นายกฯหญิงแกร่ง ผู้นำพานิวซีแลนด์ผ่านพ้นเหตุการณ์ร้ายแรง ประกาศทิ้งเก้าอี้

 

จาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ประกาศเมื่อวันที่ 19 มกราคมว่า เธอจะลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนกุมภาพันธ์ โดยระบุว่าเธอหมดแรงที่จะทำหน้าที่ผู้นำต่อไป

การลงคะแนนเพื่อเลือกผู้นำพรรคแรงงานคนใหม่จะมีขึ้นในวันที่ 22 มกราคมนี้ โดยหัวหน้าพรรคคนใหม่จะรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์จนกว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 14 ตุลาคม ขณะที่อาร์เดิร์นจะก้าวลงจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคแรงงานภายในไม่เกินวันที่ 7 กุมภาพันธ์

อาร์เดิร์นแถลงข่าวพร้อมกับกลั้นน้ำตาว่า เธอใช้เวลาในช่วงวันหยุดฤดูร้อนเพื่อพิจารณาอนาคตของตัวเอง และหวังว่าจะพบสิ่งที่ต้องการที่จะทำต่อไปในช่วงเวลานั้น แต่โชคไม่ดีที่ไม่พบ และเธออาจสร้างความเสียหายให้กับนิวซีแลนด์หากยังทำมันต่อไป จึงจำเป็นต้องหลีกทาง

“ฉันตระหนักดีว่าจะมีการถกเถียงกันมากมาหลังการตัดสินใจครั้งนี้ว่าเหตุผลที่แท้จริงคืออะไร มุมมองเดียวที่น่าสนใจที่คุณจะพบคือ หลังจากผ่านความท้าทายครั้งใหญ่มา 6 ปี นักการเมืองก็เป็นมนุษย์ เราได้ให้ทุกอย่างที่เราจะทำได้ ตราบเท่าที่เราสามารถที่จะทำมันได้ และสำหรับฉัน มันถึงเวลาแล้ว” อาร์เดิร์นกล่าว

อาร์เดิร์นแสดงความเชื่อมั่นว่าพรรคแรงงานจะชนะการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง และเธอไม่ได้ลาออกเพราะงานหนัก แต่เพราะเธอเชื่อว่ามีคนอื่นที่สามารถทำงานได้ดีกว่า ขณะที่ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ผลสำรวจความเห็นชี้ว่าคะแนนนิยมในตัวเธอลดสู่ระดับต่ำสุดในช่วงหลายเดือน แต่เธอไม่ได้ลาออกเพราะเหตุนี้เช่นกัน

โดยเธอยังได้บอกกับนีฟ ลูกสาวของเธอว่า เธอตั้งตารอที่จะอยู่กับลูกเมื่อถึงเวลาที่นีฟเริ่มเข้าโรงเรียนในปีนี้ และยังบอกกับคลาร์ก เกย์ฟอร์ด คู่ชีวิตของเธอว่า ถึงเวลาแล้วที่ทั้งคู่จะแต่งงานกัน

ทั้งนี้ อาร์เดิร์นกลายเป็นผู้นำรัฐบาลหญิงที่อายุน้อยที่สุดในโลก เมื่อเธอได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ในปี 2560 ขณะมีอายุเพียง 37 ปี และในอีกหนึ่งปีต่อมาเธอได้กลายเป็นผู้นำโลกคนที่ 2 ที่ให้กำเนิดบุตรขณะดำรงตำแหน่ง

เธอนำพานิวซีแลนด์ผ่านการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19  ภูเขาไฟระเบิดที่ไวท์ไอส์แลนด์ ที่เธอบอกว่า การนำพาประเทศผ่านช่วงเวลาอันสงบสุขเป็นเรื่องหนึ่ง แต่มันเป็นอีกเรื่องในการนำประเทศผ่านช่วงวิกฤต

จาซินดา อาร์เดิร์น คุณแม่วัย 40 ปี เป็นเพียงนักการเมืองหน้าใหม่ หลังจากเข้าสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีเมื่อ 3 ปีก่อน

อาร์เดิร์นให้คำมั่นที่จะมี “ความคิดเชิงบวกอย่างไม่สิ้นสุด” และนับตั้งแต่นั้นอาร์เดิร์นก็ต้องการ “ความคิดเชิงบวก” อย่างมากมาย กับ “บททดสอบฝีมือ” และ “อุปนิสัยใจคอ” ที่ตามมาแบบไม่หยุดหย่อน

ในวาระการดำรงตำแหน่งเทอมแรก อาร์เดิร์นต้องเผชิญกับเหตุก่อการร้ายกราดยิงที่มัสยิดที่มีผู้เสียชีวิตมากกว่าครึ่งร้อย ตามมาติดๆ ด้วยภัยธรรมชาติอย่างภูเขาไฟระเบิด, ภาวะเศรษฐกิจถดถอยมากที่สุดในรอบ 30 ปี

