ประสิทธิ์ เจียวก๊ก? คีย์แมน ‘ไอโอ’ สู่เครือข่ายตุ๋นพันล้าน บุคคลที่เคยถูก ‘ช่อ’ แฉ ?

วันที่ 22 ธันวาคม 65 ชื่อของ ประสิทธิ์ เจียวก๊ก ตกเป็นข่าวดังอีกครั้ง หลังจากเกิดเหตุการณ์ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เมื่อศาลได้นัดพิจารณาคดีที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 2 ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายประสิทธิ์ เจียวก๊ก กับพวกรวม 9 รายเป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน ,พ.ร.บคอมพิวเตอร์ ฯ

จากกรณีหลอกให้ร่วมลงทุนซื้อคูปองทอง ลงทุนซื้อแพคเกจท่องเที่ยว และระบบสหกรณ์ออมทรัพย์ โดยอ้างว่าจะให้ผลตอบแทนจำนวนมากซึ่งเป็นผลตอบแทนที่สูงกว่ากฎหมายกำหนดเมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อเข้าร่วมลงทุน กลับไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่ตกลงไว้ และภายหลังไม่สามารถติดต่อได้ โดยในกลุ่มของผู้เสียหายมีหลายร้อยคนมูลค่าความเสียหายหลายร้อยล้านบาท

โดยมีรายงานข่าวว่าระหว่างพิจารณาคดีนายประสิทธิ์ได้ขออนุญาตไปเข้าห้องน้ำ โดยในห้องน้ำมีผู้นำเสื้อผ้า ชุดลำลองพร้อมกุญเเจไขเครื่องพันธนาการมาให้นายประสิทธิ์เปลี่ยนเพื่อหลบหนี ต่อมามีรายงานว่าเจ้าพนักงานตำรวจศาลจับตัวนายประสิทธิ์ได้ ในอาคารศาลอาญา และทางศาลได้สวนภาพจากกล้องวงจรปิดว่าใครเป็นผู้ช่วยเหลือนายประสิทธิ์หลบหนี

ย้อนตำนาน ประสิทธิ์ เจียวก๊ก

หากย้อนไป หลายคนอาจรู้จักชื่อของนายประสิทธิ์ เจียวก๊ก ในมาดนักธุรกิจผู้ใจบุญสุนทาน ประธานโครงการคืนคุณแผ่นดิน อาสาทำความดีมอบเงินทุน เครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์

แต่อีกมุมหนึ่ง อาจจำภาพเขาขณะเปิดอกเสื้อโชว์ลายสักต่อหน้าพรรณิกา วาณิช แกนนำคณะก้าวหน้า ระหว่างดีเบตเดือดในรายการทีวีดัง เรื่องปฏิบัติการข่าวสารหรือไอโอกองทัพ ที่คณะก้าวหน้าพบว่ามีการเชื่อมข้อมูลกับแอพพลิเคชั่น M-Help Me ของบริษัทในเครือของนายประสิทธิ์ และยังมีกิจกรรมจัดหลักสูตรอบรมวิธีเพิ่มยอดโพสต์ วิธีจัดการทวิตเตอร์

ซึ่งนายประสิทธิ์ยอมรับผ่านเพจเฟซบุ๊กตัวเองว่าเป็นผู้บริหารพัฒนาบริษัทเจ้าของแอพพลิเคชั่น และเซิร์ฟเวอร์ที่กองทัพบกใช้ เพราะตัวเองรับงานสอนเรื่องโซเชียล เพื่อให้ทุกคนเรียนรู้ข้อเท็จจริง ไม่หลงเชื่อและตกเป็นเหยื่อเฟกนิวส์

ข่าวคราวเหล่านี้ซาลงไปกระทั่งกลางเมษายนปีที่ผ่านมา ตำรวจกองปราบฯ เปิดปฏิบัติการกวาดล้างจับกุม 6 ผู้ต้องหาคดีฉ้อโกงประชาชนและร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ซึ่งเป็นขบวนการหลอกลงทุนรายใหญ่ ที่มีนายประสิทธิ์เป็นตัวการอยู่เบื้องหลัง

