกษาที่กำลังเป็นกรณีสะเทือนใจอยู่ในขณะนี้ด้วย

ความจริงข้อเสนอของผมไม่ได้มีอะไรพิสดารซับซ้อนเลย เพียงแต่ขอให้ผู้ใช้กฎหมายทั้งหลายปฏิบัติตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัดและเที่ยงธรรมเท่านั้นเอง การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ผู้คนจำนวนมากขึ้นๆกำลังห่วงใยอยู่ก็จะสามารถเกิดขึ้นได้