และล่าสุดต้องเผชิญปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ เช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม “บททดสอบ” ความเป็น “ผู้นำ” ของอาร์เดิร์นที่ไม่เคยมีผู้นำคนใดของประเทศนิวซีแลนด์เคยเจอมาก่อนเกิดขึ้นเมื่อมือปืนคลั่งผิวขาวชาวออสเตรเลีย ใช้อาวุธปืนไรเฟิลอัตโนมัติ บุกกราดยิงชาวมุสลิมที่กำลังทำพิธีทางศาสนาในมัสยิดกลางเมืองไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ เมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา คร่าชีวิตผู้คนไปถึง 50 คน

การตอบสนองต่อเหตุก่อการร้ายที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศของนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ครั้งนี้ทำให้อาร์เดิร์นได้รับยกย่องในฐานะ “ผู้นำที่แท้จริง” เลยทีเดียว

แถลงการณ์ของอาร์เดิร์น หลังเหตุการณ์ แม้เสียงจะสั่นเครือแต่เนื้อหาที่แสดงออกถึงความเป็นหนึ่งเดียวและความเห็นอกเห็นใจนั้นชัดเจน

“คุณอาจเลือกพวกเรา” อาร์เดิร์นระบุถึงมือปืนผู้ก่อเหตุที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมหลังก่อเหตุได้ไม่นาน ก่อนกล่าวต่อว่า “แต่เราขอปฏิเสธและประณามคุณอย่างที่สุด”

วันถัดมาหลังเกิดเหตุ อาร์เดิร์นปรากฏตัวที่มัสยิดเกิดเหตุ ในชุดผ้าคลุมผมแบบมุสลิมสีดำขลิบทอง พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี ลงพื้นที่เพื่อแสดงความเสียใจกับครอบครัวเหยื่อผู้เสียชีวิตอย่างจริงใจ

ภาพของจาซินดา อาร์เดิร์น กอด จับมือ กระซิบปลอบโยนผู้ได้รับผลกระทบจากการกราดยิงถูกสื่อสารไปยังคนทั่วโลก

อาร์เดิร์นแสดงให้เห็นถึงการปลอบโยนอันอบอุ่น และยังแสดงอีกด้านที่เข้มแข็งในการปฏิเสธที่จะยอมอ่อนข้อให้กับความรุนแรง โดยเอ่ยถึงมือปืนอย่างเบรนตัน ทาร์แรนต์ ว่า ไม่ใช่ตัวแทนคุณค่า ความเชื่อของชาวนิวซีแลนด์ ผ่านถ้อยคำธรรมดาๆ ว่าเขา

“ไม่ใช่พวกเรา”

เจนนิเฟอร์ เคอร์ติน ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยโอ๊คแลนด์ ระบุว่า การสื่อสารของนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์หลังเหตุการณ์ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความเกลียดชังหรือความเดือดดาลใดๆ แต่จะมีเพียงคำพูดอย่าง เราทำได้ เราลุกขึ้นใหม่ได้ เราผ่านไปได้ เป็นต้น

เคอร์ตินระบุว่า อาร์เดิร์นแสดงให้เห็นถึงการเป็นผู้นำที่มีความสุขุมและแข็งแกร่ง ผ่านการดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างตรงไปตรงมา ขณะที่มือปืนนั้นถูกเอ่ยถึงน้อยมาก นอกจากนี้ อาร์เดิร์นยังเรียกร้องให้โลกออนไลน์ลบคลิปวิดีโอเหตุกราดยิงดังกล่าวออกทั้งหมด

อาร์เดิร์นอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา เริ่มต้นคำกล่าวไว้อาลัยด้วยภาษาอาราบิกว่า “อัซซาลามุอาลัยกุม” หรือ “ขอสันติจงเกิดแก่ท่าน” คำทักทายตามแบบชาวมุสลิม

“หนึ่งในบทบาทที่ฉันไม่เคยคาดหวังที่จะได้รับก็คือการแสดงออกถึงความเศร้าโศกเสียใจของคนทั้งชาติ” อาร์เดิร์นระบุ นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ยังยืนยันที่จะไม่เอ่ยชื่อมือปืน และเรียกร้องให้กล่าวถึงเพียงชื่อของผู้เสียชีวิตเพื่อรำลึกถึงเท่านั้น

การตอบสนองกับวิกฤตเหตุร้ายของอาร์เดิร์น พร้อมด้วยนโยบายที่จะผลักดันกฎหมายการครอบครองปืนอย่างเร่งด่วน และการเสนองบประมาณช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิตอย่างครอบคลุม ได้รับการยกย่องไม่เพียงแต่ในประเทศนิวซีแลนด์เท่านั้น แต่ยังถูกกล่าวขานไปทั่วโลก

โดยเฉพาะผู้นำชาวมุสลิมในนิวซีแลนด์ ที่ระบุว่า ความเป็นผู้นำของอาร์เดิร์นนั้น ได้หลอมรวมชุมชนเข้าไว้เป็นหนึ่งเดียว และทำให้ชาวมุสลิมมีความรู้สึกว่านิวซีแลนด์เป็นบ้านอย่างแท้จริง