ในจำนวนนั้นมีประธานโครงการเที่ยวเพื่อชาติ และกรรมการบริษัทในเครือ

พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม ผู้บังคับการกองปราบปราม (ผบก.ป.) เปิดเผยว่า คดีนี้มีผู้เสียหายรวมตัวเข้าแจ้งความไว้ที่กองปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ว่า ผู้ต้องหากลุ่มนี้ตั้งบริษัทลักษณะเป็นเครือข่ายใหญ่ ชักชวนให้นำเงินมาร่วมลงทุนในหลายรูปแบบ อ้างว่าได้รับผลตอบแทนสูง

ซึ่งช่วงแรกทำทีจ่ายเงินค่าตอบแทนจริง ก่อนบ่ายเบี่ยงไม่จ่ายเงินค่าตอบแทนหรือคืนเงินลงทุนให้ผู้เสียหายแล้วขาดหายการติดต่อไป ซึ่งมีมูลค่ากว่าพันล้านบาท จากผู้เสียหายนับพันราย

ตำรวจสอบสวนกลางจึงสั่งตั้งคณะทำงานระหว่าง บก.ป., บก.ปอศ. และ บก.ปอท.เพื่อเร่งติดตามจับกุมคนร้าย จนมีการออกหมายจับได้ 6 คน โดยตำรวจได้สอบปากคำผู้เสียหายกว่า 100 คน จากทั้งหมด 2-300 คน

ซึ่งพยานให้การไปในทิศทางเดียวกันว่า บริษัทดังกล่าวไม่จ่ายผลตอบแทนตามที่ตกลงไว้

พฤติกรรมการหลอกลวงมี 5 รูปแบบ คือ

1. เปิดบริษัทท่องเที่ยว ชักชวนผู้เสียหายซื้อแพ็กเกจทัวร์ แต่ไม่จัดเที่ยวจริง

2. ชวนนำเงินมาร่วมลงทุนในรูปแบบสหกรณ์ อ้างให้ปันผลสูง แต่ไม่มีปันผล

3. ชักชวนลงทุนซื้อ-ขายสินค้าแบรนด์เนมออนไลน์จากบริษัทในเครือผู้ต้องหาแล้วปล่อยเช่า ซึ่งกลุ่มผู้ต้องหาอ้างว่าจะเป็นผู้ควบคุมบริหารจัดการค่าตอบแทนให้ทั้งหมดโดยที่ผู้เสียหายไม่เคยพบเห็นหรือจับต้องตัวสินค้าจริง

4. นำเงินสดหรือทองคำมาเข้าร่วมในระบบกองทุนส่วนตัวของกลุ่มผู้ต้องหา อ้างว่าจะได้รับเงินตอบแทนคืนร้อยละ 9.5 ของเงินลงทุน

และ 5. ซื้อทองคำจากร้านจำหน่ายทองคำทั่วไปแล้วนำทองคำพร้อมใบเสร็จมาลงทุนตามโปรโมชั่นของบริษัท ซึ่งจะได้รับผลกำไรตอบแทนร้อยละ 43.5 ของเงินลงทุน เป็นต้น

บอส-เดชบดินทร์ ฉายทองดี นักแสดงละครซิตคอม เฮงเฮงเฮง ก็เป็นหนึ่งในนั้นที่โดนนายประสิทธิ์โกงเงินสหกรณ์-หลอกขายแพ็กเกจทัวร์ โดยบอสบอกว่าตัวเองได้ลงทุนซื้อแพ็กเกจทัวร์ และโอนเงินฝากเข้าบัญชีสหกรณ์ออมทรัพย์ที่อ้างผลตอบแทนสูง โดยลงทุนมานาน 2 ปี เป็นเงินกว่า 9 ล้านบาท ก็ไม่มีปัญหา กระทั่งปลายปีที่แล้วไม่สามารถเบิกเงินคืน และไม่ได้เงินตามกำหนด ซึ่งมีเงินลงทุนของตนกับคนอื่นๆ กว่า 48 ล้านบาท

“นายประสิทธิ์ได้ถ่ายคลิปเผยแพร่ให้ลูกค้าว่าจะคืนเงินให้ แต่ก็หายเงียบ แล้วก็ถ่ายคลิปใหม่ออกมาเรื่อยๆ อ้างว่าพนักงานโกง แต่เชื่อว่าเป็นอุบายหลอกลวงเพราะเป็นบริษัทใหญ่ แต่ทำไมตรวจสอบไม่ได้ ผมก็เคยไปพบนายประสิทธิ์ด้วยตัวเองครั้งหนึ่งที่ออฟฟิศ พบว่ามีภาพของเจ้าตัวถ่ายรูปร่วมกับผู้หลักผู้ใหญ่ระดับประเทศติดอยู่ในห้อง ซึ่งเซลส์พูดทำนองว่ามีแบ๊กอัพดี มีคนหนุนยังไงก็ไม่ล้ม ส่วนนายประสิทธิ์เองก็มีภาพลักษณ์เรื่องการเทิดทูนสถาบัน การช่วยเหลือสังคม โดยบอกว่าจะนำเงินลงทุนที่ไปคืนให้กับสังคม ทำให้คนเกิดความเชื่อถือด้วย” บอสเผย

พ.ต.อ.ทัศน์ภูมิ จารุปรัชญ์ รอง ผบก.ปอศ.ระบุว่า จากการสอบปากคำนายประสิทธิ์ หลังเจ้าตัวเข้ามอบตัวกับตำรวจ ก็ยอมรับว่าเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับ และเป็นกรรมการผู้มีอำนาจในระหว่างที่เกิดเหตุตามที่ถูกแจ้งความ ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ทั้งเรื่องการลงทุน การชักชวนผู้เสียหายหรือการโอนย้ายทรัพย์สินต่างๆ ยังไม่ขอให้การในชั้นสอบสวน

ซ้ำยังยืนยันว่าธุรกิจต่างๆ ของบริษัทในเครือ ยังสามารถดำเนินการต่อไปได้

ย้อนนาที ‘ช่อ’ แฉพิรุธ

หากย้อนกลับไปเมื่อปลายปี 2563 น.ส.พรรณิการ์ วานิช หรือช่อ แกนนำคณะก้าวหน้า เคยแถลงข่าวเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2563 ใช้ชื่อในการแถลงว่า “เปิดวงจรอุบาทว์ไอโอ ผู้มูฟออนเป็นวงกลม” เปิดโปงรายละเอียดข้อมูลการปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (IO) ของกองทัพและหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

โจมตีว่าปฏิบัติการไอโอของกองทัพ มีการใช้เซิร์ฟเวอร์เดียวกับของแอพพลิเคชั่น M-Help Me ของนายประสิทธิ์

แถมยังพบว่า นายประสิทธ์ยังเข้าไปยังมีกิจกรรมต่างๆ เช่น การเข้าไปจัดหลักสูตรอบรมวิธีบู๊ตโพสต์ และวิธีจัดการทวิตเตอร์ โดยใช้แพลตฟอร์มทวิตเตอร์บรอดคาสต์ และฟรีแมสเซนเจอร์ เพื่อใช้ในการประสานงานโพสต์ เฉพาะหน่วย พล.ร.2 รอ. มีถึง 17,562 บัญชี หากนับรวมแล้วทั้งหมดมีถึง 54,800 บัญชี

ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า นายประสิทธิ์เพิ่งโด่งดังมาในช่วง 3 ปีนี้ เป็นเจ้าของ M Group ที่เป็นผู้ทำ application M-Help Me มีกิจกรรมต่างๆ ที่หลากหลายน่าสนใจ ลงเรียนหลักสูตรของจิตอาสาพระราชทาน เป็นผู้ถวายผ้ากฐินพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้รับเกียรติเข้าไปบรรยายหลักสูตรพิเศษ อบรมการใช้โซเชียลของโรงเรียนจิตอาสาพระราชทาน 904 เข้านอก-ออกในกองทัพ มีภาพคู่กับผู้บัญชาการเหล่าทัพต่างๆ อย่างสนิทสนม

ไม่เพียงแค่นั้น บริษัท M Group ของประสิทธิ์มีบริษัทในเครือถึง 20 บริษัท แต่เมื่อตรวจสอบการเงินของบริษัทในเครือทั้งหมด พบว่า 18 จาก 20 บริษัทขาดทุนสะสม หลายบริษัทล้มละลายทางบัญชี มีหนี้สินเกินทุน

นอกจากนี้ บริษัทในเครือยังเคยถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) เตือนไม่ให้ขายหุ้นกู้ให้กับประชาชนในลักษณะที่เคยทำ สุดท้ายเมื่อไม่เชื่อฟังจึงถูกปรับโดย กลต. เป็นมูลค่ากว่า 1 ล้านบาท

ขณะที่นายประสิทธิ์ออกมาตอบโต้ ยอมรับอยู่เบื้องหลังปฏิบัติการจริง เพราะเป็นประชาชนที่รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ยินดีให้กองทัพใช้เซิร์ฟเวอร์ และแอพพลิเคชั่น พร้อมแจ้งความ บก.ปอท.เอาผิดช่อ พรรณิการ์ ที่กล่าวหาว่าทำธุรกิจไม่ชอบมาพากล

เปิดผังเครือข่ายตุ๋น

สำหรับโครงข่ายของขบวนการนี้ เน้นเจาะผู้คนหลายกลุ่ม โดยเฉพาะวงการข้าราชการ โดยเพจโครงการคืนคุณแผ่นดินโพสต์ภาพนายประสิทธิ์ขณะหารือร่วมกับสหกรณ์ออมทรัพย์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำกัด เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยมีนายตำรวจระดับสูงให้การต้อนรับ ซึ่ง พล.ต.ต.จิรภพ ภูริเดช รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (รอง ผบช.ก.) ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานชุดคลี่คลายคดี เผยว่า จากการตรวจสอบบริษัทสหกรณ์ออมทรัพย์การค้าธุรกิจบริการและผลิตภัณฑ์ผสมผสาน จำกัด ในเครือของนายประสิทธิ์ พบว่าได้ปิดตัวบริษัทลงไปก่อน เนื่องจากดำเนินการผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งยังไม่ดำเนินงานใดๆ ร่วมกับสหกรณ์ตำรวจ แต่จากภาพที่ปรากฏ คงเป็นเพียงการหารือกันเท่านั้น

เมื่อชำแหละธุรกิจบริษัทในเครือเอ็มกรุ๊ปของนายประสิทธิ์ พบว่ามี 6 กลุ่มธุรกิจ 14 บริษัท ตั้งอยู่หลายจังหวัด ได้แก่ ธุรกิจเทคโนโลยี, อสังหาริมทรัพย์และการขนส่ง, การเงินการลงทุน, สุขภาพและความงาม, ท่องเที่ยวและบันเทิง, การค้าระหว่างประเทศ โดยทยอยเริ่มประกอบธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2543

สำหรับแอพพ์ m help me ที่กล่าวตอนต้น ใช้สำหรับรายงานเหตุจราจรหรือแจ้งเหตุด่วนเหตุร้ายที่ทำงานร่วมกับตำรวจ พบว่าไม่ได้ถูกนำไปเสนอขายทางธุรกิจให้กับเหยื่อ จึงยังไม่พบความผิดที่เกี่ยวข้องกับขบวนการหลอกลงทุน

งานหินของตำรวจคือการเร่งติดตามเส้นทางการเงินเพื่อหาความเชื่อมโยงยังบุคคลอื่น และยึดทรัพย์คืนเงินผู้เสียหาย พร้อมประสานข้อมูลจากธนาคาร ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร จึงจะเป็นอันตัดขบวนการโกงเหนือเมฆให้เหี้ยน